เว็บไซต์ Nikkei Asia รายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมากำลังเดินหน้าแผนการนำเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กที่ผลิตโดยรัสเซีย มาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาภาวะขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศ
โดยช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานไฟฟ้าเมียนมาและ Rosatom บริษัทพลังงานนิวเคลียร์ของรัฐบาลรัสเซีย ได้สรุปการศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกันเกี่ยวกับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กดังกล่าว และได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจนอกรอบการประชุม ATOMEXPO ซึ่งเป็นฟอรัมการประชุมนานาชาติสำหรับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ จัดขึ้น ณ เมืองโซชิของรัสเซีย โดยมีรัฐมนตรีกระทรวงไฟฟ้าและรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมการประชุม
ขณะที่คณะผู้แทนเมียนมายังได้เยี่ยมชมโรงงานนิวเคลียร์และศูนย์วิจัยหลายแห่งในกรุงมอสโกและนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก โดยรัฐบาลทหารเมียนมาและ Rosatom ยังตกลงที่จะจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในนครย่างกุ้ง
สำหรับเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั่วไปนั้นมีกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์มีกำลังผลิตสูงสุดอยู่ที่หลายร้อยเมกะวัตต์ โดยรัสเซียถือเป็นผู้บุกเบิกเทคโนโลยีดังกล่าว นำหน้าสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร
ทั้งนี้ กองทัพเมียนมามีท่าทีจริงจังในการสนับสนุนแผนสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในประเทศ หลังประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้าและเกิดไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างในหลายพื้นที่ เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโครงข่ายไฟฟ้าที่มีอายุยาวนาน
โดยไฟฟ้าครึ่งหนึ่งของเมียนมามาจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากแหล่งก๊าซในประเทศ แต่ปริมาณการผลิตจากแหล่งก๊าซที่มีอยู่นั้นกำลังค่อยๆ ลดน้อยลง จนทำให้ต้องมองหาพลังงานจากแหล่งอื่น
ก่อนหน้านี้ ซอ มิน ตุน โฆษกกองทัพเมียนมา กล่าวต่อผู้สื่อข่าวเมื่อเดือนกันยายน โดยคาดว่า การก่อสร้างเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็กจะเริ่มต้นขึ้นได้ภายในอีกไม่กี่ปี
ขณะที่ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา ได้เดินทางไปเยือนรัสเซียช่วงเดือนกรกฎาคมและกันยายนที่ผ่านมา และได้เข้าร่วมในการลงนามบันทึกความเข้าใจกับ Rosatom ทั้งสองครั้ง
นอกจากพลังงานนิวเคลียร์ เขายังมีความสนใจในการนำรถยนต์และรถโดยสารไฟฟ้ามาใช้ในเมียนมา พร้อมทั้งกำลังพัฒนาระบบรางรถไฟแบบใช้ไฟฟ้าด้วย
ภาพ: Valery Sharifulin / Sputnik / AFP
อ้างอิง: