ภูมิทัศน์ทางการเมืองของเมียนมาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังจาก พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา (ตัดมาดอว์) ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งภายใต้การนำของ ออง ซาน ซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากที่เริ่มคุ้นชินกับเสรีภาพและการเมืองในระบบเลือกตั้งพากันลุกฮือขึ้นต่อต้านอย่างกว้างขวางก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การจับอาวุธขึ้นต่อสู้และร่วมมือกับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ขัดแย้งกับกองทัพมาตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 โหมไฟสงครามให้คุโชนจนยากจะหาทางทำให้สงบลงได้โดยง่าย
แม้ว่า มิน อ่อง หล่าย จะประสบความสำเร็จในการควบคุมอำนาจทางการเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ รักษาตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นประธานาธิบดีของประเทศ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างในการบริหารประเทศใหม่ ตั้งสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council) ทำหน้าที่ในการสร้างนโยบายและกำกับทิศทางในการบริหารปกครองของคณะรัฐบาล ล้มเลิกฝ่ายนิติบัญญัติ ยุบพรรคการเมืองไปทั้งสิ้น 40 พรรคซึ่งก็รวมถึงพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของ ออง ซาน ซูจี แต่นั่นไม่ได้ทำให้ประเทศเมียนมาเข้มแข็งและเจริญเติบโตขึ้นแต่อย่างใดเลย พัฒนาการที่ผ่านมาบอกให้รู้ว่าประเทศนี้กำลังเสื่อมทรุดอย่างถึงที่สุดและนั่นได้สร้างผลกระทบต่อเพื่อนบ้านและภูมิภาคอย่างมาก
สภาบริหารแห่งรัฐในสภาวะถดถอย
เมียนมาประสบกับภาวะชะงักงันทางการเมือง รัฐบาลทหารขาดความชอบธรรม ถูกประชาชนต่อต้านอย่างต่อเนื่องและรุนแรง เศรษฐกิจของเมียนมาอยู่ในภาวะถดถอยอย่างถึงที่สุด เมื่อปีที่แล้วอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศมีเพียง 1% ธนาคารโลกรายงานว่าถึงปัจจุบันระดับเศรษฐกิจเมียนมายังต่ำกว่าก่อนการรัฐประหารอยู่ถึง 10% ธุรกิจ การค้า การลงทุน อยู่ในภาวะชะงักงัน เงินจ๊าดอ่อนค่าลงอย่างมากจากเฉลี่ย 1,300 จ๊าดต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐก่อนการรัฐประหารมาอยู่ที่ 5,000 จ๊าดต่อ 1 ดอลลาร์ในปัจจุบัน สถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้สร้างความยากลำบากให้ประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย กว่า 40% ของประชากร 54 ล้านคนตกอยู่ใต้เส้นยากจน (คือมีรายได้ต่ำกว่า 1,500 จ๊าดต่อวัน)
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่าการปกครองของสภาบริหารแห่งรัฐอยู่ในภาวะที่ถดถอยอย่างมาก กลไกของรัฐอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถให้บริการประชาชนและบริหารงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้เลย รายงานประเมินโดยองค์กรอิสระระดับนานาชาติ เช่น Special Advisory Council for Myanmar (SAC-M) ที่เผยแพร่ในเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ระบุว่า สภาบริหารแห่งรัฐสูญเสียการควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ คาดว่า 86% ของเขตปกครองระดับเมืองไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารอย่างสมบูรณ์ ขณะที่ 34% ของพื้นที่ทั้งประเทศถูกควบคุมโดยฝ่ายต่อต้าน
อย่างไรก็ตาม ภาวะการณ์สูญเสียการควบคุมดังกล่าวนั้นอาจจะประเมินให้แม่นยำได้ยาก เพราะเหตุที่ฝ่ายรัฐบาลอาจจะไม่ได้สูญเสียการควบคุมเมืองนั้นทั้งหมด ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านก็ไม่ได้ควบคุมพื้นที่ได้สมบูรณ์อีกเช่นกัน การประเมินจากแหล่งอื่นๆ มีความแตกต่างกันอยู่มาก เช่น หน่วยข่าวกรองไทยประเมินว่า SAC สูญเสียการควบคุมพื้นที่ให้กับกลุ่มต่อต้านประมาณ 20% ขณะที่ข่าวกรองจีนประเมินว่า กองทัพเมียนมาควบคุมได้ 60% ของพื้นที่ ซึ่งนั่นสะท้อนถึง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ บางครั้งฝ่ายต่อต้านสามารถโจมตีเมือง ค่ายทหาร หรือศูนย์กลางการปกครองได้ แต่ไม่สามารถรักษาพื้นที่ได้นาน เนื่องจากถูกตอบโต้หรือขาดการสนับสนุน
จากมุมมองทางทหาร ปัจจัยสำคัญที่กำหนดสถานการณ์คือ การจัดหาอาวุธและการส่งกำลังบำรุง แม้ว่าตัดมาดอว์จะยังมีอาวุธและอำนาจการยิงที่เหนือกว่า และยังคงได้รับยุทธภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง แต่กองทัพเมียนมาก็ได้รับความสูญเสียจากการสู้รบไม่น้อย ในบางพื้นที่จะต้องพึ่งพากองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Forces: BGFs) หรือกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นพันธมิตรมากกว่ากองทัพหลัก
กองทัพเมียนมาอยู่ในสภาวะย่ำแย่ โดยกำลังพลลดลงอย่างมากจาก 300,000 นายเหลือเพียง 150,000 นาย และคาดว่า มีเพียง 50% เท่านั้นที่ประจำการในแนวหน้า กองทัพพยายามบังคับใช้กฎหมายเกณฑ์ทหาร (ที่ประกาศตั้งแต่ปี 2553) เพื่อเพิ่มกำลังพล แต่ประสบความล้มเหลว โดยสามารถเกณฑ์ทหารได้เพียงไม่กี่พันนาย ซึ่งต่ำกว่าที่ตั้งเป้าไว้ที่ 50,000 นายในปี 2567
ฝ่ายต่อต้านรุกคืบอย่างไร้เอกภาพ
ในขณะที่มีรายงานข่าวและรายงานการสำรวจมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า กองกำลังของฝ่ายต่อต้าน เช่น กลุ่มพันธมิตรแห่งภราดรภาพ (Brotherhood Alliance) และกองกำลังอื่นๆ สามารถรุกคืบยึดพื้นที่ด้านเหนือของรัฐฉานและรัฐยะไข่เอาไว้ได้ส่วนหนึ่ง พวกเขาอ้างว่าสามารถควบคุมพื้นที่ได้ทั้งหมด 144 เมือง หรือประมาณ 44% ของจำนวนเมืองทั้งหมดของประเทศ ในจำนวนนั้น 48 เมืองถือว่าเป็นเขตปลดปล่อยที่ตกอยู่ใต้การปกครองของฝ่ายต่อต้านอย่างสมบูรณ์แบบ แต่สถานการณ์ของฝ่ายต่อต้านก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะที่เป็นต่อหรือได้เปรียบอะไรเลย เนื่องจากฝ่ายต่อต้านมีความหลากหลาย ไร้เอกภาพ และมีเป้าหมายในการต่อสู้แตกต่างกันอย่างมาก
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของนักการเมืองภายใต้สังกัดพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยเมื่อเดือนเมษายน 2564 ไม่ได้มีสภาพเป็นรัฐบาลที่มีโครงสร้างอำนาจและการบริหารงานที่เข้มแข็งแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีภาพในสาธารณะและชุมชนนานาชาติว่าเป็นตัวแทนทางการเมืองของฝ่ายต่อต้าน แต่ก็ยากที่จะบอกได้ว่ามีหน่วยการเมืองอื่นใดในประเทศเมียนมาให้การยอมรับให้เป็นองค์กรนำ
กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People’s Defense Force: PDF) เมื่อแรกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2564 นั้นมีวัตถุประสงค์อยากจะให้เป็นกองทัพภายใต้สังกัดรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ แต่ในความเป็นจริง PDF เป็นได้แค่เครือข่ายของกองจารยุทธ์ของคนเชื้อสายเมียนมาที่ไม่ได้มีสายการบังคับบัญชาและองค์กรที่เข้มแข็งเหมือนกองทัพทั่วไป จึงไม่อาจเปรียบเทียบได้กับตัดมาดอว์หรือแม้แต่กองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่มเช่นว้าหรือโกกั้งด้วยซ้ำไป หน่วยจารยุทธ์อาจจะใช้ชื่อ PDF นำหน้าชื่อเมืองหรือที่ตั้งของฐานที่มั่น แต่เคลื่อนไหวปฏิบัติการแบบอิสระเป็นเอกเทศ
นอกจากนี้ยังมีกองกำลังของชนชาติพม่าที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารแต่ไม่ได้อยู่ใต้ร่มธงหรือเป็นพันธมิตรกับ PDF เช่น กองทัพปลดปล่อยประชาชนพม่า (The Bamar People’s Liberation Army: BPLA) หรือกลุ่มที่อาศัยชื่อเดิมของแนวร่วมนักศึกษาพม่าประชาธิปไตย (All Burma Student’s Democratic Front: ABSDF) รุ่นปี 1988 ก็เป็นกองกำลังของชาวพม่าที่ไม่ได้ต่อสู้ในร่มธงของกองกำลังพิทักษ์ประชาชนหรืออยู่ใต้การบังคับบัญชาของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติแต่อย่างใด
กองกำลังที่ได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายต่อต้านที่เข้มแข็งที่สุดเป็นของกลุ่มชาติพันธุ์ (Ethnic Armed Organisation: EAO) แต่กองกำลังเหล่านี้จำนวนมากมีประวัติการต่อสู้มายาวนานก่อนการรัฐประหารปี 2564 ด้วยเป้าหมายที่แตกต่างกันมากส่วนใหญ่แล้วต้องการอำนาจในการปกครองตนเอง แต่ไม่ได้มีเป้าหมายไกลถึงขั้นจะสร้างสหพันธรัฐบางกลุ่ม เช่น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU), กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Liberation Army: KNLA), องค์กรเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Organization: KIO) กองทัพเอกราชคะฉิ่น (Kachin Independence Army: KIA) และแนวร่วมแห่งชาติชิน (Chin National Front: CNF) เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและกองกำลังพิทักษ์ประชาชนในการต่อสู้กับสภาบริหารแห่งรัฐแต่กลับไม่แน่นักว่าจะมีเป้าหมายทางการเมืองแบบเดียวกัน
กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ เช่น พันธมิตรแห่งภราดรภาพ ซึ่งประกอบไปด้วย กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชนชาติเมียนมา (Myanmar National Democratic Alliance Army) หรือกองทัพโกกั้ง กองทัพปลดปล่อยชนชาติดะอั้ง (Ta’ang National Liberation Army) ของชาวปะหล่อง และกองทัพอาระกัน (Arakan Army) ของชาวอาระกัน กองทัพสหรัฐว้า (United Wa State Army: UWSA) สภาฟื้นฟูรัฐฉาน/กองทัพรัฐฉาน (Restoration Council of Shan State/Shan State Army: RCSS/SSA) ของเจ้ายอดศึก พรรคคะเรนนีก้าวหน้า (Karenni National Progressive Party: KNPP) และกองกำลังพิทักษ์คะเรนนี (Karenni Nationalities Defense Force: KNDF) นั้นไม่ได้ประกาศตัวโดยชัดแจ้งว่าร่วมต่อสู้หรือเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและกองกำลังพิทักษ์ประชาชนแต่อย่างใดเลย พวกเขาส่วนใหญ่เป็นพวกขุนศึก (War Lord) ที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มหรืออย่างมากก็เรียกร้องสิทธิในการปกครองตนเองในพื้นที่ยึดครองมากกว่าจะสนใจแนวคิดสหพันธรัฐประชาธิปไตยบางกลุ่ม เช่น ว้า นั้นต้องการสถาปนาดินแดนของตนเองทางตอนเหนือของรัฐฉานให้เป็นรัฐว้า คะเรนนีก็ต้องการสถาปนาระบอบการปกครองตนเองในเขตรัฐคะเรนนี (ติดชายแดนไทยด้านแม่ฮ่องสอน) เป็นสำคัญ
มิติทางภูมิรัฐศาสตร์
ทางการจีนแถลงเมื่อประมาณกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาว่า ประสบความสำเร็จในการเจรจาไกล่เกลี่ยจนทำให้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงระหว่างสภาบริหารแห่งรัฐและกองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชนชาติพม่าได้ (กองทัพโกกั้ง) นั่นแสดงให้เห็นว่าจีนได้เข้ามามีอิทธิพลอย่างสูงในพม่าทั้งต่อรัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่กองกำลังที่มีความเข้มแข็งอย่างเช่น โกกั้ง ว้า และคะฉิ่น ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนมานาน
จีนเป็นคู่ค้าและนักลงทุนใหญ่เป็นอันดับ 1 ของเมียนมา เป็นผู้ค้าอาวุธรายใหญ่ให้กับตัดมาดอว์ ปัญหาความรุนแรงในเมียนมาสร้างผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจีนอย่างมาก ไม่เฉพาะแต่บริเวณชายแดนที่มีพื้นที่ติดกันซึ่งเป็นช่องทางการค้าที่สำคัญระหว่างสองประเทศเท่านั้น จีนยังมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในเมียนมา เช่น โครงการท่อส่งน้ำมันและก๊าซ รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา (China-Myanmar Economic Corridor: CMEC) ซึ่งเชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียกับพื้นที่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีนโดยตรง ความไม่สงบจะส่งผลกระทบต่อโครงการเหล่านี้และผลประโยชน์ของจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รัฐบาลในกรุงปักกิ่งได้พยายามอย่างต่อเนื่องมาอย่างน้อย 2-3 ปีในอันที่จะใช้อิทธิพลทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและความมั่นคงเหนือคู่ขัดแย้งเพื่อกดดันและบีบบังคับให้เกิดความสงบในเมียนมาโดยไม่คำนึงว่าความสงบเช่นนั้นจะทำให้ฝ่ายสภาบริหารแห่งรัฐสามารถอยู่ในอำนาจได้ต่อไปหรือทำให้ฝ่ายต่อต้านสามารถรักษาพื้นที่ของตัวเองเอาไว้ได้หรือไม่ก็ตาม ตราบเท่าที่ความสงบเช่นว่านั้นยังประโยชน์ให้กับจีนก็เพียงพอแล้วสำหรับปักกิ่งที่จะลงทุนลงแรงดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย
ในทำนองเดียวกันสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรตะวันตกอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป อังกฤษ แคนาดา และออสเตรเลีย ได้แสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวและออกมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างต่อเนื่องนับแต่มีการรัฐประหารในปี 2564 บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านพลังงานอย่างยูโนแคลของสหรัฐฯ และโททาลของฝรั่งเศส ถอนการลงทุนในโครงการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะเพื่อแสดงการกดดันทางเศรษฐกิจต่อทหารเมียนมา สภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมาย Burma Act ในปี 2565 สมัยรัฐบาลโจ ไบเดน เพื่อให้การช่วยเหลือและสนับสนุนฝ่ายต่อต้าน ซึ่งก็รวมถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติและกองกำลังพิทักษ์ประชาชน แต่ก็จำกัดความช่วยเหลือทางทหารเอาไว้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งให้ความสนใจกับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยน้อย อาจจะละเลยปัญหาเมียนมาและรวมถึงตัดงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวกับความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อผู้อพยพ แต่ก็มีความเป็นไปได้อีกเช่นกันว่า ทรัมป์จะใช้ประเด็นเมียนมาเพื่อต่อรองและคัดค้านอิทธิพลของจีนในอินโด-แปซิฟิก
อินเดียเป็นมหาอำนาจระดับภูมิภาคที่มีผลประโยชน์ในเมียนมาทั้งในแง่ของความมั่นคงตามแนวชายแดนและผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การเข้าไปมีบทบาทของอินเดียมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการคือ ถ่วงดุลอำนาจกับจีนและรักษาผลประโยชน์ของตนเอง เฉพาะอย่างยิ่งการรักษาความมั่นคงตามแนวชายแดนตะวันออกเฉียงเหนือ เมียนมามีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ที่เปิดโอกาสให้อินเดียสามารถบูรณาการทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างการเชื่อมต่อในภูมิภาค ผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการทางหลวงไตรภาคีอินเดีย-เมียนมา-ไทย และโครงการขนส่งหลายรูปแบบกาลาดอน (Kaladan Multimodal Transit Transport Project)
แม้อินเดียจะพยายามส่งเสริมเสถียรภาพในภูมิภาค แต่แนวทางที่ระมัดระวังของตนก็จำกัดความสามารถในการกำหนดทิศทางความขัดแย้งในเมียนมาโดยรวม ความลังเลของรัฐบาลนิวเดลีในอันที่จะมีปฏิสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับฝ่ายต่อต้าน เช่น รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ และกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ สะท้อนให้เห็นว่าจุดยืนของอินเดียให้ความสำคัญกับความมั่นคงในภูมิภาคมากกว่าการสนับสนุนประชาธิปไตย
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย
ประเทศไทยรับผลกระทบที่เกิดจากสงครามกลางเมืองในเมียนมาในหลายมิติด้วยกันที่ชัดเจนที่สุดคือ ความชะงักงันทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุน และเฉพาะอย่างยิ่งการค้าชายแดนซึ่งมีสัดส่วนถึง 80% ของการค้าทวิภาคีระหว่างสองประเทศ สถานการณ์ความรุนแรงจากการสู้รบทำให้การค้าชายแดนได้รับผลกระทบอย่างหนักเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้นปีที่แล้วซึ่งมีเหตุปะทะกันใกล้ชายแดนบ่อยครั้ง กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า การค้าชายแดนระหว่างไทยและเมียนมาลดลงถึง 20% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 จุดผ่านแดนที่มีการค้ามากที่สุดคือแม่สอด-เมียวดี มูลค่าการค้าลดลงมากถึง 46% ในขณะที่ผู้ค้าชายแดนไม่สามารถเลือกเส้นทางอื่นๆ ทดแทนได้เต็มที่เพราะการคมนาคมขนส่งในเส้นทางนั้นๆ ไม่สะดวก
สิ่งสำคัญที่สุด คือภาวะไร้เสถียรภาพและไร้ระเบียบทำให้กองกำลังกลุ่มต่างๆ ทั้งที่เป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารและที่เป็นพันธมิตรกับรัฐบาลถือโอกาสแสวงหารายได้เพื่อหล่อเลี้ยงกองกำลังของตัวเองด้วยการเรียกเก็บค่าคุ้มครองและค่าผ่านทางจากการขนส่งสินค้าจากชายแดนไทยเข้าไปสู่เมืองชั้นในของเมียนมา ส่งผลให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น 200-300% ผู้ค้าชายแดนหลายรายให้ข้อมูลว่าพวกเขาต้องจ่ายค่าคุ้มครองหรือค่าธรรมเนียมในการผ่านทางให้กับกองกำลังกลุ่มต่างๆ ตลอดเส้นทางจากแม่สอดถึงย่างกุ้งเฉลี่ยแล้วไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเที่ยว หรือในบางกรณีค่าใช้จ่ายดังกล่าวเคยขึ้นไปสูงถึง 60,000 บาทในการขนส่งสินค้าเพียงเที่ยวเดียว
ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจและการค้าประกอบกับการถูกคว่ำบาตรทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาพยายามหาทางออกด้วยมาตรการหลายประการที่เข้มงวดกับการค้าและการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศซึ่งกลับส่งผลร้ายต่อระบบเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับไทย เนื่องจากชาวเมียนมาหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมผ่านระบบธนาคารหันไปใช้ระบบโพยก๊วน ธนาคารโลกรายงานว่าปัจจุบันชาวเมียนมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารเพียง 5% เท่านั้นที่เหลือกลายเป็นธุรกรรมนอกระบบที่รัฐไม่อาจจะตรวจสอบและควบคุมได้
นอกจากนี้การลงทุนของไทย ตัวอย่างเช่น การสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะของบริษัท ปตท. ซึ่งปัจจุบันต้องกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในโครงการดังกล่าวหลังจากบริษัทยูโนแคลและโททาลถอนตัวออกไปทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการทำธุรกิจจากการคว่ำบาตรอย่างมาก ธนาคารพาณิชย์ของไทยหลายแห่งถูกระบุในรายงานของผู้แทนพิเศษสหประชาชาติเมื่อปีที่แล้วว่าให้บริการธุรกรรมทางการเงินเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการค้าอาวุธของกองทัพเมียนมา
ผลกระทบที่หนักหน่วงที่สุดต่อประเทศไทยคือปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดน ภาวะที่ไร้เสถียรภาพและการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ เปิดโอกาสให้ธุรกิจผิดกฎหมายจำนวนมากตั้งฐานลักลอบค้าของเถื่อน ยาเสพติด การค้าอาวุธ รวมตลอดไปจนถึงการค้ามนุษย์ที่มาจากการดำเนินธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ที่มาตั้งฐานอยู่ใกล้ชายแดนไทยโดยอาศัยความคุ้มครองจากกองกำลังพิทักษ์ชายแดนและกองกำลังของฝ่ายต่อต้านเป็นเกราะกำบัง สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนทั้งคนไทยและอีกหลายชาติเฉพาะอย่างยิ่งจีนดังเช่นที่ปรากฏในรายงานของสื่อมวลชนอยู่ในขณะนี้ จากการประมวลของฝ่ายข่าวกรองไทยเชื่อว่าน่าจะมีธุรกิจคอลเซ็นเตอร์ในเมียนมาที่ใกล้ชายแดนไทยมากถึง 40 แห่ง โดยที่บางส่วนได้อาศัยสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งพลังงานไฟฟ้าและการสื่อสารโทรคมนาคมจากฝั่งไทย
สถานการณ์สงครามและความรุนแรงในเมียนมาก่อให้เกิดวิกฤตทางด้านมนุษยธรรมที่สำคัญประการหนึ่งคือปัญหาผู้ลี้ภัยสงครามทับถมให้กับประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ต้องให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาอยู่แล้วถึงกว่า 90,000 คนที่อาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว 9 แห่งใน 4 จังหวัดชายแดนมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1980 สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประมาณว่า สงครามระลอกใหม่หลังการรัฐประหารในปี 2564 ทำให้ประชาชน 142,800 คนต้องอพยพออกนอกประเทศในจำนวนนี้หนีมาประเทศไทย 52,100 คน หรือคิดเป็น 36.5% ของทั้งหมด สถานการณ์ยิ่งซ้ำร้ายเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศตัดความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่ผู้อพยพ โรงพยาบาลของไทย 7 แห่งที่ตากและแม่ฮ่องสอนที่ให้บริการแก่ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาได้รับผลกระทบทันที
ข้อเสนอแนะ
ปรับนโยบายและการทูต
ประเทศไทยมีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการแก้ไขวิกฤตการณ์ในเมียนมา ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการบรรเทาหรือแก้ปัญหาที่กดทับมายังประเทศไทยอย่างตรงจุดและให้ได้ผลอย่างมีประสิทธิภาพ และอีกส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการเพิ่มบทบาทในเวทีนานาชาติให้กับประเทศไทยอีกด้วย ในการนี้รัฐบาลจำเป็นจะต้องปรับยุทธศาสตร์และนโยบายใหม่จากเดิมที่มุ่งติดต่อและสัมพันธ์กับแต่เฉพาะรัฐบาลของสภาบริหารแห่งรัฐอย่างเป็นทางการให้เป็นการติดต่อสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเปิดเผยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน และกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีจุดยืนต่อต้านรัฐบาลทหารอย่างชัดแจ้งหรือกลุ่มที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพเมียนมาก็ตาม เพื่อให้สามารถเข้าถึงและรับรู้ปัญหาและข้อเสนอพร้อมทั้งแนวทางในการแก้ไขปัญหาของทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน
รัฐบาลไทยจะต้องบูรณาการหน่วยงานและทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาพม่าทั้งในทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ-ธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อรับทราบปัญหาและร่วมกันแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้านและสอดคล้องต้องกันเพื่อผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่าย ลำพังแต่คณะกรรมการเฉพาะกิจบริหารสถานการณ์อันเนื่องมาจากความไม่สงบในเมียนมา ซึ่งประกอบไปด้วยผู้แทนหน่วยราชการอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาและวิกฤตการณ์ที่มีความซับซ้อนและยืดเยื้อยาวนานเช่นนี้
รัฐบาลไทยต้องแสดงบทบาททางการทูตอย่างกระตือรือร้นในอันที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มอาเซียนในการเข้าไปมีบทบาทในการสร้างสันติภาพในเมียนมาด้วยการสนับสนุนให้มีผู้แทนถาวรของอาเซียนในกิจการเมียนมา ซึ่งมีวาระการดำเนินงานที่แน่นอน ด้วยการสนับสนุนทางด้านงบประมาณและบุคลากรจากกลุ่มอาเซียน แทนที่จะหมุนเวียนกันตามวงรอบของการเป็นประธานอาเซียนอย่างเช่นที่ผ่านมาซึ่งไม่มีอาณัติที่ชัดเจนจากสมาชิกกลุ่มอาเซียนทั้งมวล
รัฐบาลไทยต้องแสวงหาความร่วมมือจากจีนในอันที่จะกดดันทั้งฝ่ายสภาบริหารแห่งรัฐ ฝ่ายต่อต้านและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหมดให้หันมาให้ความสำคัญกับการเจรจาเพื่อสร้างกระบวนการสันติภาพให้ชัดเจน เพื่อที่จะสามารถจัดการเลือกตั้งที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมได้อย่างเท่าเทียม บริสุทธิ์ ยุติธรรมที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลไทยต้องแสวงหาความร่วมมือและแรงสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ จากสหรัฐฯ และพันธมิตรฝ่ายตะวันตกทั้งในแง่มนุษยธรรมและในด้านที่จะกดดันหรือสร้างแรงจูงใจให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแสวงหาทางออกให้กับวิกฤตการณ์อย่างสันติ การคว่ำบาตรจากประเทศตะวันตกไม่ใช่สิ่งที่ควรปฏิเสธไปเสียทั้งหมดหากแต่สมควรจะใช้อย่างมียุทธศาสตร์เพื่อให้บรรลุผลในการแก้ไขปัญหา
สร้างทางเลือกทางเศรษฐกิจ-การค้า
ในระยะสั้น รัฐบาลไทยจะต้องริเริ่มสร้างเส้นทางปลอดภัยให้กับการขนส่งสินค้าและความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมโดยเริ่มจากเส้นทางแม่สอด-เมียวดี-ย่างกุ้ง เป็นปฐม โดยแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่พร้อมทั้งแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนี้อย่างเป็นธรรม
ในระยะกลาง รัฐบาล หน่วยงาน และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันแสวงหาเส้นทางที่เป็นทางเลือกในการขนส่งสินค้า เช่น ท่าเรือระนองที่สามารถติดต่อกับท่าเรือย่างกุ้งหรือเกาะสองได้อย่างปลอดภัยและมีความสะดวกไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ค่าธรรมเนียมหรือภาษีศุลกากรอย่างไม่สมเหตุสมผล
นอกจากนี้รัฐบาลและภาคการเงิน-การธนาคาร จะต้องแสวงหาเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม เช่น การแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างเงินบาทและเงินจ๊าด เพื่อลดการใช้ระบบที่ไม่เป็นทางการอย่างโพยก๊วนลงและสร้างเสถียรภาพให้กับระบบแลกเปลี่ยนเงินตราและอำนวยความสะดวกให้กับการค้าและการทำธุรกิจ
แสวงหามาตรการและเปลี่ยนแปลงระเบียบกฎหมายเพื่อเอื้ออำนวยและเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยได้มีโอกาสเข้าถึงตลาดแรงงานหรือได้รับใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยได้ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมและเพื่อเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยไปด้วยในตัว
บริหารจัดการชายแดนใหม่
รัฐบาลต้องบูรณาการการบริหาร-จัดการและรักษาความปลอดภัยพื้นที่ชายแดนเสียใหม่ ปรับโครงสร้างการบริหารที่แยกส่วนกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายความมั่นคง ศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง รักษาความปลอดภัย ให้สามารถดำเนินงานร่วมกันได้อย่างเป็นเอกภาพสอดคล้องกัน พิจารณาเพิ่มงบประมาณและบุคลากรในการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนพร้อมทั้งแสวงหาเครื่องมือและเทคโนโลยีในการตรวจตราและควบคุมด่านชายแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
บทบาททางด้านมนุษยธรรม
รัฐบาลจะต้องแสวงหาบทบาทนำในการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อเมียนมา โดยทำหน้าที่ในการประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย ทุกประเทศ ในอันที่จะระดมทรัพยากรและแจกจ่ายสิ่งของบรรเทาทุกข์ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ หลีกเลี่ยงการพึ่งพิงช่องทางเพียงหนึ่งเดียวในการส่งมอบความช่วยเหลือ ให้พิจารณาบทบาทของชุมชนท้องถิ่นทั้งในประเทศไทยและในเมียนมาในการเข้าถึงกลุ่มหรือบุคคลที่จำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือให้มากที่สุด
อนึ่งรัฐบาลพึงตระหนักว่า ความช่วยเหลือเป็นเพียงมาตรการระยะสั้นและเร่งด่วนในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามและความรุนแรง มาตรการทางด้านมนุษยธรรมเป็นบันไดขั้นแรกที่จะชักนำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อหาทางลดหรือยุติความขัดแย้งในระยะกลางหรือระยะยาว
สรุป
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาโครงสร้างและภูมิทัศน์ทางด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมเมียนมาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากก่อให้เกิดผลกระทบทั้งประเทศเมียนมาเอง ต่อประเพื่อนบ้าน และในระดับภูมิภาคในวงกว้าง โดยที่ระบอบทหารภายใต้การนำของสภาบริหารแห่งรัฐไม่มีขีดความสามารถในอันที่นำความสงบสันติและการพัฒนาที่จะยังประโยชน์เพื่อชาวเมียนมาและประเทศเพื่อนบ้านได้เลย สถานการณ์มีแต่จะย่ำแย่ ตัดมาดอว์พบกับภาวะถดถอยและเพลี่ยงพล้ำ แต่ในเวลาเดียวกันฝ่ายต่อต้านและกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์แม้ว่าจะสามารถรุกคืบได้มากแต่ดูเหมือนจะไม่มีขีดสามารถใช้แนวทางการทหารเพื่อเอาชนะให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ สภาพเช่นนี้มีแต่จะทำให้สถานการณ์และความรุนแรงยืดเยื้อต่อไป ประเทศไทยในฐานะที่เป็นประเทศเพื่อนบ้านด่านแรกที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ ก่อให้เกิดภาระทางด้านมนุษยธรรมที่จะต้องแบกรับ
รัฐบาลไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในอันที่จะเร่งสร้างบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องไม่เฉพาะแต่หน่วยงานของรัฐเท่านั้นเพื่อระดมสรรพกำลังและทรัพยากร รวมตลอดถึงแสวงหาความร่วมมือและบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ในการเข้าไปช่วยคลี่คลายสถานการณ์และหาทางแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างสันติภาพถาวรในประเทศเพื่อนบ้านก่อนที่ทุกอย่างจะลุกลามไปมากกว่านี้
ภาพ: Kaung Zaw Hein / SOPA Images / LightRocket via Getty Images