×

สรุปภาพรวมวงการดนตรีไทย-เทศตลอดปี 2018!

11.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • ปี 2018 ที่ผ่านมา เป็นปีที่มีศิลปินและวงดนตรีจากทั่วโลกเดินทางมาประเทศไทยถี่เหลือเกิน จนแฟนดนตรีต่างบ่นว่าคอนเสิร์ตจากศิลปินดังเหล่านี้ทำล้มละลายกันหมด ไม่ว่าจะเป็น Celine Dion, Dua Lipa, Honne, Sam Smith, The Weeknd และอีกมากมาย
  • ประเทศไทยเองก็ส่งออกศิลปินไปเมืองนอกกับเขาเหมือนกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็เช่น ภูมิ วิภูริศ เจ้าของเพลงฮิต Lover Boy ที่มียอดวิวใน YouTube สูงถึง 29 ล้านวิว จนทำให้ภูมิได้ออกทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลก แถมล่าสุดเขายังได้โชว์ในแชนเนลดนตรีชื่อดังอย่าง A Colors Show อีกด้วย

ก่อนจะเดินหน้าสู่ปี 2019 เรามีโอกาสเห็นข่าวจากวงการดนตรีทั้งฝั่งไทยและต่างประเทศมากมาย ทั้งการกลับมาของ ABBA, เลดี้ กาก้า ที่เลือกรับงานแสดงภาพยนตร์ รวมถึงการจากไปของศิลปินดังหลายๆ คน บทบาทของโลกยุคดิจิทัลที่มิวสิกสตรีมมิงมีบทบาทชัดเจน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นทิศทางของอุตสาหกรรมดนตรีในอนาคตได้อย่างน่าสนใจ

 

เพราะฉะนั้น เราลองมาย้อนดูกันว่าวงการดนตรีตลอดปี 2018 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์อะไรสำคัญเกิดขึ้นบ้าง

 

 

เพลง Luis Fonsi – Despacito ft. Daddy Yankee

 

Tech Support

รู้หรือไม่ว่าทุกวันนี้มีคนเข้าใช้งาน YouTube หลักๆ เพื่อใช้ฟังเพลงจำนวนกว่า 1.5 พันล้านคนทั่วโลก (เพลงที่มียอดวิวใน YouTube สูงสุด นับถึงเดือนธันวาคม 2018 คือเพลง Luis Fonsi – Despacito ft. Daddy Yankee ที่มียอดวิวสูงถึง 5.77 พันล้านวิว!) ยังไม่รวมผู้ใช้งานที่ยอมจ่ายเงินให้กับบริการสตรีมมิงมิวสิกเจ้าอื่นๆ ทั้ง Spotify, Apple Music และอีกมากมายที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2018 กระแสการสตรีมเพลงก็ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Best Buy ได้ออกมาประกาศเลิกขายแผ่นซีดีอัลบั้มตั้งแต่ต้นปี 2018 รวมถึง Target ที่ก็อาจจะดำเนินนโยบายตามรอยด้วยเช่นเดียวกัน

 

เพื่อเป็นการยืนยันว่าผู้ใช้งานหันมาใช้บริการสตรีมมิงมิวสิกสูงขึ้นกว่าช่องทางอื่นๆ มีรายงานเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า คนเราหันมาฟังเพลงผ่านบริการสตรีมมิงมิวสิกมากถึง 75% ของทั้งหมด ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับการซื้อเพลงแบบ Physical เช่นแผ่นซีดีอัลบั้ม ที่มีเพียง 10% เท่านั้น

 

แม้เมื่อเดือนกรกฎาคมจะมีรายงานว่า Apple Music มียอดผู้ใช้งานในสหรัฐอเมริกา และแคนาดามากกว่า Spotify ก็ตาม แต่จำนวนผู้ใช้งานของ Spotify รอบโลกสูงถึง 191 ล้านคน ซึ่งเป็นสมาชิก Spotify Premium (แบบจ่ายเงิน) ก็มีสูงถึง 87 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้ใช้งาน Apple Music (แบบจ่ายเงิน) รอบโลก นับจากยอดเดือนพฤษภาคม 2018 อยู่ที่ประมาณ 50 ล้านคนเท่านั้น โดยศิลปินที่มียอดสตรีมสูงที่สุดในโลกประจำปี 2018 ทั้งของ Spotify และ Apple Music คือ เดรก และยังเป็นศิลปินเจ้าของเพลงที่มียอดสตรีมสูงที่สุดในโลกประจำปี 2018 อย่างเพลง God’s Plan ด้วย

 

 

God’s Plan – Drake

 

แต่ถ้ามองในแง่ดี เทคโนโลยีในยุคดิจิทัลก็มีประโยชน์และสะดวกเหลือเกิน ทั้งกับผู้บริโภคและตัวศิลปินเอง บริการสตรีมมิงมิวสิกต่างพยายามพัฒนา สรรหาฟีเจอร์เจ๋งๆ เพื่อตอบสนองและเอาใจผู้ใช้งานแบบสุดๆ นอกจากการใช้อัลกอริทึมในการคัดเลือกเพลงมาเป็นเพลย์ลิสต์ส่วนตัวสำหรับแต่ละคนแล้ว ล่าสุดยังมีการร่วมมือกับ Google Map เพื่อให้ผู้ใช้งานฟังเพลงตอนขับรถแบบไม่ต้องเปลี่ยนแอปฯ ไปมาด้วย ซึ่งใช้ได้กับทั้ง Spotify และ Apple Music

 

ฝั่ง Spotify เองที่เปิดตัวในประเทศไทยมาได้ครบปี ก็ยังคงเป็นที่นิยมขึ้นเรื่อยๆ เพราะเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานดาวน์โหลดเพลงเก็บไว้ฟังตอนออฟไลน์ได้ถึง 10,000 เพลง โดยในช่วงหลังยังเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ Spotify for Artists ที่อนุญาตให้ศิลปินอิสระอัปโหลดผลงานเพลงของตัวเองลงใน Spotify ได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอย่างค่ายเพลง หรือต้องไปจ่ายเงินจ้างให้บริษัท Third-Party เหมือนเมื่อก่อน (ฟีเจอร์นี้ยังไม่เปิดใช้งานในประเทศไทย)

 

นอกจากบริการสตรีมมิงมิวสิกที่ทำให้คนรักเสียงเพลงได้ประโยชน์จากโลกดิจิทัลอย่างเต็มที่แล้ว กระแสของคอนเสิร์ตโฮโลแกรมก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ทั้งคอนเสิร์ตของ รอย ออร์บิสัน และมาเรีย คอลลาส ซึ่งจัดทำโดยบริษัท BASE Hologram โดยมีข่าวลือว่าในปี 2019 เราอาจได้ดูทัวร์คอนเสิร์ตของ เอมี ไวน์เฮาส์ แบบโฮโลแกรมอีกด้วย

 

Photo: i.ytimg.com

Globalization

เป็นเรื่องน่ายินดีที่เราได้เห็น Globalization ทำงานในอุตสาหกรรมดนตรีบ้านเราอย่างชัดเจน เพราะปี 2018 ที่ผ่านมา เป็นปีที่มีศิลปินและวงดนตรีจากทั่วโลกเดินทางมาประเทศไทยถี่เหลือเกิน ไม่ว่าจะเป็น เซลีน ดิออน, ดัว ลิปา, Honne, แซม สมิธ, The Weeknd และอีกมากมาย จนทำให้แฟนเพลงชาวไทยใจชื้นว่า ต่อไปเราก็มีโอกาสได้ดูทัวร์คอนเสิร์ตจากศิลปินดังๆ ต่างประเทศได้เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ เหมือนกัน

 

นอกจากศิลปินต่างประเทศที่บินมาไทยแล้ว ประเทศไทยเองก็ส่งออกศิลปินไปเมืองนอกกับเขาเหมือนกัน ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็เช่น ภูมิ วิภูริศ เจ้าของเพลงฮิต Lover Boy ที่มียอดวิวใน YouTube สูงถึง 29 ล้านวิว จนทำให้ภูมิได้ทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลก ทั้งอังกฤษ เยอรมนี โปแลนด์ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี สหรัฐอเมริกา และประเทศฝั่งเอเชียอีกหลายประเทศ แถมล่าสุดเขายังได้โชว์ในแชนเนลดนตรีชื่อดังอย่าง A Colors Show อีกด้วย

 

ไม่ใช่แค่ ภูมิ วิภูริศ ที่สร้างชื่อให้ศิลปินไทยเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ยังมีศิลปินขวัญใจมหาชนอย่าง วี วิโอเลต ที่ทำผลงานเพลงเองทั้งหมด และปล่อยซิงเกิลเพลงภาษาอังกฤษ ออกมา ทั้ง Drive และ Smoke ซึ่งก็ฮิตติดหูทุกเพลง เธอยังได้ร่วมงานกับดีเจชื่อดังอย่าง Wayfloe อีกด้วย

 

ล่าสุดศิลปินไทย The TOYS ยังได้รับรางวัล Best New Asian Artist Thailand จากงาน 2018 Mnet Asian Music Awards (MAMA) ที่ DDP Dongdaemun Design Plaza ประเทศเกาหลีใต้ไปครองด้วย และหลังจากเขาไปปรากฏตัวในงาน ชื่อของ The TOYS ก็ติดเทรนด์ชื่อที่มีคนค้นหามากที่สุดในเว็บไซต์ Melon ของประเทศเกาหลีอีกต่างหาก

 

Photo: cdn.vox-cdn.com

 

Music Goes Political

ในปี 2018 ถือเป็นปีที่การเมืองร้อนระอุในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างในสหรัฐอเมริกา ที่ทุกอย่างถูกโยงเข้าเรื่อง Politic ไปหมด เช่นเดียวกับศิลปินในวงการดนตรีหลายๆ คนที่เอาตัวเองเข้าไปพ่วงในสถานการณ์ทางการเมืองในครั้งนี้ อย่างเมื่อเดือนตุลาคมที่แรปเปอร์คานเย่ เข้าพบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงทำเนียบขาว และใช้เวลาร่วม 10 นาที พูดคุยเพื่อแสดงความสนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จนกลายเป็นกระแสบนโลกอินเทอร์เน็ต

 

หรือการแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเทศ การปกครอง ข่าว สถานการณ์ทางการเมือง ผ่านบทเพลง ก็ยังคงมีอยู่เสมอ ตั้งแต่สมัยเพลง Imagine ของจอห์น เลนนอน ในปี 2018 เอง ก็มีศิลปินที่ออกมาทำเพลง เพื่อบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ให้เราเห็นสภาวะสังคมของประเทศในช่วงเวลานั้นๆ เช่นกัน อย่าง This is America ของไชล์ดิช แกมบิโน ที่ปล่อยออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคม และปัจจุบันมียอดวิวสูงถึง 440 ล้านวิวใน YouTube หรืออย่างประเทศไทย ก็มีเพลงอย่าง ประเทศกูมี ของศิลปิน Rap Against Dictatorship เมื่อเดือนตุลาคม

 

ยังมีศิลปินอีกหลายคนที่หันมาแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างชัดเจน เทย์เลอร์ สวิฟต์ ที่ออกมาเลือกฝั่งทางการเมืองเป็นครั้งแรก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เธอเป็นศิลปินวางตัวเป็นกลางมาโดยตลอด จนไม่นานมานี้เธอโพสต์ลงในทวิตเตอร์ของตัวเองว่า ตัวเองสนับสนุนสิทธิ LGBTQ และอยู่ฝั่ง Democrat จนทำให้สื่อพร้อมใจกันตีข่าวของเธอกันใหญ่

 

นอกจากศิลปินจะเลือกข้างทางการเมืองแล้ว ยังมีคนที่หันหน้าเข้าร่วมระบบด้วยเลย อย่าง ริฮานนา ที่เพิ่งได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็ม (Ambassador Extraordinary and Plenipotentiary) ซึ่งมีความรับผิดชอบพิเศษในการประชาสัมพันธ์ด้านการศึกษา การท่องเที่ยว และการลงทุนในเกาะบาร์เบโดส ซึ่งเธอก็เป็นศิลปินที่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และสนับสนุนนายกรัฐมนตรีหญิงมีอา มอตต์ลีย์ มาโดยตลอด

 

Photo: consequenceofsound.files.wordpress.com

 

Fraud

น่าแปลกใจที่ประเด็นข่าวในวงการดนตรีที่เราเห็นบ่อยที่สุดในปี 2018 คือประเด็นการฉ้อโกง ก๊อบปี้ หลอก ฟ้องร้องกันเองในวงการดนตรี ตั้งแต่ต้นปี ในเดือนมกราคมที่ศิลปิน ลานา เดล เรย์ ออกมาทวีตว่า เธอถูก Radiohead ฟ้องร้องด้วยข้อกล่าวหาว่าเพลง Get Free ของเธอ จากอัลบั้ม Lust for Life ไปคล้ายกับเพลง Creep ของ Radiohead มากเกิน แม้ว่าเธอจะไม่ได้มีแรงบันดาลใจมาจากเพลงดังกล่าวเลย โดยภายหลังทนายฝั่ง Radiohead ก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่มีการฟ้องร้องดังกล่าวเกิดขึ้น แต่ก็ขอให้มีการขึ้นเครดิตเพลง Creep ด้วย

 

เท่านั้นยังไม่พอ ศิลปินเจ้าของเพลงฮิตที่กวาดรางวัลหลายเวทีอย่าง เอ็ด ชีแรน ก็ยังถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ในข้อหาการลอกเลียนแบบเพลง Let’s Get It On ของตำนาน มาร์วิน เกย์ และนำไปใช้ในเพลงฮิตปี 2014 ของตัวเองอย่าง Thinking Out Loud เช่นเดียวกับ โรบิน ธิก และ ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ เจ้าของเพลง Blurred Lines ในปี 2013 ที่ถูกกล่าวหาว่าไปคล้ายกับผลงานเพลงของ มาร์วิน เกย์ อีกเพลง อย่าง Got To Give It Up เมื่อปี 1977

 

หรือฝั่งไทย ศิลปินน้องใหม่อย่าง The TOYS ก็เจอกรณีคล้ายๆ กันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ หลังมีการแชร์กันในเฟซบุ๊กว่า เพลงของเขาไปคล้ายกับเพลง Girls ของวงอินดี้จากอังกฤษ The 1975 ซึ่งภายหลัง The TOYS ก็ออกมาชี้แจงว่า เขาชื่นชอบผลงานเพลงของวงดังกล่าวมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาจทำให้ติดสไตล์มาบ้าง แต่ไม่ได้ตั้งใจลอกเลียนแบบอย่างแน่นอน

 

การฉ้อโกงยังมาในอีกหลายรูปแบบ บริการสตรีมมิงของ เจย์ซี อย่าง Tidal ที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพเสียงที่ดีและการจ่ายเงินปันผลให้ศิลปินอย่างเหมาะสม กลับถูกกล่าวหาโดยหนังสือพิมพ์สัญชาตินอร์เวย์ว่า มีการบิดเบือนจำนวนสตรีมมิงของอัลบั้ม Lemonade ของ บียอนเซ่ และอัลบั้ม The Life of Pablo ของ คานเย่ เวสต์ ให้มียอดสตรีมมิงสูงกว่ายอดจริงถึงหลายร้อยล้านสตรีม

 

จะเห็นได้ว่าบทสรุปของข่าวในวงการดนตรีปี 2018 ก็มีทั้งข่าวดีและข่าวไม่ค่อยดีปนกันไป แต่เราก็พอจะสรุปได้ว่า การสตรีมมิงจะยังคงอยู่ไปอีกนาน (พร้อมฟีเจอร์ใหม่ๆ มากขึ้นทุกปี) เพื่อรองรับความสะดวกสบายในการเสพดนตรีของแฟนเพลง และด้วยข้อดีข้อนี้ ก็ทำให้เรามีโอกาสในการฟังเพลงที่หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลกมากขึ้น ศิลปินเองก็ได้ขยายฐานแฟนเพลงให้ครอบคลุมขึ้นเช่นกัน ในขณะเดียวกัน ศิลปินก็กล้าที่จะแสดงความเห็นและมีบทบาทในการพัฒนาประเทศ หรือสร้างความเปลี่ยนแปลงบนโลกมากขึ้นด้วย ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย และคงไม่มีวิธีไหนที่จะบอกลาปี 2018 ได้ดีกว่าการทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ว่า Thank u, next.

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising