การประชุม BIMSTEC Dialogue ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดคู่ขนานไปกับการประชุมสุดยอดผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 6 ที่กรุงเทพฯ เป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง 7 ประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“BIMSTEC ไม่สามารถเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์อีกต่อไป”
เวทีการประชุมปีนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ ‘The Imperatives and Impediments of BIMSTEC’ โดยได้รับความร่วมมือจาก ศูนย์อินเดียศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, India Foundation, และสำนักเลขาธิการ BIMSTEC มีผู้แทนจากบังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย เข้าร่วมเวทีนี้เน้นถึง ‘ศักยภาพอันยิ่งใหญ่’ ของ BIMSTEC ที่มีประชากรรวมกว่า 1,800 ล้านคน หรือกว่า 22% ของประชากรโลก อีกด้านหนึ่งก็สะท้อน ‘ช่องว่างที่น่าห่วง’ ไม่ว่าจะเป็นเจตจำนงทางการเมืองที่ไม่ชัดเจน ความไม่ต่อเนื่องของแผนงานทางเศรษฐกิจ หรือการขาดอัตลักษณ์ร่วมระดับภูมิภาค
เสียงจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว
ดร. ซอ อู ผู้อำนวยการ CESD แห่งเมียนมา กล่าวถึงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า แผ่นดินไหวในครั้งนี้ ไม่ได้ทำลายเพียงแค่บ้านเรือน แต่ยังซ้ำเติมประเทศที่เปราะบางอยู่แล้วให้ยิ่งทรุดหนัก
“ก่อนแผ่นดินไหวเมียนมาก็เปราะบางที่สุดในโลกอยู่แล้ว วันนี้ประเทศของผมเหมือนอยู่ในห้องไอซียู เราต้องการความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้าน”
เขาย้ำว่าเศรษฐกิจนอกระบบล่มสลาย ขบวนการอาชญากรรมกำลังขยายตัว และมีกลุ่มติดอาวุธกระจายอยู่ทั่วประเทศ
ดร. ซอ อู ย้อนถึง บทเรียนจากอดีต ว่าในปี 2008 หลังเหตุ ไซโคลนนาร์กิส เมียนมาเคยเปิดประตูรับความช่วยเหลือจากโลกภายนอก โดยมี ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน เป็นผู้ผลักดันร่วมกับประธานาธิบดีเต็งเส่ง ผู้นำเมียนมา ณ เวลานั้น ซึ่งช่วยเปิดทางให้เมียนมากลับเข้าสู่เวทีนานาชาติอีกครั้ง และหลังจากนั้นเกิด ‘ทศวรรษทองของเมียนมา’ ซึ่งเป็นช่วงแห่งการเปิดประเทศและฟื้นฟู
เมื่อ มิน อ่อง หล่าย ได้รับเชิญ แต่เสียงสะท้อนยังแตกแยก
รัฐบาลไทยยืนยันว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด BIMSTEC ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จาก ASEAN Parliamentarians for Human Rights (APHR) ว่าเป็นการให้ความชอบธรรมโดยพฤตินัยแก่รัฐบาลทหาร สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย กล่าวว่า “ผมเชื่อในการมีส่วนร่วม ไม่ใช่การประณาม ถ้าอยากให้ความช่วยเหลือเดินหน้าได้จริง สิ่งที่กองทัพเมียนมาต้องแลกคือการหยุดยิง
“นี่ไม่ใช่แค่เรื่องการทูต แต่เป็นหลักการด้านมนุษยธรรม”
ล่าสุดรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศหยุดยิงชั่วคราวระหว่างวันที่ 2–22 เมษายน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของแผ่นดินไหว
เมื่อโลกภายนอกกดดัน โลกภายในต้องจับมือกันให้แน่น
ในห้องประชุม หลายเสียงชี้ชัดว่าการแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ และจีน กำลังเร่งให้ BIMSTEC ต้องเร่งหาคำตอบของตนเอง
“รัฐบาลทรัมป์กลับมา พร้อมแนวโน้มกีดกันทางการค้าอย่างเข้มข้น แม้กับพันธมิตร” อดีตเอกอัครราชทูตอาโชก กานธะ จากอินเดียกล่าว “จีนเองก็ไม่ได้นิ่งเฉย เร่งขยายอิทธิพลผ่านโครงการ BRI ในทุกประเทศรอบอ่าวเบงกอล”
ประเทศอย่างศรีลังกา เมียนมา บังกลาเทศ และเนปาล ต่างมีโครงการเชื่อมโยงกับจีนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
“หากเราไม่คุยกันเองให้มากกว่านี้ เราก็จะตกเป็นสนามแข่งขันของมหาอำนาจ โดยไม่มีเสียงของเราเอง” อดีตเอกอัครราชทูตกล่าว
มีพิมพ์เขียว แต่ยังไม่มีคนสร้าง
BIMSTEC ก่อตั้งในปี 1997 พร้อมวิสัยทัศน์เป็น ‘สะพานเชื่อมเอเชียใต้กับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ โดยในปี 2024 มีการให้สัตยาบัน ‘กฎบัตร BIMSTEC’ อย่างเป็นทางการ มีสำนักเลขาธิการในกรุงธากา และมี แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐาน 267 โครงการ รวมมูลค่า 124 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่ความคืบหน้ายังไม่เท่าความคาดหวัง
“เรามีบ้าน มีสถาปนิก แต่ยังไม่มีสะพาน” สีหศักดิ์กล่าว “สิ่งที่ขาดคือเจตจำนงทางการเมือง”
การค้าที่ไม่ลื่นไหล และการรวมกลุ่มที่ไม่ยั่งยืน
แม้ข้อตกลง FTA BIMSTEC จะเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2004 แต่ยังไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง การค้าภายในกลุ่มอยู่แค่ 5% ขณะที่อาเซียนมีมากกว่า 25%
“เราเซ็น MOU มาหลายครั้ง แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวจริง” ฮารชา เดอ ซิลวา อดีตรัฐมนตรีศรีลังกากล่าว
เขาเสนอให้เริ่มจาก ‘ผลลัพธ์ที่ทำได้ง่าย’ อย่างการค้าการบริการ การลดอุปสรรคทางเทคนิค
BIMSTEC ควรเรียนรู้จากอาเซียน
“อาเซียนไม่ได้เริ่มจากความยิ่งใหญ่ แต่มาจากความต่อเนื่องและความเชื่อมั่น”
พรีตี สาราน อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียกล่าว
การสร้าง ‘ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วม’ คือรากฐานของความสำเร็จทางภูมิภาค ที่ BIMSTEC ยังไปไม่ถึง
อินเดียและไทย: ผู้นำร่วมของภูมิภาค
“หาก BIMSTEC จะไปต่อได้ ต้องมีผู้นำ และสองประเทศนั้นคืออินเดียและไทย” ตาริก คารีม อดีตเอกอัครราชทูตบังกลาเทศ กล่าว
“อ่าวเบงกอลคือหัวใจของภูมิรัฐศาสตร์อินโดแปซิฟิก แต่เรากลับไม่กล้าก้าวไปข้างหน้า”
เมื่อโลกสั่นสะเทือน ภูมิภาคต้องมั่นคง
ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ ภูมิอากาศ และเทคโนโลยี – ความร่วมมือระดับภูมิภาคไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่คือเส้นทางรอด “นี่ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาวิกฤต – แต่คือโอกาสที่ BIMSTEC ต้องคว้าไว้” อดีตเอกอัครราชทูตกานธะกล่าว
BIMSTEC อาจยังไม่แข็งแกร่งเท่าอาเซียน หรือมีอำนาจต่อรองเท่า RCEP แต่สิ่งที่มีคือศักยภาพ