×

กองทัพเมียนมายืนยันปกป้องรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางความกังวลเรื่องการยึดอำนาจ ชี้การตีความคำพูด ผบ.สูงสุด เรื่องยกเลิกรัฐธรรมนูญ ‘ไม่ถูกต้อง’

31.01.2021
  • LOADING...
กองทัพเมียนมายืนยันปกป้องรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางความกังวลเรื่องการยึดอำนาจ ชี้การตีความคำพูด ผบ.สูงสุด เรื่องยกเลิกรัฐธรรมนูญ ‘ไม่ถูกต้อง’

กองทัพเมียนมาระบุผ่านแถลงการณ์อย่างเป็นทางการในวันเสาร์ที่ผ่านมา (30 มกราคม) ว่าจะปกป้องและยึดถือรัฐธรรมนูญของประเทศ รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมาย ท่ามกลางความกังวลในประเทศว่ากองทัพอาจพยายามยึดอำนาจ แถลงการณ์ดังกล่าวยังระบุว่าข้อคิดเห็นของ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา เกี่ยวกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญนั้นถูกตีความอย่างไม่ถูกต้องโดยสื่อมวลชนและบางองค์กร

 

ขณะที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของ ออง ซาน ซูจี ซึ่งชนะการเลือกตั้งในเมียนมาเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาอย่างถล่มทลาย ระบุว่าแถลงการณ์นี้เป็น ‘คำอธิบายที่เหมาะสม’ โดยโฆษกของพรรคกล่าวกับสำนักข่าว Reuters ว่าทางพรรคต้องการให้กองทัพเป็นองค์กรที่ยอมรับความต้องการของประชาชนในเรื่องของการเลือกตั้ง

 

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพเมียนมากล่าวหาว่ามีความผิดปกติในการเลือกตั้งในครั้งนี้ มีเสียงเรียกร้องจากกองทัพให้สอบสวนเรื่องดังกล่าวและเปิดเผยรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และความตึงเครียดทางการเมืองก็เพิ่มขึ้นอีก เมื่อในระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โฆษกของกองทัพไม่ปฏิเสธความเป็นไปได้ของการยึดอำนาจเพื่อจัดการกับสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น ‘วิกฤตทางการเมือง’

 

และเพียงอีกวันถัดมาหลังท่าทีดังกล่าว พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก็กล่าวต่อหน้ากำลังพลว่าหากไม่มีการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญก็ควรถูกยกเลิก ตามด้วยในวันพฤหัสบดี คณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาของกองทัพเกี่ยวกับการโกงการเลือกตั้ง โดยยืนยันว่าไม่มีข้อผิดพลาดที่ใหญ่เพียงพอที่จะกระทบความน่าเชื่อถือของการเลือกตั้ง

 

นอกจากนี้สำนักข่าวอิรวดียังรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่าการประชุมระหว่างรัฐบาลและตัวแทนกองทัพเพื่อหาทางออกจากวิกฤตการเมืองในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาล้มเหลว โดยรัฐบาลปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องของกองทัพ ซึ่งรวมถึงการยุบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขอให้นับคะแนนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนใหม่ภายใต้ความช่วยเหลือของกองทัพ และเลื่อนการเปิดประชุมสภาในวันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ออกไป

 

ตามมาด้วยแถลงการณ์ร่วมจากสถานทูต 16 แห่ง ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ และผู้แทนจากสหภาพยุโรป ที่ขอให้เมียนมายึดมั่นในบรรทัดฐานแห่งประชาธิปไตย และแสดงท่าทีคัดค้านความพยายามใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งหรือขัดขวางการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยของเมียนมา ตลอดจนหวังว่าจะได้เห็นการเปิดประชุมสภาอย่างสันติในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ส่วน อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ก็ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดละเว้นจากการปลุกปั่นหรือยั่วยุในทุกรูปแบบ รวมถึงแสดงความเป็นผู้นำและยึดมั่นในบรรทัดฐานประชาธิปไตย ตลอดจนเคารพผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน

 

“ข้อพิพาทเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมดควรได้รับการแก้ไขผ่านกลไกทางกฎหมายที่กำหนดไว้” กูเตอร์เรสระบุ

 

และในวันเสาร์​ที่ผ่านมาก็เกิดการชุมนุมประท้วงในเมืองย่างกุ้ง โดยมีประชาชนกว่า 200 คนเดินขบวนเพื่อแสดงพลังสนับสนุนกองทัพและต่อต้านการแทรกแซงกิจการภายในจากต่างประเทศ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งด้วย

 

ภาพ: Sai Aung Main / AFP

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising