×

สรุปข้อมูลการพบแสงประหลาดเหนือท้องฟ้าไทย มาจากเครื่องยนต์จรวดสหรัฐฯ-จีน

26.12.2024
  • LOADING...
แสงประหลาด

ในช่วงหัวค่ำวันที่ 16 และ 21 ธันวาคม มีรายงานการพบเห็นแสงประหลาดสีขาวพร่ามัวเหนือท้องฟ้าหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย นำไปสู่การตั้งคำถามถึงที่มาของแสงปริศนาดังกล่าว

 

จากการตรวจสอบข้อมูลผ่านภาพถ่ายและวิดีโอที่ปรากฏบนโซเชียลมีเดีย พบว่าเหตุการณ์ทั้งสองเป็นช่วงเวลาที่มีการเดินเครื่องยนต์ของจรวด โดยแสงดังกล่าวสะท้อนเข้ากับแสงจากดวงอาทิตย์ ส่งผลให้ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้

 

สำหรับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม เกิดขึ้นเวลาประมาณ 19.00 น. เป็นแสงที่มีลักษณะคล้ายกับดาวหางสว่าง ปรากฏเคลื่อนที่ไปทางทิศเหนือ โดยจากการตรวจสอบข้อมูลการปล่อยจรวด พบว่าสอดคล้องกับภารกิจนำส่งดาวเทียมชุดแรกของเครือข่ายดาวเทียม SatNet Guowang โดยจรวด Long March 5B จากฐานปล่อยดาวเทียม Wenchang ของประเทศจีน

 

แม้เวลาการปล่อยจรวด Long March 5B เกิดขึ้นในช่วงเวลา 17.00 น. แต่จากการตรวจสอบ พบว่าภารกิจดังกล่าวใช้จรวดส่วนบน Yuanzheng-2 เพื่อนำพาดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรต่ำรอบโลก หรือ Low Earth Orbit ซึ่งใช้เวลาประมาณ 90 นาทีในการโคจรรอบโลกครบ 1 รอบ สอดคล้องกับช่วงเวลาที่พบเห็นแสงปริศนาดังกล่าวเหนือท้องฟ้าประเทศไทย

 

ด้านเหตุการณ์วันที่ 21 ธันวาคม เกิดขึ้นช่วงเวลาประมาณ 19.40 น. พบเห็นแสงสีขาวที่ถูกห้อมล้อมด้วยฝ้าอยู่รอบๆ คล้ายการเดินเครื่องยนต์ของจรวดเช่นเดียวกับวันที่ 16 ธันวาคม

 

จากการตรวจสอบรายละเอียดเพิ่มเติม พบว่าบริษัท SpaceX นำส่งจรวด Falcon 9 ขึ้นบินในภารกิจ Bandwagon-2 สำหรับการนำส่งดาวเทียมจากหน่วยงานต่างๆ เข้าสู่วงโคจรต่ำรอบโลกเมื่อเวลา 18.34 น. โดยจรวดส่วนที่ 2 ของ Falcon 9 เดินเครื่องยนต์หลายครั้งหลังจากออกเดินทางขึ้นสู่วงโคจร เพื่อนำส่งดาวเทียมของลูกค้าเข้าสู่วงโคจรที่ต้องการ สอดคล้องกับช่วงเวลาและรูปร่างของแสงที่ปรากฏเหนือท้องฟ้าไทย

 

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NARIT) สมาคมดาราศาสตร์ไทย และนักดาราศาสตร์สมัครเล่นที่ติดตามการนำส่งวัตถุขึ้นสู่วงโคจร รายงานสอดคล้องกันว่า แสงประหลาดที่มองเห็นในวันที่ 16 ธันวาคม มาจากจรวด Long March 5B ของจีน และในวันที่ 21 ธันวาคม มาจากจรวด Falcon 9 โดยไม่ใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ฝนดาวตก ดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยพุ่งใส่ชั้นบรรยากาศโลก

 

ทั้งนี้ การมองเห็นลำแสงจากเครื่องยนต์ของจรวดไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ โดยเฉพาะภารกิจที่มีการเดินเครื่องยนต์ในช่วงเวลาหัวค่ำ และมีวิถีโคจรผ่านน่านฟ้าของไทย อย่างเช่นเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม เมื่อจรวด Ariane 5 นำส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ก็มีรายงานการพบเห็นช่วงเวลาที่จรวดเดินเครื่องยนต์จากพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยเช่นกัน

 

สำหรับในปี 2024 มีการนำส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรรวมทั้งสิ้น 255 เที่ยวบิน (สถิติ ณ วันที่ 25 ธันวาคม) นับเป็นศักราชที่นำส่งจรวดสำหรับภารกิจไปโคจรรอบโลกได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทำให้มีโอกาสมองเห็นแสงจากเครื่องยนต์จรวดได้มากกว่าเดิม โดยจรวดส่วนที่ 2 เหล่านี้มักอยู่สูงมากกว่า 100 กิโลเมตรจากพื้นดิน และไม่เป็นอันตรายใดๆ ต่อผู้สังเกตจากพื้นโลก

 

ภาพ: NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising