×

รู้จักอัตราดอกเบี้ย MRR-MLR ที่ครูปฏิญญามหาสารคามไม่รู้จัก ก่อนประกาศไม่ยอมจ่ายหนี้ ช.พ.ค.

18.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • ครูจำนวนหนึ่งประกาศปฏิญญามหาสารคามขอพักชำระหนี้ ช.พ.ค. โดยอ้างว่าดอกเบี้ยแพง ไม่เป็นธรรม
  • ดร.อวยชัย วะทา แกนนำปฏิญญามหาสารคาม ยอมรับว่าครูส่วนใหญ่รวมทั้งตัวเองไม่รู้จักอัตราดอกเบี้ย MLR
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินแนะนำ ไม่จำเป็นต้องนั่งคำนวณดอกเบี้ยเอง แต่ให้ลูกหนี้ขอเอกสาร ‘แผนการผ่อนชำระตลอดทั้งสัญญา’ จากธนาคารเจ้าของสินเชื่อทุกครั้ง

เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากกับกรณีการรวมตัวกันของคณะครูที่ประกาศ ‘ปฏิญญามหาสารคาม’ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมเธียเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

 

ใจความสำคัญคือครูที่เห็นด้วยกับปฏิญญามหาสารคามซึ่งเป็นหนี้ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) และสมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาในกรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.) จะยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2561 เป็นต้นไป

 

นอกจากนี้ยังขอให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้โครงการ ช.พ.ค. และ ช.พ.ส. ทุกโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2561 เป็นต้นไป

 

อ้างดอกเบี้ยโหด และครูส่วนใหญ่ไม่รู้จักอัตราดอกเบี้ย MRR-MLR

ดร.อวยชัย วะทา ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย แกนนำปฏิญญามหาสารคามนี้อธิบายว่า เมื่อปี 2552 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้ทำข้อตกลงกับธนาคารออมสินเพื่อให้สมาชิก ช.พ.ค. และ ช.พ.ส. กู้เงินจากธนาคารออมสินรายละไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดผ่อนชำระ 30 ปี หรือ 360 งวด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

 

  1. ใช้หนี้สถาบันการเงินและหนี้นอกระบบ
  2. เพื่อซื้อบ้านหรือสร้างที่อยู่อาศัย
  3. เพื่อซื้อรถยนต์หรือยานพาหนะ
  4. เพื่อซื้อหุ้นหรือลงทุนทำธุรกิจ
  5. เพื่อใช้จ่ายในการศึกษาหรือธุรกรรมที่จำเป็นอื่นๆ โดยมีข้าราชการครู คณาจารย์ และบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมโครงการประมาณ 450,000 คน วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท

 

โดยดร.อวยชัยให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ THE STANDARD Daily อ้างว่าหลักการของโครงการนี้จะเป็นโครงการพิเศษ คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 3 แต่ธนาคารออมสินไปบิดเบือน ปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว MLR เหมือนธนาคารพาณิชย์ทั่วไป

 

ดร.อวยชัยกล่าวว่า ครูส่วนใหญ่รวมถึงตนเองไม่รู้จักอัตราดอกเบี้ย MLR แต่ที่เซ็นเอกสารกู้ยืมเงินเพราะเข้าใจว่าโครงการนี้เป็นโครงการพิเศษที่คิดดอกเบี้ยอัตราต่ำ ส่วนตนเองนั้นได้อ่านเอกสารและทักท้วงตั้งแต่ต้น แต่ที่ยอมเซ็นเอกสารกู้เงินเพราะอยากเข้ามาเป็นผู้มีส่วนได้เสียเพื่อนำครูเรียกร้องความเป็นธรรม

 

“กู้เงินมาปี 2554 ผมอ่านทุกหน้า ทุกตัวอักษร และท้วงติงแล้ว แต่จำเป็นต้องกู้เพื่อให้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ได้เสีย โดยกู้ไปลงทุนเพื่อเป็นแบบอย่างว่าครูไม่ได้กู้ไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย” ดร.อวยชัยกล่าว

 

ดร.อวยชัยยกตัวอย่างยอดเงินกู้ของตนเองว่า กู้เงินมาจำนวน 1.2 ล้านบาท หักเงินเดือนละกว่า 7,000 บาท ซึ่งส่งเงินมาแล้วเป็นระยะเวลา 7 ปี เงินต้นลดลงเพียง 100,000 บาท ยอดหนี้ยังอยู่ที่ 1.1 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ยังบังคับให้ทำประกันชีวิต อ้างว่าเพื่อประกันความเสี่ยงของธนาคารออมสิน โดยบังคับหักเงินค่าประกัน 10 ปี งวดเดียว 80,000-200,000 บาท รวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยผู้กู้ไม่ได้รับประโยชน์หรือดอกผลจากเงินจำนวนดังกล่าวเลย แต่ผู้ได้รับประโยชน์มหาศาลคือบริษัทประกัน ธนาคารออมสิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

หนี้ ช.พ.ค. ธนาคารออมสินคิดดอกเบี้ย MLR 6-6.5% ต่อปี

โครงการ ช.พ.ค. มีสมาชิกกว่า 947,164 ราย ส่วน ช.พ.ส. มีสมาชิกอีก 386,603 ราย มีข้าราชการครูที่เป็นลูกหนี้ธนาคารออมสินอยู่ประมาณ 4.5 แสนราย มูลค่าหนี้รวมกว่า 4 แสนล้านบาท เฉลี่ยเป็นหนี้รายละ 1 ล้านบาท

 

ผู้กู้โครงการ ช.พ.ค. แบ่งเป็น 7 โครงการตามวงเงิน โดยโครงการ ช.พ.ค. จะกู้กับธนาคารกรุงไทย ส่วนโครงการ ช.พ.ค. 2-7 จะกู้กับธนาคารออมสิน ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ย MLR หรือ 5.65-6.5% ต่อปี

 

ก่อนที่ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารออมสินได้ทำบันทึกข้อตกลงกับโครงการ ช.พ.ค. และ ช.พ.ส. ฉบับใหม่ โดยลดดอกเบี้ยให้ 0.5-1%

 

โดยหากใครยืนยันชำระหนี้เท่าเดิม ดอกเบี้ยที่ธนาคารคืนให้จะถูกนำไปลดเงินต้น ทำให้สามารถชำระหนี้หมดเร็วขึ้น

 

ส่วนรายใดต้องการลดงวดเงินผ่อนจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง สามารถติดต่อมายังธนาคารออมสินเพื่อขอปรับปรุงงวดผ่อนชำระตามอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงได้

 

 

ดอกเบี้ย MRR-MLR คืออะไร ทำไมส่งไปแล้วเงินต้นไม่ลด

อัตราดอกเบี้ย MRR และ MLR จัดเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบลอยตัว (Floating Rate) คืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามต้นทุนของสถาบันการเงิน ซึ่งสถาบันการเงินจะประกาศออกมาเป็นคราวๆ

 

สำหรับ MLR (Minimum Loan Rate) คืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี เช่น มีประวัติการเงินที่ดี มีหลักทรัพย์ค้ำประกันอย่างเพียงพอ โดยส่วนใหญ่ใช้กับเงินกู้ระยะยาวที่มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เช่น สินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ

 

ขณะที่ MRR (Minimum Retail Rate) คืออัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี เช่น สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อที่อยู่อาศัย ตัว MRR นี้ที่เราจะพบได้บ่อย เช่น MRR-0.25% ในสินเชื่อบ้าน

 

หนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ The Money Coach ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนการเงิน อธิบายกับ THE STANDARD ว่าอัตราดอกเบี้ย MRR และ MLR คืออัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากคนยืมเงิน หรือจะเรียกว่าเป็นดอกเบี้ยมาตรฐานก็ได้

 

แต่หัวใจสำคัญที่อยากฝากไว้คือ เวลาที่เราไม่เข้าใจว่าดอกเบี้ย MRR หรือ MLR คืออะไรจะต้องคิดอย่างไร

 

เราในฐานะผู้กู้เงินหรือลูกหนี้ มีสิทธิ์ที่จะขอแผนการผ่อนชำระตลอดทั้งสัญญาได้

 

ความหมายคือ สมมติถ้าเรากู้เงิน 1 ล้านบาท ผ่อนส่ง 30 ปี 360 งวด งวดละ 5,000 บาท

 

เราสามารถขอเอกสารได้เลยว่าเราส่งเดือนที่ 1 จำนวน 5,000 บาท จะเป็นเงินต้นและเป็นดอกเบี้ยเท่าไร ภายในกี่ปีจึงจะชำระหมด และที่จริงธนาคารควรจะให้เอกสารนี้กับลูกหนี้ทุกครั้ง


ส่วนกรณีเงินที่ส่งไปแต่ละเดือนไม่ไปตัดวงเงินต้น The Money Coach บอกว่าหากยังไม่เห็นตัวสัญญาก็ให้ความเห็นลำบาก เพราะมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะทำสัญญาให้ตัวเลขเงินผ่อนน้อย โดยเฉพาะคนที่ใช้เงินกู้รีไฟแนนซ์ หรือเงินกู้ในลักษณะใกล้เคียงนี้มักจะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาภาระทางการเงินสูง

“หนี้ประเภทลดต้นลดดอก หมายความว่าถ้าเงินต้นลดลง ดอกเบี้ยก็จะลดลง สมมติถ้าซื้อบ้าน 1 ล้านบาท ธนาคารให้ผ่อนชำระ 7 พันบาท ช่วงปีแรกๆ แทบจะตัดดอกเบี้ย 6 พันบาท ตัดเงินต้นแค่ 1 พันบาท

 

“ทีนี้ถ้าธนาคารเขาทำสัญญาให้เหลือส่งเดือนละ 5 พันบาท ก็หมายความว่าตัดดอกเบี้ย 4 พันกว่าบาท ตัดเงินต้นแค่หลักร้อย ในช่วงปีแรกๆ มันเป็นอย่างนี้จริงๆ เมื่อเงินต้นไม่ขยับ ดอกเบี้ยก็ไม่ขยับ”  

 

ส่วนตัวเลขอัตราดอกเบี้ย 6-6.5% ต่อปี หากพูดอย่างตรงไปตรงมาถือเป็นตัวเลขมาตรฐานที่ไม่ได้แพงแตกต่างจากที่อื่น จัดเป็นอัตราดอกเบี้ยของลูกหนี้รายย่อยชั้นดี

 

ที่สุดแล้วเรื่องนี้อาจไม่มีผู้ร้ายหรือคนผิด แต่มีเพียงความเข้าใจผิดซึ่งน่าจะแก้ไขกันได้ไม่ยากนัก ส่วนยอดหนี้กว่า 4 แสนล้านของครูที่เป็นหนี้จะแก้ให้ถูกต้องได้อย่างไร คงต้องรอติดตามหลังจากนี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X