×

mu Space สตาร์ทอัพดาวเทียมไทยเจ้าแรกที่จับมือกับ Amazon หวังพาคนทัวร์อวกาศ

05.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • mu Space สตาร์ทอัพดาวเทียมสัญชาติไทยก่อตั้งโดย เจมส์-วรายุทธ เย็นบำรุง เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2017 เพื่อพัฒนาดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรและเพื่อให้ความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น
  • ปลายปีที่แล้ว บริษัทประสบความสำเร็จเป็นสตาร์ทอัพเจ้าแรกของไทยที่คว้าใบอนุญาตทำธุรกิจดาวเทียมจาก กสทช.
  • อีกหนึ่งความตั้งใจของ mu Space นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียม คือการให้บริการเดินทางท่องเที่ยวทางอวกาศเชิงพาณิชย์ โดยกลยุทธ์ที่จะช่วยให้บริษัทเดินทางไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น คือการได้เป็นพันธมิตรเอเชียเจ้าแรกของโลกที่ร่วมงานกับ Blue Origin

ในวันที่ภาคเอกชนเริ่มระดมทุนจนมีสรรพกำลังพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ (Aerospace) ได้ไม่รู้จบ เราเห็นบริษัทและหน่วยงานหลายแห่งก้าวมาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้ด้วยความท้าทายและภาคภูมิ ไม่ว่าจะ Blue Origin โดย เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) ผู้บริหาร Amazon หรือ SpaceX ที่เริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 15 ปีที่แล้วจากวิสัยทัศน์กว้างไกลของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk)

 

ปลายปี 2017 ที่ผ่านมา เราเห็นสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งตีข่าว ‘mu Space’ สตาร์ทอัพไทยรายแรกที่ได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจดาวเทียมในประเทศไทยจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

 

ความน่าสนใจไม่ได้อยู่แค่การแย่งพื้นที่ปรากฏตัวลงบนหน้าสื่อต่างประเทศเท่านั้น เพราะบริษัทเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมแห่งนี้เกิดขึ้นด้วยฝีมือคนไทยแท้ๆ! และยังเป็นสตาร์ทอัพเจ้าแรกและเพียงรายเดียว (หน่วยงานเอกชน) ที่ได้เข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมในไทย ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงขั้นตอนการปล่อยเข้าสู่วงโคจร (ภายใต้ความร่วมมือกับ Blue Origin) ซึ่งก่อนหน้านี้เรามีแค่ ‘ไทยคม’ เท่านั้น

 

THE STANDARD พูดคุยกับ เจมส์-วรายุทธ เย็นบำรุง ผู้ก่อตั้งบริษัท mu Space วัย 33 ปี เพื่อสำรวจเป้าหมายและความตั้งใจ ตลอดจนฝันการพัฒนาไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการเดินทางท่องเที่ยวอวกาศเชิงพาณิชย์ในอนาคต

 

 

จุดเริ่มต้นของ mu Space เกิดขึ้นได้อย่างไร

เราเปิด mu Space เพราะมันเป็นพรมแดนสุดท้ายของมนุษย์ (จักรวาลและอวกาศ) ธุรกิจอวกาศ (Space Business) ยังไม่มีใครทำมากในบ้านเรา เลยเป็นสิ่งที่ท้าทายมากๆ ต้องอาศัยหลายฝ่ายช่วยให้มันเกิดขึ้น เราคิดว่ามันจะเป็นแฟลกชิปที่สะท้อนให้ทุกคนเห็นว่าสิ่งที่ยากๆ ก็สามารถทำเป็นธุรกิจหรือมากกว่าธุรกิจได้ ประกอบกับตัวผมเองก็ใกล้ชิดกับอวกาศมาตั้งแต่เด็กๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะด้านการเรียนหรือการทำงาน แต่ผมจะใช้เวลาส่วนใหญ่กับการทำงานด้านอวกาศที่อเมริกามากกว่า

 

สำหรับ mu Space เราคือบริษัทพัฒนาดาวเทียมและบริการเดินทางท่องอวกาศที่เริ่มเปิดตัวมิถุนายนปีที่แล้ว (2017) เราสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเพื่อวางแผนปล่อยดาวเทียมสื่อสาร เทคโนโลยีขั้นสูงในปี 2020 บนพาหนะลำใหม่ (จรวดและยานอวกาศที่ร่วมมือกับ Blue Origin) ซึ่งก็ถือว่าค่อนข้างจะไปได้ไกลพอสมควร

 

ตอนแรกผมพยายามทำทั้งเฮลท์แคร์, พลังงาน, ดิจิทัล (เคยประมูลสัมปทานคลื่นความถี่ 2100 และ 2300) ซึ่งก็ถือว่าใกล้เคียงมาก แต่เรามองในลักษณะการร่วมงานกับบริษัทอื่นๆ มากกว่า เนื่องจากการทำเองต้องใช้ต้นทุนสูง ตอนแรกผมคิดว่าโปรเจกต์ mu Space คงจะพับเก็บไว้สักพักก่อน แต่พอเห็นความมั่นใจบางอย่างก็เลยคิดว่าถ้ารีบทำให้มันออกมาเร็วขึ้นคงดีกว่า ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วทุกอย่างมันก็มีสิ่งที่ต้องพัฒนาไปด้วย

 

ก่อนหน้านี้ทำอะไรมาก่อน ทำไมถึงสนใจอวกาศเป็นพิเศษ

ผมเรียนที่ไทยมาตลอดตั้งแต่เด็กๆ พออายุ 14 ปีก็มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อที่นิวซีแลนด์ เป็นช่วงเวลาที่ได้สั่งสมแพสชันส่วนตัว เพราะตั้งแต่เล็กๆ ผมจะชอบเรื่องเกี่ยวกับอวกาศ หุ่นยนต์ งานวาดเขียน ซึ่งนิวซีแลนด์ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยทำให้ผมเริ่มออกแบบชีวิตของตัวเองได้ ได้วางแผนชีวิตเพื่อไปให้ถึงจุดที่เราได้ทำในสิ่งที่ชอบ

 

ผมเป็นคนชอบดูดาวตอนกลางคืน ดูพระจันทร์ตอนเย็น มันเป็นสิ่งที่ผมชอบและใฝ่ฝัน ผมฝันถึงการเดินทางไปดวงจันทร์ที่ห่างจากโลก 400,000 กิโลเมตร ซึ่งทุกคนอาจจะมองว่าเป็นฝันเฟื่อง มันก็เลยต้องมีวิธีการทำไปทีละขั้นทีละตอน เริ่มต้นด้วยการศึกษาหาความรู้ในศาสตร์ด้านฟิสิกส์ ปกติผมชอบสร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ สร้างพลุ (หัวเราะ) ชอบเล่น ชอบทำอะไรที่ท้าทาย ชอบการได้ทดลอง โดยเฉพาะการศึกษาศาสตร์ฟิสิกส์ประยุกต์

 

ต้องบอกว่าห้องเรียนที่นิวซีแลนด์จะไม่เหมือนห้องเรียนไทย ที่ส่วนใหญ่เราต้องมานั่งจุดไฟบนตะเกียงแอลกอฮอล์ เน้นการศึกษาผสมกันระหว่างเคมี ฟิสิกส์ ชีวภาพเป็นวิทยาศาสตร์ แต่ที่นั่นเขาจะให้เลือกเรียนตั้งแต่เด็กว่าคุณสนใจด้านไหน อย่างผมก็เลือกศึกษาเศรษฐศาสตร์และฟิสิกส์ประยุกต์ ได้เรียนเรื่องจลนศาสตร์ (Kinematics: การศึกษาการเคลื่อนที่ของเทหวัตถุที่เป็นของแข็ง โดยไม่คำนึงถึงแรงที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนที่) พื้นฐานของแรงต่างๆ และเครื่องกล ส่วนใหญ่แล้วเขาจะเน้นให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริงและพัฒนาโครงการต่างๆ ร่วมกัน หลังจากนั้นไม่นานผมย้ายมาเรียนต่อที่ Beverly Hills High School สหรัฐอเมริกา

 

 

ช่วงนั้นเห็นภาพชัดเจนแล้วหรือยังว่าเรียนจบแล้วจะมุ่งหน้าไปทางไหน อยากทำงานอะไร
ชัดมาก ตอนแรกผมอยากทำงานเกี่ยวกับอากาศยาน พัฒนาเครื่องบินความเร็วสูงทั้ง High Attitude และ Hyper Sonic ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งที่ไทยก็ไม่มีอะไรอย่างนี้อยู่แล้ว เลยต้องวางแผนการเรียนของตัวเองล่วงหน้า ทุกอย่างมันไม่ได้สำเร็จชั่วข้ามคืน ส่วนใหญ่คนจะเห็นความสำเร็จระยะสั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีมุมต่างๆ อีกมากมายที่อยู่เบื้องหลังการนำไปสู่ความสำเร็จ

 

หลังจบการศึกษาระดับไฮสคูล เส้นทางชีวิตของคุณดำเนินต่อไปอย่างไร

ผมย้ายมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย UCLA (University of California) มหาวิทยาลัย Top 10 ด้านอุตสาหกรรมอวกาศ (Aero Space) ซึ่งในแต่ละปีเขาจะส่งนักศึกษาที่สนใจและเรียนด้านนี้เข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมและบริษัทใหญ่ๆ ด้านอวกาศเยอะมาก ตอนที่ผมไปเรียนเป็นช่วงเดียวกับที่ SpaceX เพิ่งเริ่มก่อตั้งพอดี ผมเลือกเรียนคณะ Aerospace Engineering (วิศวกรรมการบินและอวกาศ)

 

ทางบ้านสนับสนุนความฝันมากน้อยแค่ไหน

ส่วนใหญ่แล้วผู้ใหญ่เขาจะแนะนำให้เรามองเรื่องธุรกิจเป็นหลัก อยากให้เราทำอะไรที่ใกล้ตัว มองถึงโอกาสในการประยุกต์ใช้ความรู้กับธุรกิจที่มันมีอยู่ เช่น เครื่องกล เคมีอะไรต่างๆ แต่เราก็รู้ตัวว่าตัวเองควรจะไปอีกทางมากกว่า

 

ผมค่อนข้างยึดติดกับสิ่งที่ตัวเองชอบและแพสชันส่วนตัว เลยเริ่มมาโฟกัสด้านนี้จริงจัง พอได้มาศึกษาที่ UCLA มันก็เหมือนได้เปิด Toolbox หลายๆ อย่างเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศ เพราะ LA หรือ Southern California ก็ค่อนข้างจะเป็น ศูนย์กลางด้านอวกาศอยู่แล้ว

เราเป็นคนที่ฝันไกล ค่อนข้างมีอะไรที่อยากทำเป็นของตัวเองตั้งแต่เด็ก ชอบเครื่องบิน เทคโนโลยีด้านอวกาศ ที่บ้านเขาก็แนะนำบ้างแต่สุดท้ายเราก็ไกด์ตัวเอง และมันก็เริ่มต้นด้วยการตั้งบริษัทขึ้น พอไกด์ตัวเองมันก็จะรู้ว่าเราต้องการความรู้ด้านไหน ฟอร์มความคิดเห็นที่ถูกต้องขึ้นมา อย่างที่บอกว่าพอเราได้มาอยู่ที่ LA มันก็กลายเป็นการเปิดทุกอย่างของเรา

 

เรียนรู้อะไรจาก UCLA การทำงานในอุตสาหกรรมอวกาศไกลจากภาพฝันในวัยเด็กที่จินตนาการไว้ไหม

ยิ่งได้เรียนก็ยิ่งค้นพบว่ามันใกล้ตัวมากครับ เพราะงานวิจัยของบริษัทระดับท็อปด้านอุตสาหกรรมอวกาศในยุคนี้อย่าง Boeing Co, Lockheed Martin Corp หรือ Raytheon Co ก็ทำให้เราเห็นเทคโนโลยีต่างๆ เกิดขึ้นมามากมายไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินหรือดาวเทียมล้ำๆ

ที่สำคัญความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในทุกวันนี้จำนวนไม่น้อยก็เป็นผลงานของบุคลากรมหาวิทยาลัย Stanford และ UCLA ทั้งนั้น ตัวอย่างเช่น อินเทอร์เน็ตที่เราใช้กันก็เกิดขึ้นจากระบบสื่อสารของทหารสหรัฐอเมริกา ‘AlphaNet’ ที่เริ่มต้นจากการส่งข้อมูลอีเมลไปมาระหว่าง UCLA และ Stanford จากแคลิฟอร์เนียตอนใต้ ไปยังซิลิคอน วัลเลย์ (Silicon Valley) นี่คือจุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

UCLA อยู่ในความก้าวหน้าหลายด้านและเป็นผู้เริ่มต้นเทคโนโลยี ธุรกิจหลายๆ อย่าง มีผู้ประกอบการที่เรารู้จักกันดีในอุตสาหกรรม อย่างเพื่อนๆ ของผมที่เรียนมาด้วยกันก็มีบริษัทสตาร์ทอัพที่เป็นที่รู้จักในไทยหลายเจ้าเหมือนกัน มองในมุมของอุตสาหกรรมอวกาศ UCLA ถือว่าเป็นตัวท็อปในด้านนี้

 

 

นั่นแสดงว่าการไปเรียนที่ UCLA ทำให้คุณรู้สึกว่าต้องกลับมาเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างของตัวเอง?

ผมแพลนไว้แต่ต้นแล้วว่าจะต้องทำโปรเจกต์ของตัวเอง แต่ก็ต้องเรียนรู้ทักษะต่างๆ ไปในตัว อาศัยประสบการณ์จากการทำจริง หลังจากเรียนจบผมวางแผนไว้ว่าจะทำในบริษัทเทคโนโลยีอวกาศสัก 3 ปี แล้วค่อยมาตั้งบริษัทของตัวเอง ผมเริ่มต้นด้วยการฝึกงานออกแบบผังเมือง พอเรียนจบ 4 ปีที่ UCLA ผมก็ได้รับข้อเสนอออกมาทำงานที่บริษัท Northrop Grumman Corp ผู้วางแปลนสนามบินสุวรรณภูมิและผลิตเครื่องบิน F5 รวมถึงดาวเทียมต่างๆ และดาวเทียมสอดแนมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีเหมือนกัน เพราะทำให้เราได้เรียนรู้ทักษะและเทคนิคต่างๆ มากมาย

 

ผมเข้าไปทำงานที่ Northrop ในตำแหน่งวิศวกรระบบ (System Engineer) ดูแลแผนกทีมสร้างดาวเทียม แต่ด้วยความคิดที่ออกจะหวือหวากว่าคนอื่นเลยได้รับมอบหมายให้จัดการงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เลยมีโอกาสได้สร้างดาวเทียมทางทหาร 6 ดวง ตั้งแต่ดาวเทียมสองวงโคจร, ดาวเทียมแบบฟิกซ์หมุนคู่โลก และดาวเทียมแบบ Highly Elliptical ที่หมุนตามดวงจันทร์ แต่ภารกิจหลักคือการเป็นหูเป็นตาให้ผู้ใช้งาน

ช่วงหลังๆ ผมย้ายมาดูโปรเจกต์ลับ ‘Gunman’ เลยมีโอกาสเดินทางเยอะขึ้น แต่หลักๆ จะอยู่ที่ไพร์มเดลเป็นหลัก ซึ่งเป็นจุดที่เขาสร้างเครื่องบินรุ่นใหม่ๆ นำจรวดมาทดสอบกันเยอะมาก ฐานทัพอากาศ Edwards Air Force Base ก็ตั้งอยู่ที่นั่น ก็ถือเป็นช่วงเวลา 7 ปีที่ได้ทำงานด้านเทคโนโลยีอวกาศ

 

มีคนไทยคนอื่นที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้บ้างไหม

มีครับ บริษัทเทคโนโลยีอวกาศหลายแห่งมีคนไทยเก่งๆ ทำงานอยู่เยอะมาก ผมเองก็มีเพื่อนร่วมงานคนไทยอยู่เหมือนกัน แต่บริษัทที่ผมทำงานอยู่อาจจะไม่ได้มีคนไทยเยอะสักเท่าไร

 

ตอนนั้นอาชีพการงานที่ Northrop ก็ดูจะไปได้สวย ทำไมตัดสินใจลาออกจากงาน ย้ายกลับมาไทย
ผมตัดสินใจออกจากงานช่วงปี 2014 ตอนนั้นอายุประมาณ 29 ปี มันก็เป็นไปตามแผนที่ผมวางไว้นะ ตอนแรกผมมองว่าจะต้องทำงานก่อน 3 ปี แต่สุดท้ายเลยมา 4 ปี เพราะมีภารกิจที่ยังไม่เสร็จสิ้น พอออกจากงานแล้วกลับมาที่ไทย สถานทูตหรือใครๆ ก็เชียร์ให้ผมตั้งบริษัทเทคโนโลยีดาวเทียมขึ้นมา ผมก็บอกว่ามันต้องใช้เวลา 2-3 ปีเตรียมการ เพราะการจะทำธุรกิจด้านนี้มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ตอนนั้นก็ถือว่าเสี่ยงนะ (หัวเราะ) เราเสี่ยงกับเงินเก็บ บ้านและหนี้ที่มีทั้งหมดเลย

 

ช่วงที่ตัดสินใจเปิด mu Space บริษัทของคุณถือเป็นสตาร์ทอัพเทคโนโลยีอวกาศเจ้าแรกในไทยหรือเปล่า

ถ้าเป็นบริษัทเทคโนโลยีอวกาศที่ถือสัมปทานดาวเทียม เราคงเป็นสตาร์ทอัพเจ้าแรกที่ใช้ทุนของตัวเอง ตอนนี้เราเพิ่งปิดการระดมทุนส่วนบุคคลไป แต่อนาคตก็วางแผนไว้แล้วว่าจะเริ่มเปิดการระดมทุนเมื่อเราพร้อม และนอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียม โครงการท่องอวกาศก็เป็นโปรเจกต์ที่กำลังจะตามมา เรามีการทำงานและศึกษาตัวยานที่จะส่งคนขึ้นไป เพราะมองว่าโครงการท่องอวกาศในตอนนี้กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่บริษัทหลายๆ แห่งกำลังพัฒนากันอยู่ ต่างจากดาวเทียมที่ค่อนข้างชัดเจน อาจจะมีแค่การปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้ใช้หรือผู้ประกอบการผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ต้องใช้ระบบพวกนี้

 

 

ในมุมมองของคนไทยทั่วไป เราทราบว่าไทยมีดาวเทียม ‘ไทยคม’ เป็นของตัวเอง แล้วทำไมประเทศเราถึงต้องมีดาวเทียมขึ้นมาอีกดวง
ดาวเทียมมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อย่างดาวเทียมในปัจจุบันเราจะเรียกมันว่า ‘Space 2.0’ แต่ในยุคแรกๆ ของ นีล อาร์มสตรอง หรือนาซา พวกนั้นคือ Space 1.0 เป็นยุคที่บริษัทเอกชนไม่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง หน่วยงานรัฐบาลต้องเป็นผู้ดำเนินการโดยใช้เงินจากภาษีและการระดมทุน ภาพของดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศยุคนั้นส่วนใหญ่จึงเป็นไปในเชิงการเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์เป็นหลัก


แต่ดาวเทียมยุค 2.0 นี้จะต้องตอบโจทย์เชิงพาณิชย์ให้ได้ ทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น (การสื่อสารและการรับส่งสัญญาณในวงกว้าง) ผลที่เกิดตามมาจึงมีผู้เล่นหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย (บริษัทผลิตเทคโนโลยีอวกาศและดาวเทียมจากเอกชน) แต่จุดแรกที่จะต้องทำคือการเปิดน่านฟ้าให้ได้ด้วยราคาต้นทุนที่ต่ำเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่ใช้ส่งคนขึ้นไปทำภารกิจหรือผลิตยานต่างๆ ทุกอย่างต้องเข้าถึงง่าย สามารถส่งคนไปนอกโลกได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูก มันจึงเกิดคำว่า ‘Reusability’ ขึ้นมา ต้องมีจรวดที่ส่งออกไปนอกโลกแล้วนำกลับมาใช้ในภารกิจอื่นๆ ได้อีก (เทคโนโลยีที่ SpaceX กำลังขึ้นชื่อกับการพัฒนาจรวด Falcon)

ถ้าเป็นเมื่อก่อนการใช้จรวดหรือยานอวกาศในยุค 1.0 ก็เหมือนการขับรถไปทิ้งไว้ที่ปลายทาง นำกลับมาใช้ใหม่ไม่ได้ ตรงข้ามกับยุค 2.0 ที่นอกจากบริษัทเอกชนจะเข้ามาลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนมากแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้มีต้นทุนถูกลง ตอบโจทย์การนำกลับมาใช้ได้ก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน

ที่ mu Space ให้ความสำคัญกับการพัฒนาดาวเทียม เพราะตัวดาวเทียมในปัจจุบันมันเปลี่ยนแปลง ภารกิจดาวเทียมมีอยู่ 2 แบบคือ Broadcast การส่งสัญญาณทางเดียวที่ผู้รับไม่สามารถ Interact ได้ และ Broadband แต่ปัจจุบันมันเป็นยุคการสื่อสารแบบสองทางที่ผู้รับต้องสามารถตอบโต้กลับได้ ดาวเทียมจึงต้องเปลี่ยนแปลงไป เราต้องการดาวเทียมที่มีความจุและมีความเร็วสูงขึ้น เลยกลายเป็นช่องทางให้ผู้เล่นใหม่ๆ ได้เข้ามาพัฒนามากขึ้น ซึ่งเราเองก็มีพาร์ตเนอร์ที่ร่วมงานด้วยเพื่อให้บริษัทเติบโตได้อย่างรวดเร็วและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

 

จะเกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างไรถ้าดาวเทียม mu Space ขึ้นไปอยู่ในวงโคจรได้
เราก็จะเป็นหนึ่งในทางเลือกของคนไทยและผู้ใช้งานที่มีดาวเทียมความเร็วสูงเพิ่มขึ้นมาอีกดวง พูดง่ายๆ ว่าดาวเทียมของ mu Space เป็นหนึ่งในดาวเทียมบนระบบนิเวศทั้งหมด ในอนาคตจะมีดาวเทียมเกิดขึ้นอีกเป็นพันๆ ดวงที่เข้ามาโคจรใกล้โลก ซึ่งทำให้เราต้องพัฒนาการใช้งานใหม่ๆ อย่างอุปกรณ์ที่ใช้กับดาวเทียมก็จะเล็กลงและเรียบมากขึ้น สามารถติดตั้งได้หลากหลายช่องทาง ช่วยทำให้การรับส่งสัญญาณดีขึ้น เข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้หลากหลาย เป็นการทำงานร่วมกับเครือข่ายสัญญาณมือถือ

 

ความแตกต่างด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทยกับสหรัฐอเมริกา
ถ้าเป็นด้านอวกาศ เรายังต้องลงทุนด้านบุคลากรอีกมาก ตั้งเป้าหมายพัฒนาในระยะยาว แตกแขนงหลักสูตรการสอนต่างๆ ให้กับเด็กๆ ต้ังแต่อายุน้อยๆ พูดง่ายๆ ว่าต้องลงทุนในระยะยาว เพราะส่วนใหญ่ตอนนี้เราจะมองเห็นการทำในระยะสั้นเป็นหลักมากกว่า แต่มันก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ไม่ยาก

 

ที่สำคัญคือต้องอย่าคิดแค่ช่วงสั้นๆ มูลค่าของการทำเทคโนโลยีอวกาศคือการได้ผลิตทรัพยากรที่มีคุณภาพในระบบนิเวศออกมา ซึ่งจริงๆ ตอนนี้ก็มีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เริ่มพัฒนาบุคลากรด้านนี้แล้ว คราวนี้มันก็เป็นเรื่องการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ หรือคนที่มีไอเดียต่างจากคนปกติ เพื่อช่วยสนับสนุนให้แนวคิดพวกเขาเกิดขึ้นได้จริง ไอเดียต่างจากปกติในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการไปซื้อดาวเทียมที่เขาผลิตมาใช้ต่อ แต่คือการพลิกไอเดียเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบด้วย แต่ประเทศไทยที่เดียวอาจจะไม่พอ เพราะเทคโนโลยีอวกาศต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์ช่วยระดมความคิดกันค่อนข้างเยอะ

 

mu Space ทำอย่างไรในขั้นตอนการขอใบอนุญาตหรือสัมปทานจาก กสทช.

มันแล้วแต่กรณี คือเราต้องทำจริงจัง เข้าใจว่าทุกคนมองว่าการได้สัมปทานคือการต่อยอดในเชิงธุรกิจ แต่ใจความสำคัญหลักๆ ของสัมปทานที่เราได้มาคือเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้หรือทรัพยากรต่างๆ เมื่อคิดในมุมนี้ เราก็วางแผนที่ตอบโจทย์เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับรัฐบาลและเอกชน เพราะจริงๆ แล้วไทยเราอาจจะมีผู้ให้บริการเพียงรายเดียว การมี mu Space ก็เป็นทางเลือกด้านดาวเทียมให้กับประเทศเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด เรามองถึงเรื่องความต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านนี้ ให้ข้อมูลต่างๆ วิ่งเข้ามาในไทย สุดท้ายสิ่งที่จะได้คือการพัฒนาชีวิต ทรัพยากรและสร้างงานให้คนไทย

 

 

ความร่วมมือระหว่าง mu Space กับ Blue Origin ของ Amazon เป็นไปในรูปแบบใด

มี 2 ส่วน ทั้งการพัฒนาดาวเทียมที่เราจะใช้ยาน New Glenn ของเขาเป็นตัวยิง  mu Space เป็นบริษัทดาวเทียมเจ้าแรกในเอเชียที่เซ็นสัญญาร่วมมือกับเขาและเป็นพันธมิตรรายที่ 3 ของโลก ส่วนความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับ Space Activity ที่จะเกิดขึ้นคือ ‘โปรเจกต์การท่องเที่ยวทางอวกาศ’ ซึ่งเรามองว่าไทยเองก็เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวด้วย เลยอยากลองทำโปรเจกต์ในระยะยาวเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้คนได้เห็นถึงความเป็นไปได้ของโครงการท่องอวกาศที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีหรือ 2 ปีข้างหน้านี้

 

ราคาของการท่องเที่ยวเชิงอวกาศจะจับต้องได้มากน้อยแค่ไหนกับคนหมู่มาก

ถ้าเราสามารถพัฒนาระบบนิเวศที่สมบูรณ์ขึ้นมาได้ คนก็จะเข้าถึงมันในราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ ช่วงแรกเราอาจจะโฟกัสผู้สนับสนุนบางส่วนก่อน และพวกเขาก็อาจจะต้องร่วมสนับสนุนเราด้วย นี่เป็นแผนการที่ต้องทำงานร่วมกันกับหลายๆ ภาคส่วน

 

จริงๆ แล้วโปรเจกต์ท่องอวกาศก็มีภาคเอกชนรายอื่นที่กำลังพัฒนานอกเหนือจาก Blue Origin เช่น SpaceX หรือ Virgin Galactic แต่ปีนี้ mu Space และ Blue Origin ก็จะเริ่มทำให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น เป็นการสร้างความตระหนักรู้มากกว่า และจะนำไปสู่การพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งในไทย เพื่อพัฒนาโปรเจกต์ ‘ภาวะไร้น้ำหนัก’

 

ปีที่ผ่านมา SpaceX ประสบความสำเร็จในการปล่อยจรวดถึง 18 ครั้ง ส่วนประเทศอื่นๆ ก็เริ่มพัฒนาโครงการเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น คุณมองความคึกคักในอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างไร

ปีนี้น่าจะเป็นอีกปีที่มนุษย์ประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมอวกาศหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนายานพาหนะที่สามารถส่งคนขึ้นไปได้ คิดว่าปีนี้น่าจะมี ‘Man Vision’ อีกครั้ง นับตั้งแต่ครั้งล่าสุดที่นาซาส่งคนขึ้นไปบนยาน Apollo แล้วไม่ได้กลับไปอีกเลย ซึ่งเราคงได้เห็นการพัฒนาที่จริงจังมากขึ้นในปีนี้ และในปี 2020 มนุษย์ก็น่าจะได้เริ่มกลับไปสำรวจดวงจันทร์กันอีกครั้ง

 

ส่วนยุค Space 2.0 เราคงได้เห็นภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างแพร่หลาย เพื่อให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ขึ้นไปอีก เราคงได้เห็นสตาร์ทอัพด้านนี้ที่หลากหลายเข้ามาร่วมมือพัฒนา อย่างวิสัยทัศน์ของ mu Space เองก็ค่อนข้างเปิดกว้างให้ความช่วยเหลือพัฒนาโปรเจกต์ต่างๆ ร่วมกัน เพราะเรื่องของอวกาศต้องอาศัยแรงคิดและเวลา ผมคิดเสมอว่ามนุษย์เรามีเวลาคิดที่จำกัด อาจจะแค่ 20-30 ปีเท่านั้น เราเลยต้องช่วยกันระดมความคิดให้มันเกิดขึ้นได้จริง

 

แผนการระยะยาวของคุณกับ mu Space เป็นอย่างไร

เราต้องการให้บริการสัญญาณดาวเทียมที่มีคุณภาพในราคาที่จับต้องได้ อยากให้ดาวเทียมเข้าถึงได้เหมือนโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้คุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น ส่วนการท่องอวกาศ การส่งคนไปในระยะ 100 กิโลเมตรนอกโลกก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็จะมีเรื่องที่มันเหนือกว่าเรื่องนี้ ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวทรัพยากรแร่ธาตุจากอวกาศลงมาที่โลก mu Space ก็จะมองไปที่ดวงจันทร์เป็นเป้าหมายหลักก่อน แต่ภาพโดยรวมมันยังไม่ชัดเพราะต้องอาศัยความร่วมมือและศาสตร์ที่หลากหลาย

 

เป้าหมายสูงสุดในวงการอุตสาหกรรมอวกาศคืออะไร

ผมอยากส่งคลังสินค้าบรรทุกบางชนิดที่มี mu Space เป็นผู้ดำเนินการขึ้นไปบนดวงจันทร์กับระยะทาง 400,000 กิโลเมตร และคิดว่าน่าจะเกิดได้ในระยะเวลา 10 ปี แต่ถ้าสามารถพัฒนาได้ก่อนก็ถือว่าประสบความสำเร็จ

 

ออกตัวก่อนว่า 400,000 กิโลเมตรอาจจะไม่ใช่การเดินทางไปตั้งรกรากขนาดนั้น (หรืออาจจะทำได้ถึงขนาดนั้น) แต่เรามองในตอนนี้ว่าคงเป็นการส่งคลังสินค้าขึ้นไปก่อน หรือเร็วๆ นี้อาจจะมีเจ้าอื่นที่ไปถึงก่อนเรา แต่เราก็อยากจะเป็นเจ้าแรกของเอเชียที่บรรลุเป้าหมายนี้ให้ได้ ข้อดีของ mu Space คือเราสามารถทำเงินจากเทคโนโลยีการสื่อสารในระยะสั้นได้อยู่แล้ว ในอนาคตเราก็ยังมีรายได้จากโครงการท่องอวกาศอีก ยิ่งถ้าไทยสามารถเป็นศูนย์กลางในด้านนี้ได้ รายรับโดยรวมของเราก็จะโตเพิ่มขึ้นแน่นอน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X