จากเหตุความรุนแรงที่ปะทุขึ้นในรัฐยะไข่ (Rakhine) ของเมียนมาช่วงเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ชาวโรฮีนจาที่นับถือศาสนาอิสลามกว่า 655,000 คนต้องอพยพลี้ภัยไปยังบังกลาเทศ การไหลทะลักของชาวโรฮีนจาทำให้องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนต่างกังวลว่า พวกเขาจะถูกบีบบังคับให้ต้องเดินทางกลับประเทศ ในช่วงที่สถานการณ์ความรุนแรงยังไม่สงบและคลี่คลายลง
ล่าสุด รัฐบาลเมียนมาและบังกลาเทศได้เริ่มเจรจาเรื่องการส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาเดินทางกลับสู่รัฐยะไข่แล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2017 และบรรลุข้อตกลงเตรียมส่งชาวโรฮีนจากลับประเทศ สัปดาห์ละ 1,500 คน โดยตั้งเป้าส่งคืนทั้งหมดภายใน 2 ปี ซึ่งรัฐบาลทั้งสองประเทศจะหารือกันในรายละเอียดอีกครั้งในสัปดาห์นี้ที่กรุงเนย์ปิดอว์
ทางด้าน Sufiur Rahman ทูตบังกลาเทศประจำเมียนมาเผยว่า “เราเสนอให้มีการส่งกลับชาวโรฮีนจาสัปดาห์ละ 15,000 คนทุกๆ สัปดาห์ แต่ทางรัฐบาลเมียนมาไม่เห็นด้วย เพราะพวกเขาต้องการเวลาเตรียมการ โดยเห็นด้วยที่จะส่งชาวโรฮีนจากลับวันละ 300 คน หรือราว 1,500 คนต่อสัปดาห์” ซึ่งตัวเลขดังกล่าว อาจทำให้เป้าหมายในการส่งชาวโรฮีนจาทั้งหมดกลับเมียนมาภายในระยะเวลา 2 ปีเป็นไปได้ยาก
ในขณะที่องค์การด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรต่างแสดงความกังวลกับการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทางในครั้งนี้ เนื่องจากพวกเขาไม่เชื่อว่า ความรุนแรงและการแบ่งเชื้อชาติที่มีต่อชาวโรฮีนจาจะหายไปจากสังคมเมียนมา โดยพวกเขาหวังว่า ผู้อพยพที่ไม่อยากจะเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมจะไม่ถูกบีบบังคับให้ต้องเดินทางกลับประเทศเช่นกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องได้ที่
- thestandard.co/category/news/world
- กองทัพเมียนมายอมรับ มีส่วนพัวพันกับการสังหารหมู่ชาวโรฮีนจา อ้างเป็นกลุ่มก่อการร้าย
Photo: AFP
อ้างอิง: