พล.อ. นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม, รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ โต ซอ แลต เลขาธิการสภาสื่ออิสระเมียนมา ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว THE STANDARD ในรายการ THE STANDARD NOW วันนี้ (10 เมษายน) ถึงภาพรวมสถานการณ์การสู้รบในเมียนมาระหว่างกองทัพเมียนมาและกองกำลังชาติพันธุ์ โดยเฉพาะที่เมืองเมียวดี รวมถึงฉากทัศน์ถัดไปของสงคราม อนาคตของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และแนวทางของไทยที่ควรเตรียมรับมือ
‘เมียวดียังไม่แตก สู้ไป เจรจาไป’
โต ซอ แลต ให้รายละเอียดภาพรวมของสถานการณ์การสู้รบในเมืองเมียวดีว่า การปะทะกันระหว่างกองกำลังชาติพันธ์ุและกองทัพเมียนมาดำเนินไปตลอดทั้งคืนจนถึงช่วงเช้าของวันนี้ ซึ่งในขณะนี้กองพัน 275 ยังไม่แตกพ่าย แม้ฝ่ายต่อต้านจะรุกหนัก เขายังกล่าวอีกว่า เขาไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะต้องมาตั้งคำถามว่า กองทัพเมียนมาใกล้จะถึงจุดจบแล้วหรือไม่ สถานการณ์ในขณะนี้นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดของกองทัพเมียนมาตลอดช่วง 79 ปีที่ผ่านมา เป็น ‘จุดเริ่มต้นของจุดจบ’
ด้าน พล.อ. นิพัทธ์ ระบุว่า พล.อ.อาวุโส โซ วิน รองนายกรัฐมนตรี หรือเบอร์สองต่อจาก พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ลงมาเกาะติดสถานการณ์ในเมียวดีด้วยตัวเอง ขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังสู้ไป เจรจาไป แย่งชิงผลประโยชน์กันไป เมืองเมียวดีจึงเป็น ‘หม้อข้าว’ ของทุกฝ่าย
ส่วนคำถามที่ว่า เมียวดีแตกหรือยัง รศ.ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า เมียวดีขณะนี้มีสภาพกระท่อนกระแท่น ขาดเสถียรภาพด้านความมั่นคง โดยภาพการสู้ไป รบไป เป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยในสงครามกลางเมืองเมียนมา ถ้ากลุ่มกองกำลังชาติพันธ์ุต้องการจะทำให้ทหารเมียนมาแตกพ่ายจริงๆ รศ.ดร.ดุลยภาค มองว่าอย่างน้อยจะต้องมี 3 สิ่งที่จะต้องทำให้ได้อย่างเด็ดขาด นั่นคือ 1. ควบคุม Asian Highway ซึ่งเป็นถนนสายหลักจากเมียวดีไปกอกะเร็ก และต่อไปที่ย่างกุ้ง ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกของเมียนมา ซึ่งการขนส่งส่วนใหญ่จากไทยและอินโดจีนต้องใช้เส้นทางนี้
2. จะต้องพิชิตศูนย์บัญชาการทัพที่มะละแหม่งให้ได้ และ 3. ทำให้กองทัพเมียนมาเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบาก ด้วยการพิชิตฐานทัพต่างๆ ในเมียวดีและปริมณฑลโดยรอบ
ฉากต่อไปของสงครามเมียนมา
พล.อ. นิพัทธ์ ให้ข้อมูลว่า พล.อ.อาวุโส โซ วิน กำลังสั่งปรับกำลังและเคลื่อนย้ายอาวุธหนักเข้ามาจัดการกับพื้นที่รอบๆ เมียวดี ขณะที่กองพัน 275 ในขณะนี้ไม่ต่างจาก ‘ตัวประกัน’ เนื่องจากออกมานอกค่ายไม่ได้ สถานการณ์ยังคงขับเคี่ยวกันอยู่ จึงต้องติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์เป็นระยะ
ส่วนเส้นทางต่อจากนี้ของกองกำลังชาติพันธุ์ รศ.ดร.ดุลยภาค เชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีภาพทางภูมิรัฐศาสตร์และภูมิยุทธศาสตร์ 3 ภาพซ้อนทับกันอยู่ คือ 1. บริเวณชายแดนภูเขาที่เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มชาติพันธ์ุ เช่น รัฐยะไข่ รัฐกะฉิ่น รัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง เป็นเขตปกครองที่เตรียมจะเป็น ‘รัฐกึ่งเอกราช’ หรือ ‘รัฐกึ่งอิสระ’ ในขณะที่บางรัฐต้องการพื้นที่เพิ่มเพื่อสร้างรัฐใหม่ ภาพ ‘วงเดือย’ ในลักษณะนี้กำลังล้อมกรอบเมียนมา และล็อกเมืองหลวงอย่างกรุงเนปิดอว์ไว้ตรงกลาง การเคลื่อนทัพของกลุ่มชาติพันธ์ุจึงเป็นไปในลักษณะ ‘กระชับวงล้อม’ บีบอัดเนปิดอว์และปริมณฑลทหารข้างเคียงตรงใจกลางเมียนมามากยิ่งขึ้น
2. เป็นภาพลูกศรการเคลื่อนทัพทางทหารตามแต่ละทิศทาง ทั้งจากที่ปล่อยจากชายแดนไทย ซึ่งจะค่อยๆ ทิ่มแทงเมืองต่างๆ (กอกะเร็ก และพะอัน) ไปจนถึงย่างกุ้งและอาจขึ้นไปถึงเนปิดอว์ ซึ่งจะไปประสานกำลังกับฝ่ายต่อต้านกลุ่มอื่นๆ โดยหัวลูกศรแต่ละทิศทางจะมาบรรจบกันเพื่อตีกรุงเนปิดอว์ในอนาคต
และ 3. เป็นภาพของมหาอำนาจในเอเชียอย่าง ‘จีน’ ซึ่งจะเป็นแนวลูกศรจากชายแดนจีน มาที่รัฐฉานเหนือ ผ่านมัณฑะเลย์และไปที่ท่าเรือน้ำลึกในรัฐยะไข่ที่มีแนวท่อก๊าซและท่อขนส่งน้ำมันของจีน ซึ่งสะท้อนภาพการสร้างเมืองในวงควบคุมภายใต้โครงการ ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ ของจีน
หากนำทั้ง 3 ภาพมาต่อเรียงกัน ทุกคนจะเห็นถึงความซับซ้อนของระบบภูมิรัฐศาสตร์และภูมิยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นในเมียนมา
นอกจากนี้ รศ.ดร.ดุลยภาค ยังมองว่าเหตุโดรนโจมตีกรุงเนปิดอว์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนนี้สร้างความตกใจให้ทหารเมียนมาไม่น้อย แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะล้มปราการเหล็กของกองทัพเมียนมาได้ อีกทั้งเนปิดอว์ยังมีอุโมงค์ใต้ดินไว้รองรับสถานการณ์ฉุกเฉินอีกด้วย การที่จะโค่นกองทัพเมียนมาของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่องหล่าย จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ไทยควรรับมืออย่างไร
กระทรวงการต่างประเทศไทยเผยถึงความคืบหน้ากรณีเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาผู้อพยพที่อาจไหลทะลักเข้าไทย 1 แสนคน ซึ่ง รศ.ดร.ดุลยภาค เสนอแนะว่า หากสถานการณ์การสู้รบยังคงรุนแรงอย่างต่อเนื่อง และมีผู้อพยพข้ามมายังฝั่งชายแดนไทย ไทยควรประกาศว่าเราพร้อมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานต่อทุกฝ่ายโดยไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่ว่าจะเป็นพลเรือน ทหาร หรือสมาชิกกองกำลังชาติพันธ์ุที่ได้รับบาดเจ็บและประสานขอความช่วยเหลือมา เราก็พร้อมที่จะช่วยเหลือ ซึ่งสอดคล้องกับฉันทมติ 5 ข้อของอาเซียนด้วย
ทั้งยังเสนอให้ไทยผลักดันการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจแม่น้ำเมย ผสมผสานกันระหว่างการพัฒนาสองฟากฝั่งแม่น้ำแม่น้ำเมยและการพัฒนาสวนสันติภาพ เนื่องจากทั้งไทยและเมียนมาต่างพึ่งพาอาศัยกันในเชิงเศรษฐกิจ อีกทั้งแรงงานมีทักษะในโรงงานและอุตสาหกรรมในพื้นที่ดังกล่าว เราก็อาจได้ประโยชน์จากคนกลุ่มนี้
นอกจากนี้ ยังเสนอให้กำหนดพื้นที่สันติภาพนำร่องและจัดตั้งศูนย์ข่าวสันติภาพ พร้อมเปิดโอกาสให้คนหนุ่มสาวที่พูดภาษาต่างประเทศได้หลายภาษามาประจำที่ศูนย์ข่าวแห่งนี้ พร้อมฝึกอบรมความรู้ต่างๆ ต่อไปคนกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นกลุ่ม Think Tank ที่สำคัญ ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเมียนมาและสันติภาพศึกษา ซึ่งก็จะเป็นประโยชน์แก่รัฐไทยด้วยเช่นเดียวกัน
ภาพ: STR / AFP