ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจเมียนมาจำนวนไม่น้อยที่ไม่ยินยอมให้คำสั่งนายอยู่เหนือคุณค่าของความเป็นมนุษย์ และเลือกที่จะถอยไปตั้งหลักลี้ภัยยังประเทศเพื่อนบ้าน ดีกว่าที่จะต้องเข่นฆ่าพี่น้องประชาชนร่วมชาติที่ยืนอยู่คนละฝั่งกับกองทัพ และเพียงต้องการที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย
นี่คือภาพของเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ไม่ยินยอมปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การปกครองของระบอบเผด็จการทหาร ที่เดินทางข้ามพรมแดนประเทศไปลี้ภัยยังรัฐมิโซรัม รัฐทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย โดยพรรคการเมืองท้องถิ่นของรัฐนี้พยายามยื่นเรื่องถึงรัฐบาลอินเดีย ขออนุญาตให้ชาวเมียนมาเดินทางเข้าประเทศได้ในฐานะผู้ลี้ภัย หลังทางการนิวเดลีปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือดังกล่าว
ทางด้านกระทรวงมหาดไทยของอินเดียมีคำสั่งให้รัฐตามแนวชายแดนที่ติดกับเมียนมาป้องกันการเดินทางเข้าประเทศของบรรดาผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ยกเว้นในบางกรณีที่มีความจำเป็นให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม อีกทั้งกระทรวงยังระบุว่า แต่ละรัฐไม่มีสิทธิ์ในการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยให้กับผู้ที่เดินทางมาจากเมียนมา โดยอินเดียไม่ได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ปี 1951 และพิธีสาร ปี 1967
ทางการอินเดียเผย มีชาวเมียนมาเดินทางข้ามพรมแดนมายังอินเดียกว่า 300 รายแล้วในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ครอบครัวยังอยู่ในเมียนมา เพราะเกรงว่าหากพาเดินทางลี้ภัยไปพร้อมกันคราวเดียวจะยิ่งเป็นอันตราย อีกทั้งการเดินทางข้ามพรมแดนค่อนข้างยากลำบาก หากทางการอินเดียยินยอมให้สถานะผู้ลี้ภัย จึงจะหาทางติดต่อกับสมาชิกครอบครัวให้เดินทางมาสมทบอีกที บางส่วนรอดูท่าทีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ว่าจะร่วมต่อสู้กับกองทัพเพื่อทวงคืนประชาธิปไตยหรือไม่ และอาจเข้าร่วมกับกลุ่มติดอาวุธดังกล่าว
จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่รัฐรายหนึ่ง หากมีการฝ่าฝืนและขัดคำสั่ง โทษหนักสุดอาจถูกจำคุกนานถึง 13 ปี หรือถูกประหารชีวิต สื่อท้องถิ่นเมียนมาระบุ มียอดผู้เสียชีวิตรวมอยู่ที่ 254 ราย ถูกจับกุมและควบคุมตัวสะสมกว่า 2,200 ราย
“กองทัพสั่งให้เราฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ คนอย่างแม่และพ่อของเรา ทำไมฉันถึงต้องฆ่าพี่น้องประชาชนในชาติตัวเอง ฉันจึงหนีมาอินเดีย” – จอ (นามสมมติ), ทหารเมียนมาที่ลี้ภัยมายังอินเดีย
“ถ้าเราถูกจับได้ขณะที่กำลังหลบหนี กองทัพจะสั่งให้เราทำตามสิ่งที่เขาต้องการ ถ้าหากเราขัดคำสั่ง เราอาจถูกจำคุก 13 ปี หรืออาจถูกฆ่าตาย” – อ่อง (นามสมมติ), ตำรวจเมียนมาวัย 28 ปีที่ลี้ภัยมายังอินเดีย
“ฉันหนีมาที่นี่ เพราะตำรวจคือคนกลุ่มที่สองที่ได้รับอนุญาตให้ถืออาวุธปืน กองทัพสั่งให้เรายิงประชาชน และมอบหมายให้ตำรวจเป็นการ์ดปกป้องให้พวกเขา… ฉันต้องการประชาธิปไตยกลับคืนมา ถ้ากลุ่มชาติพันธ์ุติดอาวุธจะเข้าช่วยต่อสู้กับคณะรัฐประหาร ฉันจะเข้าร่วมกับพวกเขา” – เชวะ (นามสมมติ), ตำรวจหญิงชาวเมียนมาที่ลี้ภัยมายังอินเดีย
“ถ้าเรายังอยู่ที่นั่น ผมมั่นใจว่า ไม่ช้าก็เร็ว เราจะถูกบังคับให้ทรมานและเข่นฆ่าประชาชนที่ไม่มีอาวุธ มันสกปรกและผิดกฎหมายที่จะต้องแบกรับหน้าที่ที่ไร้มนุษยธรรมเช่นนั้น” – อ่อง (นามสมมติ), ตำรวจเมียนมาวัย 28 ปีที่ลี้ภัยมายังอินเดีย
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครในฝ่ายต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
- ชมคลิป: “ผมฆ่าประชาชนร่วมชาติไม่ได้” เสียงทหาร-ตำรวจเมียนมาที่ลี้ภัยไปอินเดีย ในวันที่โทษประหารรออยู่ ได้ที่
ภาพ: Sajjad Hussain / AFP
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://apnews.com/article/myanmar-india-immigration-asia-narendra-modi-91f8546a791c8ba14c27f939354f9155
- https://news.sky.com/story/i-cant-shoot-my-people-myanmar-police-officers-flee-to-india-after-defying-military-orders-12245327
- https://www.indiatoday.in/india/story/with-conscientious-objectors-from-myanmar-fleeing-to-mizoram-india-grapples-with-unique-refugee-problem-1781759-2021-03-21