×

เลขาฯ ป.ป.ช. ระบุกำลังรวบรวมหลักฐานปมไลน์หลุดรับกล้วย หากเป็นการยืมเงินจริงไม่มีความผิด เชื่อการพิจารณาต่างจากคดียืมนาฬิกา

โดย THE STANDARD TEAM
26.07.2022
  • LOADING...
นิวัติไชย เกษมมงคล

วันนี้ (26 กรกฎาคม) นิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (เลขาฯ​ ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีกลุ่มพรรคเล็กชี้แจงประเด็นไลน์หลุดรับกล้วย ในช่วงที่จะมีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ 11 รัฐมนตรี เป็นเพียงการยืมเงินกันนั้นว่า ในระหว่างนี้ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลแล้ว โดยสำนักการข่าวและกิจการพิเศษที่ได้มีการมอนิเตอร์ติดตามรวบรวมประเด็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 

 

โดยการจะเสนอเข้าสู่ ป.ป.ช. ได้ ต้องรวบรวมข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนสมบูรณ์ในประเด็นต่างๆ และต้องอยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. โดยหากมีผู้ร้องเรียนเข้ามาด้วยก็สามารถหยิบยกเข้ามารวมกัน แต่หากไม่มีผู้ร้องเรียนก็อาจยกเหตุพ้นวิสัยเพื่อให้ดำเนินการไปต่อได้ 

 

“ถ้าเป็นการให้ยืมเงินจริงก็ไม่เข้าข่ายเป็นความผิด เพราะทุกคนก็มีสิทธิ สามารถกู้ยืมเงินได้ถ้ามีความจำเป็น แต่ถ้าไม่ใช่เรื่องการกู้ยืม เป็นเรื่องการให้ ก็จะเป็นอีกกรณีหนึ่ง เพราะการให้ต้องพิจารณาว่าเป็นการให้เกี่ยวกับอะไร หากไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ หรือเป็นการให้ที่เกี่ยวกับรับทรัพย์สินเกินกว่า 3,000 บาท” นิวัติไชยกล่าว

 

นิวัติไชยกล่าวอีกว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ถือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้กรอบกฎหมายของ ป.ป.ช. หากจะรับทรัพย์สินเกินกว่านั้นได้ต้องมีการรายงานผู้บังคับบัญชาทราบ และอนุญาตให้ถือครองทรัพย์สิน แต่ถ้าเป็นการให้เพื่อจูงใจเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ หรือการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ อาจเป็นกรณีการรับหรือเรียกรับไว้เพื่อกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในตำแหน่งหน้าที่ ก็ต้องพิจารณาถึงตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นว่ามีหน้าที่อะไร เช่น หน้าที่ลงคะแนนเสียง หน้าที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ มีมติเกี่ยวกับการพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย ถ้าเป็นการรับโดยมีมูลเหตุจูงใจในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ ก็จะเข้าสู่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ได้ และอาจต้องพิจารณาเกี่ยวข้องกับกรณีมีพฤติกรรมความผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรงร่วมด้วย

 

“ส่วนเอกสารสลิปโอนที่หลุดในแชตไลน์ เชื่อว่าสามารถนำมาเป็นหลักฐานในการพิจารณาได้ แต่ต้องมีการตรวจสอบว่าเป็นการกู้ยืมเงินกันจริงหรือไม่ หรือเป็นการให้รูปแบบใด ส่วนที่มีความกังวลว่ากรณีนี้ท้ายที่สุดก็จะคล้ายกับกรณียืมนาฬิกาเพื่อนนั้น เชื่อว่าคงไม่เหมือนกัน เพราะคดียืมนาฬิกาเพื่อนมีบรรทัดฐานการวินิจฉัยที่ชัดเจน และทั้งสองคดีก็มีความต่างกันคือ การยืมแบบใช้คงรูปกับยืมใช้สิ้นเปลือง ถ้ายืมแล้วชดใช้ก็เป็นเรื่องการยืม แต่ถ้าให้ย่อมแตกต่าง” นิวัติไชยกล่าว

 

นิวัติไชยยังกล่าวต่อไปว่า ประเด็นเรื่องของการให้มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่การให้ขาด หรือการให้ที่มีเงื่อนไข เช่น การให้กู้ ซึ่งมีผลประโยชน์ตอบแทนกลับมาแก่ผู้ให้กู้ในเชิงพาณิชย์ จึงต้องเริ่มจากแยกแยะให้ชัดเจนว่าเป็นการให้แบบใด เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกคน จึงต้องพิจารณาว่าการเจตนาของการให้เพื่อสิ่งใด ให้เพื่อจูงใจที่จะให้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เรียกว่าให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อปฏิบัติงานหรือละเว้นอย่างใดอย่างหนึ่งในหน้าที่ ซึ่งกรณีนี้ผู้ให้มีความผิด เพราะรู้อยู่ว่าการให้มีผลประโยชน์แอบแฝง มีมูลเหตุจงใจว่าจะให้ทำประการใด เช่น การออกใบอนุญาต ซึ่งจะผิดทั้งผู้ให้และผู้รับ ซึ่งโทษความผิดทั้งสองรูปแบบแตกต่างกัน เป็นความผิดคนละมาตรา

     

ส่วนความผิดนี้จะขยายผลไปถึงการยุบพรรคหรือไม่นั้น ตนขอไม่ก้าวล่วงในประเด็นดังกล่าวเพราะไม่ใช่หน้าที่ และอำนาจของ ป.ป.ช. แต่ความผิดทุกอย่างหากมีคำวินิจฉัยแล้ว จะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้ลงเป็นฐานข้อมูล ส่วนการดำเนินการจะเป็นอย่างไร เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของ กกต. แต่วันนี้ผลยังไปไม่ถึงขนาดนั้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X