×

กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ จี้รัฐเยียวยาเหตุระเบิดมูโนะ ผ่านไปเกือบปีชาวบ้านนับร้อยยังไม่มีที่อยู่

โดย THE STANDARD TEAM
04.06.2024
  • LOADING...
เหตุระเบิดมูโนะ

วันนี้ (4 มิถุนายน) คณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการ และ รอมฎอน ปันจอร์ รองประธานคณะกรรมาธิการ แถลง ณ รัฐสภา ในกรณีได้ยื่นหนังสือต่อ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนะเร่งด่วนเกี่ยวกับกรณีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจาก เหตุระเบิดมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ด้วยเห็นว่ารองนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ในวันพรุ่งนี้ (5 มิถุนายน)

 

จากการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนในจังหวัดนราธิวาสโดยคณะกรรมาธิการชุดดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม – 2 มิถุนายนที่ผ่านมา และได้ลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจประชาชน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 และเป็นข่าวสะเทือนขวัญครั้งใหญ่ เพราะมีผู้ได้รับผลกระทบมากถึง 2,513 คนใน 682 ครัวเรือน มีผู้บาดเจ็บ 389 คน และเสียชีวิต 11 คน รวมทั้งมีบ้านเรือนเสียหาย 649 หลัง โดยเสียหายทั้งหลัง 82 หลัง พบว่าได้มีการช่วยเหลือโดยคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับค่าซ่อมบ้านตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายเป็นจำนวน 49,500 บาทต่อราย

 

ขณะที่บ้านที่เสียหายทั้งหลังมีการเซ็นสัญญาสร้างบ้านกับรัฐไปเพียง 2 หลังเท่านั้นจาก 82 หลัง ส่วนบ้านที่เสียหายบางส่วนประชาชนซ่อมบ้านด้วยตนเองไปกว่า 368 หลัง จากเงินที่รัฐให้จำนวนเพียง 49,500 บาท รวมกับเงินที่ได้รับจากการบริจาคของประชาชนทั่วประเทศและองค์กรอื่นๆ จำนวน 34 ล้านบาท ที่มีจังหวัดรับเป็นศูนย์กลางในการรับเงินช่วยเหลือ แม้การที่หลากหลายองค์กรเข้ามาช่วยเหลือจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่พบว่าการช่วยเหลือนี้มีลักษณะต่างกัน ทั้งในแง่ความเร็ว-ช้า วงเงินในการเยียวยา การรวบรวมข้อมูลผู้เสียหาย และไม่มีหน่วยงานมาจัดการภาพรวม ทำให้ประชาชนที่ได้รับการช่วยเหลือช้าหรือบางส่วนตกหล่นไม่ทราบว่าจะไปเสนอปัญหากับใคร

 

เงินจากภาครัฐโดยคณะกรรมการกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งอนุมัติตั้งแต่เหตุการณ์เกิดขึ้นใหม่ๆ ไปแล้ว 107 ล้านบาท แต่กลับไม่สามารถใช้ได้ เนื่องจากขัดระเบียบ ทำให้มีการเรียกร้องให้ยกเว้นระเบียบมาโดยตลอด จนกระทั่งเหตุการณ์ผ่านไปถึง 9 เดือนจึงมีการเห็นชอบยกเว้นหลักเกณฑ์ โดยสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา

 

จาตุรนต์กล่าวว่า ในการลงพื้นที่พบว่ายังมีข้อมูลตกหล่น ประชาชนบางรายมาให้ข้อมูลโดยตรงว่าใช้เงินตนเองซ่อมบ้านไปแล้วล้านกว่าบาท แต่ยังไม่ได้รับเงินจากทางราชการเลย หลายคนทำอาชีพขายของในตลาด เมื่อเกิดเหตุการณ์จึงสูญเสียอาชีพไปเป็นปี และปัจจุบันต้องใช้เงินตนเองไปเช่าบ้านเอง หรือได้รับเงินบริจาคก็มาล่าช้ากว่าการจ่ายค่าเช่าบ้าน และประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงการพูดคุยกับผู้รับผิดชอบระดับสูง เช่น เมื่อคณะกรรมาธิการไปรับฟังถึงพื้นที่ ชาวบ้านบางส่วนต้องหาทางเพื่อมาพบกับเรา

 

“หลักการสำคัญอย่างหนึ่งก็คือเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องภัยธรรมชาติ และไม่ใช่เรื่องของความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัด ดังนั้นการไปใช้หลักเกณฑ์แบบการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติก็ดี ผู้ประสบผลกระทบจากความไม่สงบก็ดี เป็นการช่วยเหลือที่ไม่เพียงพอ เนื่องจากความเสียหายครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่โกดังพลุดอกไม้ไฟซึ่งเป็นวัตถุระเบิด ลักลอบเก็บโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถตรวจสอบควบคุมได้ ดังนั้นเหตุการณ์ครั้งนี้จึงเป็นความบกพร่องของรัฐ จะมารับผิดชอบตามหลักเกณฑ์แค่ 50,000 บาทไม่ได้ แต่ต้องมีการรับผิดชอบขั้นต่ำคือเท่ากับความเสียหายที่เกิดขึ้น กฎหมายระเบียบอะไรที่ยกมาใช้ได้ต้องเอามาใช้ให้หมด ความจริงจะใช้งบกลางในกรณีฉุกเฉินก็ได้ แต่ที่สำคัญคือต้องทำให้เร็วและครอบคลุมครบถ้วน” จาตุรนต์กล่าว

 

ด้านรอมฎอนกล่าวว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องแรกๆ ที่สภาผู้แทนราษฎรตั้งกระทู้สดอภิปรายกันในสภาอย่างเข้มข้น และคณะกรรมาธิการหลายชุดติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงอยากจะให้ทางรัฐบาลช่วยยกระดับการแก้ไขปัญหาที่สลับซับซ้อนนี้ ที่สำคัญก็คือมีมาตรการช่วยเหลือจากองค์กรนอกภาครัฐด้วย ทั้งเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี หรือมูลนิธิคนช่วยน แต่เราพบว่าความช่วยเหลือนั้นยังไม่เห็นภาพรวม และมีช่องว่างอยู่ไม่น้อยทีเดียว จึงสมควรที่จะตั้งคณะทำงานระดับชาติขึ้นมาโดยรัฐบาลเอง

 

“อีก 2 เดือน เหตุการณ์จะครบ 1 ปี ท่านจะเห็นเลยว่าสภาพการณ์ยังไม่ได้มีการฟื้นฟูอย่างที่ควรจะเป็น ไม่นับรวมกับวิถีชีวิตตลาดนัดชายแดนที่แต่เดิมมูโนะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย ตอนนี้สภาพเปลี่ยนไปอย่างมาก การที่รัฐบาลต้องการเสนอผลักดันเรื่องเศรษฐกิจและการค้าชายแดน รวมทั้งกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ ที่พยายามส่งเสริม มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าสัญลักษณ์ของการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวอย่างมูโนะอยู่ในสภาพอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ท่านรองนายกฯ เดินทางลงไปในพื้นที่ จะแวะไปที่ด่านสุไหงโก-ลก และพอจะมีเวลาสักเล็กน้อยอาจจะแวะไปดูที่ตลาดด้วย”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising