วานนี้ (1 กุมภาพันธ์) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการเสวนาวิชาการ ‘1 ปีหลังรัฐประหารพม่า’ ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถ่ายทอดสดผ่านแฟนเพจ PBIC Thammasat จัดโดยวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา (ARCM-CE) สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (TACDB)
วิทยากรประกอบด้วย นฤมล ทับจุมพล ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้เชี่ยวชาญพม่า-อาเซียน, ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เกียรติ สิทธีอมร รองประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร, ถวิล เปลี่ยนศรี ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาและติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยในคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา และ ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ดำเนินรายการโดย อัครพงษ์ ค่ำคูณ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คนพม่ายังไม่ยอมแพ้ ผ่านมา 1 ปี ยังมีการประท้วง
นฤมล ทับจุมพล ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการย้ายถิ่นและการพัฒนา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เหตุที่มีการรัฐประหารในพม่าเมื่อปีที่แล้ว หากดูผลการเลือกตั้ง 3 ครั้ง คือ ปี 2010, ปี 2015 และ ปี 2020 ซึ่งถูกประกาศเป็นโมฆะ การเลือกตั้งทั้ง 3 ครั้ง พรรคของกองทัพได้คะแนนลดลง เป็นเหตุผลที่มีการรัฐประหารกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เนื่องจากกองทัพรับไม่ได้เพราะมีความเปลี่ยนแปลงของภูมิศาสตร์การเมืองและเศรษฐกิจของพม่า
สิ่งที่น่าสนใจคือ ถ้ายังอยู่ในเกมการเลือกตั้ง คะแนนพรรค USDP ของกองทัพพม่าอาจจะหายไป ขณะที่พรรค NLD แม้ถูกวิจารณ์อย่างมากมายแต่คนก็ยังเลือก NLD และต่อให้กลุ่มชาติพันธุ์ไม่ชอบ NLD แต่เมื่อต้องเลือกระหว่างกองทัพกับ NLD เขาก็ไปเลือก NLD
ใน 1 ปีที่ผ่านมา กองทัพพม่ามีประสิทธิภาพมากในการดึงกลุ่มชาติพันธุ์ให้ต่อสู้แย่งชิงพื้นที่ยึดครองของตนเองแทนที่จะต่อต้านกองทัพ หลังจากนี้อาจจะมีสถานการณ์สู้รบแล้วคนเข้ามาในไทยอีก
ตอนนี้คนพม่ายังไม่ยอมแพ้ ผ่านมา 1 ปี ยังมีการประท้วง แม้ประท้วงบนถนนไม่ได้เพราะจะถูกจับกุม ถูกปราบทุกวัน แต่คนพม่ามีข้อเรียกร้องกับนานาชาติ ขอให้เปลี่ยนจากวิธีคิดเรื่องความมั่นคงไปเป็นเรื่องประชาธิปไตย ขอให้เปลี่ยนจากวิธีคิดเรื่องเศรษฐกิจไปเป็นเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ จึงจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาที่เป็นไปได้ด้านการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ความคาดหวังของเขาค่อนข้างยาก สิ่งที่เราอาจจะเห็นคือจำนวนผู้หนีภัยสงครามเพิ่มขึ้น เป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยต้องเตรียมรับมือ และอาเซียนกับนานาชาติจะมีข้อเสนออย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศ เขายังยืนยันว่าจะไม่ยอมแพ้
พื้นที่ปลอดภัยเพื่อมนุษยธรรม ทำอย่างไรให้เกิดขึ้น
ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวตอนหนึ่งว่า การเตรียมความพร้อมของชุมชนคนไทยตามชายแดนในการรับมือการสู้รบ ทั้งการหลบภัย อาหาร การส่งต่อผู้ป่วย ความเข้าใจปัญหา และการสื่อสาร ยังเป็นประเด็นซึ่งต้องพูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
การจัดหาที่พักพิงที่ปลอดภัยสำหรับผู้หนีภัยสงคราม ไม่ใช่อยู่แนววิถีกระสุนตก กรรมการสิทธิฯ จะขอเข้าพื้นที่ แต่ทหารบอกว่าอย่าเข้าไปเลย ขนาดทหารยังต้องอยู่ในที่หลบภัย แสดงว่าที่พักพิงยังอยู่ในแนววิถีกระสุนตก ยังเป็นปัญหาอยู่
กลไกการประเมินการส่งกลับแบบปลอดภัย มีผู้ร้องเรียนว่าการส่งกลับยังบังคับอยู่หรือไม่ ซึ่งยังไม่สรุป แต่จะมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำอย่างไรไม่ให้ผู้หนีภัยสู้รบต้องไปๆ มาๆ
การดูแลในค่ายพักพิง มีผู้ร้องเรียน ต้องมีผู้เชี่ยวชาญและมีส่วนร่วมของหลายฝ่าย เพื่อลดภาระฝ่ายไทย ภาคประชาสังคมยินดีสนับสนุน แต่ยังยากลำบากในการเข้าถึง ต้องหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเด็กอาจจะไม่ปลอดภัยในช่วงสู้รบ
พื้นที่ปลอดภัยเพื่อมนุษยธรรม ทำอย่างไรให้เกิดขึ้น ผู้หนีภัยทางการเมืองพม่าหากถูกจับตัวและถูกส่งกลับก็จะเป็นอันตราย กรรมการสิทธิฯ จะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนั้นมีเรื่องสิทธิแรงงานเชื่อมโยงกับการหนีภัยสู้รบและการค้ามนุษย์ สิทธิสุขภาพตามแนวชายแดน อยู่ระหว่างประมวลข้อมูลที่กรรมการสิทธิฯ จะเสนอในระดับนโยบาย
ปมพม่า อาเซียนแตกเป็น 2 ส่วน
ถวิล เปลี่ยนศรี ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาและติดตามสถานการณ์ระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อประเทศไทยในคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา กล่าวว่า ไทยมีพื้นที่ทั้งทางน้ำทางบก 2,400 กิโลเมตรติดต่อกับพม่า เราได้รับผลกระทบอะไร ควรจะมีท่าทีอย่างไร
การมองสถานการณ์มีความแตกต่างกัน ระหว่างประเทศที่อยู่ติดกันกับประเทศที่อยู่ห่างออกไป บ้านที่อยู่ใกล้มักจะเดือดร้อนมากกว่า
อาเซียนก็แตกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่ยังให้โอกาสพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ เช่น ไทย, สปป.ลาว, กัมพูชา และเวียดนาม
ส่วนประเทศที่มีท่าทีแข็งกร้าว คือประเทศที่อยู่ไกลออกไป เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, บรูไน และสิงคโปร์
อาเซียนโน้มน้าวพม่าแล้วได้ผลน้อย ในฐานะที่ไทยอยู่ประชิดติดกับพม่า ทุกครั้งที่มีความไม่สงบเรียบร้อยหรือการสู้รบ เราก็ได้รับผลกระทบ
สิ่งที่เป็นอนุสรณ์ตกค้างอยู่ทุกวันนี้คือผู้หนีภัยจากการสู้รบที่เข้ามาอยู่ในไทยในที่พักพิงชั่วคราวทั้ง 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด ตกค้างมา 37 ปี ยังกลับไม่ได้ ดีขึ้นนิดหน่อยเพราะเมื่อก่อนมี 1.1 แสนคน ตอนนี้เหลือ 8 หมื่นคน บางคนไม่ได้มาจากเมียนมาแต่เกิดในศูนย์ฯ
แล้วก็มีผู้หนีภัยการสู้รบรุ่นใหม่เข้ามาอีกจากเหตุการณ์ 1 ปีที่เกิดขึ้นในพม่า สร้างปัญหาให้ไทยมากมาย เราได้รับผลกระทบความปลอดภัยบริเวณชายแดน มีการปฏิบัติการทางทหารเข้ามาในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย ซึ่งทาง PDF หรือ The People’s Defence Force ได้อาศัยพื้นที่ชนกลุ่มน้อยซ่องสุมฝึกการสู้รบต่างๆ ก็กระทบไทยแน่นอน ยิ่งมีปฏิบัติการทางอากาศก็สุ่มเสี่ยงเกิดผลกระทบกับไทย นี่เป็นผลกระทบที่ไทยได้รับทันที ส่วนประเทศไกลออกไปไม่ได้รับผลกระทบ
นอกจากผู้หนีภัยรุ่นใหม่ที่ไทยต้องรับภาระดูแลด้านมนุษยธรรม ยังมีปัญหาซ้อนเข้ามาคือ ผู้หลบหนีเข้าเมือง แรงงานต่างด้าว มาพร้อมกับการแพร่ระบาดโควิด ปัญหาเหล่านี้ไทยต้องรับ ทางแก้ไขต้องให้พม่าดำเนินการตามฉันทามติของอาเซียนทั้ง 5 ข้อให้เป็นมรรคผล น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่ยังมีรายละเอียดอีกเยอะ
ส่วนการช่วยเหลือผู้หนีภัยจากการสู้รบ เราอาจจะถูกวิจารณ์ว่าเราไม่ยอมให้องค์กรต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้หนีภัยได้เท่าที่ควร อันนี้มีมิติหน่วยงานด้านความมั่นคง
เราต้องไม่ยอมให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย การดูแล 37 ปี ทั้งที่เป็นหน้าที่ประชาคมโลก แต่เราถูกทิ้งมา 37 ปี ดังนั้นรุ่นใหม่เราก็ดูแล แต่ในพม่าไม่ได้รบกันตลอด เมื่อปลอดภัยระดับหนึ่งเขาก็ควรจะต้องกลับไป เราจึงขออิสรเสรีแต่ยึดมั่นดำเนินการตามหลักสิทธิมนุษยธรรม
คำถามที่น่าสนใจคือ ชนชั้นนำทหารพม่ากลัวอะไร
ดุลยภาค ปรีชารัชช รองผู้อำนวยการศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความพิเศษของกองทัพพม่าคือ กองทัพไม่สามารถแยกแยะได้ว่าความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงของกองทัพ ความมั่นคงระบอบการเมือง เป็นคนละส่วนกัน กองทัพบอกว่าเป็นสิ่งเดียวกัน ฉะนั้นเมื่อมีศัตรูเข้ามาคุกคามกองทัพ กองทัพไม่ได้มองว่าสถาบันของกองทัพจะสั่นคลอนอย่างเดียว แต่หมายถึงอธิปไตยแห่งรัฐหรือระเบียบการเมืองภายในประเทศด้วย ตรงนี้น่าสะพรึงกลัว เพราะไม่มีการแยกแยะมิติต่างๆ เหล่านี้ แล้วเอากองทัพเป็นจุดศูนย์กลางความมั่นคงของประเทศ
คำถามที่น่าสนใจคือ ชนชั้นนำทหารพม่ากลัวอะไร เขาจะเพ่งเล็งไปที่ 3 องค์ประกอบ คือ
- ประชาชนที่เป็นชนชาติพม่าแท้
- กลุ่มชาติพันธุ์
- การแทรกแซงจากต่างชาติ
เขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ 3 ส่วนนี้มาบรรจบกัน แล้วในอดีตที่ผ่านมา เคยมีเหตุการณ์หลายครั้งหลายคราวที่ทหารพม่าออกมาแสดงท่าทีต่อภัยคุกคามสิ่งเหล่านี้
หลังรัฐประหาร 1 ปี ทั้ง 3 องค์ประกอบมีพลังเพิ่มขึ้นในการคุกคามกองทัพพม่า ประชาชนมีทั้งเคลื่อนไหวแบบอหิงสาและติดอาวุธ ที่สำคัญคือแทนที่ประชาชนจะมองกองทัพเป็นองค์ประกอบสำคัญของประเทศ กลับมองกองทัพเป็นศัตรู เมื่อเห็นทหารพม่าก็เหมือนเห็นทหารต่างชาติเข้ามาหมู่บ้านชาวบ้าน
ทางแก้ของเสนาธิการทหารพม่าคือฟื้นกองทัพประชาชนขึ้นมา กองกำลังอาสาสมัครป้องกันประเทศในอดีตเคยเกิดช่วงสงครามกลางเมืองเพื่อช่วยทหารพม่า มีความน่ากลัวเพราะเข้าไปทำลายบ้านพักผู้ต้องสงสัยว่าต่อต้านเผด็จการทหาร ในเมื่อรัฐบาล NUG ประกาศให้ทำสงครามประชาชนล้มระบอบทหาร กองทัพก็กลัวเพราะแนวร่วมประชาชนขาดหายไป จึงฟื้นอาสาสมัครขึ้นมา มีการฝึกวิชาทหารบางห้วง ส่วนกลุ่มชาติพันธุ์ไม่เปิดแนวรบทั้งหมด ส่วนต่างชาติค่อนข้างให้กำลังใจรัฐบาล NUG
อนาคตถ้าทหารพม่าชนะ อาจจะเห็นเผด็จการทหารมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเล่นเกมการเลือกตั้ง ซึ่งพรรค NLD คงโดนยัดคดีต่างๆ เป็นการเลือกตั้งที่ฝ่ายทหารได้เปรียบ แก้ไขระบบเลือกตั้งที่ NLD ได้รับอานิสงส์ อาจจะออกมาเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ
หรือถ้าฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารชนะ ก็อาจจะได้เห็นการสถาปนาสหพันธรัฐประชาธิปไตย ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในพม่าและหลายประเทศในเอเชีย เพราะการต่อสู้ของ NUG กับแนวร่วม ชูธงเอา 2 พลังมารวมกัน ประชาชนพม่ากับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่คำถามคือถ้าฝ่ายนี้ชนะ รับประกันได้อย่างไรว่าจะไม่แตกคอเชิงแนวคิดการกุมอำนาจระหว่างคนพม่าแท้กับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีหลายเฉดสีแนวคิดทางการเมือง อาจจะเห็นได้ยาก แต่มีการปักธงการปฏิวัติสหพันธรัฐประชาธิปไตยในแผ่นดินพม่าแล้ว
ประเทศไทยต้องวางตัวให้ดี ไม่ตกเป็นเหยื่อและไม่ต้องเป็นเครื่องมือของใคร
เกียรติ สิทธีอมร รองประธานกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตนเอง และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เคยไปพบ ออง ซาน ซูจี ตอนถูกกักตัวในบ้านพัก ซึ่งรัฐบาลทหารไม่พอใจให้เข้าไปแต่ได้ไปพบ หลังจากนั้นมีพัฒนาการไปในทางที่ดี มีการเลือกตั้ง ครั้งนั้นได้พบ เต็งเส่ง ซึ่งต่อมาเป็นประธานาธิบดี
นวัตกรรมในรัฐธรรมนูญพม่าซึ่งไม่น่าชื่นชมคือ เขียนให้ยึดอำนาจได้ เป็นความพยายามเกลี่ยฐานอำนาจหาความพอดีเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง กลายเป็นจุดสร้างปัญหาในเวลาต่อมา และบรรทัดฐานใหม่ที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับประชาคมโลกคือเหตุผลในการยึดอำนาจเพราะแพ้เลือกตั้งไม่ใช่เกิดเฉพาะพม่า แต่หลายประเทศมีแนวโน้มวิ่งไปทางนั้น เป็นความเสื่อมถอยหลายพื้นที่หลายประเทศ ประชาคมโลกต้องให้ความสำคัญมากกว่าที่เห็นและไม่ควรยอมรับ นอกจากนั้นโทษในการดำเนินคดีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็หลุดโลกมาก สิทธิมนุษยชนได้มาตรฐานหรือไม่
มีข่าวว่าประเทศไทยผลักผู้ลี้ภัยออกไป ตอนนั้นรัฐสภา โดย ชวน หลีกภัย ทำหนังสือถึง ดอน ปรมัตถ์วินัย ว่าปล่อยให้ประชาชนเข้าใจแบบนั้นไม่ได้ เพราะไม่สอดคล้องกับแนวทางและเกียรติประวัติประเทศไทยที่มีมาโดยตลอดคือการดูแลผู้ลี้ภัย เราไม่ส่งใครกลับไปสู่อันตราย ต่อมากรรมาธิการต่างประเทศเรียกทุกฝ่ายมาคุยด้วย ออกแถลงการณ์ความรุนแรงต้องหยุด ไม่เกิดขึ้นไม่ว่าจากฝ่ายใด ประชาคมโลกต้องมีท่าทีและมาตรการเสริมไม่ใช่เพียงบอกให้อาเซียนไปคุย ส่วน NUG ได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ควรยอมรับทุกคน
สหรัฐอเมริกาอยากเห็นหลายประเทศเข้าไปมีบทบาท แต่ตัวเองไม่เข้าไปมีบทบาท ประเทศไทยต้องวางตัวให้ดี ไม่ตกเป็นเหยื่อและไม่ต้องเป็นเครื่องมือของใคร เคยมีกระทู้ถามในสภาเรื่องดอนเดินทางไปเยือน
ถ้าถามความเห็นส่วนตัวก็คิดว่าไม่ค่อยเหมาะ เพราะการไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่จำเป็นที่รองนายกฯ ต้องไปเอง แต่จะไม่ตัดสินเพราะไม่รู้ลึกๆ ว่าคุยอะไรกันบ้าง ต้องรอดูผลตอนต่อไปว่ามีเบื้องลึกเบื้องหลังคุยเรื่องอื่นหรือเปล่า ในอนาคตอาจจะเห็นหรือไม่เห็นผลลัพธ์ก็ได้
ปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาประชาคมโลก ต้องไม่ให้ทั้งโลกคิดว่าคือปัญหาของประเทศไทย เพราะเราอยู่ติดกับเขา เมื่อไรมีความไม่สงบ มีผู้ลี้ภัยเข้ามา เป็นปัญหาของประชาคมโลก ทุกคนต้องมีส่วน ถ้าไม่ส่งคนมา ไม่ส่งของมา ก็ต้องส่งเงินมา แต่ไม่ใช่บอกให้ประเทศไทยรับไปเต็มๆ เพราะอยู่ข้างบ้าน
ที่ประชุมระดับผู้นำทำอย่างไรจะดึงประชาคมโลกผ่าน UN มาช่วยรับภาระผู้ลี้ภัย ตอนนี้ยังอยู่ในไทยกว่า 3 พันคน
เราเคยโดนเบี้ยวกรณีเขมรแดง ทุกประเทศในโลกกดดันให้ไทยรับ แต่ไทยไม่ยอมเปิดประตูจนกว่าทุกประเทศยอมรับภาระร่วม ปรากฏเหตุการณ์ยื้อหลายวันจนประชาคมโลกยอมรับ เราเปิดประตูให้เข้า แต่เราโดนเบี้ยว หลังจากนั้น 10 กว่าปี หลายประเทศไม่รับภาระเป็นประเทศที่ 3 หรือไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่าย เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องเดินต่อไป
ทั่วโลกผิดหวังกับท่าทีของไทยในการแก้ไขปัญหาพม่าในคราวนี้
สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ผู้เชี่ยวชาญพม่า-อาเซียน กล่าวว่า มีการวิเคราะห์กันว่ากองทัพตั๊ดมาดอว์ล้มเหลวในการยึดอำนาจ เพราะ 1 ปีผ่านมายังมีคนต่อต้านการยึดอำนาจ แสดงว่าล้มเหลว ยังไม่สามารถหาคนรับรองรัฐบาลในเนปิดอว์อย่างเป็นทางการได้เลย จึงพยายามหาความชอบธรรมเพื่อที่จะอยู่ในอำนาจได้ต่อไป
ไม่ค่อยมีการยึดอำนาจในพม่าที่การต่อต้านลุกลามไปทั่วประเทศ ปัจจุบันกองทัพตั๊ดมาดอว์ถึงจะเข้มแข็งแต่สูญเสียการควบคุมพื้นที่จำนวนมาก เพราะมีการต่อต้านของประชาชน ทำให้มีพื้นที่ที่ตั๊ดมาดอว์เข้าไม่ถึง
แต่สถานการณ์ฝ่ายประชาชนและกลุ่มชาติพันธุ์ ต่อให้รวมเป็นเอกภาพได้ก็คงเอาชนะตั๊ดมาดอว์ไม่ได้ จึงต้องหาวิธีทางการทูต ซึ่งวิธีทางการทูตที่ใกล้ที่สุดคืออาเซียนและประเทศเพื่อนบ้าน แต่วิธีการทำงานของอาเซียนที่นำไปสู่ฉันทามติ 5 ข้อ ยังไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริงจัง มีเพียงการตีความว่าควรจะหมายถึงอะไร จึงอาจทำให้อาเซียนมีปัญหา
อาเซียนภายใต้การนำกัมพูชายังไม่มีเอกภาพเพียงพอ เพราะแต่ละประเทศในอาเซียนแสดงจุดยืนต่อปัญหาพม่าแตกต่างกันเป็นหลายเฉด ตั้งแต่ประเทศที่เอาจริงเอาจังอย่างอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในขณะที่ไทย, สปป.ลาว และกัมพูชา แสดงท่าทีได้น่าขายหน้า
ถึงเวลาที่ไทยจะต้องดำเนินการแล้ว เพราะทั่วโลกผิดหวังกับท่าทีของไทยในการแก้ไขปัญหาพม่าในคราวนี้ หากย้อนกลับไปหลังปี 1988 ไทยมีบทบาทแม้รัฐบาลมาจากการรัฐประหาร
จึงอยากเสนอไทยไปมีบทบาทสร้างแผนโรดแมปยุติความรุนแรง เคยมีไอเดียจะตั้งระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor) โดยให้สภากาชาดไทยออกหน้าหาความร่วมมือกับ UN เพราะคนในสภากาชาดไทยคืออดีตนักการทูตทั้งนั้นและรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว แต่โชคร้ายที่พวกเขาเข้าพื้นที่ไม่ได้ เพราะทหารในชายแดนบอกว่าอย่าเข้าพื้นที่ ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคและทำลายชื่อเสียงของไทย การช่วยเหลือมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก ถ้ามี Corridor จะช่วยได้ ไม่ต้องพูดเรื่องอุดมการณ์ประชาธิปไตยก็ได้
“อย่าคิดว่าเป็นภาระ ผมไม่ค่อยชอบเวลาคนไทยพูดว่าเป็นภาระ การที่บอกว่ามีผู้อพยพจากสามสิบกว่าปีที่แล้วประมาณ 9 หมื่นคน ความจริงถ้าเราเปลี่ยน Mindset ในการดูแลผู้อพยพ เราประเทศไทยรับแรงงานได้หลายล้านคน ประมาณ 3 ล้านคน แต่คน 9 หมื่น ไม่ใช่เราไม่มีปัญญาจัดการ เราสามารถเปลี่ยนคนที่เป็นผู้อพยพ รอความหวังลมๆ แล้งๆ ให้เป็นแรงงาน มีส่วนร่วมพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้ แค่เปลี่ยนความคิด ชีวิตก็เปลี่ยน” สุภลักษณ์กล่าว