วานนี้ (23 กันยายน) มุลเลาะห์ นูรุดดิน ตูราบี (Mullah Nooruddin Turabi) สมาชิกระดับสูงและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มตาลีบันเผยว่า บทลงโทษที่เข้มงวด ตัดมือ ตัดเท้า รวมถึงประหารชีวิต จะถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งในอัฟกานิสถานภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน
นับตั้งแต่กลุ่มตาลีบันบุกยึดกรุงคาบูล โค่นล้มรัฐบาลอัฟกันของอดีตประธานาธิบดีอัชราฟ กานี และก้าวขึ้นปกครองประเทศอีกครั้งในรอบเกือบ 20 ปี ทั่วโลกต่างเฝ้าจับตาทิศทางการบริหารประเทศของกลุ่มตาลีบันว่าจะนำพาอัฟกานิสถานเดินหน้าไปในทิศทางไหน สิทธิสตรีจะเป็นอย่างไร บทลงโทษที่เข้มงวดดังเช่นที่เคยใช้ในอดีตจะถูกนำกลับมาใช้ใหม่มากน้อยเพียงใด
ตูราบีระบุว่า แม้อัฟกานิสถานภายใต้ตาลีบันจะยังคงเป็นสังคมอนุรักษนิยมที่ยึดโยงกับศาสนาอิสลามอย่างลึกซึ้ง แต่พวกเขาก็เปิดพื้นที่ให้กับเทคโนโลยี ภาพถ่าย วิดีโอ โทรศัพท์มือถือ ที่ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบัน อีกทั้งในมิติหนึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสะพานการสื่อสาร ส่งสัญญาณและข้อความบางอย่างจากสังคมอัฟกันสู่คนกลุ่มอื่นๆ อีกหลายล้านคนในประชาคมโลก
โดยตูราบีเคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจควบคุมดูแลตำรวจศาสนา เพื่อป้องกันและลงโทษผู้ฝ่าฝืนและผู้กระทำผิดในช่วงก่อนหน้านี้ที่กลุ่มตาลีบันเคยบริหารประเทศ การลงโทษผู้กระทำผิดในเวลานั้นได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เป็นการลงโทษต่อหน้าสาธารณชน มีชายชาวอัฟกันจำนวนมากเข้าดูการตัดสินโทษดังกล่าวที่จัดขึ้นทั้งในสนามกีฬาและลานกว้าง
ผู้ใดมีความผิดฐานฆาตกรรมผู้อื่น ส่วนใหญ่มักต้องโทษประหารชีวิตด้วยการยิงปืน 1 นัดเข้าที่ศีรษะ ในขณะที่ครอบครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิตสามารถเลือกได้ว่าจะยอมรับเงิน (Blood Money) และปล่อยให้นักโทษมีชีวิตต่อไปได้ หรือจะประหารชีวิตนักโทษ ขณะที่ผู้ใดมีความผิดฐานลักทรัพย์ เป็นขโมย ต้องถูกลงโทษด้วยการตัดมือ ส่วนผู้ใดทำการปล้นชิงทรัพย์ ต้องถูกลงโทษด้วยการตัดมือและตัดเท้า เป็นต้น
“ทุกคนวิพากษ์วิจารณ์เราที่ตัดสินโทษภายในสนามกีฬา แต่เราไม่เคยพูดถึงอะไรก็ตามเกี่ยวกับกฎหมายหรือบทลงโทษของพวกเขาเลย ไม่มีใครจะมาบอกเราได้ว่ากฎหมายของเราควรหน้าตาเป็นอย่างไร เราจะปฏิบัติตามหลักการอิสลามและสร้างหลักกฎหมายที่ยึดโยงอยู่กับคัมภีร์อัลกุรอ่าน” ตูราบีระบุ
นอกจากนี้ตูราบีชี้ว่า บทลงโทษที่เข้มงวดและรุนแรงมีความจำเป็นมากต่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคมอัฟกัน เป็นการป้องปรามหรือเชือดไก่ให้ลิงดู เพื่อไม่ให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติตามผู้กระทำผิดเหล่านั้น โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มมีการประจานผู้กระทำความผิดไปรอบๆ เมืองในกรุงคาบูล เพื่อให้เกิดความอับอายและไม่กระทำความผิดซ้ำอีก
ถึงแม้ว่าผู้คนในเมืองหลวงของอัฟกันจะหวาดกลัวต่อการก้าวขึ้นมาปกครองประเทศของกลุ่มตาลีบัน แต่ต้องยอมรับว่ามีประชาชนบางส่วนที่รู้สึกว่ากรุงคาบูลมีความปลอดภัยขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับเมื่อหลายเดือนก่อนที่กลุ่มโจรเต็มท้องถนนยามคำ่คืน กลุ่มอาชญากรทำให้ผู้คนไม่กล้าออกมานอกที่พักอาศัยในตอนกลางคืนเท่าใดนัก
เจ้าของร้านค้าแห่งหนึ่งในกรุงคาบูลระบุว่า มันไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยที่เห็นผู้คนถูกทำให้อับอายในพื้นที่สาธารณะ แต่สิ่งนี้สามารถช่วยลดการเกิดอาชญากรรมได้ เพราะพวกเขาคิดว่าฉันไม่อยากให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นกับฉันเลย อะไรทำนองนี้ และแม้บทลงโทษที่เข้มงวดจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง แต่นั่นก็ทำให้สังคมปลอดภัยขึ้น เปิดร้านค้าตอนกลางคืนได้อย่างคลายกังวลมากยิ่งขึ้น
แฟ้มภาพ: Oliver Weiken / picture alliance via Getty Images
อ้างอิง:
- https://apnews.com/article/religion-afghanistan-kabul-taliban-22f5107f1dbd19c8605b5b5435a9de54
- https://www.forbes.com/sites/teakvetenadze/2021/09/23/taliban-plans-return-of-executions-and-amputations-as-punishment-though-possibly-not-in-public-co-founder-says/?sh=1d237667241d
- https://www.scmp.com/news/world/russia-central-asia/article/3149878/afghanistan-taliban-official-says-executions-and