คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีกำหนดจะจัดประชุมเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 2 ของปีนี้ในวันที่ 30 เมษายนนี้ ท่ามกลางการเรียกร้องอย่างต่อเนื่องของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องการเห็นนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจมากกว่านี้ โดยเฉพาะหลังจากสหรัฐฯ ประกาศนโยบายภาษีศุลกากรครั้งใหญ่เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ระดับ 2.00% หลังจาก กนง. ได้ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปเมื่อเดือนตุลาคม 2567 และกุมภาพันธ์ 2568
สำหรับการประชุมรอบนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยัง ‘เห็นต่าง’ แม้ว่าตลาดและภาคเอกชนคาดการณ์ว่าจะเห็นการลดดอกเบี้ยในรอบนี้ก็ตาม
ไทยพาณิชย์-กสิกรไทย คาด กนง. ปรับลดดอกเบี้ยรอบนี้
SCB EIC มองว่า กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้งในปีนี้สู่ระดับ 1.25% ภายในสิ้นปี 2568 เพื่อรองรับเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงตามความไม่แน่นอนที่ปรับสูงขึ้นมาก จากนโยบายการค้าสหรัฐฯ ประกอบกับความตึงตัวของภาวะการเงินที่มีอยู่เดิม
โดยมีความเป็นไปได้สูงที่ กนง. จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมวันที่ 30 เมษายน 2568 ทั้งนี้ประเมินว่าระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้จะต่ำกว่าช่วงปี 2561-2562 ที่เกิดสงครามการค้า 1.0 ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งขณะนั้นไทยยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) คาดการณ์ว่า ในการประชุม กนง. วันที่ 30 เมษายนนี้ คาดว่า กนง. มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงมาอยู่ที่ระดับ 1.75% เนื่องจากผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงปลายเดือนมีนาคม ประกอบกับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นจากนโยบายปรับขึ้นภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนและเกาหลีใต้ที่เข้ามาน้อยกว่าคาด รวมถึงโมเมนตัมเศรษฐกิจในประเทศที่อ่อนแรงลง ซึ่งคงส่งผลให้ กนง. มีการปรับมุมมองเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากประมาณการเดิมของ ธปท. ณ เดือนธันวาคม 2567 ที่ 2.9%
รวมถึงอาจมีการปรับประมาณการเงินเฟ้อปีนี้ลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 1.0% จากทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่อ่อนแรงลงและการปรับลดราคาพลังงานในประเทศเพื่อบรรเทาค่าครองชีพ
ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง โดยนโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนหลังสิ้นสุดการชะลอปรับขึ้นภาษี 90 วัน ท่ามกลางการเจรจาตกลงทางการค้ายังล่าช้า ท่ามกลางการเจรจาตกลงทางการค้ายังล่าช้า ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่อาจเข้ามาน้อยกว่าคาด ดังนั้น ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ยังมีอยู่สูง
อย่างไรก็ดี จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยคงขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในระยะข้างหน้าเป็นหลัก เนื่องจาก กนง. ได้ส่งสัญญาณในการประชุมเดือนก.พ. 2568 ว่าการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ไม่ใช่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลง ประกอบกับ กนง. คงต้องการรักษาพื้นที่นโยบายการเงิน (Policy space) ไว้เพื่อรองรับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ขณะที่คงต้องรอติดตามผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังที่อาจออกมาเพิ่มเติมซึ่งอาจช่วยประคองเศรษฐกิจไทยได้ในระดับหนึ่ง
กรุงไทย-กรุงศรีฯ คาด กนง. ‘คง’ ดอกเบี้ยเพื่อเก็บกระสุน
ดร.ฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการฝ่าย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH โดยระบุว่า Krungthai COMPASS คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยไว้ในการประชุมวันที่ 30 เมษายนนี้ เนื่องมาจาก ธปท. น่าจะต้องการเก็บกระสุนไว้ก่อน นอกจากนี้จากสิ่งที่ ธปท. สื่อสารออกมาในงาน Media Brifing สะท้อนให้เห็นว่า ธปท. มองว่าผลกระทบค่อนข้างจำกัดอยู่ในกลุ่มส่งออก ประกอบกับมีการระงับ Reciprocal Tariff ชั่วคราวไว้ที่ 90 วัน
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีนี้ Krungthai COMPASS คาดว่า จะอยู่ที่ 1.5% จากคาดการณ์เมื่อต้นปีที่ 1.75% ณ สิ้นปีนี้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากนโยบายภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ
ขณะที่ วิจัยกรุงศรีก็คาด กนง. อาจใช้แนวทาง Wait-and-See ในเดือนนี้ เพื่อเตรียมเก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยไว้ใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ผ่านมาในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ภายใต้การคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีกับสินค้าไทยที่ 10% ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวอยู่ที่ 2.5% แต่หากสหรัฐฯปรับขึ้นภาษีกับไทยมากกว่า 10% ผลกระทบอาจรุนแรงขึ้น และส่งผลให้ GDP ปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่า 2.5%
วิจัยกรุงศรีประเมินผลกระทบจากปัจจัยคุกคามคู่ (Twin Shocks) ทั้งจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อปลายเดือนมีนาคม และการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก GDP ปีนี้มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ จึงเพิ่มความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจผ่อนคลายนโยบายการเงินในปีนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30 เมษายนนี้ สะท้อนจาก Forward Guidance ล่าสุดของ ธปท. ที่ระบุว่า
– แม้อัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯเรียกเก็บกับไทยจะสูงกว่าที่คาดไว้ (36%) แต่ปัจจุบันมีการเลื่อนเก็บเป็นเวลา 90 วัน ผลกระทบจึงน่าจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังและปีหน้า
– ในการประเมิน GDP ครั้งล่าสุดของ ธปท. ใช้สมมติฐานว่าอัตราภาษีตอบโต้จะอยู่ที่ 10% ตลอดทั้งปี ซึ่งเป็นสถานการณ์ปัจจุบันในช่วงระยะเวลาผ่อนผัน 90 วันนี้
– ธปท. ประเมินว่ามีผลกระทบจำกัดเฉพาะในบางภาคเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่จะกระทบด้านภาคการผลิต (Supply Side) ซึ่ง ธปท. ย้ำเสมอว่าการใช้นโยบายการเงินไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด ควรแก้ไขด้วยการปรับโครงสร้างหรือยกระดับภาคการผลิต
– แม้อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย แต่ ธปท. มองว่าเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทาน และจะทยอยปรับเข้าสู่กรอบในระยะปานกลาง จากการสื่อสารของ ธปท. ดังกล่าวส่งสัญญาณว่า กนง. อาจจับตาและรอดูสถานการณ์ความชัดเจน (Wait-and-See Stance) ในระยะนี้ เพื่อเตรียมเก็บกระสุนด้านดอกเบี้ยนโยบายที่มีอยู่อย่างจำกัดไว้ใช้ในช่วงครึ่งปีหลัง หากความเสี่ยงจากสงครามการค้ารุนแรงขึ้นและมีแนวโน้มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม