เส้นทางชีวิตสายดนตรีไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ มีผู้คนมากมายที่เดินทางมาพร้อมกับความฝันเต็มกระเป๋า สุดท้ายไปไม่ถึงฝั่งฝันและต้องหยุดทุกอย่างเอากลางทาง
แต่ไม่ใช่กับ 4 หนุ่มวง Nap a Lean ที่ยังคงมุ่งมั่นเดินทางทำในสิ่งที่พวกเขารักต่อไป นับจากวันแรกที่มีคนฟังไม่กี่สิบคน จนวันที่ตัดสินใจทุบหม้อข้าว ทิ้งทุกอย่างที่เชียงใหม่แล้วเดินทางไกลมาตามหาความฝันที่กรุงเทพฯ
ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก โชคดีที่พวกเขายังมี ‘สิ่งสำคัญ’ บางอย่างเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจที่แตกต่างกันออกไป แต่ทั้งหมดล้วนเพื่อจุดประสงค์หนึ่งเดียว คือมุ่งมั่นตั้งใจเพื่อสานต่อความฝันและทำในสิ่งที่ตัวเองรักต่อไปให้นานที่สุด
สมาชิก (จากซ้ายไปขวา) ฮั้ว – พิสิฐ สมบัติพินพง (กีตาร์), ดอน – นภัสรพี ยาอินทร์ (กลอง), โต้ – ธนพล ทองสวัสดิ์ (ร้องนำ) และ บาส – ปณิธิ สุขสายชล (เบส)
แฟ้มเพลงที่เริ่มต้นเล่นดนตรีกลางคืน
ฮั้ว: แฟ้มเล่มนี้ทำให้ผมเริ่มต้นเล่นดนตรีกลางคืนตั้งแต่ปี 2009 ผมไม่ใช่คนสายดนตรี ไม่เคยเรียนดนตรีเลย ไม่คิดด้วยว่าจะใช้ดนตรีทำมาหาเลี้ยงชีพ ก่อนหน้านั้นผมลาออกจากมหาวิทยาลัย ต้องคิดว่าจะทำอาชีพอะไรหาเลี้ยงครอบครัว ไปทำบาริสต้าตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึงบ่ายสาม แล้วไปเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารญี่ปุ่นตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึงตีหนึ่ง นอนที่ร้านเลยเพราะไม่มีเงินเช่าห้อง ทำอย่างนี้ทุกวันแล้วคิดว่าเหนื่อยเหลือเกิน จนมีเพื่อนชวนไปเล่นดนตรีกลางคืนแทนเขา เลยปรินต์คอร์ด จดคอร์ด จดเนื้อเพลงเอาไว้กลายเป็นเล่มนี้ขึ้นมา จำได้เลยว่าครั้งแรกได้เงินชั่วโมงละ 200 บาท เล่นสองที่ได้ 400 บาท เท่ากับงานที่ผมทำทุกๆ วัน วันละ 10 ชั่วโมง คิดตั้งแต่ตอนนั้นเลยว่า กูจะเล่นดนตรี (หัวเราะ)
จนเดือนที่แล้วกลับไปเก็บของที่เชียงใหม่แล้วเจอสมุดเล่มนี้ ผมนั่งร้องเพลงในเล่มนี้ทั้งหมดที่บ้านคนเดียว เฮ้ย เพลงนี้เมื่อก่อนชอบมาก ตอนนั้นได้เงินกี่บาทวะ สนุกดีเนอะ มันช่วยเตือนความจำผมว่า มึงเล่นดนตรีได้เพราะอะไร ตอนนั้นเป็นยังไงบ้าง
ผมชอบความรู้สึกตอนนั้นมากนะ เชื่อว่าศิลปินในท้องตลาดเกินครึ่งเคยเล่นดนตรีกลางคืนมาก่อน มันคือสนามกลางที่คนได้กระโดดไปโชว์ฝีมือ ฝึกปรือตัวเอง เป็นวัฏจักรสำคัญที่ต้องมีเรื่อยๆ จากวันที่ผมเคยแกะเพลงของพี่อีกคนหนึ่งร้อง วันนี้มีน้องๆ ที่แกะเพลงของผมไปเล่น เป็นระบบนิเวศของวงการดนตรีที่ขาดไม่ได้ ไม่เกี่ยวว่านักร้องกลางคืนจะมีศักดิ์ศรีน้อยกว่าศิลปินที่ได้ออกเพลง ไม่ใช่แบบนั้นเลย
สมุดที่แฟนคลับทำให้เป็นครั้งแรก
โต้: ตอนนี้ชีวิตผมแทบจะอยู่กับดนตรีร้อยเปอร์เซ็นต์ ย้อนไปคิดว่าแรงบันดาลใจในการเล่นดนตรีเมื่อก่อนของเราคืออะไร ได้คำตอบว่ามันคือตัวเองล้วนๆ เลย อยากเล่นดนตรีก็เล่น อยากทำวงก็ไปชวนฮั้ว ทำเพลงก็ทำเพื่อตัวเอง แต่พอมาอยู่กรุงเทพฯ เจอน้องแฟนคลับกลุ่มหนึ่งที่เขารักวงพวกเรามาก ทำให้รู้สึกว่าผมไม่ได้เล่นดนตรีเพื่อตัวเองแล้ว เราเล่นดนตรีเพื่อแฟนเพลงด้วย กลายเป็นมีคนคอยมองเป็นแบบอย่างอยู่ตลอดเวลา
ช่วงย้ายมากรุงเทพฯ ใหม่ๆ ผมเป็นคนติดบ้านที่เชียงใหม่มาก ฮั้วบอกว่าให้ทำที่นี่เป็นบ้านของเรา เพราะเราต้องใช้ชีวิตที่นี่แล้ว ถ้ามีบ้านต้องมีครอบครัว ผมมีวง มีทีมงานค่ายสไปซี่ ดิสก์ แล้วแฟนคลับก็เป็นอีกหนึ่งครอบครัวของผม ทุกครั้งที่ไปเล่นคอนเสิร์ตที่ไหน เห็นแฟนเพลงกลุ่มนี้ยืนอยู่ข้างล่าง ถือป้ายไฟเชียร์เรา เกิดมาไม่เคยมีมาก่อนเลยนะ (หัวเราะ) มันเลยกลายเป็นทั้งกำลังใจและแรงบันดาลใจในการเล่นเพลงของผม
ผมได้สมุดเล่มนี้มาตอนคอนเสิร์ตเปิดอัลบั้มอีพี (EP: JET LAB) พอกลับมาอ่านกำลังใจจากน้องทุกคนมันมีความสุขมาก มีอาจารย์คนหนึ่งถามผมว่า กล้าจะทุบหม้อข้าวหม้อแกงแล้วออกเดินทางไปไหม พวกผมทุกคนทุบหมด แล้วสมุดเล่มนี้ทำให้ผมรู้ว่าเราไม่ได้เสียเวลาเลยที่เลือกทิ้งทุกอย่างจากเชียงใหม่แล้วมาที่นี่
ของขวัญครบรอบหนึ่งปีจากคนรัก
ดอน: รูปนี้ไม่เคยเปิดเผยที่ไหนเลยนะ เป็นของขวัญครบรอบหนึ่งปีที่แฟนผมทำให้ เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ผลักดันให้ผมเดินตามความฝันในการเล่นดนตรี อย่างที่โต้บอกว่าเราทุบหม้อข้าวมาจากเชียงใหม่ สิ่งเดียวที่มีคุณค่าทางใจที่ผมเอาติดมาด้วยมีอย่างเดียวคือรูปนี้ วันไหนเหนื่อย ท้อ คิดอะไรไม่ออก รูปนี้จะคอยเตือนให้ผมรู้ว่าเรามีจุดหมาย มีความฝันที่ต้องทำให้สำเร็จ เพราะแฟนผมเป็นคนที่เชื่อใจผมมาตลอด เอาใจช่วยทุกอย่าง เริ่มจากเป็นแฟนเพลงก่อนจะมาเป็นแฟน ช่วยโปรโมต ให้กำลังใจ ตามไปดูคอนเสิร์ตทุกที่ คอยโทรไปขอเพลงตามคลื่นวิทยุ เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่ความฝันของผมคนเดียว แต่รวมความฝันของแฟนเข้าไปด้วย
ที่สำคัญคือ ตามปกติคนวัยพวกเรา เขาควรจะถามถึงความมั่นคงทางอาชีพมากกว่าให้แฟนมีอาชีพนักดนตรีแบบนี้ เพราะอาชีพเราไม่ได้มั่นคง เขาไม่เคยบอกให้ผมไปทำงานออฟฟิศ ที่ดูมั่นคงอะไรแบบนั้นเลย เขามีแต่สนับสนุนให้ผมเดินตามความฝันเต็มที่ จนตอนนี้ผ่านมา 7 ปีแล้ว ที่ผมไม่เคยคิดที่จะหยุดตามความฝันของตัวเองเพราะรู้ว่ามีคนคอยให้กำลังใจเราอยู่เสมอ
สายแจ็กจากอาจารย์ที่ส่งต่อมายังลูกศิษย์
บาส: ผมโตมากับการเล่นเบสไฟฟ้า แต่พอเรียนมหาวิทยาลัยผมไปอยู่ในคณะที่เน้นดนตรีคลาสสิกเป็นหลัก เคยเป๋ไปอยู่ช่วงหนึ่งว่าจะไปเล่นดนตรีคลาสสิกดีไหม จนช่วงปีสอง ผมเจอพี่นอ (นรเทพ มาแสง มือเบสวง PAUSE) มาเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะ แล้วเขามีโปรเจกต์สร้างให้นักดนตรีเชียงใหม่มีผลงานไปสู่กรุงเทพฯ
ในตอนที่ต้องทำเพลง ผมไม่มีสายแจ็ก แล้วพี่นอเป็นคนเอาสายแจ็กเส้นนี้มาให้ ผมใช้มันมาตั้งแต่วันนั้น จนถึงวันนี้ก็ยังใช้อยู่ สายแจ็กเส้นนี้เลยเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมยึดมั่นกลับมาเล่นเบสไฟฟ้าอีกครั้ง แล้วเป็นสายแจ็กที่มีเงินเท่าไหร่ก็ซื้อไม่ได้ เพราะเป็นของที่อาจารย์และไอดอลของเราเคยใช้ แล้วเขาสละมันมาให้เรา
ช่วงหลังๆ ผมไม่ได้ใช้เส้นนี้ตลอด แต่ทุกครั้งที่กลับมาใช้ ผมก็จะนึกถึงพี่นอ นึกถึงความฝันในวันนั้นที่พี่เขาเป็นคนสร้างให้ เขาเป็นคนคอยสอนตลอดว่าอย่าท้อ ไม่ว่าจะเรื่องดนตรีหรือเรื่องอื่นๆ ในชีวิต ทุกครั้งที่ผมลืมเรื่องพวกนี้ไป สายแจ็กและคำพูดของพี่นอจะช่วยเตือนผมได้เสมอ
อย่างเพลงในอัลบั้มใหม่ ทุกเพลงที่ใช้ซ้อมหรืออัดเดโมผมก็จะใช้สายเส้นนี้ในการทำเพลงทั้งหมด ช่วงต้นปีได้ไปเจอวง PAUSE อีกครั้งตอนถ่ายรายการหนึ่ง วันนั้นด้วยเรื่องเวลาเลยไม่ได้คุยกัน แต่อย่างน้อยสายแจ็กเส้นนี้ก็พาผมจากวันที่เป็นลูกศิษย์ นับถือเขาเป็นต้นแบบ มาถึงวันที่ได้เล่นดนตรีบนเวทีเดียวกับพี่เขา แล้วสายแจ็กเส้นนี้ก็ได้ขึ้นไปอยู่บนเวทีเดียวกันด้วย