×

Muji แพ้คดี ‘แบรนด์จีน’ กรณีมี ‘โลโก้’ ที่คล้ายกันจนแทบจะเหมือนกัน ศาลสั่งปรับ 2 ล้านบาท ค่าการเสียโอกาสทางธุรกิจ

09.11.2021
  • LOADING...
Muji

Muji บริษัทขายสินค้าสุดมินิมัลสัญชาติญี่ปุ่น แพ้คดีทางกฎหมายกับบริษัทสิ่งทอของจีนอย่าง Beijing Cottonfield Textile ในคดีเกี่ยวกับการที่ทั้ง 2 บริษัทมีโลโก้ที่คล้ายกันจนแทบจะเหมือนกัน ส่งผลให้ Muji ต้องจ่ายเงินให้กับบริษัท Beijing Cottonfield Textile เป็นจำนวนเงินรวม 4 แสนหยวน หรือราว 2 ล้านบาท ในค่าใช้จ่ายด้านการเสียโอกาสทางธุรกิจ ตามคำตัดสินของศาลที่เปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน

 

บริษัท Muji Shanghai และบริษัทแม่ที่อยู่ในญี่ปุ่นอย่าง Ryohin Keikaku ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นประมาทหลังจากโพสต์และประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรในร้านค้าออนไลน์และออฟไลน์ของตนว่า “มีบริษัทอื่นกำลังขโมยเครื่องหมายการค้าของเราไปใช้” ซึ่ง Muji หมายถึงตัวอักษรจีนที่อยู่ข้างๆ โลโก้ Muji

 

ทำให้บริษัท Beijing Cottonfield Textile ออกมาโต้แย้งถ้อยคำดังกล่าวว่า เป็นการทำให้สาธารณชนเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์สิ่งทอของตนเป็นของปลอม ทั้งๆ ที่บริษัทได้ยื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านานถึง 5 ปี ก่อนที่แบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง Muji จะเข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นทางการในปี 2005 ถึงแม้จะมีข้อเท็จจริงที่ว่า Muji ไม่ได้ระบุชื่อบริษัทโดยตรงในโพสต์หมิ่นประมาทนั้น แต่การกระทำนี้ก็ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของ Beijing Cottonfield Textile อยู่ดี

 

ทั้งนี้ Muji ดำเนินกิจการในญี่ปุ่นตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ 1980 โดยมีสิทธิ์ในเครื่องหมายการค้าสำหรับเครื่องใช้ในบ้าน สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทุกประเภท แต่ในปี 2000 บริษัท Beijing Cottonfield Textile ได้รับเครื่องหมายการค้าเป็นชื่อภาษาจีน โดยเฉพาะในประเภทสินค้าสิ่งทอที่เป็นเครื่องนอน หรือที่เรียกว่าประเภท Class 24 ของประเภทเครื่องหมายการค้าทั้งหมดของจีน

 

ปัจจุบัน Beijing Cottonfield Textile เป็นเจ้าของโลโก้ภาษาจีนแบบย่อที่ Muji มีการใช้คล้ายคลึงกันถึง 53 จาก 68 รายการ ในประเภท Class 24 นั้น ในขณะที่ Ryohin Keikaku บริษัทแม่ของ Muji มีเพียงแค่ 8 รายการเท่านั้น ตามข้อมูลจากสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติจีน 

 

ในเดือนเมษายน 2015 บริษัท Beijing Cottonfield Textile และบริษัทอื่นในเครือของ Beijing Wuyinliangpin Investment ฟ้องบริษัท Ryohin Keikaku และ Muji Shanghai ในข้อหาละเมิดเครื่องหมายการค้า เพราะพวกเขาใส่โลโก้ที่คล้ายกันบนผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ไม่ว่าจะเป็นผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง ผ้าเช็ดตัว และผ้านวม โดยโลโก้นั้นคือ ‘Wuyinliangpin’ ที่เขียนในทั้งภาษาจีนตัวเต็มและแบบย่อ

 

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาของจีนตัดสินให้บริษัททั้ง 2 แห่งที่เป็นผู้ฟ้อง ชนะในคดีนั้นไปเมื่อปี 2017 และจำเลยได้รับคำสั่งให้จ่ายเงินประมาณ 400,000 หยวน (2 ล้านบาท) และให้ออกคำขอโทษต่อสาธารณะ เพื่อ ‘ขจัดผลกระทบด้านลบต่อโจทก์’ รวมทั้งยังมีการตัดสินว่า Muji ไม่สามารถพิมพ์โลโก้ตัวอักษรภาษาจีนบนผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่อยู่ในประเภท Class 24 เพื่อจำหน่ายในประเทศจีนได้ เพราะจะไปซ้อนทับกับผลิตภัณฑ์ของ Beijing Cottonfield Textile

 

ศาลประชาชนสูงสุดในกรุงปักกิ่งยึดถือคำตัดสินนี้ในปี 2019 หลังจากที่ Ryohin Keikaku และ Muji Shanghai ยื่นอุทธรณ์ต่อคำตัดสินดังกล่าว โดยกรณีศึกษานี้ถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทต่างชาติจะดำเนินการตามระบบสิทธิบัตรรายแรก (First-to-File Patent System) ของจีนได้อย่างไร

 

ประเทศจีนเป็นหนึ่งในตลาดที่มีมูลค่ามากที่สุดของ Muji ตามแถลงการณ์ประจำปีล่าสุดของบริษัทแม่ระบุว่า บริษัทได้เปิดสาขาแล้วถึง 275 แห่งในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของสาขาในต่างประเทศทั้งหมด ณ เดือนสิงหาคม 2020 

 

โดยในงบทางบัญชีไตรมาสที่ 3 Ryohin Keikaku ยังระบุว่า บริษัทมียอดขายและผลกำไรเพิ่มขึ้น โดยเป็นผลมาจากการดำเนินธุรกิจที่มั่นคงในจีน และการฟื้นตัวจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดในปีที่แล้ว นอกจากนั้น บริษัทยังได้ประกาศไปเมื่อเดือนกรกฎาคมว่า มีแผนจะเปิดสาขาใหม่ 50 แห่งต่อปีในจีน โดยจะเริ่มเปิดตั้งแต่สิ้นปีทางบัญชีในเดือนสิงหาคม ปี 2024

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X