วันนี้ (19 เมษายน) เวลา 10.30 น. อาฟิส ยะโกะ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนราธิวาส เขต 3 พรรคเป็นธรรม ได้เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อยื่นหนังสือชี้แจงนโยบายกรณีข้อความ ‘ปาตานีจัดการตนเอง’ ต่อ กกต. นราธิวาส โดยมี เสน่ห์ รักรงค์ ผู้อำนวยการ สนง.กกต. นราธิวาส รับหนังสือด้วยตนเอง
อาฟิสกล่าวว่า ได้มีการขอต่อ กกต. นราธิวาส ให้มีการพิจารณาอีกรอบ วันนี้มายื่นหนังสือต่อ กกต. นราธิวาส เป็นหนังสือชี้แจงนโยบายที่เกี่ยวกับการใช้คำ ‘ปาตานีจัดการตนเอง’ ซึ่งเดิมนั้นเราเข้าใจว่า กกต. จะตักเตือนในเรื่องของประโยคที่เราใช้คือคำว่า ปาตานีจัดการตนเอง แต่เพิ่งมาทราบภายหลังว่าการตักเตือนของ กกต. มาจากการท้วงติงของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ต่อคำว่า ‘ปาตานี’ ที่เราใช้
สำหรับคำว่า ‘ปาตานี’ เป็นคำที่ถูกยอมรับในสากล ถูกยอมรับจากงานเขียน ถูกยอมรับจากเวทีสาธารณะหลายๆ เวทีในพื้นที่ ที่เราพยายามสร้างบรรยากาศของกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการออกแบบ มีสิทธิในการกำหนดทิศทางของกระบวนการสันติภาพ และหนึ่งในนั้นมีการยอมรับเรื่องคำในการใช้แทนคนที่นี่ในพื้นที่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
“เรามองว่าการนิยามตัวเองคือคนปาตานีไม่ใช่เรื่องที่จะไปละเมิดต่อรัฐธรรมนูญข้อไหน แต่เป็นสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญที่ชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกคนที่นี่ว่าปาตานี ตราบใดที่เรายังใช้สิทธิเสรีภาพในทางการเมืองเพื่อต่อสู้เรื่องเหล่านี้ถือว่าชอบธรรม” อาฟิสกล่าว
อาฟิสกล่าวต่อไปว่า ตอนนี้กำลังประเมินถึงเจตนารมณ์ที่ตนต้องการจะสื่อสาร คือการเรียกที่นี่ว่าปาตานี แต่เมื่อมีหนังสือท้วงติงมาจาก กตต. ให้แก้ไขป้ายหาเสียงเลือกตั้ง และไม่ให้ใช้คำว่าปาตานี สุดท้ายแล้วเราก็ต้องแก้ไขป้ายเพื่อไม่ให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงประเมินสถานการณ์ เราอาจจะต้องปรับรูปแบบการหาเสียงใหม่ ใช้วิธีแสดงเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบอื่นๆ เข้ามาแทน
“ผมอาจจะต้องปิดข้อความปาตานีที่ป้ายหาเสียง เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถานที่ตรงนี้หรือว่าพื้นที่ตรงนี้มันยังไม่มีเสรีภาพในการแสดงออกของคนที่นี่” อาฟิสกล่าว
ส่วนเสน่ห์กล่าวว่า เนื่องจากป้ายของผู้สมัคร ส.ส. เขต 3 นราธิวาส พรรคเป็นธรรม มีข้อความที่หมิ่นเหม่ ทำให้มองได้สองลักษณะ จึงเสนอให้ทางผู้สมัครลองไปพิจารณาการใช้คำ อาจจะใช้คำอื่นเข้ามาแทน เพื่อไม่ให้ความหมายเปลี่ยน หรือคนอ่านตีความผิดเพี้ยนไป
“ผมบอกให้แก้ไขไม่ใช่ให้ถอนป้าย ผมเห็นว่ามันหมิ่นเหม่ ผมจึงให้แก้ไข ไม่ได้บอกว่าผิด-ถูก” เสน่ห์กล่าว
เสน่ห์กล่าวต่อไปว่า ตนนิยามคำว่าปาตานีในมุมมองตน ถ้าเกิดเราใช้คำว่านราธิวาส มันก็ไม่มีอะไร ซึ่งตนมองว่ากรณีที่ผู้สมัครพรรคเป็นธรรมใช้คำว่าปาตานี ทำให้คนมองได้สองแง่สองมุม และถ้ากลายเป็นหมิ่นเหม่ก็ทำให้คนตีความได้ หากผู้สมัครสามารถแก้ไขคำตรงนี้ได้ก็เป็นเรื่องที่ดี
กรณีผู้สมัครพรรคเป็นธรรมจะถูกตัดสิทธิหรือไม่ ตนไม่รู้เหมือนกัน ยังไม่มีกระบวนการอะไร แค่อยู่ในช่วงการพูดคุยเรียกมาทำความเข้าใจกันแค่นั้นเอง ถ้าแก้ไขได้ก็แก้ไข ถ้าแก้ไขไม่ได้ก็ต้องสละสิทธิ
เสน่ห์กล่าวอีกว่า กรณีของผู้สมัครพรรคเป็นธรรมถือเป็นเคสแรกในรอบหลายปี ไม่เคยมีเคสร้องเรียนผู้สมัครในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสเข้ามา
สำหรับความกังวลในฐานะ ผอ. สนง.กกต. นราธิวาส ของตัวเองนั้น ตนไม่ได้กังวล แค่เรียกผู้สมัครมาทำความเข้าใจ เพื่อให้การหาเสียงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและถูกต้อง
“ผมไม่มีความกังวลต่อการทำหน้าที่แต่อย่างใด เราไม่ได้ว่าการใช้คำปาตานีผิด-ถูก และตอนนี้ยังไม่ถึงกระบวนการตรงนั้น เราแค่มองว่ามุมมองต่อคำว่าปาตานี คนมองไม่เหมือนกันแค่นั้น” เสน่ห์กล่าวในที่สุด