×

เปิดคำวินิจฉัยส่วนตน ‘นครินทร์ เมฆไตรรัตน์’ ชี้ต้องนับวาระต่อเนื่อง ป้องกันวิกฤตการเมือง-ผูกขาดอำนาจ

โดย THE STANDARD TEAM
05.10.2022
  • LOADING...
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

วันนี้ (5 ตุลาคม) นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นตุลาการเสียงข้างน้อย กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่ายังไม่ครบ 8 ปี ดังนั้นความเป็นนายกรัฐมนตรีจึงยังไม่สิ้นสุดลง

 

สำหรับเนื้อหาคำวินิจฉัยส่วนตนของนครินทร์มีรายละเอียดดังนี้ ข้อเท็จจริงตามคำร้อง คำร้องเพิ่มเติม คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ความเห็นและข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเอกสารประกอบ ฟังได้ว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ผู้ถูกร้อง) ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 19 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 25 สิงหาคม 2557 โดยผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเรื่อยมา 

 

จนได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 และต่อมาเมื่อมีรัฐสภาชุดแรกได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ลงมติเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2562 เห็นชอบด้วยในการแต่งตั้งผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 11 มิถุนายน 2562 ซึ่งผู้ถูกร้องได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาจนถึงปัจจุบัน

 

รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 ได้กำหนดเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง โดยวรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก (3) สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ไว้วางใจ (4) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (5) กระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186 หรือ 187 (6) มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีตามมาตรา 171” 

 

วรรคสอง บัญญัติว่า “นอกจากเหตุที่ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามวรรคหนึ่งแล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย” และวรรคสาม บัญญัติว่า “ให้นำความในมาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (4) หรือ (5) หรือวรรคสอง โดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย” 

 

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ได้กำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยบัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง”

 

พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่งนั้น เนื่องจากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีเจตนารมณ์ในการมุ่งควบคุมอำนาจของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร อันเป็นคุณค่าของรัฐธรรมนูญซึ่งมีความสำคัญไม่ต่างจากการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยแต่อย่างใด โดยอำนาจดังกล่าวเป็นอำนาจบริหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดของปวงชนชาวไทย 

 

กล่าวคือ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร ผู้ที่มาดำรงตำแหน่งดังกล่าวย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน ยกตัวอย่างเช่น มีอำนาจในการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศอันเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการงบประมาณแผ่นดิน มีอำนาจในการบังคับการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตลอดจนมีอำนาจในการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นต้น 

 

ทั้งนี้ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารอันเป็นอำนาจสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินเป็นระยะเวลานานจนมีลักษณะเป็นการผูกขาดอำนาจดังกล่าว อาจก่อให้เกิดปัญหาหรือวิกฤตทางการเมืองที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประโยชน์ของประชาชน ประโยชน์สาธารณะ ระบอบการปกครอง และการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เนื่องจากการผูกขาดอำนาจดังกล่าวอาจก่อให้เกิดปัญหาการทุจริต ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการใช้อำนาจโดยไร้ธรรมาภิบาล รวมไปถึงปัญหาการผูกขาดในทางเศรษฐกิจ โดยปัญหาดังกล่าวล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ของประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน

 

นอกจากนี้ การผูกขาดอำนาจดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดการสะสมอำนาจอยู่ที่ตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดกลุ่มบุคคลหนึ่ง แต่เพียงผู้เดียวหรือแต่เพียงกลุ่มเดียว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเมืองการปกครองของประเทศไทยตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเนื่องมาจากการใช้อำนาจดังกล่าวโดยไร้ธรรมาภิบาล หรือมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจ ในการบั่นทอนและทำลายกลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ อันเป็นหลักการพื้นฐานของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา 

 

กล่าวคือ การใช้อำนาจดังกล่าวแทรกแซงกระบวนการตรวจสอบจากองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนใช้อำนาจดังกล่าวในการทำลายระบบถ่วงดุลอำนาจจากฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายตุลาการ ทั้งนี้ หากไม่มีการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจจากทั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ หรือการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจดังกล่าวเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ ย่อมส่งผลให้การปกครองในระบบรัฐสภา ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย เสื่อมถอย จนอาจมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 

 

ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงมีเจตนารมณ์ในการป้องกันปัญหาหรือวิกฤตทางการเมืองดังกล่าว โดยมาตรา 158 วรรคสี่ ได้กำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว โดยกำหนดให้บุคคลจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันแล้วเกินกว่า 8 ปีมิได้ ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ก็ตาม แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง อันเป็นมาตรการจำกัดการผูกขาดและการใช้อำนาจทางการเมืองของฝ่ายบริหารโดยไม่เป็นไปตามหลักการและเจตนารมณ์ของการตรวจสอบในระบบรัฐสภา 

 

ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักการการจำกัดวาระและระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของหัวหน้าฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นกลไกของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ดังนั้น บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงไม่ได้มีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล หากแต่เป็นการกำหนดเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการมุ่งควบคุมอำนาจของบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ หากรัฐธรรมนูญไม่ป้องกันการผูกขาดอำนาจดังกล่าว อาจก่อให้เกิดปัญหาซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประโยชน์ของประชาชน ประโยชน์สาธารณะ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมไปถึงระบอบการปกครองของประเทศไทย อย่างมีนัยสำคัญ

 

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในการป้องกันการผูกขาดอำนาจบริหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดของปวงชนชาวไทยในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยกำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลมิได้บัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ หากแต่ได้บัญญัติไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อันเนื่องมาจากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในลักษณะที่แปลกใหม่และแตกต่างไปจากเดิม 

 

กล่าวคือ ได้รเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบให้ระบบรัฐสภาของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ผิดแผกแตกต่างไปจากระบบรัฐสภาแบบเวสต์มินสเตอร์ (Westminster System) อย่างสิ้นเชิง อันเป็นผลให้ดุลความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารปรากฏในลักษณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจน้อยลงในเชิงเปรียบเทียบ 

 

อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังส่งผลให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในลำดับที่ 1 ของระบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง มีฐานะสำคัญละม้ายไปทางผู้ได้รับเลือกตั้งในระบบประธานาธิบดีมากกว่าการเลือกหัวหน้าฝ่ายบริหารในระบบรัฐสภาแบบเดิม ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงได้พยายามแก้ไขผลกระทบจากระบบการเลือกตั้งและระบบพรรคการเมืองดังกล่าว ที่นำมาสู่การมีฝ่ายบริหารที่มีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก อันส่งผลให้กลไกการตรวจสอบในระบบรัฐสภาไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

 

โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 171 วรรคสี่ บัญญัติว่า “นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่า 8 ปีมิได้” เพื่อวางเงื่อนไขให้บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ หรือ 8 ปี ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสากลเกี่ยวกับการจำกัดวาระ หรือระยะเวลาการดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารตามการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม อันเป็นการสร้างหลักประกันว่าการปกครองในระบบรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจมาก จะไม่เกิดเหตุการณ์ที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลครอบงำพรรคการเมืองฝ่ายบริหารซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดอำนาจดังกล่าว ภายใต้ความมุ่งหมายเดียวกันนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยังคงหลักการดังกล่าวไว้ โดยได้เพิ่มเติมหลักการเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลามากยิ่งขึ้น 

 

กล่าวคือ การนับระยะเวลา 8 ปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วจะเกิน 8 ปีมิได้ โดยได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว อันเป็นการตอกย้ำความสำคัญของเจตนารมณ์ดังกล่าวที่มีอยู่ตลอดมานับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยเจตนารมณ์ดังกล่าวได้ผ่านการรับรองจากปวงชนชาวไทย ผ่านการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพุทธศักราช 2560 อันมีลักษณะเป็นการยอมรับหลักการดังกล่าวโดยมติมหาชน ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บทเฉพาะกาล มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่ และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม” 

 

และวรรคสอง บัญญัติว่า “รัฐมนตรีตามวรรคหนึ่งนอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แล้ว ต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สาหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้น (6) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 184 (1)”

 

จะเห็นได้ว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทเฉพาะกาลเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารเป็นไปโดยไม่สะดุดหยุดลง มีผลให้สถานะความเป็นรัฐมนตรีของบุคคลผู้ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งภายใต้หลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีความสมบูรณ์โดยต่อเนื่อง โดยวรรคสองได้กำหนดเหตุที่ทำให้รัฐมนตรีดังกล่าวต้องพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้น นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ จึงถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ 

 

โดยการพ้นจากตำแหน่งย่อมเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 264 วรรคสอง ซึ่งกำหนดให้นำมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ (4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดาเนินการตามมาตรา 184 (1) เท่านั้น แต่ทั้งนี้ มาตรา 264 วรรคสอง มิได้บัญญัติยกเว้นกรณีตามมาตรา 170 วรรคสอง กล่าวคือ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลา 8 ปีตามมาตรา 158 วรรคสี่ แต่อย่างใด

 

เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง รวมไปถึงการที่เจตนารมณ์ดังกล่าวผ่านการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบจากปวงชนชาวไทย และบทบัญญัติมาตรา 264 ประกอบกันแล้ว เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจบริหารในทางการเมืองยาวนานจนเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุของวิกฤตทางการเมืองเช่นที่เคยปรากฏมาแล้ว ย่อมต้องถือเป็นหลักปฏิบัติทั่วไปว่า แม้บุคคลใดจะเป็นนายกรัฐมนตรีที่มิได้มีที่มาตามวิธีการของรัฐธรรมนูญนี้ หรือไม่ว่าจะมีที่มาจากกระบวนการเข้าสู่อำนาจฝ่ายบริหารในลักษณะใด แต่บุคคลนั้นได้ดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ 

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ถูกรับรองการดำรงตำแหน่งโดยรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารเป็นไปโดยต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดลง จึงต้องนับรวมเป็นระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ 

 

ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกร้องได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 19 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 โดยผู้ถูกร้องเข้าใช้อำนาจบริหารในการบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญเรื่อยมา จนได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 และต่อมาเมื่อมีรัฐสภาชุดแรกได้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องเรื่อยมานับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน โดยการดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้สิ้นสุดหรือขาดตอนแต่อย่างใด ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันแล้วเป็นระยะเวลาเกินกว่า 8 ปี ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่

 

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่แล้ว ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงนับแต่เมื่อใด

 

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม กำหนดให้นำความในมาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดของความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (4) หรือ (5) หรือวรรคสอง โดยอนุโลม เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ ดังนั้น จึงต้องนำรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 มาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดลงของความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องโดยอนุโลมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย … ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้ถูกร้องสิ้นสุดลง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง” 

 

ทั้งนี้ บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยมิได้กำหนดให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวถูกนำมาใช้บังคับแก่การสิ้นสุดลงของความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องโดยอนุโลม ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญจึงต้องสั่งให้ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 

 

ดังนั้น ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ นับแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 

 

ความสิ้นสุดลงดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคหนึ่ง (1) ที่บัญญัติว่า “รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 …”

 

ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า เมื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่แล้ว ผู้ถูกร้องจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไปได้หรือไม่

 

พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 167 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ (1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 170 (2) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร (3) คณะรัฐมนตรีลาออก (4) พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144” และมาตรา 168 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) (2) หรือ (3) ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ เว้นแต่ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) เพราะเหตุขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 หรือมาตรา 160 (4) หรือ (5) นายกรัฐมนตรีจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ (2) ในกรณีพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (4) คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้” โดยมาตรา 160 บัญญัติว่า “รัฐมนตรีต้อง … (4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง …” 

 

และมาตรา 98 บัญญัติว่า “บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (1) ติดยาเสพติดให้โทษ (2) เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต (3) เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ (4) เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 96 (1) (2) หรือ (4) (5) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (6) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล (7) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ (8) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ (9) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (10) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา, ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, กฎหมายว่าด้วยยาเสพติด ในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า, กฎหมายว่าด้วยการพนัน ในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก, กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในความผิดฐานฟอกเงิน (11) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง (12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง (13) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น (14) เป็นสมาชิกวุฒิสภา หรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกิน 2 ปี (15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ (16) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (17) อยู่ในระหว่างต้องห้าม มิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (18) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสาม” 

 

เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ เนื่องจากดำรงตำแหน่งครบกำหนดเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเป็นเหตุให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 167 (1) จึงมิใช่กรณีที่ผู้ถูกร้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 167 (1) เพราะเหตุขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 หรือมาตรา 160 (4) หรือ (5) แต่ทั้งนี้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลา 8 ปี จึงเป็นกรณีที่ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบถ้วนตามกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ดังนั้น เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ ผู้ถูกร้องจึงไม่อาจอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่งได้

 

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ วันที่ 24 สิงหาคม 2565 และผู้ถูกร้องไม่อาจอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่งได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X