×

เปิดใจผู้กำกับเอ็มวี ‘ประเทศกูมี’ ครบ 1 ปี ทำไมเพลงแรปนี้ถึงเขย่าสังคมไทย?

15.10.2019
  • LOADING...
ประเทศกูมี

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • 1 ปีผ่านไป เปีย-ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับเอ็มวี ประเทศกูมี ได้เห็นอีกหลายเหตุการณ์ที่สะท้อนว่า จารีตใหม่กำลังปะทะกับจารีตเก่า ภาพวาดพระพุทธรูปอุลตร้าแมนคือหนึ่งในตัวอย่าง

ประเทศกูมี เป็นปรากฏการณ์ของวงการเพลงที่มีอิทธิพลทางความคิดและถูกพูดในพื้นที่โซเชียลมีเดียอย่างมหาศาลในสังคมไทย

 

ทรงพลังถึงขั้นมีคนกล่าวว่า แนวเพลงนี้ได้เข้ามาเขย่าและมีอิทธิพลเข้ามาแทนที่เพลงเพื่อชีวิตในยุคปัจจุบัน 

 

เพราะที่ผ่านมาหลายทศวรรษ เมื่อคนนึกถึงปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบของอำนาจนิยม การกดทับ ความอยุติธรรม ต้องนึกถึงบทเพลงแนวเพื่อชีวิตมาเป็นลำดับแรกโดยตลอด

 

เปีย-ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ผู้กำกับเอ็มวีเพลง ประเทศกูมี ก็ยังเชื่อว่า พื้นที่ศิลปวัฒนธรรมที่จะเล่า หรือการตั้งคำถามกับปัญหาเหล่านี้ ยังรอคอยให้กลุ่มศิลปิน คนทำงานสื่อสาร ไปทำให้เกิดความแมสมากขึ้นอยู่เสมอ

 

ประเทศกูมี นอกจากการถ่ายทอดภาพจำในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่รัฐอยากให้ลืมแต่คนกลับจำ นั่นคือเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 แล้ว ก็ยังเป็นเอ็มวีที่พูดถึงเหตุการณ์ร่วมสมัยในยุคปัจจุบันไปพร้อมกันหลายเรื่อง ตั้งแต่เสือดำ นาฬิกายืมเพื่อน ฯลฯ

 

เรื่องราวที่เหมือนเป็นหลุมดำต่างๆ ถูกถ่ายทอดผ่านเนื้อหาของเพลง กระทั่งเวลาผ่านมา 1 ปี เหตุการณ์หลายอย่างดูเหมือนจะคลี่คลาย แต่ก็ยังไม่คลี่คลาย บางเรื่องดูเหมือนปัญหาจะมีแนวโน้มหนักขึ้นกว่าเดิม 

 

THE STANDARD มีนัดสนทนากับผู้กับกำเอ็มวี เปีย-ธีระวัฒน์ รุจินธรรม ในโอกาสที่บทเพลงนี้ได้ขับขานในสังคมไทย และมีอิมแพ็กต่อการกระตุกเตือนทุกองคาพยพให้หันมามองประเทศตัวเอง ด้วยท่วงทำนองแรปที่ตรงไปตรงมา

 

และเกิดขึ้นในโอกาสอันน่าติดตามผลไปพร้อมกันด้วย เนื่องจากเพลง ประเทศกูมี กำลังจะครบรอบ 1 ปี ในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ 

 

ณ เวลาที่ผู้เขียนกำลังถ่ายทอดบทสนทนา ยอดวิวของเอ็มวีพุ่งประสานไปกว่า 72 ล้านวิวแล้ว

มันไม่ใช่ขัดแย้งเรื่องสีเสื้ออย่างเดียว มีจารีตบางอย่างที่กำลังจะเปลี่ยน จารีตใหม่ก็กำลังจะมา

ประเทศกูมี

 

1 ปี จากความตั้งใจ มาถึงวันนี้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงหรือยังมีอะไรที่คิดว่าแทบจะไม่ต่างไปจากเนื้อหาเพลงเลยหรือเปล่า

มันมีแน่นอน มีอยู่ครบ นับวันจะยิ่งหนักกว่าเดิมด้วย ผมไม่ได้มองเพลง ประเทศกูมี เป็นอะไรที่อยู่โดดๆ นะ แล้วก็ไม่ได้มองว่ามันจะต้องอยู่ยาวนานมาก เพียงแต่ว่าวันนี้ 1 ปีผ่านไปแล้ว มันได้มีการสรุปอะไรบางอย่าง หรือตัวอย่างเช่น ผมถามตัวเองว่า ความรู้สึกตอนที่ถ่ายเอ็มวีครั้งแรก ตอนที่ปล่อยออกไปในสื่อ ตอนนั้นมีความคาดหวังอย่างไร 

 

สำหรับเพลงนี้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เราก็รู้กันอยู่ว่า มันถูกพูดถึงกว้างขวางนะ ก็ไปแตะอะไรบางอย่าง มีกระแสตอบรับที่ดีมันเป็นเพราะอะไร อันนี้เราถามตัวเองว่า เราคิด เราต้องการให้มันเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า 

 

ตอนนั้นที่เราทำ เราคิดว่า มันต้องถูกพูดถึงแน่นอน เพราะเราไม่ได้ทำแบบนี้ครั้งแรก ประสบการณ์เรา เราซ้อมมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร โดยมีกลุ่มอย่างพลเมืองโต้กลับ ที่ทำคลิปอะไรออกไป มันเหมือนนักมวยฟุตเวิร์ก ได้ลองกระแสว่ามันสัมผัสกับคนหรือเปล่า 

 

ที่ชัดเจนก็คือ ต่อต้านรัฐประหาร อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนก็คือจังหวะที่ถูกต้องด้วย ถ้าออกมาจังหวะก่อนหรือหลังจากนั้น คือเราทำสื่ออินเทอร์เน็ต เรื่องไทม์มิ่งนี้สำคัญ อันนี้เป็นปัจจัยซึ่งเราไม่สามารถควบคุมได้

 

หลังจากนั้นผมคิดอย่างไร คือตามประสาคนที่บอกชัดเจนว่า ไม่ชอบระบบอำนาจนิยมและอยากได้ประชาธิปไตยที่คนเท่ากัน ทำให้เราไปคิดว่า ที่เราทำงานอยู่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของศิลปวัฒนธรรมใช่ไหม 

 

ประเทศกูมี

 

คือ 1 ปีที่ผ่านมา ทุกอย่างเหมือนเดิม แต่ระบบเดิมนี้กำลังจะพัง ทีนี้ถ้ามองจากอีกฝั่งหนึ่ง เขาอาจจะคิดว่า เขายังอยู่ดีก็ได้ ไม่มีปัญหาอะไร

 

แต่แนวโน้มอันหนึ่งมองจากมุมของเรา ระบบแบบนี้อยู่ต่อไปไม่ได้หรอก นับวันมันทำลายตัวเอง อย่าให้เราพูดเลย เราเห็นกันอยู่ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ระบบที่เรามองว่ามันกำลังจะพังมันคงไม่พังในเร็ววัน แต่ทุกอย่างมันเริ่มไม่ฟังก์ชัน อันที่หนึ่งที่เราสังเกตคือ ความขัดแย้งทางการเมือง มันไม่ใช่เรื่องของสีเสื้อ แดง เหลือง หรือพันธมิตรฯ หรือ กปปส. หรือสลิ่ม อะไรนะ แต่มันมีมากกว่านั้น เป็นความขัดแย้งในอุดมการณ์บางอย่างของโลกที่มันเปลี่ยนไป เห็นได้ชัดในปีหนึ่งที่ผ่านมาก็คือ มันเริ่มแทรกไปอยู่ในพื้นที่ทางสังคมที่เป็นศิลปวัฒนธรรม อย่างที่เห็นล่าสุดเรื่องเด็กที่วาดรูปพระพุทธรูปอุลตร้าแมน มันเริ่มมีความขัดแย้งเรื่องนี้

 

“มันไม่ใช่ขัดแย้งเรื่องสีเสื้ออย่างเดียว มีจารีตบางอย่างที่กำลังจะเปลี่ยน จารีตใหม่ก็กำลังจะมา”

 

สมัยก่อนไม่เห็นหรือไม่ปรากฏชัดหรอก หรือคือมันไม่ได้เป็นที่พูดถึง ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็คงไม่ผ่านตั้งแต่ชั้นอาจารย์ก่อนแล้ว ในกรณีภาพวาด เราก็เดาว่า ปีถัดๆ ไป ลักษณะตรงนี้คงจะมากขึ้น และสำแดงบนพื้นที่สังคมต่างๆ มันก็มีบทสรุปอะไรบางอย่างว่า อะไรเป็นโจทย์หลักของคนที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมตรงนี้ ก็คืองานของคุณจะออกไปในรูปแบบไหน กลุ่มเป้าหมายที่คุณต้องการจะสื่อสารคือใคร ตรงนี้คือประเด็นที่ต้องพูด

มันก็ควรจะกลัวใช่ไหม แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นสำนึกพื้นฐานของคนที่ทำงานทางนี้หรือเปล่า ที่คุณควรขจัดความกลัวออกไป แล้วก็เรียกร้องคนที่ทำงานด้านศิลปะให้ออกมา

ประเทศกูมี

 

มีการโต้กลับจากฝ่ายรัฐเช่นกัน อย่างที่เคยมีการออกเอ็มวี ‘ไทยแลนด์ 4.0’ มองว่าการต่อสู้ทางความคิดแบบนี้เป็นอย่างไร

คาดหวังว่า คงต้องมีคนพูดถึง อย่างการนำเสนอภาพ 6 ตุลา หรือกระทั่งเนื้อเพลงที่คล้ายๆ พูดสิ่งที่คนรู้สึกในใจอยู่แล้ว แต่ไม่กล้าพูดออกไป โดยเฉพาะต่อรัฐบาล คสช. ในตอนนั้น ซึ่งมีอำนาจที่จะทำอะไรก็ได้ คิดว่าคงต้องถูกพูดถึง แต่ไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ อย่างเรื่อง 6 ตุลา เราก็รู้ว่ามันเป็นอาชญากรรมโดยรัฐที่รัฐไม่อยากให้พูดถึง เราก็คิดว่า มีคนหลายคนคงรู้สึกกระอักกระอ่วนกับเหตุการณ์นี้ นี่คือจุดมุ่งหมายที่เรานำมาใส่

 

ในสภาวะ 5 ปีที่ผ่านมา มันมีคำว่า ‘กลัว’ เกิดขึ้น แล้วเอ็มวีนี้มีความกลัวไหม

มันก็กลัวทุกคน แต่เราจะไปแตะเส้นความกลัวได้ถึงขนาดไหน ตอนที่เราทำ ประเทศกูมี ความรู้สึกมันก็ปริ่มๆ แล้ว ความรู้สึกกลัวมันน้อยลงมาก จนกระทั่งแบบว่า อะไรเกิดขึ้นก็ได้ เราต้องยอมรับว่า ในประวัติศาสตร์เราพูดกันตรงๆ

 

ตอนนี้เป็นการสู้กันระหว่างกลุ่มจารีตเก่าที่เขาเคยมีอำนาจมาร้อยกว่าปีแล้ว ตอนนี้พัฒนาการมาเป็นอะไรก็แล้วแต่ เขามีรากฐานความเป็นมา และเขาเป็นบ่อกำเนิดของวัฒนธรรมที่เราภูมิใจหลายๆ อย่าง เขาเป็นคนสร้างหรือเขามีประวัติศาสตร์ฉบับทางการที่เขาสร้างมา เราก็เรียนมาช่วงสงครามเย็น ก็เข้าใจพวกนี้ใช่ไหม ก่อนที่จะมาเลิกเชื่อตอนหลัง

เรามองข้ามพื้นที่อย่างพวกละครที่มีคนใช้ มีฉากที่พระเอกยังสามารถข่มขืนนางเอกได้ ผมว่าพวกนี้เราต้องสู้ลงไปในพื้นที่เหล่านี้

ประเทศกูมี

 

มันเป็นของเก่าที่กำลังจะเสื่อม แต่ก็มีอำนาจอยู่ กลุ่มจารีตเก่านี้สู้กับของใหม่ที่กำลังจะขึ้นมา ถามว่า ในภาวะของการต่อสู้ตรงนี้เรากลัวไหม เขามีอำนาจรัฐ มีกลไกมากมายที่จะเล่นงานเราได้

 

มันก็ควรจะกลัวใช่ไหม แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นสำนึกพื้นฐานของคนที่ทำงานทางนี้หรือเปล่า ที่คุณควรขจัดความกลัวออกไป แล้วก็เรียกร้องคนที่ทำงานด้านศิลปะให้ออกมา คือประเทศนี้คนที่ทำงานศิลปะมันกลัวเยอะ ก็ไม่ได้ทำงานออกมาอย่างที่ควรจะเป็น บางคนก็อาศัยวิธีการทางศิลปะกลบโน่นนี่เสียจนมองไม่ออกก็มี

 

เราทำงานตรงนี้ไม่ใช่ถือว่าศิลปินนำหน้าเป็นอันดับหนึ่ง แต่เป็นนักสื่อสาร เราอยากสื่อสารกับคนมากกว่านี้ ต้องยอมรับว่า สังคมเรามันเป็นอย่างไร ฝั่งหนึ่งก็ปลูกฝังความคิดความเชื่อผ่านละคร หนัง ประวัติศาสตร์ฉบับทางการ เขาปูกันมานานจนคนเข้าใจเป็นคอมมอนเซนส์ว่า ถ้าพูดถึงอันนี้มันต้องออกมาเป็นอย่างนี้ ซึ่งเราสู้กับสิ่งที่มันกำลังจะไปไม่ได้ในโลกยุคปัจจุบัน

 

ประเทศกูมี

 

แสดงว่าก็มีศิลปินที่พร้อมจะใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือของฝ่ายเขาเหมือนกัน แล้วศิลปะมันทำงานอย่างไรสำหรับความเชื่อคนละขั้ว

เรามองจากฝั่งนี้ว่า เราไม่อยากให้สังคมไทยถูกแช่แข็งไว้อย่างนี้ เราไม่พอใจการปฏิวัติ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหารที่จะดึงประเทศไทยไปสู่ระบบอำนาจนิยมแบบ 50 ปี ก่อน เราไม่คิดว่าควรเป็นแบบนี้ ปัญหาของฝั่งนี้ก็คือ หนึ่ง กลัว ทุกคนมีสิทธิ์กลัว แต่ถ้าทิ้งไปบ้างก็จะดี อันที่สองคือ วิธีการเสนอชิ้นงาน เรามีความรู้สึกว่า วันก่อนๆ เราฟังน้องผู้กำกับคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า หนังการเมืองประเทศไทยเกิดขึ้นไม่ได้หรอก ไม่มีคนดูหนังการเมือง เรามีความรู้สึกขัดแย้งอยู่ว่า ถ้าจริงๆ คุณมีวิธีการฉลาดในการนำเสนอแล้ว มันก็เป็นหนังการเมืองได้หมด เราเปิดพื้นที่

 

เรามองข้ามพื้นที่อย่างพวกละครที่มีคนใช้ มีฉากที่พระเอกยังสามารถข่มขืนนางเอกได้ ผมว่าพวกนี้เราต้องสู้ลงไปในพื้นที่เหล่านี้ ฝั่งโน้นเขาใช้พื้นที่ศิลปะบันเทิงกล่อมเกลาให้คิดแบบนั้น คนอยู่ดีๆ มันไม่เชื่อขึ้นมาหรอก มันต้องมีอะไร In Put เข้าไป

 

อะไรที่เราคิดว่ามันไม่ดีแน่ๆ ความคิดว่าคนไม่เท่ากัน มันมาถึงทุกวันนี้ได้อย่างไร มันมีการผลิตซ้ำ เราก็คิดว่า เราต้องรุกเข้าไปในพื้นที่นี้บ้าง และต้องทำให้มันแมส มันป๊อปขึ้นมา ไม่ใช่เป็นศิลปะที่ก้าวหน้าแล้วดูไม่รู้เรื่อง

 

ทำไมเลือกนำเสนอเนื้อหาด้วยแนวเพลงแรป

ผมรู้สึกว่า พื้นฐานของแรปมันพูดเรื่องอย่างนี้ได้ มันคือการระเบิดความไม่พอใจออกมา 1 ปีที่ผ่านมา เราสรุปอะไร เราอยากเน้นงานระยะยาวมากขึ้น อย่างหนัง ผมก็ 2475 ช่วงนี้คนมาถึงยุคที่บ้านเมืองมันวุ่นวายคนก็ย้อนไปศึกษา 2475 คนตั้งคำถามว่า ชุดความเชื่อที่บอกมันใช่หรือเปล่า เราอยากมีหนัง มีละคร อย่าง 2475 ทำให้สนุก หนังสักเรื่องหนึ่ง เรื่องราวประวัติศาสตร์การเมืองไทยมีเรื่องสนุกๆ เยอะที่คุณจะเสนอความเชื่อในนั้นได้

 

ประเทศกูมี

 

มันมีวาทกรรม ความพยายามทำให้คนเห็นว่า คนที่ไม่ได้ทำอะไรตามกระแสหลักอย่างที่รัฐทำ เป็นพวกชังชาติ พยายามประจานประเทศตัวเอง ไม่รักชาติ จะอธิบายอย่างไร

เขามองชาติไม่เหมือนกับเรา คุณไม่มีสิทธิ์บอกว่าเราไม่รักชาติ แต่ชาติในมุมมองของคุณเป็นอย่างไร ชาติในมุมมองของคุณก็คือประวัติศาสตร์ที่คุณถูกฝังหัวมา ซึ่งตอนนี้มันสามารถถูกงัดค้านถกเถียงได้ หักล้างด้วยข้อมูลได้ ถ้าหากคุณไม่เปิดตาที่จะเรียนรู้เอง เราก็รักชาติของเรา 

 

ผมยกตัวอย่างเรื่องของการชังชาติที่เราคิดมา 1 ปีหลัง เรารู้สึกว่า ถ้าประเทศนี้มันไม่เปลี่ยนแปลงในระยะยาว มันไม่มีอะไรเปลี่ยนในระยะเวลาสั้นๆ หรอก  ในระยะยาว พื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมมันน่าสนใจตรงที่ว่า เป็นพื้นที่ที่เราลงไปต่อสู้ได้ แต่ไม่ใช่ต่อสู้ด้วยการด่าอย่างเดียว ต่อสู้ได้ด้วยรูปแบบเยอะแยะ เพลง ละคร ภาพยนตร์ก็มีหลายแบบ เราทำสารคดีได้เยอะมากมาย เป็นงานที่รอพวกกลุ่มศิลปิน คนทำงานสื่อสาร รอคนเหล่านี้ไปทำ

เพลงนี้ผมว่ามันเป็นชัยชนะบางอย่างให้กับฟากประชาชนทุกคนที่เอาใจช่วย แต่มันไม่จบแค่นี้หรอก มันต้องมียาวมากกว่านี้

ประเทศกูมี

 

มีอะไรที่บอกเป็นรูปธรรมได้ไหมว่า งานที่เราทำมีฟีดแบ็กเกิดขึ้นกับคนอีกฝั่งหนึ่งที่เราก็อยากให้เขาเข้าใจ

คงไม่ถึงขนาดนั้น ผมว่าคนมีความรู้สึกเดียวกันก็คือ ความรู้สึกไม่พอใจต่อรัฐบาล คสช. อุณหภูมิมันขึ้นมา ไม่ว่าจะขวาหรือซ้าย เอาว่าคนที่รักลุงตู่ก็รับกับพฤติกรรมบางอันไม่ได้เหมือนกัน หรือสลิ่มบางคน อย่างเรื่องนาฬิกา 

 

ไม่ว่าคุณเป็นอะไร ถ้าคุณรู้ดีรู้ชั่วพอ คุณก็น่าจะรู้สึกได้ แล้วคนแต่งเขาก็ถกเถียงกันมา ว่า ไอ้ประเด็นที่เขาเลือกมานำเสนอ มันควรเป็นประเด็นแบบไหนดี เรื่องนาฬิกา เรื่องเสือดำ มาจากยุทธศาสตร์การคิดของเขาแล้วว่า มันมีคนทั้งสองฝ่ายที่มีความรู้สึกไปในทางเดียวกัน ผมฟังคนแต่งเขาคุยกันนะ เอาสัก 10 ประเด็น มาเรียงกัน มันมีช่วงไหนเรื่องไหนที่น่าจะแรป เขาก็เลือกเรื่องโดยมีวิธีคิดแบบนี้

 

ประเทศกูมี

 

คิดว่า ประเทศกูมีเขย่าอะไรมากที่สุดในสังคมไทย

เราเป็นเด็กที่เห็นอิทธิพลของเพลงเพื่อชีวิตเมื่อก่อน อย่างช่วง 14 ตุลา 2516 จนถึง 6 ตุลา 2519 มีเพลงศิลปะเพื่อชีวิตเกิดขึ้นมากมาย ลากยาวไปถึงหลังจากนั้น 

 

พอพูดถึงการต่อสู้เรื่องความไม่เป็นธรรม ทุกคนต้องนึกถึงแล้ว พี่แอ๊ด พี่หงา แต่มันเหมือนหมดอายุไปแล้ว มันไม่มีมนต์ขลังอีกต่อไป รวมถึงตัวคนครีเอตด้วย 

 

เราคลุกคลีอยู่ในม็อบ ปิดท้ายม็อบก็ต้องเพลง แสงดาวแห่งศรัทธา ทุกครั้ง เราก็เห็นภาพแบบนี้มา 4-5 ปี 

 

แต่ ประเทศกูมี มันเห็นถึงหน่อกำเนิดของสำเนียงใหม่ของศิลปะทางด้านนี้ เป็นเพลงที่ทุกคนฟังแล้วคิดกับมัน ถ้าเราจะนิยามมันก็ปิดฉากเพลงเพื่อชีวิตแบบเก่าที่จะถูกเอามาใช้ทางการเมือง มันเปิดฉากหน่ออ่อนของงานศิลปวัฒนธรรม โดยเฉพาะเพลง  

 

ผมรู้สึกว่า ความทุกข์ระทมของการอยู่ภายใต้ระบอบรัฐประหาร ไม่ว่าทำอะไรก็โดนเล่นตลอด อย่างที่กลุ่มอยากเลือกตั้งโดน เพลงนี้ผมว่ามันเป็นชัยชนะบางอย่างให้กับฟากประชาชนทุกคนที่เอาใจช่วย แต่มันไม่จบแค่นี้หรอก มันต้องมียาวมากกว่านี้

 

ประเทศกูมี

 

ปัญหาต่างๆ ที่ถูกพูดถึงในประเทศกูมี ตอนนี้เป็นอย่างไรในสายตาของผู้กำกับ

ปัญหาที่ซุกใต้พรมก็โดนเปิดขึ้นมา ไม่ได้หมดไป เรามีนายกฯ หลังเลือกตั้ง แต่ก็เห็นนายกฯ ไม่ได้แคร์รัฐธรรมนูญ เราเห็นอะไรบางอย่าง แต่ก็ไม่สามารถพูดได้ ที่กำลังคืบคลานโตขึ้นมา และมันจะมีขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ เราได้เห็นบรรยากาศความกลัวเกิดขึ้น และความเป็นกังวลอยู่ลึกๆ ว่ามันจะลงเอยตรงไหน

 

ยังจะมีคนที่ลุกขึ้นมาทำอย่างที่ประเทศกูมีทำอีกไหม

ผมรู้จักทีมงานถ่ายหนังที่ไม่ได้คุยอะไรกันมาก แต่พอเอ็มวีนี้ออกไป บางคนก็มาคุยกับผมว่า คิดอย่างนี้ด้วยเหรอ ผมก็เห็นว่า คนมันเริ่มกล้าจะพูดสิ่งที่ตัวเองคิดมากขึ้น ผู้กำกับบางคนก็เริ่มสนใจเรื่องของสังคม การเมือง 

 

เราไม่อยากเรียกร้องให้คนสนใจการเมืองหรอก แต่หมายถึงว่า ประเทศวันนี้มันไม่อยู่ในสภาพปกตินะ ไม่ว่าคุณจะโลกสวยอย่างไรก็แล้วแต่ บางทีคุณก็ต้องตั้งคำถามบ้าง เราเริ่มเห็นคนพวกนี้เยอะขึ้นรอบตัวเรา

สังคมมันไม่ได้แช่แข็งอยู่อย่างนี้หรอก มันต้องเคลื่อนไป เพียงแต่เราต้องสู้ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าที่ทุกคนคิด อาจเลยช่วงเวลาเราไปแล้ว

ประเทศกูมี

 

แต่ในวงการบันเทิง คนที่ยืนอยู่ฝั่งนี้งานหายงานหด เมื่อเทียบกับอีกฝั่ง มันมีต้นทุนต้องจ่าย 

ผมว่าไม่หรอก ในวงการบันเทิงเองมันเกี่ยวกับคอนเน็กชัน เป็นเรื่องของความคิดที่จะต้องรับใช้อำนาจรัฐ เป็นคาแรกเตอร์ เหมือนอย่างหนังไทยยุคระเบิดภูเขา เผากระท่อม เป็นหนังต่อต้านคอมมิวนิสต์ รับใช้อำนาจรัฐ แล้วปูชนียบุคคลหนังไทยเกือบทุกคนจะเป็นขวา แต่ผมว่า มันเริ่มเปลี่ยนนะ เราจะเห็นบางคนที่ออกมาให้ความเห็นแล้วก็กระทบกับหนังเรื่องที่แสดงเลย ถ้าเป็นเมื่อก่อน อาจได้รับการยกย่องเชิดชูมาก จำปีของ กปปส. ได้ไหม ที่ออกมาดูถูกคนต่างจังหวัด ถ้าพูดช่วงนั้นไม่ได้ถูกตั้งคำถามเท่าช่วงนี้นะ วันนี้เราจะเห็นว่า ก็มีคนอีกกลุ่มที่ตั้งคำถามว่า ที่พูดมาใช่แล้วหรือ ผมเห็นว่าดุลอำนาจบางอย่างไม่เปลี่ยนในทันที แต่ก็เปลี่ยนในแนวโน้มที่ดีขึ้น

 

ประเทศกูมี

 

ทำไมถึงมีการใช้ศิลปินวงการบันเทิงให้สนองความคิดความเชื่อทางการเมือง

คือคนที่อยู่ในวงการบันเทิงมีแนวโน้มในทางสนับสนุนรัฐอยู่แล้ว เป็นส่วนหัวของวัฒนธรรมแบบไทย ละครเป็นที่สุดเลย ของความคิดที่บอกว่า คนไม่เท่ากัน ทัศนคติบางอย่างที่ค่อนข้างล้าหลังส่วนมากอยู่ในละครหมดเลย แล้วดาราพวกนี้ต้องเล่นบทแบบนี้ทุกวัน หรือกระทั่งอาจมาตั้งแต่คนเขียนบท ผู้จัดละคร โปรดิวเซอร์แล้ว ว่าต้องเป็นแบบนี้ ทรัพยากรทั้งหลายก็วนเวียนกัน

 

นักเขียนนวนิยายยอดนิยมเมื่อก่อนก็ความคิดขวา มันก็ถูกรีเมกซ้ำซากอยู่อย่างนี้ วัฒนธรรมจารีตเดิมมันประสบความสำเร็จมากในแง่ที่ว่า สามารถกล่อมคนให้คิดได้อยู่หมัด ฝ่ายเราถ้าจะขยับอะไรบางอย่าง เราไม่คิดว่าฟังก์ชันของ Soft Culture เหล่านี้มันทำงานอย่างไร แล้วเราจะแทรกมันอย่างไร บางทีเราอาจต้องเดินสูตรเดียวกับเขา แล้วใส่ Code ความคิดอีกแบบไป

 

อย่างคนเสื้อแดงที่มีสำนึกความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับตัว ความเหลื่อมล้ำ หรือแม้กระทั่งที่โดนไล่ยิง ก็ต้องกลับไปดูพวกสื่อละครแบบนั้น ซึ่งเราจะพูดกันว่า เรตติ้งต่างจังหวัดมันดีกว่า ทำไมเราไม่แทรกหรือไปเหลียวมองงานรสนิยมชาวบ้าน ไม่ไปพยายามทำกับมัน มันขาดพื้นที่ แทนที่เราจะทำงานให้ฟิล์มเฟสติวัลหรือนิทรรศการศิลปะที่เบอร์ลินดู ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า ถ้าต้องทำงานขายพวกนี้ การทำงานที่จะเชื่อมถึงคนในประเทศคุณมันจะลดลงนะ โดยเฉพาะชาวบ้าน

 

ประเทศกูมี

 

คำถามสุดท้าย เรามีโอกาสที่จะเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่จะออกไปจากประเทศกูมีได้ไหม

เชื่อว่ามี สังคมมันไม่ได้แช่แข็งอยู่อย่างนี้หรอก มันต้องเคลื่อนไป เพียงแต่เราต้องสู้ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าที่ทุกคนคิด อาจเลยช่วงเวลาเราไปแล้ว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising