×

รฟม. โต้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่แพงเหมือน BTS เตรียมเจรจาผู้ชนะประมูลเก็บค่าโดยสารจริง 15-45 บาท

25.01.2021
  • LOADING...
รฟม. โต้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่แพงเหมือน BTS เตรียมเจรจาผู้ชนะประมูลเก็บค่าโดยสารจริง 15-45 บาท

วันนี้ (25 มกราคม) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดแถลงข่าวชี้แจงการกำหนดอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 

 

สำหรับการแถลงข่าวครั้งนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ BTS ที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี​ ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้คัดค้านราคาค่าโดยสารที่ BTS กำหนดไว้ที่ 65 บาทตลอดสาย ซึ่งสูงกว่าราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ ที่ รฟม. รับผิดชอบ

 

ขณะที่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา โดยระบุว่า ค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีส้มราคาสูงสุด 62 บาท พอๆ กับสายสีเขียวที่กระทรวงคมนาคมแย้งว่าแพง

 

ในวันนี้ ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม. จึง แถลงข่าวชี้แจงเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มว่า ตามเอกสารการคัดเลือกเอกชนร่วมทุน (Request for Proposal: RFP) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ราคาค่าโดยสารเริ่มต้นที่ 17 บาท คิดค่าโดยสารตามระยะทาง 3-4 บาทต่อสถานี โดยมีอัตราค่าโดยสารสูงสุดที่ 62 บาท 

 

อย่างไรก็ตาม การที่เอกสาร RFP ระบุอัตราค่าโดยสารนั้นมีจุดประสงค์เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับเอกชนทุกรายใช้อ้างอิงในการประเมินรายได้ของเอกชนเพื่อจัดทำข้อเสนอการร่วมทุนโครงการ 

 

ดังนั้นอัตราค่าโดยสารตามเอกสาร RFP จึงไม่ใช่อัตราค่าโดยสารที่ รฟม. จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เนื่องจาก รฟม. รับมอบนโยบายจากกระทรวงคมนาคมให้เจรจากับเอกชนผู้ชนะการประเมินให้ปรับลดอัตราค่าโดยสารให้เหมาะสมกับค่าครองชีพของประชาชน 

 

ทั้งนี้ รฟม. คาดการณ์อัตราค่าโดยสารเมื่อเปิดให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันออก (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) ในปี 2567 จะมีอัตราค่าโดยสารเริ่มต้นอยู่ที่ 15 บาท และอัตราสูงสุดที่ 45 บาท

 

โดยเมื่อการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนแล้วเสร็จ รฟม. จะเจรจากับเอกชนเพื่อกำหนดอัตราค่าโดยสารให้อยู่บนพื้นฐานอัตราเดียวกันของรถไฟฟ้าสายสีอื่นของ รฟม. ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีชมพู และสายสีเหลือง และเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเมื่อผู้โดยสารเดินทางข้ามสายในเครืองข่ายของรถไฟฟ้าของ รฟม.

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถไฟฟ้าสายสีส้ม บางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร เป็นเส้นทางเดินรถไฟฟ้าที่คาดว่าจะมีประชาชนใช้บริการจำนวนมาก คาดการณ์ผู้โดยสารตลอดสาย 4 แสนคนต่อวัน 

 

แบ่งเป็นส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง. 22.5 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี (สถานีใต้ดิน 10 สถานี และสถานียกระดับ 7 สถานี) 

 

และส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี (สถานีใต้ดินตลอดสาย)

 

สำหรับช่วงสายสีส้มฝั่งตะวันออก รฟม. ลงทุนก่อสร้างเองคืบหน้าไปมากกว่า 70% 

 

แต่ปัญหาคือสายสีส้มฝั่งตะวันตกที่ รฟม. เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนสร้างช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย จัดหาระบบซื้อรถแลกกับสัมปทานเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งเส้น บางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เป็นเวลา 30 ปี โครงการนี้มีสองกลุ่มหลักยื่นประมูลคือ กลุ่ม BTS และกลุ่ม BEM  

 

อย่างไรก็ตาม รฟม. ได้ปรับเกณฑ์พิจารณาผู้ชนะใหม่จากเดิมชี้ขาดที่ ‘ราคา’ เปลี่ยนเป็นจะพิจารณาด้าน ‘เทคนิค’ ควบคู่ ‘ราคา’ ในสัดส่วน 30:70

 

ทำให้กลุ่ม BTS ยื่นคัดค้านต่อศาลปกครองสูงสุด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลคำตัดสินของศาล 

 

ภาพ: การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising