รัฐบาลทหารเมียนมากำลังถูกสั่นคลอนอำนาจอย่างหนัก หลังกองทัพเมียนมาพ่ายแพ้การสู้รบครั้งใหญ่ให้กับกลุ่มกองกำลังติดอาวุธชาติพันธุ์กะเหรี่ยง หรือ ‘กลุ่ม KNU’ จนสูญเสียการควบคุมพื้นที่ ‘เมืองเมียวดี’ เมืองการค้าชายแดนซึ่งติดกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตากของไทย
นับเป็นการสูญเสียพื้นที่ชายแดนที่สำคัญ ต่อจากพื้นที่ชายแดนรัฐฉานซึ่งติดกับประเทศจีน รวมถึงพื้นที่ชายแดนรัฐยะไข่ซึ่งติดกับบังกลาเทศในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
นอกจากนี้ กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมายังถูกโดรนของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือ ‘รัฐบาล NUG’ ซึ่งร่วมมือกับกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหารกลุ่มต่างๆ เกือบ 30 ลำโจมตีจุดต่างๆ พร้อมกัน โดยมุ่งเป้าหมายไปที่กองบัญชาการทหารและสนามบินกองทัพอากาศในเนปิดอว์ ซึ่งเป็นหัวใจของรัฐบาลทหารเมียนมา
สถานการณ์เหล่านี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารกำลังแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และนั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า รัฐบาลทหารเมียนมาใกล้ถึงจุดจบแล้ว?
รศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองเมียนมา กล่าวกับ THE STANDARD ว่า ความพ่ายแพ้ของกองทัพเมียนมาที่เมียวดี ทำให้ภูมิทัศน์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในลุ่มแม่น้ำเมยเปลี่ยนแปลงไป โดยกลุ่มกะเหรี่ยง KNU และ BGF ที่เรืองอำนาจมากขึ้น จะเข้ามาเป็นผู้ควบคุมระเบียบการค้าชายแดนไทย-เมียนมาแทนที่รัฐบาลทหาร
รัฐบาลทหารเมียนมาขอใช้สนามบินแม่สอด
จากกรณีรัฐบาลทหารเมียนมาส่งจดหมายถึงรัฐบาลไทย ขอใช้สนามบินแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อรับทหารและครอบครัวที่ยอมจำนนต่อฝ่ายต่อต้านในเมืองเมียวดีกลับประเทศ ระหว่างวันที่ 7-9 เมษายนนั้น รศ.ดร.ดุลยภาคมองว่า ในแง่แนวทางปฏิบัติเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ ซึ่งในอดีตไทยก็เคยอนุญาตให้เครื่องบินรบอียิปต์ลงจอดฉุกเฉินได้เมื่อปี 2020
นอกจากนี้ แนวปฏิบัติระหว่างประเทศด้านการช่วยเหลือมนุษยธรรมว่าด้วยเชลยศึก ไทยที่วางตัวเป็นกลาง และมีพื้นที่ติดกับพื้นที่สู้รบน่าจะมีอำนาจในการตัดสินใจในประเด็นนี้ ส่วนในเรื่องความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารโจมตีว่า ไทยช่วยเหลือเผด็จการ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับกลุ่ม KNU ด้วยว่า เขาจะสามารถปล่อยให้ทหารเมียนมาและครอบครัวข้ามมาไทยได้มากน้อยแค่ไหน และถ้าหากเขาถูกส่งตัวกลับไปและถูกลงโทษที่ยอมจำนนต่อกลุ่มต่อต้าน เขาจะยังตัดสินใจกลับเมียนมาหรือไม่
ด้าน จักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยผ่านบัญชี X ว่า “เรื่องเครื่องบินเมียนมาที่เป็นข่าว ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นเรื่องการขอนำเครื่องบินพลเรือนมาลงเพื่อขนสิ่งของพลเรือน ไม่ได้มีการขนกำลังทหาร หรืออาวุธ หรือการขอลี้ภัยตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด เป็นเรื่องคำขอทางการทูตเพื่อนำเครื่องบินพลเรือนมาขนย้ายสิ่งของทางการทูต ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ”
รัฐบาลทหารเมียนมาใกล้ถึงจุดจบ?
รศ.ดร.ดุลยภาคมองว่า สถานการณ์โดยรวมขณะนี้สะท้อนว่า ทหารเมียนมาอ่อนแอและรอนับถอยหลังได้เลย หากยังรบแพ้ และแพ้สะสมลักษณะนี้ในอีกหลายสมรภูมิ แต่เนื่องจากศูนย์บัญชาการกองทัพบกเมียนมาที่กระจายอยู่ตามเขตต่างๆ กว่า 10 แห่งยังไม่ถูกกลุ่มต่อต้านตีแตกเลยสักแห่ง ประกอบกับพื้นที่ที่กลุ่มต่อต้านยึดได้เป็นชุมชนหรือเมืองขนาดเล็ก แม้จะทำให้กองทัพเมียนมาเสียเปรียบ แต่ก็ยังสามารถยืนระยะอยู่ได้
ขณะที่เนปิดอว์มีการวางโครงข่ายป้องกันการโจมตีทางอากาศด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง อีกทั้งยังมีการขุดอุโมงค์ใต้ดินตั้งแต่ยุคนายพล ตานฉ่วย ซึ่งอาจใช้เป็นสถานที่บัญชาการรบ จึงทำให้กองทัพเมียนมาอาจไม่ได้ใกล้ถึงจุดจบหรือกำลังจะพ่ายแพ้ในเร็ววันอย่างที่หลายคนเข้าใจ ที่ผ่านมาทหารเมียนมาอาจยอมจำนนในบางพื้นที่ แต่ยังไม่ยอมยกธงขาวแบบที่แพ้ทั้งกระดาน
สันติภาพในเมียนมา
รศ.ดร.ดุลยภาคเชื่อว่า สันติภาพในเมียนมายังคง ‘มืดมน’ และเมียนมาก็เข้าสู่ช่วงสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ ประกอบกับการเมืองที่ถูกแบ่งเป็นขั้วอำนาจและมีหลายตัวแสดง ซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีผลประโยชน์และเป้าหมายในการทำสงครามที่แตกต่างกัน ทำให้การผลักดันกระบวนการสันติภาพทั่วทั้งเมียนมายังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก และไม่อาจเกิดขึ้นได้ในเร็ววัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- นพดลเป็นห่วงสถานการณ์ชายแดนไทย ย้ำ 4 ข้อเสนอ แนะรัฐตั้งกลไกมอนิเตอร์
- กัณวีร์ชี้ ไทยต้องตัดสินใจอย่างระมัดระวัง เปิดสนามบินแม่สอดส่งกลับเชลยศึกเมียนมา
- กองทัพเมียนมาพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ เสียเมืองชายแดนให้กลุ่มต่อต้าน-ทหารบางส่วนยอมจำนน
แฟ้มภาพ: Alexander Zemlianichenko / Pool / AFP
อ้างอิง: