×

MrBeast จักรพรรดิยูทูเบอร์ ผู้พลิกโฉมหน้าวงการด้วยคอนเทนต์ ‘ยิ่งใหญ่ อลังการ ลุ้นระทึก’ จนสร้างรายได้ปีละไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาท

20.02.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • วิดีโอตัวหนึ่งของ MrBeast สามารถสร้างยอดการรับชมได้กว่า 52 ล้านครั้ง ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของยอดตีตั๋วชมภาพยนตร์ Barbie และ Oppenheimer ในตลอดระยะเวลาที่เปิดตัวสัปดาห์แรกทั้งสัปดาห์
  • ในปี 2023 ปีเดียว MrBeast มียอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้น 99 ล้านคน หรือมากเป็น 2 เท่าของทุกช่องบน YouTube อีกทั้งโซเชียลมีเดียของเขาอย่าง TikTok ก็มีผู้ติดตาม 93 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 4 ของแพลตฟอร์ม และอีกประมาณ 50 ล้านคนบน Instagram
  • “ณ จุดนี้ ผมจับทางได้แล้วและรู้ด้วยว่า ทำคอนเทนต์แบบไหนถึงจะได้ยอดดี ผมว่าผมสามารถทำให้อะไรก็ได้กลายเป็นไวรัล” MrBeast กล่าว
  • MrBeast ทุ่มเทให้กับคอนเทนต์ของตัวเองอย่างมาก โดยคลิปตัวหนึ่งที่มีเนื้อหาเพียง 15 นาที แต่เขาและทีมงานกลับต้องตั้งต้นเริ่มตัดจากฟุตเทจความยาวกว่า 12,000 ชั่วโมง 
  • แต่ท่ามกลางความสำเร็จ คนในองค์กรที่เห็นต่างก็เลือกจะเดินออกมา เพราะเขามองว่าธุรกิจที่ตัวเองทำคือภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ ทำให้โจทย์ของคนสร้างคอนเทนต์กลายเป็นการค้นหาวิธีที่จะทำให้คนใช้เวลาบนแพลตฟอร์มนานที่สุด ซึ่งบางคนไม่เห็นด้วยและมองว่ามันอันตรายต่ออนาคต

“สิ่งที่คนทำคอนเทนต์วิดีโอหลายคนมองข้ามไปมากที่สุดก็คือ ช่วงเวลา 10 วินาทีแรก” – จิมมี โดนัลด์สัน กล่าวถึงเทคนิคที่นำพาให้เขากลายมาเป็นหนึ่งในช่อง YouTube ที่มีคนดูมากที่สุดในโลก

 

ภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมง วิดีโอตัวหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวของชายหนุ่มและกลุ่มเพื่อนด้วยเงินตั้งแต่ 1 ไปจนถึง 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ สามารถสร้างยอดการรับชมได้กว่า 52 ล้านครั้ง ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของยอดตีตั๋วชมภาพยนตร์ Barbie และ Oppenheimer ในตลอดระยะเวลาที่เปิดตัวสัปดาห์แรกเสียอีก

 

ผู้สร้างวิดีโอตัวดังกล่าวก็มิใช่ใครอื่น แต่คือ จิมมี โดนัลด์สัน (Jimmy Donaldson) ชายที่หลายคนคุ้นหน้าคุ้นตาเขาบนแพลตฟอร์ม YouTube ในฐานะเจ้าของช่อง MrBeast ช่องที่ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ 2 บน YouTube ตามจำนวนผู้ติดตาม (Subscribers) โดยมีมากถึง 239 ล้านราย เป็นรองเพียง T-Series ช่องของบริษัทผู้ผลิตเพลงและภาพยนตร์สัญชาติอินเดียที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1983 และมียอดผู้ติดตาม 259 ล้านราย 

 

MrBeast มีภูมิหลังมาอย่างไร? ทำไมคอนเทนต์แทบทุกอันของเขาถึงมียอดวิวถล่มทลายขนาดนั้น? จนเรียกได้ว่าค่าเฉลี่ยของแต่ละวิดีโอที่เขาปล่อยออกมามียอดชมอยู่ที่ 120 ล้านวิวกันเลยทีเดียว

 

นิตยสาร TIME ได้ออกบทความเรื่อง In The Belly of MrBeast เพื่อล้วงอินไซต์และเจาะเบื้องหลังความสำเร็จของชายที่หลายคนยอมรับว่า เขาคือหนึ่งในบุคคลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งแห่งวงการการทำคอนเทนต์

 

ภาพ: Chris Buck / TIME

 

รู้จักกับชายที่มั่นใจว่าตัวเองทำให้ทุกอย่าง ‘ไวรัล’ ได้

 

สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นกับ MrBeast และกำลังสงสัยว่าเขาทำเนื้อหาประมาณไหน เบลินดา (Belinda) ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ ชวนให้ลองนึกแบบนี้ว่า มันเป็นสิ่งที่เด็ก 9 ขวบที่มีจินตนาการสูงหน่อยอยากจะทำ…แต่ถ้าพวกเขามีเงินมากพอนะ เพราะเนื้อหาในวิดีโอที่ MrBeast ทำนั้นแทบจะไม่มีอะไรที่เป็น ‘ธรรมดา’ เลย เช่น เขาเลือกให้เงินในจำนวนที่สามารถพลิกชีวิตคนคนหนึ่งได้ คนแปลกหน้า หรือท้าให้แขกในรายการเขาทำชาเลนจ์แปลกๆ อย่างเช่น การนอนในโลงที่จะถูกฝังไว้ใต้ดินเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งถ้าทำสำเร็จ ผู้แข่งขันก็จะได้รับรางวัลเป็นเงินก้อนโต

 

ในปี 2023 เขามียอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้น 99 ล้านคน ถือเป็นตัวเลขที่มากเป็น 2 เท่าของทุกๆ ช่องบน YouTube อีกทั้งช่องทางโซเชียลมีเดียของเขาอย่าง TikTok ก็มีผู้ติดตาม 93 ล้านคน มากเป็นอันดับที่ 4 ของแพลตฟอร์ม และอีกประมาณ 50 ล้านคนบน Instagram โดยทางเจ้าตัวประเมินว่า ตอนนี้ในปีปีหนึ่ง เขาน่าจะปรากฏตัวอยู่บนหน้าจอประมาณ 30,000 ล้านครั้งทั่วโลก คนดังระดับ ทอม เบรดี (Tom Brady) หรือ จัสติน ทิมเบอร์เลก (Justin Timberlake) ต่างก็เคยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิดีโอในช่องของเขาเหมือนกัน

 

“ณ จุดนี้ ผมจับทางได้แล้วและรู้ด้วยว่า ทำคอนเทนต์แบบไหนถึงจะได้ยอดดี ผมว่าผมสามารถทำให้อะไรก็ได้กลายเป็นไวรัล” MrBeast กล่าว

 

ความโด่งดังของ MrBeast นั้น ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์การเสพและผลิตเนื้อหาสื่อ โดยในอดีต กลุ่มคนเพียงหยิบมือเคยกุมอำนาจและคอยกำหนดข้อมูลที่คนสามารถรับชมและรับรู้ได้ แต่ตอนนี้ใครก็ออกมาผลิตคอนเทนต์ของตัวเองได้อย่างค่อนข้างเสรี และอีกส่วนก็คือความเข้าใจของ MrBeast ในอัลกอริทึม YouTube รวมทั้งแนวคิดการสร้างเนื้อหาอย่างแตกต่าง ถึงแม้ว่าบางคนอาจจะวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมและดูไม่ค่อยปลอดภัย

 

MrBeast อยู่บน YouTube มาแล้วกว่า 12 ปี และยังไม่มีทีท่าที่จะเผยให้เห็นถึงอาการหมดไฟหรือนึกไม่ออกว่าจะทำคอนเทนต์อะไร แต่ในทางกลับกัน เขาแสดงให้เห็นอยู่เสมอว่า ‘พลังและวินัย’ เป็นสิ่งที่นำพา MrBeast มาสู่เป้าหมายของเขา เป้าหมายที่หลายคนอาจจะมองว่าทะเยอทะยานเกินไป แต่เมื่อ MrBeast ถูกถามว่า “คุณคิดว่าทำไมคุณถึงประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้?” คำตอบจากปากของเขาเรียบง่ายมากนั่นก็คือ เขาเลือกที่จะทำงานหนักและมุ่งมั่นกว่าคนอื่น

 

“โลกของการสร้างคอนเทนต์มันก็ไม่ต่างอะไรจากกงล้อที่หมุนไปเรื่อยๆ หมุนอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และมันกดดันมาก เพราะเราต้องตามให้ทันอยู่ตลอดเวลา” 

 

นอกจากการผลิตคอนเทนต์วิดีโอแล้ว MrBeast ยังมีธุรกิจขนมช็อกโกแลตแท่งของตัวเองที่มีชื่อว่า Feastables โดยภายในปี 2023 ขนมจากแบรนด์นี้ได้เข้าไปตีตลาดในหลายประเทศแล้ว และ MrBeast คาดว่าปีนี้เขาจะสามารถทำรายได้จากส่วนนี้ส่วนเดียวถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1.8 หมื่นล้าน

 

MrBeast กับผลิตภัณฑ์ขนมแท่งของเขา

ภาพ: PR Newswire

 

แถมยังมีขาธุรกิจเพื่อสังคมที่ทำผ่านช่อง YouTube ‘Beast Philanthropy’ ซึ่งพยายามทำกิจกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้แก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นการช่วยหาเจ้าของให้กับสุนัขที่ถูกทอดทิ้งกว่า 100 ตัว, บริจาครองเท้า 20,000 คู่ให้กับเด็กๆ ในทวีปแอฟริกา หรือจะเป็นการช่วยนำส่งอาหารมูลค่า 30 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1 พันล้านบาท ให้กับคนที่ขาดโอกาส และอีกมากมาย 

 

ครีเอเตอร์ที่สร้างสรรค์ ทุ่มเท กล้าเสี่ยง และกันเอง

 

MrBeast ไม่ใช่แค่นักธุรกิจหรือครีเอเตอร์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง เพราะอย่างแรกเลยเขาไม่เคยคิดที่จะปกปิดรายได้ของตัวเอง ซึ่งต่อปีแล้วก็ประมาณ 600-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.2-2.5 หมื่นล้านบาท

 

และเขาก็ไม่ได้มองว่าตัวเองร่ำรวยแต่อย่างไร “อย่างน้อยก็ไม่ใช่ตอนนี้ แต่อาจจะมีสักวันที่ผมน่าจะกล้าพูดได้อย่างเต็มปากว่ารวย แต่ตอนนี้ส่วนใหญ่แล้วเรานำเงินที่ได้มากลับไปลงทุนในโปรเจกต์ใหม่ๆ”

 

นอกเสียจากการใช้จ่ายอย่างมหาศาลในแต่ละครั้งเพื่อสร้างวิดีโอ เขายังทุ่มเทให้กับมันมากๆ อีกด้วย โดยเคยมีอยู่ครั้งหนึ่งที่ MrBeast ต้องออกมาประกาศบอกแฟนๆ ว่า เขาจำเป็นจะต้องเลื่อนการลงคลิปออกไป 1 สัปดาห์ เนื่องจากฟุตเทจมีความยาวถึง 12,000 ชั่วโมง และจำเป็นต้องใช้เวลาตัด ซึ่งสุดท้ายแล้วเวลาความยาวของคลิปจริงนั้นถูกตัดออกมาเหลือเพียง 15 นาทีเท่านั้น

 

ภาพ: MrBeast / X (Twitter)

https://twitter.com/MrBeast/status/1733548222906249437?lang=en 

 

ต้องบอกว่า MrBeast ค่อนข้างจะทุ่มสุดตัวและกล้าเสี่ยงไปกับสิ่งที่เขาทำ “เราใช้เงินจากรายได้โฆษณาเกือบทั้งหมดจำนวนมหาศาลลงทุนกลับไปในธุรกิจ จำนวนที่ผมยอมรับว่ามันอาจจะดูเกินไป จนไม่แปลกที่บางคนมองว่ามันเป็นการตัดสินใจที่สุดโต่งอย่างไม่ชาญฉลาด แต่สุดท้ายผลลัพธ์มันก็สำเร็จนะ” เขากล่าว

 

คลิปหลายตัวของ MrBeast แทบจะไม่เคยใช้ฉากหรือพร็อพเดิมซ้ำเลย ส่วนใหญ่จะหาใหม่หมด และในขณะที่อารมณ์ของคอนเทนต์ส่วนใหญ่จะเอนเอียงไปทางการผจญภัยอันโลดโผน แต่กุญแจสำคัญที่ทำให้คนดูติดเขาเป็นเพราะ ‘ความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง’ ของสิ่งที่ MrBeast ทำ

 

เกรย์สัน โลแกน (Grayson Logan) เด็กชายวัย 11 ปี บอกกับนิตยสาร TIME ว่า เขาดู MrBeast ทุกวัน เพราะ MrBeast เป็นคนดีและช่วยเหลือคนอื่น “ผมชอบเพราะเขาดูอัธยาศัยดีมาก แถมยังให้เงินและช่วยคนหลายคนอีก”

 

‘Just-Folks’ หรือการทำคอนเทนต์ที่เน้นอารมณ์เป็นกันเองแบบเพื่อนทำให้เพื่อน คือเคล็ดลับความสำเร็จของ MrBeast 

 

เจสัน ซาวาเลตา (Jason Zavaleta) ผู้ผลิตภาพยนตร์ที่เคยร่วมงานกับ MrBeast กล่าวว่า “คนพวกนั้นเชื่อจริงๆ ว่าตัวเองแตกต่างจากคนอื่นในอุตสาหกรรมบันเทิง” โดยทุกครั้ง MrBeast จะรู้สึกไม่ค่อยสบอารมณ์เมื่อได้ยินคำ เช่น ‘ผู้ช่วยโปรดิวเซอร์’ เพราะมันฟังดูโหลและทางการเกินไป แต่เขาจะอยากให้ใช้คำว่า ‘FOFs’ (Friends of Friends) หรือเพื่อนของเพื่อนแทน

 

สิ่งที่ไม่คาดฝันในวัยเด็กที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนชีวิต

 

เส้นทางชีวิตนักทำคอนเทนต์ของ MrBeast เริ่มต้นมาจากโรคตัวหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘โครห์น’ (Crohn’s Disease) โดยในตอนนั้น ซูซาน พาริเชอร์ (Susan Parisher) แม่ของเขา บอกว่า MrBeast เคยเป็นนักกีฬาเบสบอลดาวรุ่งของโรงเรียน แต่โรคที่นำมาสู่การอักเสบเรื้อรังตลอดทางเดินอาหาร ก็ไม่อาจทำให้เด็กชายคนนี้เดินต่อไปในสายอาชีพกีฬาได้อีกต่อไป แม้ว่าเขาจะพยายามฝืนตัวเองแล้วก็ตาม และแม่ของเขาก็จำต้องแบกรับความทุกข์ใจของลูกที่ไม่ได้ทำตามฝัน “มันเป็นช่วงเวลาที่ยากมาก” เธอกล่าว

 

แต่ท่ามกลางความผิดหวัง เด็กชายคนนี้ก็หันมาสนใจสื่อวิดีโอแทน จนในที่สุดเมื่อปี 2012 ตอนอายุ 13 ปี MrBeast ก็ได้เริ่มทำช่อง YouTube ของตัวเองเป็นอันแรก และ 1 ปีหลังจากนั้นก็เริ่มช่องที่ทำอยู่ ณ ปัจจุบัน

 

ในเวลา 3 ปีหลังจากนั้น คริส ค็อกกินส์ (Chris Coggins) อดีตอาจารย์สอนภาษาอังกฤษและโค้ชเบสบอล เล่าความทรงจำที่เขามีต่อ MrBeast ว่า ครั้งหนึ่งเด็กคนนี้ออกมานำเสนองานหน้าห้องที่มีหัวข้อเกี่ยวกับการทำความเข้าใจกับระบบอัลกอริทึมของ YouTube ซึ่งใจความสำคัญของการนำเสนอครั้งนั้นคือ เทคนิคการเลือกใช้คำเพื่อให้ได้ยอดวิวที่สูงขึ้น “จะมีเด็กมัธยมสักกี่คนที่เข้าใจเรื่องแบบนี้ตอนปี 2015?” คริสกล่าวด้วยความรู้สึกทึ่ง

 

ต่อมาในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย MrBeast ก็สอบติดที่ Pitt Community College แต่เขาก็ไม่ค่อยได้เข้าเรียนสักเท่าไร ด้วยเหตุผลที่เขาคิดว่า ตัวเขาสามารถเรียนรู้อะไรได้มากกว่าจากการใช้เวลาไปกับ YouTube ซึ่งพอมองย้อนกลับไปในอดีตแล้วมันก็เป็นการตัดสินใจที่ดูคุ้มค่าไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะความเข้าใจในอัลกอริทึม YouTube ของ MrBeast ถือว่าอยู่ในระดับ ‘ปรมาจารย์’ ในหมู่คนทำวิดีโอด้วยกัน และในทุกคลิปของ MrBeast เขาจะต้องมั่นใจว่าคนดูจำเป็นต้องรู้ให้ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นภายใน 10 วินาทีแรก

 

ดาบสองคม

 

ความเข้าใจ YouTube และพฤติกรรมคนดูอย่างละเอียดไม่เพียงแต่จะทำให้ MrBeast มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันยังทำให้บางคนหันกลับมาสะท้อนถึงงานที่ตัวเองทำอยู่ด้วย โดย นีโอ (Neo) อดีตผู้ร่วมงานกับ MrBeast ให้สัมภาษณ์กับ TIME ว่า แม้เขาจะรักการทำงานกับผู้ชายคนนี้ แต่ด้วยอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับ ‘การทำให้คนดูเสพติดเรานานที่สุด’ เป็นปัจจัยที่ทำให้เขาตัดสินใจออกจากวงการ 

 

“อัลกอริทึมพวกนี้มันคือภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ เพราะมันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อสังคม แต่เพื่อโฆษณา” นีโอกล่าวถึงเหตุผลที่ระบบของ YouTube ทำให้โจทย์ของคนสร้างคอนเทนต์กลายเป็นการค้นหาวิธีที่จะทำให้คนใช้เวลาบนแพลตฟอร์มนานที่สุด ซึ่งนีโอไม่เห็นด้วยและมองว่ามันอันตรายต่ออนาคต

 

อย่างไรก็ตามนีโอยืนยันว่า เขาไม่ได้เลือกจะลาออกเพราะตัว MrBeast แต่เพราะแพลตฟอร์มที่บังคับให้เขาต้องเข้าใจวิธีรักษาคนดูและหาทางทำให้วิดีโอตัวต่อไปดูน่าโหยหามากขึ้นไปอีก

 

นอกจากนี้ยังมีผู้ที่เคยถูกเชิญร่วมรายการกับ MrBeast อธิบายถึงประสบการณ์การถ่ายที่เรียกร้องมากเกินไป และพนักงานภายในเองก็บ่นว่า วัฒนธรรมการทำงานในองค์กรนั้นเต็มไปด้วยการบูลลี่และกลั่นแกล้งกัน แถมยังมีบรรยากาศการทำงานที่ตึงเครียดอีกด้วย

 

“ทุกคนอยู่ในสภาวะที่อยู่ในความกลัวตลอด กลัวว่าพวกเขาอาจจะถูกเลิกจ้างได้ในทุกเวลา เพราะแต่ละครั้งฟีดแบ็กงานที่มีให้มันไม่ชัดเจน ทำให้การจะเข้าใจผลงานที่เราทำไปยิ่งยากขึ้นอีก” หนึ่งในอดีตพนักงานของ MrBeast กล่าว

 

บางคนถึงกับพยายามบอกหัวหน้าฝ่ายบุคคล ซึ่งก็คือแม่ของ MrBeast ว่า พนักงานเริ่มไม่มีความสุขกับงานแล้ว และถ้าระบบการทำงานเป็นแบบนี้ สักวันหนึ่ง MrBeast อาจจะไม่เหลือคนทำงานด้วย เพราะการจะประสบความสำเร็จในบริษัทนี้ได้คือ การทุ่มให้สุดตัวโดยไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่ทีมวางแผนมา และต้องยอมทำงานหนักมากๆ เพื่อที่จะอยู่ทำงานต่อไป

 

แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า MrBeast เป็นหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลมากที่สุดบน YouTube คนหนึ่ง และในมุมของเขา แม้บางคนจะวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ MrBeast ทำ แต่เขาเลือกที่จะมองว่าผลงานเขาเป็นอะไรที่ให้แรงบันดาลใจกับเด็กๆ โดยให้เหตุผลว่า ตัวอย่างที่เขาแสดงให้สังคมเห็นนั่นคือเขาเป็นคนคนหนึ่งที่สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน 

 

หากมองย้อนกลับไปในวัยเด็กของ MrBeast ที่ครั้งหนึ่งเขาเคยใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักกีฬามืออาชีพ ตอนนี้ความฝันนั้นได้เปลี่ยนแล้ว

 

“ผมอยากเป็นครีเอเตอร์ทำคอนเทนต์ที่เก่งที่สุด”

 

ในท้ายที่สุดแล้ว นักกีฬามีข้อจำกัดเรื่องร่างกายที่เสื่อมไปตามอายุขัย แต่เมื่อตอนนี้ MrBeast หันมาโฟกัสในอาชีพที่ไม่มีข้อจำกัดนั้นแล้ว คงมีแค่ความสร้างสรรค์ในตัวของเขาเองที่จะเป็นตัวตัดสินว่า อาณาจักรของเขาจะไปต่อได้ขนาดไหนหรือจะหยุดลงเมื่อไร

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ภาพ: Vivien Killilea / Getty Images for TikTok

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X