×

ดนตรีกับสีผิว เสรีภาพผ่านตัวโน้ตที่ดังไปถึงหูคนทั้งโลก

17.07.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 mins. read
  • เพลงร้องแกมบ่นงึมงำบนคอร์ด 3 คอร์ดวนไปวนมาแบบเรียบง่ายอย่างเพลงบลูส์นี่ล่ะ เป็นมรดกในพงศาวดารดนตรีที่กําเนิดขึ้นโดยชุมชนผิวสีในอเมริกาตอนใต้ เรียกว่าเป็นดนตรีพื้นบ้านเลยก็ว่าได้ อาจเป็นเพราะด้วยความเรียบง่ายนี้ จึงมีศิลปินหลากหลายนําไปต่อยอดพัฒนาจนเกิดสุ้มเสียงใหม่ของตัวเองขึ้นจนขยับขยายไปทั่วอเมริกาและทั่วโลกในที่สุด
  • ‘ร็อกแอนด์โรล’ หรือเพลงร็อก ดนตรีที่ถูกเล่นและออกลูกออกหลานเป็นแนวย่อยๆ มากที่สุดในโลก จนป่านนี้ยังคงขยายเผ่าพันธุ์ไปไม่หยุดหย่อน ชาวร็อกสมัยใหม่อาจจะไม่ทราบด้วยซํ้าว่าเสด็จทวดของคุณก็คือบลูส์นี่แหละ โดยบุคคลที่ทําการดัดแปลงดนตรีบลูส์ให้เกิดเป็นเพลงร็อกขึ้นมามีชื่อว่า ชัค เบอร์รี ศิลปินผิวสีที่ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของร็อกแอนด์โรล
  • บทเพลงฮิปฮอปเปรียบเสมือนบทกวีสะท้อนความเป็นจริงในสังคมที่มีแหล่งกําเนิดอยู่ข้างถนน เป็นเพชรในตมที่เพิ่งถูกค้นพบในช่วงปลายยุค 70 ในเขตเซาท์บรองซ์ ย่านแห่งคนผิวสีในมหานครนิวยอร์กที่ใช้ชีวิตแบบชนชั้นกรรมาชีพ เป็นแนวเพลงใหม่ที่เกิดขึ้นจากซอกหลืบของสังคมเมืองใหญ่ ไม่เหมือนแนวเพลงอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่พัฒนามาจากบทเพลงพื้นบ้านตามชนบท

 

“ดาร์ลี่คือดาร์กี้ ดีเหมือนเดิม” สโลแกนดักแก่ที่ครั้งหนึ่งยาสีฟันยี่ห้อดังต้องเปลี่ยนทั้งชื่อและเครื่องหมายการค้า จากภาพวาดชายผิวดําฟันขาวเป็นชายผิวขาวฟันขาวแทน เพื่อหลีกเลี่ยงประเด็นการเหยียดสีผิวในอเมริกา ใครที่เกิดหลังปี 1989 คงไม่มีโอกาสได้ใช้ยาสีฟันดาร์กี้เหมือนลุงๆ ป้าๆ แถวนี้แน่นอน

 

จากเหตุการณ์ประท้วงอันเนื่องมาจากการกระทําเกินกว่าเหตุของตํารวจต่อชายผิวสี จอร์จ ฟลอยด์ จนถึงแก่ชีวิตในช่วงเดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา ทําให้เราตระหนักได้ว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของเชื้อชาติต่างๆ ในอเมริกานั้นยังคงไม่เลือนหายไปในโลกของความเป็นจริง ถึงแม้ว่าประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ได้ดําเนินนโยบายเลิกทาสไปตั้งแต่ปี 1862 แล้ว และนโยบายนี้เองที่เป็นชนวนให้เกิดสงครามกลางเมืองอันเรือหายวายป่วงในอเมริกาอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา

 

ด้วยระยะห่างกว่าครึ่งโลกกับมิติเวลาที่ต่างกันราว 12 ชั่วโมงระหว่างอเมริกากับดินแดนแห่งชนผิวเหลืองอย่างบ้านเรา เราอาจไม่ได้เข้าใจบริบทของการประท้วงในปัจจุบันอย่างถ่องแท้นักว่าเหตุใดมันจึงอ่อนไหวเหลือเกิน หรือมันอาจคล้ายกับที่คนบ้านเราชอบเหยียดพฤติกรรมของประเทศเพื่อนบ้านเหมือนเป็นเรื่องตลกโปกฮา โดยมิได้ให้ค่าว่าตึกสูงใหญ่ทั้งหลายในเมืองหลวงที่ตั้งโด่ไม่รู้ล้มขึ้นมาได้ยุบยับขนาดนี้ล้วนสร้างมาจากหยาดเหงื่อแรงงานของพวกเขาแทบทั้งสิ้น 

 

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สังเกตได้ชัดเจนคืออเมริกาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดในโลก และเป็นประเทศที่ประชาสัมพันธ์ตัวเองอย่างเต็มทวารทั้งเก้าว่าบ้านเขาเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพในทุกช่องเปิด ซึ่งคุณลักษณะทั้งสองข้อนี้เหมือนเป็นเงื่อนไขอันขรุขระในการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก นี่อาจเป็นปมสําคัญที่ทําให้ประเด็นปัญหาการเหยียดผิวเป็นเรื่องอ่อนไหวและคอขาดบาดตายจนฝังรากลึกในสังคมอเมริกันมาอย่างช้านาน

 

เมื่อสิบล้านคนยลตามช่อง สิ่งที่เห็นย่อมแตกต่างกันเป็นพันล้านอย่าง แต่โชคดีที่เรายังมีประสาทสัมผัสทางอื่นที่สามารถรับรู้ร่วมกันได้โดยปราศจากข้อกังขา แทนที่จะใช้ตาเนื้อดู เราสามารถรับรู้ร่วมกันด้วยหูที่ได้ยินเสียงดนตรีอันเป็นภาษาสากล ไม่ว่าเชื้อชาติไหนก็สามารถเคลื่อนไหวไปกับความไพเราะของกลุ่มตัวโน้ตที่มาสั่นพ้องพร้อมกันในทั้งหูเล็ก หูใหญ่ ต่างไซส์ ต่างสีได้ไม่ยาก เป็นสิ่งน่าพิศวงมากที่คลื่นความถี่เหล่านี้ได้เข้ามามีอิทธิพลกับอารมณ์ความรู้สึกของมนุษยชาติมาตั้งแต่สมัยดึกดําบรรพ์ ใครหนอช่างเป็นผู้สร้างสรรค์สุ้มเสียงสูงตํ่ามาประกอบช่วงชีวิตต่างๆ ของเราได้อย่างจับใจ

 

 

รากเหง้าของชนเผ่าดนตรี

เป็นที่ยอมรับกันว่าอุตสาหกรรมดนตรีของอเมริกาในปัจจุบันนับเป็นพื้นที่ที่กว้างใหญ่และมีอิทธิพลต่อดนตรีป๊อปทั่วโลกมากที่สุดมาเกือบค่อนศตวรรษแล้ว ก่อนที่แนวดนตรีในปัจจุบันจะมีความหลากหลาย ข้ามสายพันธุ์ ครอสโอเวอร์กันไปมาจนมีชื่อเรียกใหม่ๆ ได้เป็นร้อยเป็นพันแนว วิธีง่ายที่สุดที่จะทําความรู้จักกับดนตรีสไตล์ต่างๆ คือการย้อนกลับไปหาฟังคุณทวดอันเป็นบรรพบุรุษของเพลงเหล่านั้น เราจะพบว่าจุดเริ่มต้นมันไม่ได้ซับซ้อนเกินจะเข้าใจเลย และข้อเท็จจริงที่ค้นพบคือรากเหง้าของดนตรีที่เห็นกันบนชาร์ตเพลงฮิตต่างๆ ยาวนานมาจนถึงปัจจุบันล้วนมีที่มาจากดนตรีของชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน หรือที่เราเรียกกันว่าชาวผิวสี ‘แทบทั้งสิ้น’

 

‘แทบทั้งสิ้น’ ในที่นี้หมายถึงถ้าโลกนี้ไม่มีดนตรีของชาวผิวสีเป็นรากฐาน แผนที่โลกในเชิงดนตรีต้องมีรูปร่างที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยสิ้นเชิงอย่างแน่นอน เราอาจยังคงนั่งจิบชาเอิร์ลเกรย์ฟังเพลงคลาสสิกของโมสาร์ตหรือบีโธเฟนที่ถูกประพันธ์มาแล้วหลายศตวรรษวนซํ้าไปซํ้ามา อเมริกาจะไม่มี อะรีอานา กรานเด หรือไมเคิล แจ็คสัน เกาหลีจะไม่มี BLACKPINK ย้อนไปจนกระทั่งเรน และไทยเราจะไม่มี บอย โกสิยพงษ์ หรือฟักกลิ้ง ฮีโร่ ไปจนถึงพี่ตู้ ดิเรก โลกที่เรารู้จักจะไม่ได้มีหน้าตาแบบที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ มันอาจจะเป็นโลกคู่ขนานจืดๆ เหมือนลาเต้เย็นจากร้านกาแฟแมลงดาวสาขาชิบูย่าที่เราเข้าไปซื้อกาแฟเพื่อแลกกับมุมถ่ายรูปลงมาที่ห้าแยกสาแหรกขาดอันลือลั่นเท่านั้นเอง

 

จากโลกใบเก่าที่มีเพียงบทเพลงคลาสสิกอันเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์และรูปฟอร์มแห่งความไพเราะในแบบอุดมคติ ชาวผิวสีได้เข้ามาสร้างนิยามของความไพเราะในรูปแบบใหม่ที่ไร้กฎเกณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นการเร่งเร้าหรือดึงหย่อนจังหวะตามอารมณ์เหมือนเป็นผู้ขับขี่กุมบังเหียนจังหวะให้หลุดจากแพตเทิร์นเดิมๆ แต่ไม่ข้ามเลน ไม่ย้อนศรเหมือนนักบิดย่านเอกมัยให้ขัดหูขัดใจ และการจัดเรียงตัวโน้ตสอดประสานแบบนอกกฎจนได้ผิวสัมผัสแบบใหม่ จากผิวเรียบกลายเป็นผิวไม่เรียบ แบบมีปุ่มและแบบขีด ให้ประสบการณ์สุขสมแบบไม่รู้ลืมให้กับรูหูของผู้เสพจนต้องขอซํ้าไม่หยุดหย่อน

 

 

ชาติพันธ์ุที่มาพร้อมกับพรสวรรค์ทางดนตรี

‘ดนตรีในหัวใจ’ วลีง่ายๆ ที่อาจต้องขยายความกันหน่อยว่าทําไมไม่เป็นดนตรีในก้านสมองหรือดนตรีในไส้ติ่ง เพราะในเมื่อสิ่งที่เป็นเสาหลักของดนตรีก่อนที่จะมีตัวโน้ตมาแหวกว่ายนั้นก็คือ ‘จังหวะ’ นั่นเอง และเราทุกคนต่างก็มีอวัยวะที่คอยให้จังหวะสูบฉีดให้ชีพจรได้ตอดตุบๆ ตามเป็นกรู๊ฟเดียวกันทั่วร่างกาย นั่นคือ ‘หัวใจ’ เมื่อจังหวะดนตรีสั่นพ้องกับจังหวะของหัวใจ การรับรู้และการตอบสนองจากร่างกายและจิตใจมนุษย์จึงเกิดขึ้น 

 

ชาวผิวสีอาจมีจังหวะของหัวใจที่เป็นเอกลักษณ์ หรือด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตามที่ยังรอคําตอบ จึงทําให้ประสาทสัมผัสทางจังหวะของเขาได้ถ่ายทอดความรับรู้ไปสู่คนขาว และกระจายไปทั่วโลกในที่สุด 

 

เครื่องดนตรีสากลหลายชนิด โดยเฉพาะเครื่องให้จังหวะที่อยู่ในดนตรีป๊อปปัจจุบัน มีหลายชิ้นเลยทีเดียวที่มีพัฒนาการมาจากเครื่องให้จังหวะของชนเผ่าต่างๆ ในทวีปแอฟริกา และไปเติบโตในประเทศแถบแคริบเบียนอย่างคิวบาและจาเมกาเมื่อครั้งที่มีการขนถ่ายทาสชาวแอฟริกันไปใช้แรงงานที่นั่นในยุคล่าอาณานิคมจากสเปน คิวบาจึงกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สําคัญที่เอื้อต่อการปฏิสนธิระหว่างดนตรีของชาวแอฟริกันและลาตินอเมริกาจนเกิดแนวดนตรีอย่างอโฟร-คิวบัน ซัลซ่า และรุมบ้า ส่วนดนตรีเรกเก้ก็ถูกก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาในจาเมกา โดยมี บ๊อบ มาร์เลย์ เป็นศิลปินไอคอนตลอดกาล 

 

เห็นไหมว่าชาวผิวสีเชื้อชาติแอฟริกัน ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหนก็ล้วนนําพาดนตรีของเขาไปด้วย จนแนวดนตรีเหล่านี้ได้ออกลูกออกหลานไปขับกล่อมคนทั่วโลก และแผ่นดินอเมริกาก็มีแร่ธาตุอย่างดีที่ช่วยทําให้เมล็ดพันธุ์ดนตรีของพวกเขาเติบโตแตกกิ่งก้านสาขาเป็นผลิตภัณฑ์ส่งออกไปทั่วโลก โดยมีหน้าร้านเป็น Apple Music, Spotify, Tidal ฯลฯ อีกทั้งเหตุผลทางกายวิภาคและสรีระที่ทําให้คนผิวสีสามารถเปล่งเสียงที่ไพเราะอย่างได้เปรียบกว่าเชื้อชาติใดๆ ดนตรีอเมริกันจึงได้รับอิทธิพลจากดนตรีของชาวผิวสีมาเต็มๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีโซล ริทึมแอนด์บลูส์ ฮิปฮอป จนในที่สุดมันก็ได้ไปเยือนทั่วทุกมุมโลกเป็นที่เรียบร้อยในปัจจุบันสมัย

 

 

*Fun Fact: เพลง No Woman, No Cry ไม่ได้เป็นเพลงอกหักรักคุดแบบที่หลายคนเข้าใจ อย่าพลาดปล่อยไก่แปลเป็น “ถ้าไม่มีผู้หญิงก็คงไม่ต้องร้องไห้” นะ เพราะจริงๆ แล้วพี่บ๊อบเขามีเจตนาในการปลอบประโลม โดยความหมายของประโยคนี้จริงๆ แล้วคือ “โอ๋ๆ นะเธอ อย่าร้องไห้ไปเลย” คือพี่เขาพูดปลอบผู้หญิง แต่พอดีแกเล่นร้องประโยคนี้ซํ้าวนไปมาเกิน 8 บรรทัด เกินโควตาการจับใจความของเราไปหน่อย เราจึงตีความผิดไปตามๆ กัน เนื้อหาโดยรวมของเพลงกล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในย่านเทรนช์ทาวน์ บ้านเกิดของพี่บ๊อบ อันเกิดจากความเห็นต่างทางการเมืองของสองขั้วอํานาจ ทําให้ประชาชนต้องลําบากยากเข็ญจนต้องเสียนํ้าตา

 

บลูส์ พ่อทุกสถาบัน

เพลงร้องแกมบ่นงึมงำบนคอร์ด 3 คอร์ดวนไปวนมาแบบเรียบง่ายอย่างเพลงบลูส์นี่ล่ะ เป็นมรดกในพงศาวดารดนตรีที่กําเนิดขึ้นโดยชุมชนผิวสีในอเมริกาตอนใต้ เรียกว่าเป็นดนตรีพื้นบ้านเลยก็ว่าได้ และนับตั้งแต่ช่วงหลังสงครามกลางเมืองได้จบลง อาจเป็นเพราะด้วยความเรียบง่ายนี้ จึงมีศิลปินหลากหลายนําไปต่อยอดพัฒนาจนเกิดสุ้มเสียงใหม่ของตัวเองขึ้นจนขยับขยายไปทั่วอเมริกาและทั่วโลกในที่สุด

 

ในอดีต ทางตอนใต้ของอเมริกามีการใช้แรงงานทาสผิวสีอย่างแพร่หลายในภาคการเกษตร งานฝีมือ และผู้รับใช้ตามบ้าน จนเมื่อมีการประกาศเลิกทาส กลุ่มนายทุนทางฝ่ายใต้เป็นผู้เสียผลประโยชน์ จึงก่อการประท้วงจนลุกลามไปเป็นสงครามกลางเมือง แต่ในที่สุดก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ฝ่ายเหนือในปี 1865 เหตุฉะนี้ชาวผิวสีในตอนใต้จึงยังคงได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ถึงแม้จะได้รับอิสรภาพมาแล้ว ความบีบคั้นรันทดทางจิตใจได้ถูกสาธยายมาเป็นเพลงบลูส์ เนื้อเพลงเป็นแนวสลดหดหู่ เพลงบลูส์ในยุคแรกจึงเต็มไปด้วยอารมณ์และจิตวิญญาณ มีพื้นที่สําหรับการด้นสดให้ปลดปล่อยจิตใจออกมาเป็นคําร้องและทํานองในแบบที่สังคมสมัยนั้นไม่มีพื้นที่ให้

 

 

ล่วงเลยมาจนถึงศตวรรษที่ 20 โลกได้ให้กําเนิดศิลปินบลูส์ผิวสีอย่าง มัดดี้ วอเตอร์ส, จอห์น ลี ฮุกเกอร์, บี.บี. คิง แล้วยังโปรยเสน่ห์ไปโดนใจคนขาวจนเกิดบลูส์แมนเผือกอย่าง สตีวี เรย์ วอห์น, บิลลี่ กิบบอนส์ แห่งคณะ ZZ Top และเท่านั้นยังไม่พอ บลูส์ได้ข้ามทะเลไปถึงฝั่งอังกฤษจนเกิดบลูส์แมนจากเมืองผู้ดีอย่าง โรรี กัลลาเกอร์, เอริก แคลปตัน, John Mayall & The Bluesbreaker เรียกว่าของมันแรงจริงๆ ความไหลลื่นของดนตรีบลูส์ได้นําพาไปสู่การเปิดโลกใหม่แห่งแรงบันดาลใจสําหรับเพลงในศตวรรษที่ 20 แตกแขนงออกไปหลายสาขาจนน่าพิศวงว่ามันถูกนํามาตัดต่อพันธุกรรมไปไกลโขขนาดนี้ได้อย่างไร

 

ร็อกแอนด์โรลลูกพ่อ

ในยุค 50 ได้มีการนําเอาฟอร์มของเพลงบลูส์มาดัดแปลงเป็นจังหวะที่หนักแน่น สนุกสนาน เจือปนด้วยความตรงไปตรงมาของเพลงคันทรี เกิดเป็นดนตรีอีกแนวหนึ่งที่ยิ่งใหญ่และยืนยาวมาจนถึงปัจจุบัน เรียกว่า ‘ร็อกแอนด์โรล’ หรือเพลงร็อก ดนตรีที่ถูกเล่นและออกลูกออกหลานเป็นแนวย่อยๆ มากที่สุดในโลก จนป่านนี้ยังคงขยายเผ่าพันธุ์ไปไม่หยุดหย่อน ชาวร็อกสมัยใหม่อาจจะไม่ทราบด้วยซํ้าว่าเสด็จทวดของคุณก็คือบลูส์นี่ล่ะ โดยบุคคลที่ทําการดัดแปลงดนตรีบลูส์ให้เกิดเป็นเพลงร็อกขึ้นมามีชื่อว่า ชัค เบอร์รี ศิลปินผิวสีที่ถูกยกย่องให้เป็นบิดาของร็อกแอนด์โรล

 

 

ดนตรีร็อกได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ในยุค 60-70 และเป็นที่ยอมรับของคนทุกเชื้อชาติ แผ่ขยายไปยังฝั่งอังกฤษ แล้วย้อนกลับมาฮิตในอเมริกาอีกพัลวัน วงร็อกได้กําเนิดขึ้นมากมายในยุคนี้ อย่าง The Rolling Stones ที่เป็นแฟนตัวยงของชัค ตามด้วย Led Zeppelin, Pink Floyd, Pixies ที่แต่ละวงได้นําพาเพลงร็อกแตกกิ่งก้านสาขาไปคนละทิศละทาง ด้วยอิสรภาพในการตีความและความสร้างสรรค์ของแต่ละปัจเจก ผสมกับสายเลือดของคนขาวที่นิยมนำดนตรีแนวนี้มาเล่นเอามากๆ

 

ร็อกสตาร์ผิวสีอีกคนที่ถ้าไม่กล่าวถึง บทความนี้คงไม่สมบูรณ์ นั่นคือ จิมมี่ เฮนดริกซ์ ศิลปินไซคีเดลิกร็อกผิวสีจากเมืองซีแอตเทิลที่พกสําเนียงร็อกบาดลึกแบบบลูส์ๆ เข้ามาปนกับสีสันความหลอนของบุปผาชนในช่วงกลางถึงปลายยุค 60 ถึงแม้จิมมี่จะมีเวลาที่โลดแล่นอยู่บนเส้นทางดนตรีได้ไม่นานก่อนเขาจะเสียชีวิตด้วยวัยเพียง 27 ปี แต่ผลงานและชื่อเสียงของเขายังคงเป็นอมตะและถูกนํามาอ้างอิงอยู่เสมอจนถึงปัจจุบัน

 

 

โซล, ฟังก์, ริทึมแอนด์บลูส์ ลูกอีกคนที่รับช่วงต่อขยายกงสี

ถ้ากระโดดมาฟังเพลงในเจเนอเรชันปัจจุบันเลย คงเป็นที่งงงวยไม่น้อยว่าพี่น้องสายโซลและอาร์แอนด์บีจะถูกพัฒนามาจากดนตรีบลูส์เช่นเดียวกับร็อกแอนด์โรลได้อย่างไร แต่ด้วยกิ่งก้านสาขาที่แตกแขนงออกไปต่างทิศทางมากว่า 70 ปี ยอดใบอ่อนที่เพิ่งผลิใหม่ย่อมอยู่ห่างไกลกันเป็นเรื่องธรรมดา แม้รากเหง้าที่หยั่งลึกลงในดินจะยังคงเป็นต้นเดียวกัน

 

เป็นที่เล่าขานกันมาว่าจากเพลงบลูส์ที่เล่นกันเองตามบ้าน และเริ่มเป็นที่นิยมขึ้นจนขยายอาณาเขตไปยังเมืองใหญ่อย่างดีทรอยต์ ชิคาโก และลอสแอนเจลิสที่เต็มไปด้วยคลับบาร์เหมือนย่านทองหล่อแห่งเมืองลุงแซม วงดนตรีต้องใช้เสียงดังขึ้นเพื่อรองรับฝูงชนและสถานที่ จึงมีการเพิ่มเครื่องดนตรีชุดใหญ่อย่างเปียโน กลองชุด แซกโซโฟน และวงเครื่องทองเหลือง ทําให้เกิดเป็นสุ้มเสียงใหม่ขึ้น ซึ่งในช่วงแรกยังไม่ได้มีการให้คําจํากัดความกับดนตรีแนวนี้อย่างชัดเจนนัก ในชาร์ตเพลงสมัยนั้นใช้คําว่า Harlem Hit Parade, Sepia และ Race กับดนตรีแนวนี้ ซึ่งมีความหมายเชิงนัยว่าเป็นเพลงของชาวผิวสีทั้งสิ้น (ฮาร์เลมเป็นชื่อย่านที่อยู่อาศัยของชาวผิวสีในนิวยอร์ก) ซึ่งฟังดูแบ่งแยก จึงมีการบัญญัติชื่อขึ้นมาใหม่โดยนิตยสาร Billboard ว่า ‘ริทึมแอนด์บลูส์’ ซึ่งเพลงในชาร์ตยุคแรกที่ใช้ชื่อนี้มีความหลากหลายสายพันธุ์มาก จนกระทั่งในช่วงยุค 60 เมื่อมีการก่อตั้งค่ายเพลง Motown Records ขึ้น และผลิตศิลปินมากมายที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์ความเป็นริทึมแอนด์บลูส์ให้ชัดเจนขึ้นตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา เช่น ศิลปินอย่าง สโมกกี้ โรบินสัน, มาร์วิน เกย์, The Supremes, The Temptations และอีกมากมายหลายกระบุง 

 

 

สุ้มเสียงแบบ Motown Records ได้กลายเป็นจุดกําเนิดของแรงบันดาลใจให้กับหลายศิลปินในยุคต่อมา รวมทั้งยุคบอยแบนด์ผิวขาวในช่วง 90-00 จนริทึมแอนด์บลูส์ได้กลายเป็นแนวเพลงกระแสหลักของโลกอีกแนวหนึ่งในที่สุด

 

อีกค่ายเพลงที่ตีคู่กันมากับ Motown Records ราวกับค่ายอากู๋คู่อาเฮียคือ Stax Records จากเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี ที่ผลิตศิลปินผิวสีคุณภาพสูงมากมายในยุคเดียวกัน แต่แนวทางของ Stax Records จะออกไปทางโซล กอสเปล และฟังก์เสียมากกว่า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลิตผลที่แปรรูปมาจากบลูส์อีกทีอีกแล้ว ไม่ว่าเราจะย้อนอดีตกลับไปทางไหน อย่างไรก็ต้องเจอบลูส์ ศิลปินจานเด่นของค่ายนี้ เช่น โอทิส เรดดิง, อัลเบิร์ต คิง 

 

 

ในปี 2011 ได้มีศิลปินฮิปฮอปรุ่นหลังอย่าง เจย์-ซี และคานเย เวสต์ ได้หยิบเอาส่วนหนึ่งของเพลง Try A Little Tenderness ของโอทิส เรดดิง มาแซมเปิลลงในผลงานร่วมกันของทั้งคู่ในเพลงที่ชื่อ ‘Otis’ ซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ค่อนไปทางบวกว่าเป็นหนึ่งใน 15 เพลงฮิปฮอปที่ใช้เสียงแซมเปิลจากบทเพลงในอดีตได้ลงตัวที่สุดจากเว็บไซต์ hotnewhiphop.com

 

 

เรียกแจ๊สว่าแม่

ถ้าบลูส์เป็นคุณพ่อก็คงต้องยกให้แจ๊สเป็นคุณแม่ แนวดนตรีที่อเมริกันชนภูมิใจหนักหนาว่าเป็นเพลงที่มีชาติกําเนิดและเติบโตในอเมริกาแท้ๆ จนถึงกับประกาศกร้าวว่า ‘แจ๊สคือดนตรีคลาสสิกแห่งอเมริกา’ แต่อย่างไรก็ตาม ดนตรีแนวนี้ก็มีจุดเริ่มต้นจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันเช่นกัน พื้นเพเดิมมาจากแถบนิวออร์ลีน เมืองที่ไม่ได้มีดีแค่ปีกไก่ย่าง 

 

จังหวะกระโดกกระเดกขัดไปขัดมา (Syncopation) แบบไม่คุ้นหูได้รับอิทธิพลจากดนตรีแร็กไทม์และการด้นสด (Improvisation) เป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสําหรับชนผิวขาวที่เคยคุ้นเคยกับดนตรีคลาสสิกที่มีกฎเกณฑ์และโครงสร้างที่ตายตัว แจ๊สจึงเป็นที่นิยมและได้รับการยอมรับขึ้นเรื่อยๆ ในศตวรรษที่ 20 และสําหรับศิลปินผิวสีผู้โหยหาอิสรภาพนั้น ดนตรีแจ๊สนี่ล่ะคือผืนผ้าใบว่างเปล่าอันเป็นพื้นที่ที่เหมาะเจาะให้พวกเขาได้บรรเลงศิลปะในจินตนาการลงไปได้อย่างดี เพราะบนพื้นที่นี้เหมือนเป็นพื้นที่สมมติผืนเดียวที่พวกเขาจะบรรเลงอะไรลงไปก็ได้อย่างอิสระ สามารถใส่ความรู้สึกส่วนตัวลงไปได้อย่างไม่ถูกข่มเหง 

 

ดนตรีแจ๊สจึงเหมือนเป็นผลผลิตของความโหยหาอิสรภาพแบบกลายๆ และเป็นดนตรีที่แสดงความเป็นตัวของตัวเองของปัจเจกศิลปินสูง เพราะทุกคนมีสุ้มสําเนียงที่แตกต่าง ความหลากหลายของแจ๊สจึงยากที่จะจัดหมวดหมู่ย่อยลงมาแบบฟันธงได้ชัดเจน ดังนั้นชื่อของตัวศิลปินแจ๊สเองจึงเป็นที่รู้จักมากกว่านิยามของการแบ่งย่อยเพลงแจ๊สออกเป็นหมวดหมู่ต่างๆ ซึ่งมีมากมายเหลือเกิน ชื่อศิลปินที่เราคุ้นชินในสายแจ๊ส ได้แก่ ดุค เอลลิงตัน, ไมล์ส เดวิส, หลุยส์ อาร์มสตรอง 

 

 

สู่คุณหลานฮิปฮอป เมโลดี้ที่ไม่จําเป็นต้องมีตัวโน้ต

คําว่าฮิปฮอปนั้นไม่ได้จํากัดความถึงแค่แนวดนตรี แต่มันคือวัฒนธรรมเลยก็ว่าได้ ซึ่งรวมเอาองค์ประกอบ 4 อย่างไว้ด้วยกันคือ การเล่นเทิร์นเทเบิล (DJing), การแรป (MCing), งานกราฟฟิตี้ (Graf), และการเต้นบีบอย (B-Boying) ถูกนํามาหลอมรวมกันโดยองค์ประกอบที่ 5 เป็นตัวประสาน นั่นคือญาณตื่นรู้แห่งตนและสังคม 

 

บทเพลงฮิปฮอปจึงเปรียบเสมือนบทกวีสะท้อนความเป็นจริงในสังคมที่มีแหล่งกําเนิดอยู่ข้างถนน เป็นเพชรในตมที่เพิ่งถูกค้นพบในช่วงปลายยุค 70 ในเขตเซาท์บรองซ์ ย่านแห่งคนผิวสีในมหานครนิวยอร์กที่ใช้ชีวิตแบบชนชั้นกรรมาชีพ เป็นแนวเพลงใหม่ที่เกิดขึ้นจากซอกหลืบของสังคมเมืองใหญ่ ไม่เหมือนแนวเพลงอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่พัฒนามาจากบทเพลงพื้นบ้านตามชนบท

 

จังหวะจะโคนและสําบัดสํานวนของคนผิวสีไม่เป็นรองใคร และมีพื้นที่ให้ปะทะคารมด้วยไรม์ใหม่สดของแรปเปอร์ที่มาประชันกันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในละแวกบ้าน หรือที่ชาวฮิปฮอปเรียกว่า Bloc Party ขยายความนิยมจากฝั่งตะวันตก (นิวยอร์ก) ไปยังฝั่งตะวันออก (ลอสแอนเจลิส) จากชาวแรปผิวสีดั้งเดิมไปสู่ชาวแรปผิวขาวอย่าง Beastie Boys, Eminem และกระจายออกไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว จนปัจจุบันเรามีทั้งแรปผิวเหลือง, แรปยุ่น, แรปโอปป้า, แรปตี๋, แรปแขก และดาจิม

 

 

อเมริกาเป็นประเทศที่อายุอานามยังเยาว์วัยเมื่อเทียบกับประเทศในแถบยุโรปและเอเชียที่มีอารยธรรมเป็นของตัวเองมาหลายพันปีแล้ว การที่เขาไปถางที่ไล่ล้างชาวพื้นเมืองอินเดียนแดงแล้วตั้งทุกอย่างขึ้นมาใหม่บนที่ดินเปล่าสีเลือด ทําให้ความกระสันอยากมีวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเองแท้ๆ ให้เชิดชูดูศิวิไลซ์ไม่น้อยหน้าใครในเวทีโลก จึงถูกเร่งขับออกมาอวดโอ้ให้ประจักษ์ ผลที่ได้คือขนมปังหนีบเนื้อที่เรียกว่าแฮมเบอร์เกอร์ อันถูกยกย่องให้เป็นนวัตกรรมทางอาหารที่ถูกคิดค้นในอเมริกา และกล่าวยกย่องโดยองค์กรอเมริกันเอง (โมเดลนี้คุ้นๆ นะ) 

 

แต่ทว่าของดีจริงที่ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ โดยไม่ต้องซื้อโฆษณาถี่ๆ บนยูทูบให้คนดูรําคาญว่าของดีเมืองมะกันที่แท้นั้นคือดนตรี ดนตรี และดนตรี อันมีรากฐานมาจากชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันที่มีต้นตระกูลเป็นทาสในอดีต เสียงร้องเรียกหาอิสรภาพและความเท่าเทียมถูกเปล่งออกมาเป็นเสียงเพลง และเสียงเหล่านี้ได้โด่งดังไปให้ทั่วโลกได้ยินแล้วในทุกคลื่นวิทยุ ทุกชาร์ตเพลง ทุกแพลตฟอร์มสตรีมมิง ควรยกให้เป็นเครดิตแห่งชาติที่กระทําโดยสันติวิธี โดยไม่ต้องไปไล่ล่าทิ้งระเบิดใส่หัวใครเพื่อประดับอัตตาว่าข้าคือเจ้าโลก

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising