×

กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเสี่ยงแค่ไหน หลังฉีดวัคซีน mRNA

13.11.2021
  • LOADING...
myocarditis

myocarditis

 

ฝรั่งเศสและเยอรมนีเป็น 2 ประเทศล่าสุดที่แนะนำให้ประชาชนอายุต่ำกว่า 30 ปีฉีดวัคซีน Pfizer แทนวัคซีน Moderna เนื่องจากพบผลข้างเคียงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบต่ำกว่า โดยก่อนหน้านี้มีบางประเทศในยุโรปที่ประกาศมาก่อนหน้า ได้แก่ สวีเดน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา แล้วความเสี่ยงของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนมากน้อยแค่ไหน?

 

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) เป็น ‘ผลข้างเคียง’ ที่พบไม่บ่อยหลังจากฉีดวัคซีนชนิด mRNA ปัจจุบันยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่แน่ชัด แต่มักพบในผู้ชายอายุน้อย และหลังจากการได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 ภายในระยะเวลาหลายวัน อาการ ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อยหรือหายใจไม่อิ่ม ใจสั่น ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง และดีขึ้นอย่างรวดเร็วหลังจากได้รับยาและการพักผ่อน

 

อัตราการพบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีน Moderna สูงกว่าวัคซีน Pfizer ประมาณ 3 เท่า โดยเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 สำนักข่าว Reuter รายงานข้อมูลจากสถาบัน Paul Ehrlich Institute (PEI) ในเยอรมนีว่า

 

  • ผู้ชาย อายุ 18-29 ปี พบภาวะนี้ 11.4 รายต่อ 100,000 โดส (เทียบกับวัคซีน Pfizer 4.7 รายต่อ 100,000 โดส)
  • ผู้หญิง พบ 3.0 รายต่อ 100,000 โดส (เทียบกับวัคซีน Pfizer 1.0 รายต่อ 100,000 โดส) หรือน้อยกว่าผู้ชายประมาณ 4 เท่า

 

Dr. Paul Burton หัวหน้าแผนกการแพทย์ของบริษัท Moderna ยอมรับกับสำนักข่าว CNBC เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ว่า ผลข้างเคียงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบของวัคซีน Moderna สูงกว่าวัคซีน Pfizer จริง โดยอ้างถึงข้อมูลในฝรั่งเศสว่า ผู้ชาย อายุ 12-29 ปี พบภาวะนี้ 13.3 รายต่อ 100,000 โดส (ใกล้เคียงกับในเยอรมนี) ในขณะที่วัคซีน Pfizer พบ 2.7 รายต่อ 100,000 โดส

 

ทั้งนี้ เขาได้ยกข้อมูลอีกด้านหนึ่งในสหรัฐอเมริกาว่า อัตราการติดเชื้อหลังได้รับวัคซีน Moderna ต่ำกว่าของวัคซีน Pfizer กล่าวคือ 86 ราย เทียบกับวัคซีน Pfizer 125 รายต่อประชากร 100,000 คน และอาการของผู้ติดเชื้อหลังได้รับวัคซีน Moderna ยังมีความรุนแรงน้อยกว่า เมื่อชั่งน้ำหนักประโยชน์และความเสี่ยงแล้วจึงถือว่าวัคซีนให้ผลทางบวกอย่างมาก

 

เขาสันนิษฐานสาเหตุที่พบในผู้ชายมากกว่า น่าจะเป็นผลมาจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชาย ส่วนสาเหตุที่ทำให้วัคซีน Moderna พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบมากกว่า น่าจะเป็นเพราะขนาดวัคซีนที่สูงกว่าหรือเท่ากับ 100 ไมโครกรัมของ mRNA สำหรับเข็มกระตุ้นซึ่งใช้ขนาดของวัคซีนลดลงครึ่งหนึ่ง ทางบริษัทยังไม่พบรายงานภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบยังเป็น ‘ภาวะแทรกซ้อน’ ของการติดเชื้อโควิด โดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างมีนาคม 2563 – มกราคม 2564 พบว่า ผู้ติดเชื้อโควิดมีความเสี่ยงต่อภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเป็น 16 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ป่วยโรคอื่น และอัตราการพบภาวะนี้ในแต่ละช่วงอายุเป็นดังนี้

 

  • อายุน้อยกว่า 16 ปี พบ 133 รายต่อผู้ติดเชื้อ 100,000 ราย
  • อายุ 16-24 ปี พบ 98 รายต่อผู้ติดเชื้อ 100,000 ราย
  • อายุ 25-39 ปี พบ 77 รายต่อผู้ติดเชื้อ 100,000 ราย

 

ดังนั้นในสถานการณ์ที่ยังมีการระบาดเป็นวงกว้าง และในท้ายที่สุด โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น การฉีดวัคซีนชนิด mRNA เพื่อลดอาการรุนแรงและภาวะแทรกซ้อน จึงน่าจะมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงจากผลข้างเคียง หากมีทางเลือกคงต้องเปรียบเทียบประสิทธิผลระหว่าง Pfizer กับ Moderna เพิ่มเติม แต่ในขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีทางเลือกมากนัก

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X