นี่คือบรรยากาศโดยรวมที่เกิดขึ้นในเมียนมา หลังจากครบ 1 สัปดาห์ที่ตั๊ดมาดอว์ หรือกองทัพเมียนมาก่อรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยชาวเมียนมาผู้สนับสนุนประชาธิปไตยต่างรวมตัวกันชุมนุมประท้วงรัฐประหารดังกล่าว พร้อมเรียกร้องให้มีการปล่อยตัว ออง ซาน ซูจี และผู้ถูกกองทัพควบคุมตัว รวมถึงให้คืนอำนาจแก่รัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว ท่ามกลางกระแสแรงกดดันจากประชาคมโลก
ตลอด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมาเริ่มทยอยปิดกั้นการเข้าถึงสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter รวมถึง Instagram และมีคำสั่งตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศในท้ายที่สุด เนื่องจากกองทัพมองว่าอินเทอร์เน็ตและสื่อโซเชียลต่างๆ สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงของเมียนมาในช่วงเวลานี้ โดยกองทัพกระจายกองกำลัง และเริ่มปราบปรามผู้เห็นต่างที่สนับสนุนประชาธิปไตยและวิพากษ์วิจารณ์ก่อการรัฐประหารของกองทัพ
ในวันที่ประชาธิปไตยถูกลิดรอน ประชาชนชาวเมียนมาจำนวนมากต่างตระหนักดีว่าเสียงของพวกเขามีค่าและทรงพลังแค่ไหนในช่วงเวลานี้ เพราะพวกเขาต่างรู้ดีว่า สังคมเมียนมาในยุคที่เคยปิดประเทศและอยู่ภายใต้เงาของเผด็จการทหารนั้นเป็นเช่นไร และพวกเขาไม่อยากจะถอยหลังกลับไปจุดนั้นอีกแล้ว
ภาพ: Ye Aung Thu / AFP
บรรดาผู้สนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมาชูสามนิ้ว ขณะที่รถของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกส่งมาควบคุมสถานการณ์และปราบปรามจลาจลเคลื่อนตัวผ่านเส้นทางบริเวณที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในเมืองย่างกุ้ง
ภาพ: Ye Aung Thu / AFP
เจ้าหน้าที่ตำรวจปราบจลาจลได้รับดอกไม้จำนวนมากจากกลุ่มผู้ประท้วงที่สนับสนุนประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐประหารโดยกองทัพ พร้อมเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยืนข้างประชาชน
ภาพ: STR / AFP
ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในเมียนมานำอาหารมาวางให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ถูกส่งมาประจำการในพื้นที่ชุมนุม โดยเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ยืนข้างประชาชนและสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในประเทศ
ภาพ: STR / AFP
พระสงฆ์ในเมียนมาที่สนับสนุนประชาธิปไตยร่วมเดินประท้วงและชูสามนิ้วต่อต้านรัฐประหารในเมืองย่างกุ้ง เรียกร้องให้กองทัพคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือนโดยเร็ว ท่ามกลางกระแสแรงกดดันจากประชาคมโลก รวมถึงเกิดเทรนด์แฮชแท็ก #ไม่สู้ก็อยู่อย่างไทย ขึ้นในโลกออนไลน์
ภาพ: Ye Aung Thu / AFP
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล