×

กองทัพเมียนมาทุ่ม 60 ล้าน จ้างล็อบบี้ยิสต์แคนาดา-อิสราเอล อธิบาย ‘สถานการณ์จริง’ ของการรัฐประหารให้นานาชาติเข้าใจ

โดย THE STANDARD TEAM
11.03.2021
  • LOADING...
กองทัพเมียนมาทุ่ม 60 ล้าน จ้างล็อบบี้ยิสต์แคนาดา-อิสราเอล อธิบาย 'สถานการณ์จริง' ของการรัฐประหารให้นานาชาติเข้าใจ

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เปิดเผยเอกสารข้อตกลงที่แสดงให้เห็นว่ากองทัพเมียนมา ว่าจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ Dickens & Madson Canada ของ อารี เบน-เมนาเช นักธุรกิจชาวแคนาดาเชื้อสายอิสราเอล ให้ทำหน้าที่อธิบายสถานการณ์จริงของการรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมาแก่สหรัฐฯ และนานาชาติ

 

โดยบริษัท Dickens & Madson Canada ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองมอนทรีออลได้รับการว่าจ้างภายใต้ข้อตกลงการเป็นที่ปรึกษา ด้วยจำนวนเงิน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 61 ล้านบาท เพื่อเป็นตัวแทนรัฐบาลทหารเมียนมา ชี้แจงข้อเท็จจริงของการรัฐประหารให้แก่สหรัฐฯ, ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, อิสราเอล และรัสเซีย ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ

 

ซึ่งภายใต้ข้อตกลง ระบุว่า “ทางบริษัทจะช่วยวางแผนและดำเนินนโยบายเพื่อการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และจะช่วยอธิบายสถานการณ์แท้จริงที่เกิดขึ้นในเมียนมาด้วย”

 

ขณะที่ เบน เมนาเช เป็นผู้ส่งเอกสารข้อตกลงดังกล่าวให้กับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ (8 มีนาคม) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายจดทะเบียนบริษัทตัวแทนต่างชาติในสหรัฐฯ 

 

นอกจากนี้ ยังมีเอกสารฉบับอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่า Dickens & Madson Canada บรรลุข้อตกลงกับ พล.อ. เมีย ตุน อู รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมียนมา ซึ่ง พล.อ. เมีย ตุน อู นั้นอยู่ในบัญชีรายชื่อหนึ่งในนายพลกองทัพเมียนมาที่ถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ และรัฐบาลแคนาดาคว่ำบาตร ดังนั้นในเอกสารข้อตกลงจึงระบุว่า การจ่ายเงินว่าจ้างจะมีขึ้นเมื่อได้รับอนุญาตตามกฎหมาย

 

แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า การที่บริษัทของเบน เมนาเช ทำข้อตกลงให้บริการล็อบบี้ยิสต์แก่กองทัพเมียนมาโดยไม่ได้รับอนุญาตอาจเป็นการละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของทางการสหรัฐฯ 

 

ด้านสำนักข่าว Reuters เปิดเผยว่า พยายามติดต่อไปยังโฆษกรัฐบาลทหารเมียนมา เพื่อขอความเห็นในเรื่องการว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ 

 

ขณะที่ Reuters ยังรายงานคำสัมภาษณ์จากเบน เมนาเช ว่าเขาได้รับมอบหมายหน้าที่ให้โน้มน้าวสหรัฐฯ ว่านายพลของกองทัพเมียนมานั้นต้องการถอยห่างจากจีน และเข้าใกล้ชาติตะวันตกมากขึ้น และในขณะเดียวกันยังต้องการแก้ปัญหาชาวมุสลิมโรฮีนจาที่อพยพหนีตายข้ามชายแดน หลังถูกกองทัพเมียนมากวาดล้างในปี 2017 ซึ่งเหล่านายพลเมียนมาเผยว่า อยากให้ชาวโรฮีนจาได้กลับมาตั้งถิ่นฐานในเมียนมา

 

อย่างไรก็ตาม องค์กร Human Rights Watch ไม่เชื่อในข้อเสนอดังกล่าวจากเมียนมา และมองว่าบริษัทล็อบบี้ยิสต์จะไม่สามารถโน้มน้าวสหรัฐฯ ได้สำเร็จ


“เป็นไปไม่ได้อย่างยิ่งที่เขาจะโน้มน้าวให้สหรัฐฯ เข้าใจถึงเรื่องเล่าที่เขากำลังนำเสนอ” จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนเอเชียขององค์กร Human Rights Watch กล่าว

 

ภาพ: Aung Kyaw Htet / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X