วานนี้ (11 กุมภาพันธ์) สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองของเมียนมา (AAPP) รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุด หลังมีผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐประหารโดยกองทัพถูกจับกุมกลายเป็นนักโทษทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 220 ราย นับตั้งแต่มีการก่อรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 1 ราย ทราบชื่อภายหลังคือ มะเมี๊ยะ เท็ต เท็ต ขิ่น นักศึกษาหญิงชาวเมียนมา วัย 19 ปี ที่ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสที่ศีรษะตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ขณะเข้าร่วมชุมนุมต้านการยึดอำนาจในกรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงของเมียนมา
โดยมากกว่าครึ่งของผู้ที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวเป็นสมาชิกของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) และถูกกองทัพจับกุมในยามวิกาล อีกทั้งไม่แจ้งข้อกล่าวหาหรืออนุญาตให้ติดต่อกับครอบครัว ทางด้าน กู่ อ่อง เมียว จอ ผู้แทนจาก AAPP ระบุว่าการจับกุมตัวพลเรือนไว้โดยไม่แจ้งข้อกล่าวหาเกิน 24 ชั่วโมงและไม่อนุญาตให้ติดต่อกับครอบครัว เป็นการจับกุมที่ไม่ชอบธรรมด้วยกฎหมาย ล้วนเป็นการกระทำที่น่าละอายใจ
อู ตอบิดา และนักการเมืองชาวกะเหรี่ยงอย่าง อู ซอ มอง จี ทั้งคู่ได้รับโทษจำคุก 2 ปี ฐานปลุกปั่นและหมิ่นประมาททางสื่อออนไลน์ ขณะที่ ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาประเทศและประธานาธิบดี วิน มินต์ เองก็ถูกตั้งข้อกล่าวหา โดยหนึ่งในความผิดของซูจีคือความผิดฐานละเมิดกฎหมายนำเข้า-ส่งออก และครอบครองอุปกรณ์สื่อสารอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเอกสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าเธอจะถูกควบคุมตัวระหว่างรอพิจารณาคดีไปจนถึงอย่างน้อยวันที่ 15 กุมภาพันธ์
พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดกองทัพเมียนมาและผู้นำรัฐประหารได้ออกมาตำหนิและเรียกร้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงยุติการชุมนุมกลับไปทำหน้าที่ของตนเองเพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ ท่ามกลางกระแสกดดันจากนานาชาติที่ทยอยประกาศระงับความสัมพันธ์และดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัฐบาลเฉพาะกาลของกองทัพเมียนมา
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ชมคลิป: สำรวจความหลากหลายในพื้นที่ชุมนุม เมื่อคนเมียนมารวมพลังต้านรัฐประหาร
- ชมคลิป: ‘สู้ไม่ถอย’ ฟังเสียงชาวเมียนมา ผู้ไม่ยอมนิ่งเฉยต่อรัฐประหาร แม้โดนทางการรุกหนัก
- ชมคลิป: 1 สัปดาห์ เมียนมาใต้เงารัฐประหารโดยกองทัพ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
ภาพ: STR / AFP / Twitter
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: