บอสฉันขยันเชือด คือผลงานเรื่องแรกจากค่าย TAI MAJOR ที่ก่อตั้งโดยสองพี่น้อง วิสูตร และวิชา พูลวรลักษณ์ ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการภาพยนตร์ไทยมาอย่างยาวนาน โดยมีวิสูตรที่ครั้งหนึ่งเคยร่วมสร้างและเป็นผู้บริหารค่าย GTH จนประสบความสำเร็จ มาดูแลการผลิตในฐานะโปรดิวเซอร์ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ยังได้ ศรณ์พัฒน์ ปราการะนันท์ และภูวนิตย์ ผลดี หนึ่งในผู้กำกับจาก โอเวอร์ไซส์ ทลายพุง (2560) ภายใต้ค่ายเก่าของวิสูตรอย่าง T Moment มารับหน้าที่กำกับในครั้งนี้ (โดยค่าย T Moment ของวิสูตรได้ปิดตัวลงอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2562 เนื่องจากผลประกอบการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย)
บอกเล่าเรื่องราวของ เมษา (มุกดา นรินทร์รักษ์), โบกี้ (ไอซ์-ปรีชญา พงษ์ธนานิกร) และ หลิน (ผักกาด-พอวิไล อภิรัชฎาพร) สามสาวพนักงานออฟฟิศได้บังเอิญไปพบเบาะแสที่บ่งชี้ว่า ต้น (ก้อง-สหรัถ สังคปรีชา) บอสของพวกเธออาจจะเป็นฆาตกรที่ฆ่าสาวออฟฟิศในบริษัท
จนกระทั่งวันหนึ่ง โจ๊ก (นอท-สัณหณัฐ ทิราชีพ) พนักงานหนุ่มที่เคยมีปากเสียงกับบอสได้หายตัวไปอย่างเป็นปริศนา ทั้งสามสาวจึงต้องขอความช่วยเหลือจาก ดร.อัง (โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน) เจ้าพ่อทฤษฎีสมคบในการสืบหาตัวตนที่แท้จริงของบอส
สำหรับคอหนังไทยที่เคยติดตามผลงานจากค่าย T Moment ทั้ง 3 เรื่องอย่าง โอเวอร์ไซส์ ทลายพุง (2560), App War แอปชนแอป (2561) และ The Pool นรก 6 เมตร (2561) เราจะสังเกตได้อย่างหนึ่งว่า จุดร่วมของผลงานทั้ง 3 เรื่องที่โดดเด่นมากๆ คือบิ๊กไอเดียของเรื่องที่แปลกใหม่และน่าสนใจ
ทั้ง โอเวอร์ไซส์ ทลายพุง ที่บอกเล่าเรื่องราวของ 4 นายตำรวจหุ่นหมีที่ต้องทำภารกิจลดน้ำหนักเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องถูกปลด, App War แอปชนแอป ที่หยิบนำการแข่งขันของธุรกิจสตาร์ทอัพยุคใหม่มานำเสนอในรูปแบบของหนังโรแมนติก-คอเมดี้ และ The Pool นรก 6 เมตร หนังแนวเอาตัวรอดที่ตั้งคำถามง่ายๆ แต่น่าสนใจว่า จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณต้องติดอยู่ในสระว่ายน้ำลึก 6 เมตรกับจระเข้หนึ่งตัว ทั้งหมดนี้แสดงให้เราเห็นถึงเป้าหมายของวิสูตรที่ต้องการผลิตผลงานที่โดดเด่นด้วยบิ๊กไอเดียที่ ‘แข็งแรง’ ออกมาให้คอหนังไทยได้ชมมากขึ้น
เช่นเดียวกับ บอสฉันขยันเชือด ที่หยิบเรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่อง มานำเสนอด้วยรสชาติของหนังแนวคอเมดี้-สืบสวน ซึ่งสร้างแรงดึงดูดให้เราตีตั๋วเข้าไปชมในโรงภาพยนตร์ได้เป็นอย่างดี
แต่เมื่อได้ชมจนจบ เรากลับพบว่า บอสฉันขยันเชือด มีจุดด้อยที่ไม่มั่นคงอยู่พอสมควร
จุดด้อยข้อแรกที่เห็นชัดมากที่สุด คือปมปัญหาภายในเรื่องที่ถูกปูเอาไว้อย่างน่าสนใจและชวนติดตาม แต่กลับไม่ได้ถูกหยิบมาใช้อย่างเต็มที่
เช่น การปูเบื้องหลังของสองตัวละครหลักอย่างเมษาและโบกี้ สองเพื่อนสนิทที่เคยทำช่องยูทูบด้วยกันในสมัยเรียน แต่ด้วยเหตุการณ์บางอย่างจึงทำให้ความสัมพันธ์ของทั้งคู่เริ่มห่างจากกัน ซึ่งในช่วงแรกตัวหนังค่อนข้างนำเสนอปมปัญหาในจุดนี้ได้น่าสนใจมากๆ จนกระทั่งเรื่องราวดำเนินมาถึงช่วงคลายปมปัญหา หนังกลับเลือกใช้ประเด็นในการคลี่คลายที่ค่อนข้างเรียบง่าย จนไม่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นกับประเด็นดังกล่าวอย่างที่ควรจะเป็น
การให้ความสำคัญกับการคลี่คลายปมปัญหาภายในเรื่อง จึงเป็นจุดด้อยสำคัญที่ลดทอนความน่าติดตามของหนังลงไปพอสมควร
อีกหนึ่งข้อที่เห็นได้ชัด คือบทบาทของตัวละครอย่าง ดร.อัง ผู้สวมบทโดย โอ๊ต-ปราโมทย์ ปาทาน ที่มีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นมากๆ ตั้งแต่ปรากฏตัวออกมาในตัวอย่าง แต่หนังกลับไม่ได้หยิบความโดดเด่นของเขามาใช้อย่างเต็มที่ ซึ่งเราคิดว่าหากทีมสร้างให้เวลาในการเล่าเรื่องกับ ดร.อัง อีกสักหน่อย เขาจะเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่สร้างสีสันให้กับเนื้อเรื่องได้เป็นอย่างดี
อีกด้านหนึ่ง จุดเด่นของ บอสฉันขยันเชือด ที่นำเสนอได้ลงตัวมากๆ คือมุกตลกขบขันที่ใส่เข้ามาอย่างตรงจังหวะ รวมถึงทัพนักแสดงทุกคนต่างถ่ายทอดคาแรกเตอร์ของตัวเองได้อย่างมีเสน่ห์ โดยเฉพาะ ก้อง-สหรัถ สังคปรีชา ผู้สวมบทเป็น ต้น ที่แผ่รังสีความน่าเกรงขามและความเข้มงวดออกมา จนทำให้เรารู้สึกหวาดระแวงบอสผู้เต็มไปด้วยปริศนาคนนี้ตามไปด้วย
รวมถึง 3 นักแสดงหญิงอย่าง มุกดา นรินทร์รักษ์, ไอซ์-ปรีชญา พงษ์ธนานิกร และผักกาด-พอวิไล อภิรัชฎาพร ที่รับบทเป็นสาวออฟฟิศที่ต้องร่วมมือกันตามหาตัวจริงของบอส ซึ่งเป็น 3 ตัวละครที่ออกแบบคาแรกเตอร์ออกมาได้ลงตัวมากๆ เมื่อพวกเธอปรากฏตัวอยู่ในซีนร่วมกัน
จากทั้งหมดที่กล่าวมา บอสฉันขยันเชือด ผลงานเรื่องแรกจาก TAI MAJOR จึงเป็นหนังที่มีบิ๊กไอเดียค่อนข้างแข็งแรงและชวนให้ผู้ชมติดตาม แต่ขณะเดียวกันตัวหนังกลับมีจุดด้อยด้านเนื้อเรื่องที่ไม่มั่นคงเทียบเท่าบิ๊กไอเดีย
บอสฉันขยันเชือด เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้วในโรงภาพยนตร์ ควรลองไปพิสูจน์ด้วยตาตัวเอง
รับชมตัวอย่างได้ที่นี่