วานนี้ (6 กุมภาพันธ์) สำนักข่าว BBC รายงานว่ากองทัพเมียนมาได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ และจากข้อมูลของโครงการสังเกตการณ์อินเทอร์เน็ต NetBlocks Internet Observatory โดยองค์กรพัฒนาเอกชน พบว่าระดับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในเมียนมาเหลือเพียงร้อยละ 16 ของระดับปกติในช่วงบ่ายวันเสาร์ การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากที่กองทัพได้สั่งบล็อกการใช้งาน Twitter และ Instagram ในความพยายามหยุดยั้งการระดมคนเพื่อร่วมการชุมนุมต้านรัฐประหาร ซึ่งก่อนหน้านี้ Facebook ที่เป็นแหล่งข่าวสารและข้อมูลหลักของชาวเมียนมาก็ถูกบล็อกไปแล้ว ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง
หลังการบล็อก Facebook ปรากฏว่าผู้ใช้งาน Twitter และ Instagram จำนวนมากก็ได้ใช้แฮชแท็กเพื่อแสดงการต่อต้านการเข้ายึดอำนาจ และต่อมาในเวลา 22.00 น. ของวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น ทั้ง Twitter และ Instagram ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ใช้งานสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากได้หลบเลี่ยงการจำกัดการใช้โซเชียลมีเดียโดยอาศัยเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (VPN) แต่การตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเป็นการทั่วไปก็ทำให้ความพยายามเหล่านั้นถูกรบกวนอย่างรุนแรง
ส่วนหนึ่งในผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่าง Telenor ออกแถลงการณ์มีใจความตอนหนึ่งว่า ทางการได้สั่งให้ผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือทุกรายปิดการให้บริการด้านเครือข่ายข้อมูลเป็นการชั่วคราว แม้ว่าบริการเสียงและ SMS ยังคงให้บริการตามปกติ พร้อมบอกว่า Telenor Myanmar นั้นมีข้อผูกพันตามกฎหมายท้องถิ่นและให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพนักงานเป็นอันดับแรก และเสียใจอย่างสุดซึ้งกับผลกระทบที่เกิดกับชาวเมียนมาจากคำสั่งดังกล่าว
ขณะที่องค์กรภาคประชาสังคมได้เรียกร้องให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายมือถือคัดค้านคำสั่งตัดสัญญาณดังกล่าว และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ระบุว่าการตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตท่ามกลางการรัฐประหารที่ยังไม่แน่นอน ตลอดจนวิกฤตด้านมนุษยธรรมและการระบาดใหญ่นั้นเป็นการตัดสินใจที่ ‘เลวร้ายและขาดความยั้งคิด’ พร้อมเรียกร้องให้กองทัพเปิดการบริการโทรคมนาคมอีกครั้งโดยทันทีและหยุดการทำให้สิทธิของประชาชนตกอยู่ในอันตราย และเรียกร้องให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และผู้ให้บริการโทรคมนาคมในเมียนมาต้องขอคำชี้แจงอย่างเร่งด่วนจากทางการ
ทั้งนี้ กองทัพยังไม่แสดงความเห็นใดๆ ต่อกรณีดังกล่าว แต่สำนักข่าว AFP รายงานว่า พบเอกสารกระทรวงที่ไม่ได้รับการยืนยัน ซึ่งระบุว่าทั้ง Twitter และ Instagram ถูกใช้งานเพื่อ ‘ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ’
ด้านโฆษกของ Twitter กล่าวว่าคำสั่งแบนการใช้งานดังกล่าวนั้นบั่นทอน ‘การสนทนาสาธารณะ ตลอดจนสิทธิของผู้คนในการส่งเสียงของพวกเขา’ ขณะที่ Facebook ซึ่งเป็นเจ้าของ Instagram เรียกร้องให้ทางการคืนการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
ส่วนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติระบุผ่าน Twitter ว่า ตำรวจและทหารเมียนมาต้องทำให้มั่นใจว่าสิทธิในการรวมตัวอย่างสันติจะได้รับความเคารพอย่างเต็มที่ และผู้ประท้วงจะไม่ถูกตอบโต้ นอกจากนี้ บริการอินเทอร์เน็ตและการสื่อสารต้องถูกเรียกคืนมาอย่างสมบูรณ์ เพื่อให้แน่ใจว่ามีเสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูล
ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า ฌอน เทิร์นเนลล์ นักวิชาการชาวออสเตรเลีย ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของ ออง ซาน ซูจี ถูกควบคุมตัวในเมืองย่างกุ้ง โดยเขากล่าวกับ BBC ว่าเขาถูกกักบริเวณในโรงแรมและไม่ทราบว่าจะถูกตั้งข้อหาอะไร
อีกด้านหนึ่ง ผู้คนยังคงชุมนุมประท้วงบนท้องถนน โดยในเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงหลายพันคนที่มีทั้งพนักงานโรงงานและนักศึกษาต่างเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบุคคลทางการเมืองที่ถูกกองทัพควบคุมตัว อาทิ ออง ซาน ซูจี เป็นต้น พวกเขาเดินขบวนไปตามท้องถนนในเมืองย่างกุ้ง ซึ่งก็มีคนขับรถในเมืองที่บีบแตรแสดงการสนับสนุนและร่วมชูสัญลักษณ์สามนิ้ว ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อต้านอำนาจเผด็จการในภูมิภาค ขณะที่มีกำลังตำรวจปราบจราจลพร้อมโล่ปิดถนนที่เข้าสู่ใจกลางเมืองย่างกุ้ง
ผู้ประท้วงยังมอบดอกไม้และขวดน้ำดื่มให้แก่ตำรวจ และเรียกร้องให้ตำรวจสนับสนุนประชาชนแทนที่จะสนับสนุนการปกครองโดยกองทัพ รวมถึงตะโกนถ้อยคำที่ขอให้เผด็จการทหารล้มเหลว และประชาธิปไตยได้รับชัยชนะ ทั้งนี้ ยังไม่มีรายงานความรุนแรงหลังการประท้วงดังกล่าว
“เรามาที่นี่เพื่อต่อสู้เพื่อคนรุ่นต่อไป เพื่อปลดปล่อยพวกเขาจากเผด็จการทหาร” ผู้ชุมนุมหญิงรายหนึ่งกล่าวกับสำนักข่าว AFP “เราต้องยุติมันลงเดี๋ยวนี้”
Reuters รายงานว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่แยกย้ายกันไปในช่วงเย็น แต่ก็ยังมีการเคาะหม้อ กระทะ และตีกลองเกิดขึ้นในยามค่ำคืนด้วย ส่วนที่เมืองมัณฑะเลย์และเนปิดอว์ก็มีผู้ชุมนุมหลายพันคนตะโกนคำขวัญต่อต้านการรัฐประหารและเรียกร้องให้ปล่อยตัวซูจีเช่นกัน และ BBC รายงานว่ามีการวางกำลังทหารในเมืองเนปิดอว์ ซึ่งก็ยังคงหลีกเลี่ยงการปะทะกับผู้ชุมนุมจนถึงขณะนี้
ภาพ: Varuth Pongsapipatt / SOPA Images / LightRocket via Getty Images
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/news/world-asia-55960284
- https://www.reuters.com/article/us-myanmar-politics/tens-of-thousands-protest-myanmar-coup-despite-internet-ban-idUSKBN2A52DE
- https://news.un.org/en/story/2021/02/1084052
- https://www.amnesty.org/en/latest/news/2021/02/myanmar-new-internet-blackout/
- https://www.telenor.com/media/press-release/myanmar-authorities-orders-nationwide-shutdown-of-the-data-network