×

เมียนมา เบรกจ่ายหนี้นอก ป่วนถึงหุ้นไทย นักวิเคราะห์แนะรอดูสถานการณ์ ด้านหุ้น MEGA-CBG-OSP นำร่วงต่อเนื่อง

19.07.2022
  • LOADING...
เมียนมา

จากกรณีที่ธนาคารกลาง เมียนมา ออกคำสั่งให้ธนาคารที่ได้รับอนุญาตแจ้งลูกค้าธุรกิจและรายย่อย เพื่อระงับการจ่ายหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง โดย Bloomberg ระบุว่า บริษัทต่างประเทศในเมียนมาเหล่านี้มีเงินกู้ยืมในสกุลต่างประเทศอย่างน้อย 1.2 พันล้านดอลลาร์ และเริ่มเห็นรัฐบาลเข้าควบคุมค่าเงินเมียนมาชัดเจนตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลมีคำสั่งให้ผู้มีรายได้เป็นสกุลเงินต่างประเทศแปลงสกุลเงินของตนเป็นเงินจ๊าด ที่อัตราอ้างอิงของธนาคารกลางที่ 1,850 จ๊าดต่อดอลลาร์ 

 

สำหรับผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนไทยที่เข้าไปลงทุนในเมียนมา วานนี้ (18 กรกฎาคม) มีแรงขายหลักออกมาในหุ้นของ บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ (MEGA) โดยราคาหุ้นวานนี้ลดลงเกือบ 10% ขณะที่ราคาวันนี้ (19 กรกฎาคม) หลังเปิดตลาดยังคงลดลงต่อเนื่องมาทำจุดต่ำสุดที่ 45.75 บาท หรือลดลง 3.7% 

 

ขณะที่หุ้นอื่นๆ ที่มีธุรกิจในเมียนมา เช่น บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) ลดลงต่ำสุด 105.5 บาท หรือลดลง 4.9%, บมจ.โอสถสภา (OSP) ลดลงต่ำสุด 32 บาท หรือลดลง 5.2%, บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL) ลดลงต่ำสุด 5.05 บาท หรือลดลง 3.8% และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ลดลงต่ำสุด 1.99 บาท หรือลดลง 1.5%

 

สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบกับธนาคารกสิกรไทยในเมียนมาเบื้องต้นพบว่า ธุรกรรมการซื้อ-ขายสินค้ายังไม่ได้รับผลกระทบ และในส่วนของ MEGA มีสัดส่วนรายได้ราว 35% จากเมียนมา โดยในจำนวนนี้ 70% เป็นการจำหน่ายยาและเวชภัณฑ์ ส่วนอีก 30% เป็นสินค้าบริโภคทั่วไป 

 

การตัดสินใจของรัฐบาลเมียนมาเป็นความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้ประเทศตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับศรีลังกา จึงต้องพยายามรักษาเงินตราต่างประเทศเพื่อเป็นทุนสำรองในการซื้อสินค้าจำเป็น อาทิ พลังงาน แม้ว่าจะยังไม่เห็นผลกระทบต่อการทำธุรกรรมมากนัก แต่เรื่องของความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศน่าจะถูกกระทบพอสมควร

 

“ราคาหุ้น MEGA น่าจะสะท้อนข่าวนี้ไปแล้ว แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้การ Wait and See อาจจะดีที่สุด จนกว่าค่าเงินดอลลาร์และราคาน้ำมันจะอ่อนตัวลง ซึ่งจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายได้”

 

โดยภาพรวมพื้นฐานของ MEGA ยังไม่ได้เปลี่ยน และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ ราคาหุ้นที่ลดลงมาหนักก็เริ่มน่าสนใจ แต่ความไม่แน่นอนคือปัจจัยเรื่องเงินดอลลาร์และราคาน้ำมัน ซึ่งในส่วนนี้อาจเห็นความชัดเจนมากขึ้นในวันที่ 21 กรกฎาคมนี้ ว่ารัสเซียจะกลับมาเปิดท่อส่งก๊าซขายให้กับยุโรปหรือไม่ 

 

“หากรัสเซียกลับมาขายก๊าซให้ยุโรป วิกฤตพลังงานจะผ่อนคลายลง เงินยูโรจะเริ่มกลับมาแข็งสวนทางกับเงินดอลลาร์ที่อ่อนลง และราคาน้ำมันจะเริ่มลดลง ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ในเมียนมาคลี่คลายไปด้วย” 

 

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า โดยภาพรวมแม้ว่าผลกระทบต่อกำไรของหุ้น MEGA, CBG และ OSP ดูเหมือนจะไม่มาก แต่ผลกระทบที่แท้จริงยังประเมินได้ยาก เพราะนอกจากประเด็นคำสั่งของธนาคารกลางเมียนมาแล้ว อาจมีเรื่องกำลังซื้อที่อ่อนแอลง

 

“ด้วยภาวะตลาดที่อ่อนแอช่วงนี้ เมื่อหุ้นตัวใดมีข่าวร้ายอาจทำให้นักลงทุนเลือกขายออกก่อน และหุ้นอย่าง CBG และ OSP เป็นหุ้นที่นักลงทุนสถาบันถืออยู่ด้วย หากมีการปรับพอร์ตของสถาบันก็อาจทำให้หุ้นลดลงแรงกว่าปกติ” 

 

โดยสรุปแล้ว ทั้งผู้ที่ถือหุ้นอยู่หรือยังไม่มีหุ้นเหล่านี้ ควรจะรอดูสถานการณ์ไปก่อน ยังไม่ควรรีบเข้าซื้อ ทั้งนี้ ในส่วนของ OSP และ CBG หากกรณีเลวร้ายที่สุดคือให้รายได้จากเมียนมาเป็นศูนย์ จะกระทบต่อราคาเป้าหมาย 3 บาท และ 9 บาท ตามลำดับ เพราะฉะนั้นหากราคาหุ้นของ OSP และ CBG ปรับตัวลงมาแล้ว 3 บาท หรือ 9 บาท จากราคาปิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา จะทำให้ Downside ลดลงไป

 

ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ในส่วนของ ITD ที่มีการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยใช้เงินลงทุนไปแล้ว 7,843.6 ล้านบาท และถูกรัฐบาลเมียนมายกเลิกสัมปทานตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 โดยที่ ITD ยังไม่ได้มีการตั้งสำรองด้อยค่าโครงการดังกล่าว เพราะยังมั่นใจว่าจะสามารถเจรจากับรัฐบาลเมียนมาได้

 

สำหรับ TTCL มีการลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า โดยถือหุ้น 40% ในโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 1 ขนาด 120 เมกะวัตต์ และรับส่วนแบ่งกำไรจากโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 1 ประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการลงทุนโรงไฟฟ้า Ahlone เฟส 2 ขนาด 388 เมกะวัตต์ โดยได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาลเมียนมาตั้งแต่ปี 2564 แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถหาแหล่งเงินกู้ได้

 

สำหรับกลุ่มเครื่องดื่มอย่าง OSP มียอดขายจากเมียนมาราว 10% ของยอดขาย โดยหลักๆ แล้วขายเป็นสกุลเงินจ๊าดผ่านบริษัทย่อยในเมียนมา จึงมองผลกระทบในส่วนยอดขายจากมาตรการของธนาคารกลางเมียนมาค่อนข้างจำกัด แต่ปัจจัยด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคในเมียนมา การจัดเก็บเงินจากคู่ค้า รวมถึงสถานการณ์ค่าเงินเมียนมา ยังต้องติดตามต่อไป 

 

ทั้งนี้ ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ยอดขายต่างประเทศยังเติบโตดี 17.8% ท่ามกลางความอ่อนแอของเศรษฐกิจเมียนมาหลังผ่านการรัฐประหารในช่วงต้นปี 2564 นอกจากนี้ OSP มีเงินกู้ยืมสกุลดอลลาร์ผ่านบริษัทร่วมในเมียนมา มีภาระหนี้ประมาณ 30 ล้านดอลลาร์ โดยเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินไทย

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X