วันนี้ (2 กรกฎาคม) แม้โควิด-19 จะยังคงแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่หลายประเทศก็ยังคงตัดสินใจเดินหน้าจัดการเลือกตั้งเพื่อขับเคลื่อนการเมืองของประเทศตน โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (UEC) หรือ กกต. เมียนมา ประกาศเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้
โดยจัดการเลือกตั้งขึ้นในทุกระดับ ทั้งระดับชาติ ระดับรัฐ และระดับท้องถิ่น มีโควตาที่นั่งรวม 1,171 ที่นั่งทั่วประเทศ ซึ่งแบ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Pyithu Hluttaw) 330 ที่นั่ง และสมาชิกวุฒิสภา (Amyotha Hluttaw) 168 ที่นั่ง ขณะที่ในระดับรัฐและระดับท้องถิ่นมี 664 ที่นั่ง และแบ่งสัดส่วนให้กับกลุ่มชาติพันธ์ุอื่นๆ ในเมียนมาอีก 29 ที่นั่ง ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของ ออง ซาน ซูจี คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2015 อย่างถล่มทลาย ขึ้นบริหารประเทศเป็นรัฐบาลพลเรือนครั้งแรกในรอบกว่าครึ่งศตวรรษของเมียนมา
ผลการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้จะเป็นตัวชี้วัดความพึงพอใจของผลงานการบริหารประเทศของ ออง ซาน ซูจี ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าพรรค NLD จะสามารถทำผลงานได้ดีอีกครั้งในการเลือกตั้งหนนี้ แต่การจะครองเสียงข้างมากในรัฐสภาอย่างต่อเนื่องนั้นอาจไม่ง่ายอีกต่อไป หลังรัฐบาล ออง ซาน ซูจี เผชิญแรงเสียดทานจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในอย่างหนัก ทั้งเสียงทัดทานจากประชาคมโลกจากกรณีกวาดล้างชาวโรฮีนจาที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจนเกิดการลี้ภัยครั้งใหญ่ รวมถึงความขัดแย้งด้านความมั่นคงในรัฐยะไข่ และผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดที่กำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้
หากพรรค NLD ของ ออง ซาน ซูจี ชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะเป็นชัยชนะครั้งที่ 2 ของรัฐบาลพลเรือนที่จะก้าวขึ้นบริหารประเทศ หลังเมียนมาถูกปกครองภายใต้รัฐบาลทหารนับตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจของ นายพล เนวิน ผู้นำกองทัพ (Tatmadaw) ที่ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศเมื่อปี 1962
ภาพ: Lauren DeCicca / Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: