“นายต้องจำไว้ให้ดีว่ากฎของ Movember มันมีอยู่ไม่กี่ข้อ…
“หนึ่ง นายต้องจัดการหนวดเคราบนใบหน้าทั้งหมดในวันที่ 1 พฤศจิกายน
หลังจากนั้น สอง ตลอดทั้งเดือนนายต้องปลูกและตกแต่งหนวดอยู่เสมอ
สาม ปฏิบัติตัวเป็นสุภาพบุรุษด้วย ไม่ว่านายจะดีหรือเลว
อ่อ สี่ จำไว้ว่าเราสนใจแค่หนวด เราไม่สนเคราครึ้มและเคราแพะอะไรทั้งนั้น!”
คุณสามารถอ่านกฎ 4 ข้อนี้เสมือนกฎของ Fight Club ก็ได้ แต่นี่ไม่ใช่ถ้อยความจากหนังเรื่องใดทั้งนั้น มันคือกฎพื้นฐานง่ายๆ 4 ข้อของเดือน Movember (โมเวมเบอร์) ที่เดินทางมาถึงอีกครั้งในปีนี้ต่างหาก กิจกรรมที่เกิดขึ้นจากความเมามายของสองหนุ่มเพื่อนซี้ในบาร์เล็กๆ ความหยำเปในคืนนั้นกลายมาเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่โด่งดังและน่าจับตามองที่สุดองค์กรหนึ่ง ซึ่งแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลก
ผมขอเชิญคุณผู้ชายและคุณผู้หญิงย่างก้าวตามรอยหนวดตลอด 14 ปีของ Movember ว่ามีอะไรเกิดอะไรขึ้นบ้าง กับกิจกรรมง่ายๆ ที่แปรสภาพหนวดในฐานะเครื่องหมายแสดงความเป็นชายให้กลายมาเป็นสิ่งที่สร้างความเคลื่อนไหวให้กับสังคมได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ถ้ากระจกพร้อม ครีมโกนหนวดพร้อม มีดโกนพร้อม เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า
Are you man enough to be my man?
คุณได้รับอีเมลหนึ่งฉบับ หัวเรื่อง ‘คุณแมนพอจะมาเป็นหนุ่มๆ ของเราไหม?’
ถ้าผมได้รับอีเมลหัวเรื่องแบบนี้ก็คงจะแอบเหวอสักหน่อย แต่นี่ไม่ใช่อีเมลจากสปานวดผู้ชายแต่อย่างใด มันคือจุดเริ่มต้นของ Movember ที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย ย้อนกลับไปในปี 2003 ในบาร์เล็กๆ ที่ชื่อ Gypsy Bar ย่านฟิตซ์รอย ในเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย สองหนุ่มเพื่อนซี้ ทราวิส กาโรน (Travis Garone) และลุค สแลตเตอรี (Luke Slattery) นัดดวลเบียร์กันเป็นปกติ พวกเขานั่งร่ำไรกับเครื่องดื่มสีเหลืองทองพร้อมถกประเด็นทางสังคมต่างๆ กันอย่างออกรส จนกระทั่งพวกเขาเริ่มคุยกันถึงเรื่องเทรนด์แฟชั่นที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘หนวด’ อันเป็นเทรนด์ที่เคยฮิตมากๆ ของผู้ชายในยุค 70s
“เราลองมาไว้หนวดแบบนั้นกันดีไหม” หนึ่งในเพื่อนซี้ถาม ซึ่งคำถามกึ่งท้าทายนั้นก็กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการไว้หนวดในเดือนพฤศจิกายน (Mo คือสแลงของคำว่า Moustache ซึ่งแปลว่าหนวด นำมาสมาสกับคำว่า November อันเป็นเดือนที่พวกเขาเลือก) อีกทั้งพวกเขายังได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของแม่เพื่อนที่ระดมทุนบริจาคเพื่อโรคมะเร็งเต้านมของเธอ เขาจึงนำทั้งสองเรื่องราวนี้มาผูกกันอย่างเข้าท่า กล่าวคือการไว้หนวดเพื่อให้หนุ่มๆ ตระหนักถึงสุขภาพและโรคต่างๆ ของผู้ชายไปพร้อมๆ กัน พวกเขาจึงสร้างกฎง่ายๆ ขึ้นมาตามที่ผมกล่าวไปข้างต้น
“แล้วเราจะเริ่มต้นอย่างไรกันดี” กฎก็มีแล้ว พวกเขาทั้งสองก็พร้อมแล้ว แต่ทำอย่างไรที่จะทำให้กิจกรรมนี้เกิดขึ้นในวงกว้าง พวกเขาจึงจัดแจงออกแบบโลโก้และส่งอีเมลไปหาเพื่อนๆ และคนรู้จักของพวกเขาในหัวเรื่อง ‘Are you man enough to be my man?’ และพบว่ามีหนุ่มๆ จำนวน 30 คนรับคำท้านั้น พวกเขาเก็บเงินจากผู้เข้าร่วมโครงการคนละ 10 เหรียญออสเตรเลียเพื่อสร้างกองทุนขึ้นมา ก่อนที่ในปีต่อมาพวกเขาจะเริ่มสร้างบริษัทและเว็บไซต์อย่างจริงจัง และรับเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไปเพื่อนำไปมอบให้กับโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพบุรุษ ซึ่งพวกเขาเลือกจะนำเงินไปบริจาคให้กับ Prostate Cancer Foundation of Australia (PCFA) หรือมูลนิธิมะเร็งต่อมลูกหมากแห่งออสเตรเลีย เป็นองค์กรแรก และเงินก้อนแรกที่พวกเขาบริจาคนั้นสูงถึง 21,184 ยูโร หรือราว 8 แสนบาท! ซึ่งนั่นเป็นการร่วมไว้หนวดจากคนจำนวน 480 คน
Why Moustache?
ทำไมต้องเป็นหนวดล่ะ? อาจเป็นคำถามที่พวกคุณต่างก็สงสัย ทำไมจึงไม่เป็นขนหน้าอก คิ้ว เครา หรือขนรักแร้ เหตุที่ต้องเป็นหนวดนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวนัก เพราะหากเหลือบมองกลับไปในยุค 70s-80s หนวดนั้นเป็นเสมือนเครื่องบ่งบอกความเท่ในแบบฉบับของบุรุษ คุณจะนึกถึงใครเป็นพิเศษไหม? ซัลวาดอร์ ดาลี ศิลปินชาวสเปนกับหนวดแหลมสูงปรี๊ดติดตา หรือเฟรดดี เมอคิวรี นักร้องนำวง Queen หนุ่มคนนั้นก็มีหนวดที่เท่และเซ็กซี่ไม่แพ้ใคร
หรือแม้แต่สิ่งที่ชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยา เคยกล่าวไว้ในช่วงยุค 70s ในงานของเขาว่า หนวดไม่ใช่แค่เพียงหนวด แต่มันคือ ‘ทุกอย่าง’ ของชายหนุ่ม สัญลักษณ์ที่ทำให้เด็กหนุ่มก้าวข้ามวัยไปสู่ความสมบูรณ์ของร่างกาย และหนวดยังเป็นสิ่งแทนความมั่งคั่งและหน้าตาทางสังคมอีกด้วย
แต่ที่กิจกรรมดังกล่าวเลือกใช้หนวดอันเป็นสัญลักษณ์บนใบหน้าของบุรุษเป็นตัวชูโรงก็เพื่อต้องการให้หนุ่มๆ นำเงินที่ใช้สำหรับตกแต่งหนวดเครานั้นมาบริจาคให้กับองค์กรในช่วงแรกของการจัดตั้งก็เท่านั้นเอง เปรียบเสมือนการกลับไปค้นหาความเท่ในแบบฉบับของผู้ชายให้กลับมามีเสน่ห์อีกครั้ง ทั้งในแง่ของการตกแต่งและการจัดทรงหนวด บ่งบอกความเป็นบุรุษได้ชัดเจน ซึ่งเกี่ยวโยงกับวัตถุประสงค์ของโครงการอีกด้วย
Hey, My Mo Bros!
ศัพท์สแลงที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม Movember นี้ พวกเขาจะเรียกกลุ่มคนที่เข้าร่วมการไว้หนวดในเดือนพฤศจิกายนว่า ‘Mo Bros’ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงในออสเตรเลียเท่านั้นที่ให้ความสนใจ เพราะในอีกไม่กี่ปีให้หลัง องค์กรนี้ก็เริ่มขยายสาขาไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก เริ่มต้นจากในนิวซีแลนด์, ไอร์แลนด์, แคนาดา, สาธารณรัฐเช็ก, เดนมาร์ก, เอลซัลวาดอร์, สเปน, สหราชอาณาจักร, อิสราเอล, แอฟริกาใต้, สหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ประเทศในเอเชียอย่างไต้หวัน
กลุ่มก้อนของ Mo Bros ต่างสร้างบรรทัดฐานใหม่ขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ใช้เรื่องราวง่ายๆ เป็นเครื่องหมายที่นำไปสู่จุดประสงค์ อย่างการนำหนวดไปผูกโยงกับเรื่องราวหลากแง่มุมสุขภาพของบุรุษชน ทั้งโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งอัณฑะ โรคอ้วน หรือรวมไปถึงโรคซึมเศร้าอีกด้วย และตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมานั้น มูลนิธิ Movember และเครือข่ายทั่วโลกทั้ง 21 ประเทศมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 5.2 ล้านคน ได้มอบเงินให้กับมูลนิธิและองค์กรต่างๆ ไปแล้วกว่า 1,200 โครงการ เป็นจำนวน 730 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือราว 18,600 ล้านบาท!
ใครจะคาดคิดว่าเพียงแค่การไว้หนวดในเดือนพฤศจิกายนจะสามารถสร้างแรงขับเคลื่อนบางอย่างให้กับสังคมได้อย่างไม่น่าเชื่อ จากกลุ่มคนจำนวนไม่มาก ก้าวข้ามไปสู่การเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับโลกได้อย่างน่าสนใจจากหนวด
ว่าแล้วก็เสิร์ชกูเกิลหาทรงหนวดสวยๆ ไปให้ช่างตัดผมร้านประจำเล็มให้งามๆ ดีกว่า
อ้างอิง: