×

ดร.อ้อ-ณหทัย ทิวไผ่งาม: พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษเด็กไทย ทำไมต้องเรียนรู้จากแคนาดา (ตอนที่ 1)

28.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 MINS READ
  • 12 ปีที่ห่างหายจากการเมือง ทำให้ ดร.อ้อ ได้จับประเด็นการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาที่สองโดยศึกษาจากแคนาดา
  • นอกจากการตั้งทีมคิดโจทย์และหาคำตอบว่าจะจัดการศึกษาอย่างไร ยังได้ทดลองจริงในโครงการนำร่องที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
  • การจัดการศึกษา การวัดผล ต้องออกแบบโดยเข้าใจความหลากหลายแตกต่าง ต้องรู้ว่าอะไรคือเรื่องอ่อนไหวของพื้นที่

17 ปีที่แล้ว โลกการเมืองได้เปิดประตูต้อนรับ ดร.อ้อ-ณหทัย ทิวไผ่งาม คนรุ่นใหม่ในฐานะผู้สมัคร ส.ส. กรุงเทพมหานคร พรรคไทยรักไทย ครั้งนั้นเธอพ่าย ไม่สมหวัง แบกพลังอันล้นเหลือทำงานการเมืองในฐานะรองโฆษกรัฐบาลและตำแหน่งอื่นๆ

 

ถัดมาอีก 4 ปี เธอคว้าชัยได้เป็นผู้แทนฯ ในเขตห้วยขวางสมใจ แต่ก็ต้องพักการเมืองไปหลังเกิดเหตุรัฐประหารในปี 2549

 

12 ปีที่หายไปจากการเมือง ดร.อ้อ กลับไปทำงานการศึกษา กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว เธออยู่เบื้องหลังงานพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

รอบนี้ขอกลับมาทำงานการเมืองในสังกัด ‘พรรคประชาชาติ’ โดยบอกว่าเธอกลับมาทำงานการเมืองอีกครั้งเพราะต้องการเวทีผลักดันในสิ่งที่เธอทำมาหลายปี

 

ดร.อ้อ บอกว่าประชาชาติมีจุดขายที่ความหลากหลาย ภาพการทำงานการเมืองชัดเจน และต้องการนำพาประเทศไปสู่ก้าวย่างที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการศึกษา นักเรียน ครู และเทคโนโลยี และต่อไปนี้คือประสบการณ์ด้านการศึกษาที่ THE STANDARD ชวนไปเจาะลึกงานที่ ดร.อ้อ ทุ่มเทมาตลอดหลายสิบปี

 

เทคโนโลยีกับอะไรที่ทำให้การเรียนรู้ทำได้เร็วขึ้น ควรเอามาเป็นองค์ประกอบในโรงเรียน และคนที่ต้องรู้ก่อนใครเพื่อนเลยคือครู

 

เกือบ 10 ปีที่หายไปก่อนจะกลับเข้ามาสนามการเมืองวันนี้ คุณยังคงจับเรื่องการศึกษา นอกจากเรื่องโรงเรียนทิวไผ่งามแล้ว ไม่ทราบว่ามีอะไรอีกบ้าง

จริงๆ ถ้าจำได้ สมัยสัก 10 ปีก่อนก็จะมีนโยบายเกี่ยวกับ One Tablet Per Child เราไม่ได้อยู่ในการเมือง แต่ก็ยังช่วยอยู่เล็กน้อย จึงเป็นประเด็นที่ทำให้เรากลับมาคิดกันว่าจริงๆ แล้วถ้าจะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมและโอกาสจริงๆ แท็บเล็ตก็เป็นเครื่องมือที่จะช่วยได้ หากคิดหาวิธีใช้มันอย่างรอบด้าน 360 องศา แต่มันก็ไม่ใช่ทั้งหมด เราก็มาคิดตั้งโจทย์กันกับคุณแทน สมบูรณ์ทรัพย์

 

อย่างเมื่อก่อนเรามีวิชา ก.พ.อ. การงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี ซึ่งมันไม่ควรเป็นวิชา แต่ควรแทรกสอดไปในทุกวิชา คือเทคโนโลยีกับอะไรที่ทำให้การเรียนรู้ทำได้เร็วขึ้น ควรเอามาเป็นองค์ประกอบในโรงเรียน และคนที่ต้องรู้ก่อนใครเพื่อนเลยคือครู

 

เพื่อหาคำตอบ เราก็มาตั้งทีมกันเกือบ 12 ปีแล้ว เป็นทีมจากทั้งไทยและแคนาดา พอเริ่มเขียนโปรแกรมกัน เราก็มองว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องแท็บเล็ตแล้ว แต่ต้องคิดเรื่องลักษณะของโปรแกรมที่อยู่ภายในว่าจะเอาไว้ใช้ทำอะไร กลายเป็นหนังสือที่เขียนได้ อ่านได้ เราดีไซน์และจับกลุ่มกับทีมงานในควิเบก ประเทศแคนาดา ซึ่งแคนาดาเป็นประเทศที่ต้องพูดสองภาษาเป็นภาษาราชการ ในรัฐธรรมนูญของเขา ในเอกสารราชการ บริษัทใหญ่ๆ ทั้งหมดจะต้องมีภาษาอังกฤษควบคู่กับภาษาฝรั่งเศสตลอด และคนส่วนใหญ่ในควิเบกสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้ โดยควิเบกเป็นเมืองที่ Bilingual ร้อยเปอร์เซ็นต์ คือสลับไปมาระหว่างภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้ตลอดเป็นเสมือนภาษาแม่ของตัวเอง

 

ฉะนั้นเราก็คิดว่าถ้าจะสร้างเด็กให้เรียนภาษาอังกฤษได้ดีที่สุด การสื่อสารต้องเริ่มจากคนที่พูดภาษาแม่ได้สองภาษา ไม่ใช่ไปเลือกประเทศที่เลือกพูดภาษาแม่ภาษาเดียวคือภาษาอังกฤษ

 

 

เมื่อมองแบบนี้ก็ต้องมองลึกลงไปตั้งแต่อนุบาลหรือเนิร์สเซอรี เขาบ่มเพาะเด็กอย่างไร ให้ครูสอนอย่างไร หลักสูตรเป็นอย่างไร เริ่มสอนที่ภาษาใดก่อนจึงทำให้เด็กโตขึ้นแล้วพูดฝรั่งเศสเป็นสำเนียงฝรั่งเศส หรือถ้าพูดอังกฤษก็เหมือนคนอเมริกันพูดภาษาอังกฤษ จึงเป็นที่มาของการทำงานร่วมกับกลุ่มนักวิชาการเพื่อเรียนรู้กระบวนการในการเรียนภาษาที่สองให้เป็นภาษาแม่อีกภาษาหนึ่ง เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้เด็กไทยที่จบมา ใครไม่ได้ภาษาอังกฤษเท่ากับตัดอนาคตตัวเองไปเกินครึ่งแล้ว

 

เพราะจริงๆ ภาษามันไม่ได้มาพร้อมกับแค่การสื่อสารได้ แต่มาพร้อมกับวัฒนธรรม เพราะจริงๆ ประโยคภาษาอังกฤษในบริบทต่างกันก็แปลต่างกันได้ การที่เราจะเรียนภาษาโดยไม่แตะวัฒนธรรมจึงเป็นไปไม่ได้ ประโยชน์ของการเรียนภาษาคือทำให้เรารู้วัฒนธรรม เมื่อรู้วัฒนธรรมเราก็จะเข้ากับคนต่างชาติต่างภาษาได้  ไม่ว่าจะทำธุรกิจ จะเข้าไปทำความรู้จักกับใคร มันเป็นเรื่องบวกทุกอย่างอยู่แล้ว และจะเป็นโอกาสของเด็กๆ

 

และด้วยความเป็นโรงเรียนทิวไผ่งาม ถ้าคุณอยากเป็นโรงเรียน EP (English Program) ไม่ใช่จู่ๆ คุณจับฝรั่งมานั่งฟุตฟิตฟอไฟ มันต้องเริ่มจากการหาคนที่จบครูจริงๆ เพราะแม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนมีความสามารถในการสอน แต่เรื่องของการทำ Professional Development ในอาชีพครูเนี่ยจำเป็นมาก จริงๆ ต้องทำทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกเทอม ทุกปี คือเราปล่อยให้ครูอยู่กันเองทำกันเองไม่ได้ เพราะว่าระบบเมืองไทยมันคือเรื่องของการให้กำลังใจ หรือถ้าพูดให้ง่ายก็คือการเป็นโค้ช คนที่มีประสบการณ์ คนที่รู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติมาก่อนต้องก้าวเข้าไปในโรงเรียน แล้วดูทั้งนโยบายทุกอย่างที่กระทรวงศึกษาธิการให้มาและทิศทางโลกที่เปลี่ยนไป ต้องเอามาให้กับครูว่าเขาทำได้อย่างไร โค้ชหรือศึกษานิเทศก์ต้องเป็นครูของครู ครูเขาจะได้รู้สึกมั่นใจ รู้สึกเหมือนมีคนอยู่ข้างๆ สามารถหาทางแก้ไขและปรึกษาได้ทันเวลา

 

คือมันไม่ใช่แค่เรื่องแท็บเล็ตแล้ว เราอาจต้องดูตั้งแต่เรื่องการจัดหาครู การฝึกหัดครู ให้ความรู้ครูในการสอน โดยเฉพาะเทคนิคการสอนภาษาเพื่อให้ผู้เรียนสื่อสารได้ เพราะการเรียนภาษาอังกฤษของบ้านเราตัดความกล้าของเด็ก

 

 

อย่างที่รู้กันมาตลอดว่าการเรียนภาษาอังกฤษของบ้านเราตัดความกล้าของเด็ก เพราะเราเริ่มด้วยการท่องจำคำศัพท์และเรียนไวยากรณ์ ยิ่งทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เขาก็จะคิดว่า ‘ถ้าทำต่างออกไปมันจะไม่ใช่’ แล้วกว่าจะเปลี่ยนได้ก็ต้องใช้การทำซ้ำๆ และให้กำลังใจ

 

ดังนั้นกระบวนการเรียนรู้วันนี้ของทั้งครูและทั้งเด็ก ต้องบอกว่าอย่าไปกลัวความผิดพลาด แต่การเรียนรู้ในสังคมไทยไม่ได้ออกแบบมาแบบนั้น เพราะการทำอะไรผิดพลาดในสังคมไทยเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องน่าอับอาย แต่คำว่าความผิดพลาด ตราบใดที่ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน มันไม่ใช่เรื่องน่าอายเลย มันเป็นครูของชีวิต

 

ดังนั้นเรื่องแท็บเล็ตเราก็คิดแก้ปัญหาเรื่องซอฟต์แวร์เพื่ออำนวยการสอนจริง เรื่อง Peopleware เราเอาครูมารวมไว้ในศูนย์เดียวกันเลยเพื่อบรอดแคสต์ออกไป และอีกปัญหาคือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานอย่างเรื่องเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต ซึ่งการสอนเด็กในห้อง เด็กก็ยังคุยกันบ้าง แต่ถ้าสอนผ่านหน้าจอแค่ประมาณ 10 นาที เด็กก็จะรู้สึกแล้วว่ามันนาน เพราะฉะนั้นครูที่จะมาสอนหน้าจอต้องมีแอ็กติ้งเหมือนนักแสดงและจะต้องมีวิธีการ ใน 50 นาทีจะต้องมีเอเนอร์จีตลอดเวลา

 

 

5 ปีแรกเราเริ่มทดลองในโรงเรียนนำร่องบางโรงเรียนที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ โดยใช้ระบบไฟเบอร์ออปติก แล้วปีนี้คือปีที่ 6 ก็เริ่มเอาเข้าโรงเรียนอย่างแท้จริง และลองในโซนที่ยากที่สุดในประเทศไทย เพราะเราอยากรู้ว่าปัญหาเรื่องครู ปัญหาเรื่องเทคโนโลยี ปัญหาเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่ไม่เสมอภาคเท่าเทียม ปัญหาที่เด็กไม่ได้รับโอกาสในการได้เรียนกับครูดีๆ ว่ามันจะแก้ได้ไหม ก็เลยทดลองใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ได้รับความร่วมมือที่ดีของชุมชน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และหน่วยงานเทศบาลนคร

 

ฉะนั้นเราก็คิดว่าถ้าจะสร้างเด็กให้เรียนภาษาอังกฤษได้ดีที่สุด การสื่อสารต้องเริ่มจากคนที่พูดภาษาแม่ได้สองภาษา ไม่ใช่ไปเลือกประเทศที่เลือกพูดภาษาแม่ภาษาเดียวคือภาษาอังกฤษ

 

จากการได้ลงไปทำโครงการนำร่องที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอะไรที่เปลี่ยนมุมมองคุณไปบ้าง

เราได้เห็นความเป็น Trilingual ซึ่งคนกรุงเทพฯ อาจพูดได้น้อยกว่าด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

วันนี้เข้าปีที่ 5 กำลังจะขึ้นปีที่ 6 แต่กระบวนการที่เราทำกับเด็กตอนนี้ก็มาถูกดักด้วย O-NET ซึ่งเป็นการสอบการเขียน ถามว่าการกลับไปทดสอบที่การเขียนมันวัดความริเริ่มสร้างสรรค์ตรงไหน จริงๆ O-NET มีไว้เพื่ออะไรกันแน่ ย้อนกลับไปว่ามาตรฐานการทดสอบควรอยู่ที่โรงเรียนเองหรือเปล่า ให้ดูว่าเขามีความหลากหลายอย่างไร

 

อย่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราทำคอนเทนต์ เราก็ต้องดูว่าเรื่องไหนที่มีความอ่อนไหวกับท้องถิ่น เป็นเนื้อหาที่เราไม่สมควรจะพูด เราก็พลิกแพลงปรับได้ หรืออะไรที่จะเชิดชูท้องถิ่นเขา เราก็เอาเข้าไปใส่ ถึงบอกว่าจริงๆ แกนกลางความรู้ที่กระทรวงศึกษาธิการจะให้กับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศควรจะมีแค่แก่นที่เป็นหลัก อย่างวิชาคณิตศาสตร์ที่มันก็เหมือนกันทั่วโลก แต่อะไรที่เป็นวิชาเสริมก็ปล่อยให้เขาได้มีเสรีภาพที่จะคิด เพราะเราอยากให้คนท้องถิ่นกลับสู่ท้องถิ่น เพื่อที่ตัวเองจะได้เอาความคิดใหม่ๆ ไปการแก้ปัญหาที่บ้านตัวเอง ถ้าทุกคนกลับบ้าน กลับสู่ท้องถิ่นเพื่อพัฒนา ไม่ใช่แห่เข้าเมืองใหญ่ ประเทศไทยจะเจริญขนาดไหนด้วยความอุดมสมบูรณ์ของคนไทย

 

การที่เราจะเรียนภาษาโดยไม่แตะวัฒนธรรมจึงเป็นไปไม่ได้ ประโยชน์ของการเรียนภาษาคือทำให้เรารู้วัฒนธรรม เมื่อรู้วัฒนธรรมเราก็จะเข้ากับคนต่างชาติต่างภาษาได้

 

จากที่พูดถึงระบบการจัดการศึกษา ถ้ามองที่ครู ครูมีส่วนอย่างไร และครูจะปรับตัวอย่างไรในกระแสเทคโนโลยีที่เด็กสามารถเข้าถึงความรู้ได้ง่ายขึ้น  

วันนี้เราต้องเปิดกว้าง เราต้องยอมรับว่าครูมีสิ่งที่เหนือกว่าเด็กที่สุดคือเรื่องประสบการณ์ ด้วยคุณวุฒิ วัยวุฒิ แต่เรื่องความรู้ ให้เด็กเหนือกว่าเราเถอะ ใครทำได้คนนั้นชนะ เพราะครูสามารถกระตุ้นให้เด็กไปหาอ่านได้ สามารถตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนไปหาคำตอบได้ และการตั้งคำถามนี้ก็จะทำให้ครูได้นำประสบการณ์ของตัวเองมาคุยกับสิ่งที่นักเรียนรับรู้ ครูต้องเปิดตัวเองด้วยการอ่าน แสวงหาความรู้ใหม่ๆ

 

เปิดทัศนคติว่าถ้าสอนให้เด็กฉลาดกว่าเรา เราจะเป็นครูที่ดี แต่ถ้าสอนให้เด็กไม่พูดและโง่กว่าเรา เราก็เป็นครูที่แย่ แต่อย่างที่บอกว่าครูเหนือกว่าด้วยประสบการณ์ การแก้ปัญหาชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะการศึกษาวันนี้ไม่ได้หยุดที่แค่การหาความรู้ในเนื้อหา แต่อยู่ที่ว่าใครแก้ปัญหาได้เก่งกว่ากัน เพราะต่อไปเทคโนโลยีต่างๆ Siri, AI, Google มันตอบคำถามได้หมดแล้ว แต่วันนี้ครูที่เป็นมนุษย์จะเหนือกว่าด้วยประสบการณ์และการแก้ไขปัญหา ครูต้องอยู่กับปัจจุบัน เอาประสบการณ์มาแก้ไขปัญหาปัจจุบัน นี่คือครูในอนาคต

 

 

และทั้งหมดนี้คือบางส่วนของช่วงเวลาที่หายไปจากเวทีการเมืองของ ดร.อ้อ-ณหทัย ทิวไผ่งาม หนึ่งในคนที่คลุกคลีและลงมือทำจริงๆ เพื่อเปลี่ยนการจัดการศึกษาให้เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้

 

นอกจากเรื่องภาษาแล้ว ดร.อ้อ ยังมีมุมมองต่อระบบการศึกษาของประเทศไทยอีกหลายเรื่องและรอบด้าน ทั้งเทคโนโลยี เรื่องครู ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนธรรมดาคนหนึ่งจะทำได้สำเร็จ

 

วันนี้ ดร.อ้อ หวนคืนสู่เวทีการเมืองเพื่อนำประสบการณ์ที่สั่งสมมาทำเพื่อชาติ แล้วทำไมต้องเป็นพรรคประชาชาติ รอติดตามกันต่อในบทสัมภาษณ์ตอนที่ 2 เร็วๆ นี้

 

คลิกอ่านตอนจบ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising