แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษของเมียนมาทำให้ประเทศที่ทุกข์ยากจากสงครามกลางเมืองอยู่แล้วต้องทบทวีความเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ท่ามกลางซากตึกที่พังถล่มและฝุ่นที่ฟุ้งกระจาย กลับกลายเป็นโอกาสให้รัฐบาลทหารเมียนมา และผู้นำอย่าง พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ได้ติดต่อสื่อสารกับนานาประเทศ หลังจากที่ถูกหันหลังให้มานานถึง 4 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2021
หน้าต่างแห่งโอกาส
ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.7 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม มิน อ่อง หล่าย กำลังเตรียมการเดินทางมาไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BIMSTEC ที่กรุงเทพฯ ซึ่งนับเป็นโอกาสที่หาได้ยากสำหรับผู้นำที่ถูกโดดเดี่ยวจากนานาชาติเนื่องจากการสู้รบที่ทำให้ประชาชนพลัดถิ่นกว่า 3.5 ล้านคน และทำลายเศรษฐกิจของประเทศจนย่อยยับ
“รัฐบาลทหารเชื่อว่า มหาอำนาจของภูมิภาคที่กำลังแย่งชิงอิทธิพลในเมียนมาอย่างอินเดีย จีน และรัสเซีย จะมองเรื่องนี้เป็นโอกาสที่ต้องคว้าเอาไว้” อังศุมาน เชาดูรี นักวิเคราะห์ในสิงคโปร์กล่าว เช่นเดียวกับที่รัฐบาลทหารเองก็มองว่า การมีส่วนร่วมกับภูมิภาคโดยตรงและอย่างเปิดเผยเป็นโอกาสที่จะทำให้โลกได้เห็นถึงความสำคัญที่ขาดไม่ได้ของตนเอง ในฐานะฝ่ายปกครองของเมียนมา
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มิน อ่อง หล่าย ได้พูดคุยกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย และนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ซึ่งการสนทนาเหล่านี้นำไปสู่ความช่วยเหลือจากนานาชาติที่หลั่งไหลเข้าสู่เมียนมาในระยะเวลาอันสั้น
แม้จีนจะเป็นพันธมิตรสำคัญที่หนุนหลังรัฐบาลทหาร แต่ปักกิ่งก็ยังไม่ได้อ้าแขนรับมิน อ่อง หล่าย อย่างเต็มตัว ดังจะเห็นได้จากการที่เขาไม่ได้เข้าพบสีจิ้นผิง เมื่อครั้งเดินทางเยือนจีนในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ในการเยือนรัสเซียเดือนที่แล้ว มิน อ่อง หล่าย ได้พบปะหารือกับวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้สนับสนุนที่สำคัญของเมียนมา
“ผมคิดว่าตอนนี้ เขาได้ทุกสิ่งที่เคยฝันไว้ และอาจจะเกินฝันเสียอีก” แหล่งข่าวทางการทูตในนครย่างกุ้งกล่าว โดยอ้างถึงการเยือนมอสโก การสนทนาทางโทรศัพท์กับโมดี และการประชุมของกลุ่มอาเซียน “เขากลับเข้ามาในวงโคจรแล้ว เขามีที่นั่งบนโต๊ะประชุม”
นอกจากโอกาสในการกลับเข้าสู่เวทีนานาชาติแล้ว แหล่งข่าวทางการทูตอีกรายกล่าวว่า รัฐบาลทหารกำลังพยายามทุกวิถีทางเพื่อใช้ประโยชน์จากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ในการสู้รบกับกลุ่มต่อต้าน โดยในขณะที่ความช่วยเหลือมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ่งของบรรเทาทุกข์ และเจ้าหน้าที่กู้ภัยหลายร้อยคนจากประเทศต่างๆ เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลั่งไหลเข้าสู่เมียนมานับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหว แต่รัฐบาลทหารกลับยังคงเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารต่อไป พร้อมขัดขวางความช่วยเหลือที่จะส่งไปถึงมือพลเรือนและกลุ่มต่อต้าน
“แผ่นดินไหวจะทำให้การต่อสู้ของฝ่ายต่อต้านซับซ้อนขึ้น” นักวิเคราะห์กล่าว
ไทยเดินไต่เชือก
สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเดินทางเยือนเมียนมาเมื่อเดือนที่แล้ว ให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า กลุ่มผู้สนับสนุนสายแข็งบางคนเชื่อว่า รัฐบาลทหารเมียนมาสามารถครองอำนาจต่อไปได้ด้วยความช่วยเหลือจากพันธมิตรเพียงไม่กี่ราย
“พวกเขาเห็นระเบียบโลกเปลี่ยน และเห็นขั้วอำนาจใหม่ที่มีจีน รัสเซีย และอินเดีย” สีหศักดิ์กล่าวกับ Reuters “พวกเขาคิดว่า เมียนมาอาจเติบโตได้โดยไม่ต้องมีประเทศอื่นอีก”
สีหศักดิ์ยังได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ มิน อ่อง หล่าย จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BIMSTEC (ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 7 ประเทศ คือ ไทย เมียนมา อินเดีย บังกลาเทศ เนปาล ศรีลังกา และภูฏาน โดยกล่าวว่า
“สิ่งที่ผมได้จากการเดินทางล่าสุดคือ มิน อ่อง หล่าย ไม่ต้องการที่จะอยู่ภายใต้จีนเท่านั้น” เพราะฉะนั้น “เราไม่ควรปล่อยโอกาสนี้ที่จะให้เมียนมาเข้ามามีส่วนร่วมต้องหลุดลอยไป”
ทั้งนี้มีรายงานว่า ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาอาจได้พบกับนายกรัฐมนตรีโมดีในการประชุมที่กรุงเทพฯ รวมทั้งยังอาจมีโอกาสได้พบกับทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน
อย่างไรก็ดี ศ. ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนว่า ไทยกำลังเดินไต่อยู่บนเชือก หากให้ความชอบธรรมแก่มิน อ่อง หล่าย ที่กำลังทำ “สงครามกลางเมืองที่เลวร้าย โหดร้าย และรุนแรง” กับกองกำลังติดอาวุธกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
“ไทยต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะมีพรมแดนติดกับเมียนมา และเต็มไปด้วยความเสี่ยง” ศ. ดร.ฐิตินันท์ กล่าวกับ Reuters
ขณะที่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ว่า หากเป็นสถานการณ์ปกติ อาจเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผู้นำเมียนมาเข้าร่วมการประชุม BIMSTEC เพราะจะทำให้เมียนมาเข้ามาอยู่ในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น แต่จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่อาจทำให้ไทยตกเป็นเป้าการถูกวิจารณ์จากการอนุญาตให้ผู้นำทหารเมียนมาเข้าประเทศ อีกทั้งอาจนำไปสู่การประท้วงของกลุ่มต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดร. สุรชาติ มองว่า ในฐานะประเทศเจ้าภาพ อาจเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลไทยจะขอไม่ให้ผู้นำเมียนมาเข้าร่วม แต่โจทย์ของรัฐบาลไทยคือจะกำหนดท่าทีต่อปัญหานี้อย่างไร โดยจะต้องไม่แสดงออกด้วยท่าทีที่ปกป้องผู้นำทหาร จนไทยกลายเป็นจำเลยไปด้วย
“ไทยควรมีการต่อรองเพื่อให้ผู้นำเมียนมาแสดงออกถึงท่าทีเชิงบวกกับการแก้ปัญหาสงครามในเมียนมา ไม่ใช่การโจมตี แม้ในพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหวก็ตาม ถ้ามิน อ่อง หล่าย มาแล้ว ไม่มีการแสดงออกในการแก้ปัญหาเชิงบวก รัฐบาลไทยอาจถูกวิจารณ์ว่า พยายามที่จะช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา โดยอาศัยเวที BIMSTEC” ดร. สุรชาติ กล่าว
“ในเวทีเช่นนี้ ไทยควรแสดงท่าทีที่ชัดเจนที่ว่ารัฐบาลเมียนมาต้องยุติปฏิบัติการทหาร เพื่อให้การส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นไปได้อย่างปลอดภัย โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของการเข้าประชุม มิเช่นนั้น BIMSTEC จะถูกมองว่า เป็นเพียงเครื่องมือในการสร้างภาพให้แก่ผู้นำรัฐบาลทหาร” ดร. สุรชาติ กล่าวเสริม
ขณะเดียวกัน ดร. สุรชาติ ยังให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไทยควรอธิบายกับคนในสังคมให้เข้าใจบทบาทของไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด ซึ่งต้องจูงใจให้ผู้นำทหารเปิดพื้นที่สำหรับการส่งความช่วยเหลือจากภายนอกมากขึ้น
หรือจะเป็นลางร้ายของระบอบมิน อ่อง หล่าย?
ในขณะที่เหตุแผ่นดินไหวอาจเป็นโอกาสให้เมียนมาเปิดประตูสู่โลกอีกครั้ง แต่บทวิเคราะห์ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ The Japan Times ชี้ว่า อาจเป็นลางร้ายของระบอบมิน อ่อง หล่าย ก็เป็นได้
ในประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการและถูกจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างเสรี ความเชื่อเรื่องลางสังหรณ์และข่าวลือต่างๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหารเมื่อ 4 ปีก่อน รัฐบาลทหารได้ปิดประเทศและหันไปพึ่งพาโชคลางและโฆษณาชวนเชื่อ ไม่เว้นแม้แต่ภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวที่มีการทำนายไว้เช่นกัน โดยปฏิทินโหราศาสตร์ฉบับหนึ่งที่โด่งดังในหมู่ชาวเมียนมาระบุไว้ว่า แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้เป็นสัญญาณการล่มสลายของเมือง อีกทั้งยังทำนายด้วยว่าจะเกิดแผ่นดินไหวอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นลางบอกเหตุถึงการโค่นล้มกษัตริย์และผู้ปกครอง
มาร์ลาร์ มยิน อดีตครูใหญ่วัย 89 ปี กล่าวว่า นี่เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เลวร้ายที่สุดที่เธอเคยประสบมา “เรามีคำกล่าวว่า แผ่นดินไหวใหญ่เช่นครั้งนี้คือวิธีที่ธรรมชาติลงโทษผู้ปกครองที่โหดร้ายและทุจริต” เธอกล่าว “หลังจากเข่นฆ่าประชาชนมามากมาย มิน อ่อง หล่าย กำลังเผชิญกับการพิพากษาจากธรรมชาติแล้ว”
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่เกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่รัฐบาลทหารเมียนมาเพิ่งจัดพิธีสวนสนามอย่างยิ่งใหญ่ในกรุงเนปิดอว์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีวันกองทัพ ซึ่งเมืองหลวงแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยของพลเอกตาน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดของเมียนมาในขณะนั้น
ในปี 2005 หนึ่งในคำทำนายที่อาจกล่าวได้ว่าสำคัญที่สุดสำหรับเหล่านายพลผู้ปกครองเมียนมาอาจเป็นฤกษ์มหามงคลในการย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปยังพื้นที่ใจกลางประเทศ ซึ่งต่อมาได้ชื่อว่า “เนปิดอว์” อันมีความหมายว่า ราชธานี หรือที่ประทับของกษัตริย์
ปัจจุบัน เมืองหลวงแห่งใหม่ได้รับการปกป้องด้วยแนวเนินเขาและอยู่ห่างไกลจากการโจมตีทางทะเล เมื่อไซโคลนนาร์กิสพัดถล่มย่างกุ้งและบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดีในปี 2008 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายมากกว่า 130,000 คน แต่เนปิดอว์กลับไม่ได้รับผลกระทบ เหล่านายพลจึงภาคภูมิใจในเมืองหลวงแห่งนี้ ด้วยการสร้างถนนกว้างใหญ่ อาคารกระทรวงขนาดใหญ่ และแม้กระทั่งสวนสัตว์ที่มีนกเพนกวินบนลานน้ำแข็ง
อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่ละเว้นเนปิดอว์ กระทรวงของรัฐบาลได้รับความเสียหาย ภาพเหมือนของผู้นำระดับสูงรวมถึงมิน อ่อง หล่าย ร่วงหล่นลงสู่พื้น หอควบคุมการจราจรทางอากาศในเมืองหลวงพังถล่ม
ตลอดประวัติศาสตร์หลังยุคอาณานิคม เมียนมาถูกปกครองโดยเผด็จการทหาร ผู้นำทหารหลายรุ่นพึ่งพาหมอดูและนักโหราศาสตร์เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจเชิงนโยบาย อดีตผู้นำรัฐบาลทหารคนหนึ่งปรึกษาหมอดูอีที อดีตหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับสะสมช้างเผือกเพื่อเสริมอำนาจบารมี อดีตผู้นำคนหนึ่งมีความเชื่อเกี่ยวกับเลขเก้ามากจนถึงขั้นออกธนบัตร 45 และ 90 จ๊าด ส่วนมิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารคนปัจจุบัน ได้สร้างวัดและพระพุทธรูปองค์ใหญ่ในกรุงเนปิดอว์เพื่อเสริมสร้างชื่อเสียง และยังสะสมช้างเผือกด้วยเช่นกัน
นักโหราศาสตร์ประจำตัวเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลทหารเปิดเผยว่า ความเชื่อของนายทหารชั้นผู้ใหญ่เกี่ยวกับดวงดาวและราศีมิได้เสื่อมคลาย หากแต่ยิ่งทวีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาสูญเสียการควบคุมประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ นักโหราศาสตร์ซึ่งขอสงวนนาม กล่าวว่า มิน อ่อง หล่าย พึ่งพาเครื่องรางของขลังอย่างมาก เธอเล่าว่า เมื่อเช้าวันเสาร์ หรือวันรุ่งขึ้นหลังเกิดแผ่นดินไหว นายทหารรายหนึ่งโทรศัพท์มาหาเธอและวิงวอนให้ช่วยปกปักรักษาอำนาจของผู้นำรัฐบาลทหาร เธอแนะนำให้เขาพกพระเครื่องติดตัวไว้ตลอดเวลา แต่ในใจลึกๆ เธอเชื่อว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นลางร้ายสำหรับเขาอย่างแน่นอน
ภาพ: Sefa Karacan / Anadolu Agency via Getty Images, REUTERS / Stringer
อ้างอิง: