×

สธ. แจงปมถูกกล่าวหาเอื้อประโยชน์ให้สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตวัคซีนโควิด-19

โดย THE STANDARD TEAM
19.01.2021
  • LOADING...
Key Messages: สธ. แจงปมถูกกล่าวหาเอื้อประโยชน์ให้สยามไบโอไซเอนซ์ผลิตวัคซีนโควิด-19
  • AstraZeneca เป็นผู้คัดเลือกสยามไบโอไซเอนซ์ให้ผลิตวัคซีน หลังดูคุณสมบัติของบริษัทต่างๆ ในประเทศไทยแล้ว

 

  • วัคซีนของ AstraZeneca ขายในราคาทุนประมาณ 5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 150 บาทต่อโดส ถูกที่สุดในตลาดตามนโยบายของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

 

  • สยามไบโอไซเอนซ์ ต้องผลิตวัคซีนและคิดค่าใช้จ่ายในราคาทุนเช่นกัน

 

  • เงินสนับสนุนจากรัฐบาล 600 ล้านบาท สยามไบโอไซเอนซ์ระบุในสัญญาว่าเมื่อผลิตวัคซีนได้จะคืนให้ในรูปแบบวัคซีนเป็นมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้รับ

 

  • ยันไม่แทงม้าตัวเดียว เป้าหมายฉีดวัคซีนประชากรไทย 50% แบ่งเป็น AstraZeneca (20%) โครงการ COVAX (20%) และอีก 10% เปิดทางให้กับบริษัทอื่นๆ

 

นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงว่ากรณีของ AstraZeneca ไม่ได้เป็นการจองซื้อทั่วไป แต่มีข้อตกลงถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทยด้วย จึงต้องหาบริษัทที่มารับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในช่วงเวลาเร่งด่วน 

 

ซึ่ง AstraZeneca ได้มีการทบทวนคุณสมบัติของบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย ไม่ใช่เพียงแค่เจ้าเดียว แต่มีเพียงสยามไบโอไซเอนซ์เท่านั้นที่มีศักยภาพในการรับการถ่ายทอดการผลิตในรูปแบบของ Viral Vector Vaccine ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ไม่ใช่เลือกบริษัทเอกชนรายใดมาทำก็ได้ แม้กระทั่งองค์การเภสัชกรรมก็ยังมีศักยภาพไม่เพียงพอที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

“เพราะฉะนั้น AstraZeneca เป็นผู้คัดเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งเกิดจากการที่เรามีเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เครือเอสซีจี และเครือเอสซีจีเป็นหน่วยงานที่พัฒนานวัตกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอย่างต่อเนื่อง ก็ได้เจรจาให้ AstraZeneca มาประเมินศักยภาพของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ในเวลาเดียวกัน AstraZeneca ก็มีนโยบายในการขยายฐานการผลิตไปทั่วโลก ต้องเป็นระดับ 200 ล้านโดสต่อปีขึ้นไปจึงจะพิจารณา ซึ่งเมื่อพิจารณาบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์แล้วจึงเข้าได้กับหลักเกณฑ์ที่ AstraZeneca ต้องการ” นพ.นคร กล่าว

 

ส่วนความสัมพันธ์ของ AstraZeneca กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์นั้น นพ.นคร กล่าวว่า “เราซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca พูดง่ายๆ คือมาจ้างให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ผลิตให้ แต่การจะจ้างให้ผลิตก็ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ด้วย แบรนด์วัคซีนเป็นของ AstraZeneca แต่การจำหน่ายให้เราอยู่บนพื้นฐานของ No Profit No Loss คือไม่มีกำไร แต่จะไม่ขาดทุน พูดง่ายๆ คือคิดราคาทุนเท่านั้น เมื่อเขาขายราคาทุนให้กับเรา ค่าจ้างในการผลิตก็ต้องเป็นราคาทุนเช่นกัน 

 

“ดังนั้นบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ต้องผลิตและจำหน่ายในราคาต้นทุน และ AstraZeneca ก็ไปจำหน่ายในราคาต้นทุน จะเห็นได้ว่า AstraZeneca เป็นวัคซีนราคาถูกที่สุดในตลาดตามนโยบายของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด 

 

“ส่วนเงินทุนวงเงิน 600 ล้านบาทที่บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์รับทุนสนับสนุน ได้ระบุในสัญญาเลยว่าเมื่อผลิตวัคซีนได้จะคืนวัคซีนเป็นมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้รับ ดังนั้นการสนับสนุนไม่ใช่การให้เปล่า เป็นการสนับสนุนให้เกิดการผลิตวัคซีนให้ได้”

 

ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมในส่วนราคาที่จองซื้อจาก AstraZeneca คือ 5 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 150 บาทต่อโดส แต่บางบริษัทที่ฉีดแล้วในสหรัฐอเมริกามีราคาอยู่ที่ 19 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส ขณะที่บางบริษัทขึ้นไปถึง 32 ดอลลาร์สหรัฐต่อโดส

 

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าตนอยากทบทวนว่าวิธีการที่ตั้งเป้าคือเราน่าจะได้วัคซีนมาฉีดในปี 2564 ครอบคลุม 50% มาจาก 3 ช่องทาง ยืนยันไม่ได้แทงม้าตัวเดียว 

 

1. จำนวน 20% ได้เข้าร่วมกับโครงการ COVAX ซึ่งเป็นการนำวัคซีนหลายเจ้ามารวมกันลงถังกลาง เราเป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมและสนใจ เพียงแต่เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เงื่อนไขที่เขาให้เราซื้อจะมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่า ซึ่งเป็นหลักการของเขา 

 

ทั้งนี้เราไปเจรจากับ COVAX หลายครั้ง ซึ่งมีความยุ่งยากในการทำสัญญาจองซื้อ รวมถึงความคืบหน้าวัคซีนที่มาใส่ในถังกลางยังเป็นปัญหาอยู่ แต่ช่องทางนี้เรายังไม่ได้ทิ้ง ทำให้การประเมินถึงปัจจุบันยังเป็นไปได้ค่อนข้างยาก 

 

2. การถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตในประเทศไทย โดย AstraZeneca กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์อีก 20% 

 

3. ส่วนอีก 10% เราเปิดทางไว้กับบริษัทอื่นๆ ที่จะมีผลออกมาเป็นระยะๆ เพียงแต่ไม่สามารถเปิดเผยสู่สาธารณะ เพราะข้อมูลการผลิตวัคซีนเหล่านี้เป็นความลับ แต่เรามีข้อมูลศึกษาอยู่ ยืนยันว่าไม่ได้แทงม้าตัวเดียว

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising