×

มี.ค. นี้ กนง. อาจลดดอกเบี้ยต่ำ 1% ไทยจะมีโอกาสเจอดอกเบี้ยนโยบายติดลบไหม

24.02.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

2 mins. read
  • เปิดต้นปี 2563 กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาเหลือ 1% เพื่อช่วยเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อได้ แต่นักวิเคราะห์หลายแห่งมองว่า กนง. อาจจะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในเดือนมีนาคมปีนี้ 
  • บล.กสิกรไทย ชี้ปีนี้มีโอกาสที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจติดลบ ส่วน บล.ไทยพาณิชย์ ประเมินดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดที่ 0.5% ไม่ติดลบ

ต้นปีที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินเหลือ 1% ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ก็เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย แต่เมื่อเศรษฐกิจยังเป็นขาลง มีโอกาสที่ไทยจะเจออัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบไหม  

 

กนง. ลดดอกเบี้ยเหลือ 1% เซ่นพิษเศรษฐกิจ แต่ไม่อาจช่วย GDP ไทยปี 2563 ขยายตัว

 

การเพิ่มขึ้นหรือปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย มาจากหลายปัจจัย เช่น ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางหลักทั่วโลก เงินเฟ้อ ฯลฯ ซึ่งการลดดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นการส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับตัวลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อลดภาระการชำระหนี้ เพิ่มสภาพคล่องให้ประชาชน ขณะเดียวกันหากมีการลดดอกเบี้ยเงินฝาก จะเป็นการสนับสนุนให้คนนำเงินออกมาลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนที่มากขึ้น 

 

โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1% ถือว่าต่ำที่สุดนับจากปี 2543 ที่เริ่มใช้นโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (Flexible Inflation Targeting

 

โดย กนง. ระบุว่า การประชุมครั้งที่ 1/2563 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จาก 1.25% เป็น 1% ต่อปี เพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย จากความไม่แน่นอนในไทยและต่างประเทศ 

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ อาจไม่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นมากนัก แต่จะช่วยบรรเทาภาระหนี้และสนับสนุนการเพิ่มสภาพคล่อง การผ่อนคลายนโยบายการเงิน จะต้องผสมผสานกับมาตรการทางการเงินและการคลังอื่นๆ ที่เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิผล และต้องเร่งดำเนินการให้เห็นผลชัดเจนโดยเร็ว เช่น มาตรการเพิ่มสภาพคล่อง มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้

 

นักวิเคราะห์คาด กนง. ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งปีนี้-บล.กสิกรไทย ชี้ดอกเบี้ยไทยปีนี้อาจติดลบ 

 

ทั้งนี้ทาง ‘สมประวิณ มันประเสริฐ’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้า ทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ ‘จิติพล พฤกษาเมธานันท์’ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยตลาดทุน บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) ประเมินว่าการประชุม กนง. เดือนมีนาคมปีนี้ มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งเพื่อพยุงเศรษฐกิจ

 

จิติพล เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า มีโอกาสน้อยมากที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะติดลบ หากจะเกิดขึ้นได้ GDP ต้องติดลบก่อน ขณะเดียวกันการลดอัตราดอกเบี้ยในสถานการณ์นี้อาจไม่ช่วยให้การส่งออก หรือการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ดังนั้น ประเมินว่ามีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอาจปรับลดลงได้ แต่ลดลงสูงสุดน่าจะเหลือ 0.50% ซึ่งใกล้เคียงกับเงินเฟ้อ

 

ทั้งนี้ ปัจจุบันมองว่ามีปัจจัยบวกจากงบประมาณปี 2563 และน่าจะมีเม็ดเงินลงทุนออกมาในเศรษฐกิจได้ภายในไตรมาส 2/63 นี้ ขณะที่ไตรมาส 1/63 คาดว่า GDP ไทยน่าจะทรงตัวอยู่ในกรอบ 0-1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่ GDP มีโอกาสติดลบหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเชื่อว่ารัฐบาลมีวิธีการใช้จ่ายเงิน ซึ่งอาจจะช่วยให้ GDP ไม่ติดลบ

 

“ตอนนี้อยู่ที่การประเมินว่า ถ้า GDP ติดลบ หรืออัตราดอกเบี้ยติดลบ จะทำให้เสียความเชื่อมั่นมากไหม เพราะบางคนอาจมองว่าการจ่ายเงินเข้าระบบเพื่อไม่ให้ GDP ติดลบได้ ซึ่งรัฐบาลก็ต้องหาทางออกต่างๆ อย่างเต็มที่”

 

ภาสกร ลินมณีโชติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย (บล.กสิกรไทย) กล่าวว่า ปี 2563 มีโอกาสที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะติดลบ ส่วนหนึ่งเพราะประเทศไทยยังมีปัจจัยลบอีกหลายเรื่อง เช่น ภัยแล้ง งบประมาณที่ล่าช้า และเป็นเทรนด์ทั้งโลกที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องปรับลดลง ซึ่งบางประเทศอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวติดลบมาระยะหนึ่งแล้ว 

 

“ทาง บล.กสิกรไทย มองว่า กนง. จะลดดอกเบี้ยฯ​ อีกครั้งในช่วงมีนาคม 2563 เพราะการดีเลย์งบประมาณทำให้งบลงทุนหายไป 60-70% จากปกติ แถมยังมีภัยแล้งอีก 

เศรษฐกิจที่อ่อนแอ น่าจะเพียงพอที่ดอกเบี้ยจะลบ แต่ถ้าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยจนติดลบ จะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ต่างประเทศยังสูงมาก และส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวต่อเนื่อง ไปถึงไตรมาส 2/63 ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงระบบ ซัพพลายเชนได้รับผลกระทบต่อเนื่อง หากเรื่องไวรัสยังรุนแรงเลยเดือนพฤษภาคม 2563 ก็ต้องคัด (ลดดอกเบี้ย) ไปเรื่อยๆ” ภาสกร กล่าวในที่สุด

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X