×

คุยกับ ดร.อ้อ-ณหทัย ทิวไผ่งาม จะผลักดันการศึกษา ทำไมต้องพรรคประชาชาติ (จบ)

04.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • พรรคประชาชาติไม่ได้เป็นพรรคมุสลิม แต่ยังมีความหลากหลายอีกมาก แกนหลักคือเคารพความหลากหลาย ซึ่งเป็นแก่นที่หายไปจากสังคมไทยจนทำให้บ้านเมืองเดินมาถึงจุดนี้
  • หากได้เป็นรัฐบาลขอลงมือด้านการศึกษา ด้วยการทำให้เด็กเมื่อเริ่มเรียน ป.1 และจบ ป.6 ออกไปแล้วสามารถพูดอังกฤษได้

คลิกอ่านตอนที่ 1

 

ก่อนจะมาถึงวันนี้ วันที่ ดร.อ้อ-ณหทัย ทิวไผ่งาม ตัดสินใจเข้ามาร่วมงานการเมืองอีกครั้งกับพรรคประชาชาติ

 

ดร.อ้อ ได้นำร่องโครงการจัดการศึกษาที่ 9 โรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับจนถึงเวลานี้ก็เป็นปีที่ 5 และกำลังจะเข้าสู่ปีที่ 6

 

ดร.อ้อ บอกว่าใกล้จะได้เห็นแล้วว่าระบบการจัดการศึกษาในประเทศไทย จะทำให้เด็ก ป.6 สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สองได้สำเร็จอย่างแคนาดาหรือไม่

 

และไม่คิดจะหยุดเพียงแค่การนำร่องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพียงแค่ 9 โรงเรียน แต่ต้องไปไกลและครอบคลุมกว่านี้

 

และเมื่อ ดร.อ้อ หวังจะไปให้ไกลกว่านั้น พรรคการเมืองคือเวทีและที่ทางที่เธอเลือก

 

แล้วทำไมต้องเป็น ‘ประชาชาติ’ มาติดตามกันต่อในบทสัมภาษณ์นี้

 

 

ทำไมถึงเอาความรู้ความคิดประสบการณ์กว่า 10 ปีในเรื่องการศึกษามาผลักดันผ่านพรรคการเมือง

4 ปี เราผลักดันกับรัฐบาล คสช. ก็ไม่สำเร็จ คือประเทศไทยขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใคร ใครเป็นพวกคุณ ของดีไม่สำคัญ แต่คิดแค่ว่าคุณพูดกับใคร

 

ถามว่ามาทำการเมืองเพื่อเอาเครือข่าย พลังอำนาจไหม ก็คงไม่ใช่ แต่อยากมีเวทีที่กว้างขึ้น ที่จะบอกกับประชาชนคนไทยและนักการเมืองหรือข้าราชการ และเราคงไม่ใช่คนเดียว แต่คงมีคนที่ทำงานแบบเรามากมาย แล้วไม่ใช่ว่าอยู่ๆ มาพูดนโยบายว่าอยากจะทำอันนี้ แต่เราทำจริงๆ มาแล้วกว่า 5 ปี ในพื้นที่นำร่อง และมีหน่วยงานที่ได้รับความไว้วางใจจากประเทศเช่น ศธ. อปท. ที่ร่วมมือกับเรามาระดับหนึ่ง

 

เราอยากป่าวประกาศออกไป แล้วต่อไปมันจะเป็นความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศด้วย ที่เราพยายามผลักดันอยู่ คือกับประเทศแคนาดา ซึ่งช่วงนี้เขาแต่งตั้งทูตอาเซียนมา เพราะเขาเห็นว่าอาเซียนมีความเติบโต เขาก็เปิดตลาด สนับสนุนความร่วมมือ และด้วยความที่แคนาดามีภาษาแม่สองภาษา เราก็คิดว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันที่ดี

 

อย่างทูตแคนาดาที่เราประสานไปก็น่ารักมาก ให้ความสำคัญกับผู้หญิงและการศึกษา อย่าง 3 จังหวัดภาคใต้เรื่องความเท่าเทียมกัน การขาดโอกาส ท่านก็สนับสนุน

 

 

ดร.อ้อ มาพรรคประชาชาติได้อย่างไร และทำไมถึงต้องเป็นประชาชาติ

ก็ด้วยท่านทวี (ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรค) คือรู้อยู่ว่าท่านทำงาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไม่เคยได้โคจรมาพบกันเลย

 

จนกระทั่งก่อนท่านตั้งพรรคน่าจะเมื่อปีที่แล้ว ก็คุยกันเรื่องการพยายามผลักดันโครงการนี้ ซึ่งดูไปได้ด้วยดี ได้รับความร่วมมือจากพ่อแม่ หน่วยงาน ครู ที่มาเข้าร่วมโครงการ มาร่วมตื่นตัวกันจากพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น พอสิ้นปีก็พูดได้ รู้สึกกล้า ทุกคนก็ตื่นตัว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ศธ. ไม่สนับสนุนเราเลย กว่าจะผลัก กว่าจะขอแต่ละปี ทำไมดูยากเย็นเหลือเกิน ต่างกับโครงการอื่นๆ

 

ซึ่งเวลาทำงานเรามองครบ 360 องศา เราพัฒนาครูด้วย เราส่งเสริมให้ครูที่อยู่ในโรงเรียนได้พัฒนาตัวเองด้วย เรื่องเทคนิค เทคโนโลยี ได้แลกเปลี่ยนปัญหาระหว่างครูต่างชาติกับครูไทย เป็นการทำงานแบบทีม  

 

ตอนจะไปแคนาดา เราก็ได้คุยกับท่านทวีเรื่อยมา แล้วล่าสุดคุยกับท่านตอนที่อยู่แคนาดา คือตอนแรกก็บอกเลยว่า “อ๋อ อย่าดีกว่าค่ะ” แต่ท่านดักมาเลยว่าอย่าปฏิเสธ เอาไปคิดก่อน

 

ด้วยความที่เป็นพื้นที่ 3 จังหวัด และการมีพหุวัฒนธรรมของพรรคประชาชาติ ที่วันเปิดตัวก็มีทั้งชนกลุ่มน้อย ผู้พิการ ซึ่งก็คิดว่าทุกพรรคที่เปิดตัวกันมาก็พยายามแตะเรื่องเหล่านี้ ขณะที่พรรคประชาชาติแม้จะมีพี่น้องมุสลิมอยู่จำนวนหนึ่ง ก็ต้องบอกว่า ความเป็นท่านวันนอร์ (วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ) ท่านมีความอินเตอร์เนชันนัลสูงมาก แล้วเวลาที่ได้ฟังท่านพูด ตั้งแต่เมื่อครั้งเข้าการเมือง 19 ปีที่แล้ว ก็เคารพท่านตลอด เพราะท่านมีความเป็นผู้ใหญ่ เป็นกลาง และเป็นครู

 

 

เราอยากอยู่กลุ่มเล็กๆ ที่ผลักดันอะไรก็ผลักดันได้ หัวหน้าพรรคคุยกับลูกพรรค คุยกับกรรมการ คุยกับสมาชิกพรรคได้ง่ายๆ ไม่ต้องผ่านขั้นตอนเยอะ เราอยากทำงานที่ผลักดันอะไรได้ เพราะการเมืองเป็นงานที่เร็ว ถ้าเรามารอผ่าน 10 สเตปกว่าจะเดินงานได้ โครงการก็จะไม่คืบหน้าอีก เรารู้เราเห็นมาแล้ว เกือบ 19 ปีที่เราอยู่ในการเมือง เพราะฉะนั้นเราเห็นว่าเป็นพรรคคนทำงาน ด้วยประสบการณ์ของท่าน ท่านจะให้มุมมอง ข้อคิด เป็นตัวแทนของความหลากหลายด้วย

 

จริงๆ พอย้อนกลับมามองตัวเอง ตัวเองเป็นคาทอลิก คุณพ่อก็เป็นคาทอลิก คุณแม่เป็นพุทธ แต่เราก็มีเพื่อน พี่น้อง สมัยทำงานหาเสียงเราก็เข้าไปในกลุ่มพี่น้องชาวซิกข์ มุสลิม และยิ่งตอนนี้มันเป็นเทรนด์ของโลกไปแล้ว ตอนไปอยู่กับสามีช่วงปีแรกๆ ที่แคนาดา มันไม่มีหรอกค่ะว่าคุณเป็นไทย แล้วไทยจริงๆ คือใคร สุดท้ายแล้วเราก็มีเชื้อสายมาจากประเทศจีน มีตรงนู้นตรงนี้มาบ้าง ชาวโลกเราประกอบด้วยคนทุกสายพันธุ์ ความเป็นมนุษย์มันอยู่ตรงการเข้าใจความต่างของแต่ละคน

 

อีกอย่างในเรื่องความยุติธรรม ความไม่ยุติธรรมมีอยู่ในสังคมเยอะ ถ้าเราอยู่ตรงนี้ เราก็ผลักได้แค่ตรงนี้ ตรง 3 จังหวัด แค่ 9 โรงเรียน อย่างน้อยก็ขอให้ได้ออกไปผลักดัน ถ้าไม่ได้ก็ค่อยว่ากันใหม่

 

 

ในฐานะรองหัวหน้าพรรค มีคนมองว่าพรรคประชาชาติคือพรรค 3 จังหวัดชายแดนใต้ สิ่งนี้จะทำให้มั่นใจกับคะแนนเสียง ที่นั่ง ส.ส. ได้มากน้อยแค่ไหน

ความเป็น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คืออะไร จะเป็นตรงไหน เรานักการเมืองก็ต้องช่วยกันในภาพกว้างภาพใหญ่

 

สำหรับเรื่องที่นั่ง ส.ส. คือในพรรคก็ไม่ได้มีแต่แคนดิเดตที่เป็นมุสลิม เพราะอย่างพื้นที่ กทม. แคนดิเดตก็มีทั้งนักธุรกิจ นักกีฬา นักแสดง ในแคนดิเดต กทม. มีมุสลิมจริงๆ ไม่ถึง 10 คน

 

ส่วนการที่เรามาเป็นรองหัวหน้าพรรค ภาพที่ออกไปก็เป็นการบอกตรงๆ ว่าพรรคนี้ไม่ใช่พรรคของคนมุสลิมนะ เป็นพรรคของคนทั้งประเทศที่ยอมรับความแตกต่างแต่อยู่ในความเป็นไทย เราก็น่าจะเป็นคนคนหนึ่งที่บอกถึงจุดนั้น

 

มั่นใจว่าประชาชนจะให้โอกาสไหม

คือถ้าเขาเข้าใจถึงแก่นที่แท้จริงของพรรคนี้ ว่าหนึ่ง เป็นพรรคคนทำงาน สองเป็นพรรคคนที่มีประสบการณ์จริง ผู้สมัครที่อยู่ใน กทม. ก็ไม่ใช่แค่เอาหน้าตาดีแล้วเข้ามา แต่ทุกคนต้องประสบความสำเร็จมาแล้ว ลองผ่านอะไรมาแล้ว ประสบการณ์ล้วนๆ ก็คิดว่ามั่นใจ จริงๆ มาเป็นรองหัวหน้าพรรคก็ไม่ใช่อะไรเลย ก็มาช่วยกันระดมสมอง อย่างถ้าเป็นเรื่องการศึกษาจะทำอย่างไร เรื่อง กยศ. เรื่องเทคโนโลยีจะทำอย่างไร เรามีคนหลากหลาย มี ดร. ก็เยอะถึง 15 คนแล้ว

 

 

โดนมาเยอะ เจ็บมาแยะ รับมืออย่างไรกับบรรยากาศทางการเมือง

จริงๆ ต้องบอกว่าเราก็เต็มแม็กซ์ในทางการเมืองเหมือนกัน เพราะเราก็โดนมาเยอะ มีเรื่องดี เรื่องแย่ โดนชม โดนด่า ยังมีคนคิดว่า ไม่เข็ดหรอโดนขนาดนั้นแล้ว ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาคิดเลย เพราะมันไม่ใช่ความจริง

 

แต่ที่เราหายไปเพราะว่า มันเริ่มไม่ใช่การทำงาน มันเป็นการพูดคุยเรื่องอำนาจ เราก็ไม่อยากยุ่ง ก็กลับมาทำงาน ทำเรื่องที่สนใจ แล้วก็กลับไปใหม่ ไม่ต้องใช้เวลามาทดลองแล้ว คือ 6 เดือนเดินหน้าเลย ตั้งเป้าว่าถ้ารัฐบาลอยู่ 4 ปี เราตั้งเป้าไว้เลยว่า 6 ปี เด็ก ป. 1 ถึง ป. 6 พูดอังกฤษได้

 

ชีวิตที่ผ่านมา การมีครอบครัว มีลูก ส่งผลอย่างไรบ้าง

คิดว่าการมีลูกมันทำให้รู้ อย่างที่เขาบอก ไม่เจอกับตัวเองไม่รู้หรอก พอมาเป็นแม่ถึงรู้เลยว่าทุกวินาทีของมนุษย์ชีวิตหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเขาต้องการกำลังใจ ต้องการคนอยู่ข้างๆ ไม่ใช่คอยจับผิด พ่อแม่คือครูคนแรก เราต้องกลับมาให้ความสำคัญกับสถาบันครอบครัว ยิ่งโลกเจริญเท่าไร คนยิ่งอยู่ด้วยกันน้อยลง ถึงแม้อยู่ด้วยกันก็ยังใช้เทคโนโลยี แทนที่จะคุยกันตรงๆ  

 

ดังนั้นก็อยากให้เราต่างเป็นแรงบวกซึ่งกันและกัน สถาบันครอบครัวก็ควรได้รับการส่งเสริม ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ แต่กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ก็มีส่วนสำคัญ อย่างเมื่อก่อนก็จะมีโครงการให้ความรู้พ่อแม่ เพราะถ้าเราเริ่มสายไป ไม่เริ่มกล่อมเกลาพ่อแม่ก่อน รอให้ลูกเข้าโรงเรียน ก็อาจทำให้เดินไปในทางที่ผิด ก็คิดว่าสถาบันครอบครัวควรได้รับความสนใจเป็นอันดับแรกเพราะเป็นการสร้างคน คนเป็นสมบัติที่ล้ำค่าที่สุดของโลกมนุษย์นี้

 

 

กลับมารอบนี้ คาดหวังอยากเห็นอะไร เห็นการเมืองเป็นไปแบบไหน

จริงๆ เราคงทำคนเดียวไม่สำเร็จ และเราก็เริ่มจากพรรคเล็กๆ คงไม่ต้องการอะไรใหญ่โต พรรคประชาชาติเริ่มด้วยความเข้าใจ เคารพในความแตกต่าง ซึ่งอันนี้สำคัญที่สุด ที่บ้านเมืองเรามาถึงจุดนี้เพราะเราไม่เคารพในความต่าง ในความเป็นตัวตนของอีกคนหนึ่ง อะไรที่เรายอมได้เราควรยอม เราอย่าไปมองความต่าง หรือไม่ใช่เราเราไม่รับ และพรรคนี้ตอบโจทย์ที่เอาคนไม่เหมือนกันมาอยู่ด้วยกันได้ ด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน อันนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่คนไทยต้องการ

 

ในฐานะคนทำงานการศึกษา คิดว่าการศึกษาในช่วงบ้านเมืองเป็น-ไม่เป็น ประชาธิปไตย มันแตกต่างกันไหม

บอกเลยว่าเราต้องไปปฏิวัติวิชาสังคม โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ถ้ายังมีในโอเน็ตด้วยนะ การให้เด็กจำชื่อ จำ พ.ศ. ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่ควรมีอีก

 

แต่ถ้าจะให้มี ควรถามว่าเหตุผลในการปฏิวัติคืออะไร แล้วถ้าเราจะแก้ไม่ให้มีการปฏิวัติอีกต่อไปควรทำอย่างไร

 

วันนี้ต้องให้เด็กศึกษาเรื่องนี้แล้วมาช่วยกัน นี่คือวาระแห่งชาติ ถึงเวลาต้องฟังเด็กแล้วเอามาปรับ เพราะบ้านเมืองเป็นของคนรุ่นนี้ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต้องฟังเด็ก เพราะประเทศนี้ไม่ใช่ประเทศของคุณหรือของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising