×

คืนต้นไม้สู่ป่า คืนป่าสู่น่าน น้ำพางโมเดล บทพิสูจน์ความยั่งยืนจากมือประชาชน

15.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • น้ำพางโมเดล คือความคิดริเริ่มจากชาวบ้านน้ำพาง ที่จะฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตัวเอง ให้กลับมามีพื้นที่สีเขียวให้ได้ภายใน 5 ปี เนื่องจากที่ผ่านมากลายสภาพเป็นภูเขาหัวโล้น เพราะทำไร่ข้าวโพดมานาน
  • การต่อสู้ของชาวบ้านผ่าน ‘น้ำพางโมเดล’ ยังอยู่ในขั้นตอนเดินหน้า ยังไม่รู้ว่าจะสำเร็จขนาดไหน แต่พวกเขาลุกขึ้นมาจัดการชีวิตตัวเอง เพื่อให้มีที่ดินทำกิน และอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลยั่งยืน
  • พวกเขาไม่ได้ต้องการเป็นฮีโร่ หรือต้องการแค่พื้นที่ที่ได้รับการจัดการจากรัฐ มากกว่าการทวงเอาผืนป่าคืน แต่หากสามารถทำได้ รัฐอาจใช้โมเดลนี้เป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาที่สนองตอบนโยบายที่ออกมา

สภาพภูเขาหัวโล้น ที่เกิดจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นอาชีพหลักของเกษตรกร ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน เป็นภาพที่เห็นแล้วชวนให้เราสงสัยว่าเกิดอะไรขึ้นที่นี่ พร้อมๆ กับมีคำถามว่าจะทำอย่างไรให้พื้นที่สีเขียวเหล่านั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง

 

THE STANDARD เดินทางลงพื้นที่ ต.น้ำพาง เพื่อหาสาเหตุและความเป็นมาของปัญหาที่เกิด รวมทั้งร่วมหาคำตอบว่าวิถีชีวิตของคนน้ำพางที่ปลูกข้าวโพด พืชเชิงเดี่ยวเป็นอาชีพหลักมานาน ว่าจะสามารถสร้างพื้นที่สีเขียวเหล่านั้นให้กลับมาได้อย่างไร

 

เราพบว่า ‘น้ำพางโมเดล’ คือคำตอบที่ชาวบ้านร่วมมือร่วมใจที่จะสร้างให้เกิดขึ้นกับธรรมชาติและชุมชนที่พวกเขาอยู่อาศัยมาหลายรุ่น และวันนี้เราอยากจะขอนำเสนอเป้าหมายของพวกเขาที่อาจจะทำให้ใครหลายๆ คนเข้าใจว่า ‘น้ำพางโมเดล’ จะประสบความสำเร็จและเป็นตัวแบบที่ดีให้ชุมชนอื่นๆ ได้อย่างไร

 

 

ปัญหาและที่มาสู่ปลายทางน้ำพางโมเดล

เดิมที ‘น้ำพาง’ เป็นชุมชนที่สามารถรักษาป่าได้มากถึง 2.6 แสนไร่ และยังมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีกกว่า 4.8 พันไร่ ที่ผ่านมาเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่เคยใช้วิถีการผลิตแบบการเกษตรเชิงเดี่ยว และปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นรายได้หลักของชุมชน แต่ถึงอย่างนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ที่ดินทำกินเดิมของตนเองเป็นที่ปลูกข้าวโพด ก่อนที่จะมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ทำให้ที่ดินเดิมนั้นผิดกฎหมายทั้งหมด เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้เป็นเขตป่าสงวนฯ เขตอุทยานฯ ซ้อนทับ จึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ ดังนั้นพื้นที่ปลูกข้าวโพด 10% จึงเป็นที่ดินเดิมที่มีการเพาะปลูกอยู่แล้ว ทำให้มากกว่า 90% ของพื้นที่เป็นป่าที่ชาวบ้านได้เคยรักษาไว้โดย ต.น้ำพาง มีประชากร 1,332 ครัวเรือน หรือ 5,312 คน และมีพื้นที่ทั้งตำบลจำนวน 284,550 ไร่ และตั้งใจจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวอีก 4,000 ไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวโพดเดิม และตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปีการปลูกข้าวโพดจะเหลือ 0%

 

น้ำพางโมเดล จึงกลายเป็นความคิดที่ชาวบ้าน ต.น้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง เป็นจุดเริ่มต้นในการแสดงความรับผิดชอบในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม หลังจากที่เกษตรกรชาวน่าน ตกเป็นจำเลยในทัศนคติของคนที่อยู่ห่างไกลว่าเป็นผู้ทำลายป่า เป็นสาเหตุของหมอกควันและภูเขาหัวโล้นจากการทำไร่ข้าวโพด แต่วันนี้พวกเขาลุกขึ้นมาด้วยความเชื่อมั่นว่า ‘การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม และสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้จริงพร้อมกัน เพียงแค่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมมือกัน’

 

 

‘สวาท ธรรมรักษา’ กำนันตำบลน้ำพาง เล่าว่า จุดเริ่มต้นของน้ำพางโมเดล เมื่อเขาเข้ามาเป็นผู้นำ ก็มีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรของ ต.น้ำพาง มีความยั่งยืน

 

“ตอนเราคุยกับเกษตรกรแรกๆ ก็ไม่ได้รับการตอบรับ พอมาปี 2557 หรือรัฐบาลโดยการนำของท่านประยุทธ์ ก็มีนโยบายทวงคืนผืนป่าเกิดขึ้น ก็เลยคิดได้ว่าแนวทางของเราที่อยากให้ชาวบ้านเปลี่ยนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นพืชผสมผสาน ตอนนั้นไม่ได้รับการตอบรับจากชาวบ้าน พอมีนโยบายนี้มา เราก็เข้าไปคุยกับทางผู้นำว่าตอนนี้เราต้องใช้วิกฤตตัวนี้ให้เป็นโอกาสให้ได้ ก็เลยได้นั่งคุยกับผู้นำระดับหมู่บ้าน ตำบล แล้วก็ลงสู่ระดับชุมชน”

 

นั่นคือจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะทำให้ ต.น้ำพาง เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเองให้ได้ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านรู้สึกหวั่นใจกับนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล เนื่องจากที่ดินส่วนใหญ่ของชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ ซึ่งอาจทำให้พวกเขาไม่มีแม้แต่ที่อยู่อาศัยเลยด้วยซ้ำ

 

 

“วันนี้รัฐบาลก็มองมุมกลับแล้วว่าเราทำเกษตรเชิงเดี่ยวโดยเฉพาะข้าวโพด มีผลกระทบระดับประเทศ ก็คือภูเขาหัวโล้น ถ้าเรายังไม่ขยับยังไม่เปลี่ยนก็คงจะส่งผลกระทบกับพวกเราแน่นอน ก็เลยนั่งคุยกันว่าเราจะออกแบบการเกษตรจากพืชเชิงเดี่ยวมาสู่พืชผสมผสาน เกิดความยั่งยืน เกิดการทำเกษตรแบบประณีต ก็มีการตั้งคณะทำงาน ไปจดทำเป็นวิสาหกิจชุมชน รองรับกลุ่มให้ถูกต้องตามกฎหมาย เกิดน้ำพางโมเดลขึ้น” กำนันสวาท อธิบาย

 

 

น้ำพางโมเดลทำอะไรไปแล้วบ้าง และจะทำอะไรต่อ

วันที่เราติดรถของชาวบ้านขึ้นไปดูพื้นที่ป่าบนภูเขา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพื้นที่สีเขียว เราแทบจะไม่เชื่อสายตาตัวเอง เพราะภูเขาที่โอบล้อมเขาหลายลูกสลับกันไปมา มีหย่อมความโล้นให้เห็นเป็นระยะ และมากที่สุดคือบริเวณที่ชาวบ้านน้ำพางเคยใช้เป็นที่ดินสำหรับปลูกไร่ข้าวโพด แม้จะมีข้อพิพาทในเวลาต่อมาว่า เกี่ยวกับนโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล ทำให้บริษัทเอกชนรายใหญ่ประกาศไม่รับซื้อผลผลิตจากที่นี่

 

ปัจจุบันพวกเขาเหล่านี้ได้เริ่มด้วยตนเอง โดยชุมชนตำบลน้ำพางลดพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปแล้ว 900 ไร่ และมีการตั้งเป้าว่าในปี 2561 พวกเขาจะปลูกป่าเพิ่มพื้นที่สีเขียวและไม้ยืนต้นเพิ่มขึ้นอีก 1,000 ไร่  

 

 

หลังจากการประกาศเป้าหมายจากชุมชนน้ำพางที่ว่าภายใน 5 ปี อย่างน้อย 285 ครัวเรือนจะลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดอย่างสิ้นเชิง และมีแผนการดำเนินการรองรับอย่างชัดเจน ณ ตอนนี้เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้วที่ชาวบ้านได้เริ่มต้นลงมือปรับเปลี่ยนจากการเกษตรเชิงเดี่ยวเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน โดยมีการวางเป้าหมายในการปลูกพืชยืนต้นให้ได้ไร่ละ 35 ต้น แบ่งเป็นไม้ป่ายืนต้น 10 ต้น และไม้ผล 25 ต้น เท่ากับว่าชุมชนน้ำพางได้เพิ่มต้นไม้ใหม่ให้กับประเทศไทยไปแล้วมากกว่า 3,000 ต้นในปีที่แล้ว (แต่ก็ยังถือว่าน้อยกว่าเป้าหมายอยู่ดี เพราะแต่เดิมชุมชนน้ำพางมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ปีละกว่า 1,400 ไร่ แต่เนื่องด้วยยังขาดการสนับสนุนในด้านต่างๆ จึงทำให้ไม่สามารถที่จะจัดหาพันธุ์ไม้ให้เพียงพอตามเป้าหมายได้)

 

ไม่ว่าพวกเขาจะได้รับการสนับสนุนมากน้อยเพียงใด แต่การเดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวดังกล่าวก็น่าจะเป็นสิ่งที่ยืนยันได้แล้วว่า ชุมชนน้ำพางมีความตั้งใจจริงที่จะเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ที่มีความตั้งใจที่จะนำความยั่งยืนกลับสู่สังคมไทยอีกครั้ง

 

 

ในแง่หนึ่งของการดำรงชีวิต ชาวบ้านเองก็ต้องทำมาหากินและอยู่รอดได้ คำถามถึงผลผลิตที่จะออกสู่ตลาด เมื่อนโยบายทวงคืนผืนป่าเข้ามาได้สร้างปัญหากับข้าวโพดไปแล้ว อะไรจะการันตีได้ว่าสินค้าจากพืชยืนต้น ผลผลิตที่ลงแรงในการเปลี่ยนมาเป็นพืชแบบผสมผสานจะขายได้

 

กำนันสวาท อธิบายว่า ตอนนี้ได้วางกลไกการตลาดไว้ อย่างเรื่องการตลาดในห้วงเวลาที่ปรับเปลี่ยนพืชยืนต้นบางตัว ก็สามารถเอาพืชระยะสั้นเข้าไปแซมได้ อย่างตอนนี้มีการนำเอา ‘ไพล’ ไปปลูกแซม

 

“ตอนนี้ราคาไม่ธรรมดานะ 17 บาทต่อกิโลกรัม แล้วต้นเดือนหน้า (ก.พ.) ผมจะพาทีมงานไปตกลงสัญญากับบริษัทรับซื้อที่พระนครศรีอยุธยา อันนี้เป็นพืชต้นทุนต่ำมาก ตัวใหม่ด้วยนะ เราปลูกปีนี้ถ้าเราจะขยายต่อก็เก็บเมล็ดพันธุ์ได้เลย มันต่างจากข้าวโพดที่อะไรก็เข้าทางของบริษัทยักษ์ใหญ่หมด จะต้องลงทุนทุกปี ยาก็ซื้อ เมล็ดพันธุ์ก็ซื้อ ปุ๋ยก็ซื้อ ซื้อทุกอย่าง ต้องตั้งต้นสูงทุกปี ผมก็ชี้ให้เห็นว่าความเสี่ยงมันสูงมาก”

 

 

สู้เพื่อชีวิต เพื่อที่ดินทำกิน เพื่อเป็นโมเดลให้พื้นที่อื่นๆ

นโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้ชาวตำบลน้ำพาง ถูกกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้ยึดพื้นที่ทำกินกว่า 1,900 ไร่ ก่อให้เกิดปัญหาความยากจน ภาระหนี้สิน ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ‘น้ำพางโมเดล’ จึงเกิดขึ้นเพื่อให้คนอยู่กับป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน

 

“จุดที่เราหาทางออกร่วมกัน เรามานั่งคุยกัน เราจะขอให้รัฐมีการผ่อนปรน มีการยกเว้นได้ไหม เอาพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน ราษฎร หรือทุกภาคส่วนมาหาทางร่วมกัน เราออกแบบด้วยชุมชนเอง เปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ให้นำไปสู่เกษตรยั่งยืน รัฐอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ เกษตรกรอยู่ได้”

 

 

ชาวตำบลน้ำพางกำลังต่อสู้กับนโยบายรัฐ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตพวกเขา และแน่นอนเมื่อคนกับป่าอยู่ด้วยกันมานาน จะให้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบพลิกฝ่ามือก็คงเป็นเรื่องยาก กำนันสวาทบอกว่าอยากให้พื้นที่น้ำพางเป็นโมเดลที่รัฐจะได้เห็นว่าไม่ต้องทวงคืนผืนป่า แต่ทำอย่างไรให้วิถีชีวิตผู้คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

 

 

“โจทย์คือขณะนี้เราอยู่ในห้วงเวลาแสวงหาจุดร่วม ตอนนี้รัฐคิดอย่างไรเมื่อชุมชนลุกขึ้นมาร่วมมือ ถ้ามองเห็นก็คือชาวบ้านเข้ามาช่วยมาร่วมจัดการ และเราอยากให้ลดข้อจำกัดต่างๆ จากรัฐออกไปได้หรือไม่ ให้โมเดลตัวนี้เป็นเหมือนเสื้อ ใส่แล้วเป็นนายแบบได้ หรือเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์นโยบายรัฐ”

 

“ตอนนี้ชาวบ้านก็รู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตทำกินสักเท่าไร เพราะยังไม่รู้ว่าวันดีคืนดีเขาจะมาเอาคืนไปอีกเมื่อไร เพราะตอนนี้รัฐยังไม่การันตี เพราฉะนั้นจึงหาความร่วมมือจากรัฐอยู่นี่แหละ”

 

 

ทำไมต้องสร้างน้ำพางโมเดล

ความพิเศษของน้ำพางโมเดล คือการเป็นโครงการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ชาวบ้านริเริ่มจนนำไปสู่การร่วมเข้ามามีบทบาทของหลายภาคส่วน ตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่ องค์กรพัฒนาเอกชน โดยมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือที่เข้ามาร่วมสนับสนุนการจัดการและหนุนเสริมศักยภาพของชุมชน ฝ่ายวิชาการโดยอาจารย์เดชรัต สุขกำเนิด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่มีบทบาทในการทำแผนชุมชนทั้งการผลิตและเศรษฐกิจในภาพรวม องค์การอ็อกแฟมในประเทศไทย ซึ่งได้ช่วยประสานบทบาทของภาคส่วนต่างๆ ในการหนุนเสริมน้ำพางโมเดล และบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่สนับสนุนการรักษาทรัพยากร ส่งเสริมองค์ความรู้ และคุณภาพชีวิตชุมชนภายใต้กฎหมาย ทั้งหมดนี้ยืนอยู่บนหลักการความรับผิดชอบร่วมกัน และพิสูจน์ว่าปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ ต้องแก้ไขไปพร้อมกับเรื่องปากท้องของประชาชนในพื้นที่

 

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกคนในประเทศไทยก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้วิกฤตการณ์การลดของพื้นที่ป่าในประเทศไทยเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการกลายสภาพผืนป่าเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตั้งแต่ประชาชนผู้บริโภคทุกฝ่ายที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน ย้อนกลับไปจนถึงเกษตรกร โดยเป้าหมายที่สำคัญคือ ‘ใครจะร่วมรับผิดชอบ’ ‘แล้วเราจะทำอย่างไรให้พื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์เป็นป่ากลับมาเป็นเหมือนเดิมได้’  

 

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เกษตรกรในพื้นที่ดูเหมือนจะเป็นบุคคลกลุ่มแรกสุดที่ถูกสังคมเรียกร้องให้มีความรับผิดชอบ ในขณะที่องค์การต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนต่างก็ให้ความสำคัญกับปัญหาพื้นที่เขาหัวโล้นไร่ข้าวโพดเป็นอย่างมาก

 

 

ผ่านมาระยะ 2-3 ปี ความสนใจของสังคมกับเรื่องดังกล่าวจางหายลงไป แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหา

 

ชาวบ้านน้ำพางกลุ่มนี้ไม่ได้ขอเป็นฮีโร่ แต่ขอเป็นคนหนึ่งที่มีส่วนทำให้ปัญหาเกิดขึ้นและจะขอร่วมรับผิดชอบ แก้ไขทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจของชุมชน พวกเขามุ่งมั่นที่จะเป็นพื้นที่ ‘ต้นแบบ’ ในการขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของชาติ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X