×

ส.ส. ก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามแผนเยียวยาประชาชน-ดูแลนักผจญเพลิง นิพนธ์ตอบ จะไปกำชับท้องถิ่นและมูลนิธิให้มีอุปกรณ์มาตรฐาน

โดย THE STANDARD TEAM
08.07.2021
  • LOADING...
ไฟไหม้ เยียวยา

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 10 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ประจำวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 วุฒินันท์ บุญชู ส.ส. สมุทรปราการ เขต 4 พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดต่อ พล.อ. อนุพงษ์​ เผ่าจินดา​​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีไฟไหม้โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ในจังหวัดสมุทรปราการ โดยรัฐมนตรีได้ส่ง นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย มาเป็นผู้ตอบกระทู้แทน 

 

วุฒินันท์กล่าวว่า ในฐานะที่เป็น ส.ส. พื้นที่เกิดเหตุไฟไหม้และระเบิดที่โรงงาน ย่านถนนกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เหตุเกิดตั้งแต่ช่วงกลางคืน เวลา 03:00 น. ของวันที่ 5 กรกฎาคม หลังเกิดเหตุตนติดตามสถานการณ์ตั้งแต่เช้าเพื่อประเมินความรุนแรงของสถานการณ์ กระทั่งเวลาประมาณ 09:00 น. มีการประกาศว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย และมีการประกาศอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตร 

 

“ประเด็นที่น่ากังวลคือ ประชาชนไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในรัศมีที่ต้องอพยพหรือเปล่า สะท้อนว่ารัฐบาลขาดระบบและการวางแผนที่ดีในการแจ้งเตือนและอพยพประชาชนยามวิกฤต ต้องขอบคุณ ปาล์ม-นิธิกร บุญยกุลเจริญ ที่ช่วยพัฒนาระบบตรวจสอบผ่านโทรศัพท์มือถือว่าประชาชนอยู่ในพื้นที่ที่ต้องอพยพหรือไม่ ทั้งที่หน้าที่นี้ควรเป็นหน้าที่รัฐบาล ซึ่งต้องฝากให้ท่านรัฐมนตรีกลับไปปรับปรุงด้วย” วุฒินันท์กล่าว

 

วุฒินันท์กล่าวต่อไปว่า หลังจากได้อพยพประชาชนเรียบร้อยแล้ว ตนได้เข้าไปเยี่ยมเยียนประชาชนในศูนย์พักพิงต่างๆ เพื่อประสานงานและแจ้งช่องทางเพื่อเชื่อมความช่วยเหลือกันของภาคประชาชน ต้องขอขอบคุณหน่วยงานท้องถิ่น ท้องที่ และอาสาสมัคร ที่ได้ร่วมกันทำงานอย่างหนัก เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในยามวิกฤต 

 

“แต่ในฐานะผู้แทนราษฎร จากการรับฟังความเดือดร้อนของประชาชน ที่ไม่รู้ว่าจะหาคำตอบจากหน่วยงานใด และเป็นคำถามซ้ำๆ เพราะยังไม่มีหน่วยงานใดให้คำตอบได้อย่างชัดเจน จึงต้องนำเอาคำถามเหล่านี้มาถามเพื่อหวังจะได้รับคำตอบที่ทำให้ประชาชนสบายใจ คำถามข้อที่หนึ่ง เหตุการณ์ครั้งนี้สร้างความเสียหายให้กับประชาชนเป็นจำนวนมาก บ้านหลายหลัง รถยนต์หลายคัน ตลอดจนทรัพย์สินของประชาชนได้รับความเสียหายอย่างมาก มีข้อสันนิษฐานว่าบ้านหลายหลังอาจเสียหายเชิงโครงสร้าง คำถามของพี่น้องประชาชนก็คือ รัฐบาลจะชดใช้ ชดเชยความเสียหายเหล่านี้ให้พี่น้องประชาชนอย่างเป็นธรรมได้อย่างไร หรือจะปล่อยให้พี่น้องประชาชนไปฟ้องร้องกันเองตามยถากรรม มีการระบุว่าบริษัทมีวงเงินประกันอยู่เพียง 20 ล้านบาท เป็นวงเงินน้อยมากหากเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงมีคำถามว่าประชาชนที่บ้านเรือนที่เสียหายจะมีหน่วยงานใดมาตรวจสอบโครงสร้างทางวิศวกรรม จะมาเมื่อไร ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟฟ้า คุณภาพน้ำประปา ซึ่งปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่แค่อัคคีภัย แต่มีเรื่องสารปนเปื้อนตกค้างด้วย เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยในเรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ จึงขอทราบคำตอบและขอให้ท่านตอบให้ครบ เพราะประชาชนรออยู่จริงๆ ส่วนวงเงินประกันที่น้อยนี้ก็เป็นเรื่องคาใจว่า หากไม่พอ ประชาชนผู้ได้รับเสียหายต้องการฟ้องร้อง รัฐบาลจะเป็นแม่งานช่วยเหลือได้หรือไม่”

 

คำถามที่สอง วุฒินันท์กล่าวว่า ได้ข่าวว่าขณะเกิดเหตุ นายกรัฐมนตรีเตรียมทำฝนเทียม จึงมีความกังวลเป็นอย่างมาก เพราะในพื้นที่มีทั้งชุมชนหนาแน่น มีลูกเด็กเล็กแดงอยู่เต็มไปหมด มีทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและแหล่งน้ำ ถ้าเกิดทำฝนเทียมก็จะเกิดสารมลพิษปนเปื้อนในระยะยาว เป็นห่วงสุขภาพของเด็กๆ และพี่น้องประชาชนในระยะยาวเป็นอย่างมาก และยังไม่นับผลกระทบทางเศรษฐกิจ โชคดีที่นายกฯ ได้เปลี่ยนการตัดสินใจที่ผิดพลาดนั้นให้ถูกต้อง 

 

“แต่ความกังวลถึงผลกระทบด้านสุขภาพยังไม่หมด จึงต้องถามคำถามในเรื่องสุขภาพของพี่น้องประชาชน ทราบข่าวว่ามีการเข้าไปคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นให้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงไปบ้างแล้วในวันที่ 6-7 ที่ผ่านมา แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องของสารปนเปื้อนที่อาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว จึงขอถามว่า จะมีการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดให้กับอาสาสมัคร เจ้าหน้าที่ที่เผชิญเหตุ และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงทุกคนเมื่อไร มีแผนการตรวจต่อเนื่องอย่างไร และมีสวัสดิการเพิ่มเติมในการดูแลสุขภาพประชาชน เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครที่เผชิญเหตุหรือไม่ ขอย้ำว่า ขณะนี้พวกเขาอาจยังไม่ป่วย แต่วันหน้าอาจป่วยได้เพราะมีสารเคมีตกค้างในร่างกาย จึงต้องดูแลคนกลุ่มนี้ จะมีการดูแลอย่างไร”

 

สำหรับคำถามข้อสุดท้าย ส.ส. สมุทรปราการ กล่าวว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้ประชาชนทราบว่าเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่เผชิญเหตุต้องซื้ออุปกรณ์เซฟตี้และอุปกรณ์เผชิญเหตุด้วยตนเอง อย่างหน้ากากกันสารพิษก็ต้องพึ่งพาการบริจาคจากประชาชน รวมถึงมีนักผจญเพลิงเสียชีวิต ซึ่งขอกล่าวชื่อเพื่อเป็นเกียรติให้กับเขาในสภาแห่งนี้ วีรบุรุษท่านนั้น คือ กรสิทธิ์ ลาวพันธ์ และวีรบุรุษไม่ได้มีคนเดียว ยังมีวีรบุรุษที่ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 4 ท่านที่ได้รับบาดเจ็บ จึงขอถามแทนพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนว่า นับจากวันนี้ไป รัฐบาลมีแผนที่จะปรับปรุงอุปกรณ์เซฟตี้และเครื่องมือในการบรรเทาสาธารณภัยให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยมากกว่านี้หรือไม่ สำหรับผู้เสียชีวิต รัฐบาลมีมาตรการในการดูแลครอบครัวของเขาอย่างไร 

 

“ที่ลืมไม่ได้คือวีรบุรุษที่ได้รับบาดเจ็บ รัฐบาลจะดูแลพวกเขาในระยะยาวอย่างไร ยืนยันว่าการดูแลพวกเขาต้องต่อเนื่องและสมเกียรติ ไม่ใช่เรื่องเงียบก็กลับบ้าน ละเลยตามยถากรรม คำถามนี้เป็นการถามแทนพี่น้องประชาชนทุกคน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยืนยันดูแลฟื้นฟูพวกเขาหลังออกจากโรงพยาบาลด้วย หน่วยผจญเพลิงเป็นหน้าด่าน เป็นหน่วยแรกที่เข้าพื้นที่และทำงานอย่างหนักตลอด 24 ชั่วโมง แต่สิ่งที่เขาได้รับคือสารพิษที่อาจเจือปน จึงอยากให้ยืนยันและให้กำลังใจหน่วยผจญเพลิง เพื่อมีแนวทางพัฒนาให้พวกเขาต่อไป” วุฒินนท์กล่าว

 

ด้านนิพนธ์ได้ตอบคำถามแรกว่า เรื่องการเยียวยาให้เป็นตามระเบียบกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังมีกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยของสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนเงินประกัน 20 ล้านบาทของบริษัท หากเทียบกับมูลค่าความเสียหายที่ประเมินเบื้องต้น 209 ล้านบาท ยอมรับว่ายังห่างไกล ก็ต้องเจรจากัน ขณะนี้มีหลายฝ่ายลงไปดูแลรักษาเรื่องสิทธิ เรื่องความสูญเสียชีวิต และเรื่องทรัพย์สิน ในส่วนที่มีความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม มีการตรวจวัดเบื้องต้นเพื่อตรวจสอบด้านมลพิษเมื่อวันที่ 5-7 กรกฎาคม ในพื้นที่ 8 กิโลเมตร 14 จุด พบค่าสารสไตรีนฯ ไม่เกินมาตรฐานความปลอดภัยในบรรยากาศ ด้านน้ำได้ตรวจพบสารสไตรีนจากน้ำบริเวณดับเพลิงบริเวณ แต่ไม่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ ขณะนี้ประชาชนโดยรอบสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติ แต่ควรงดใช้น้ำคลองเป็นการชั่วคราว ในส่วนถังสารเคมีที่ยังตกค้างประมาณ 700 ตัน ขณะนี้ได้ฉีดน้ำดับเพลิงคุมอุณหภูมิตลอดเวลา และได้กันพื้นที่รัศมี 1 กิโลเมตรที่ยังเสี่ยงอยู่ แต่ผู้เชี่ยวชาญยืนยันสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ 100% และจะเคลื่อนย้ายถังสารเคมีที่เหลือไปจำกัดอย่างถูกวิธีภายใน 2-3 วัน 

 

อย่างไรก็ตาม ต่อคำถามที่สองซึ่งถามถึงแผนการตรวจสุขภาพประชาชนในระยะยาว เพราะอาจมีสารตกค้างในร่างกาย นิพนธ์กล่าวถึงการจัดการมลพิษในสถานที่ เรื่องคุณภาพน้ำและคุณภาพอากาศ ไม่ได้ตอบเกี่ยวกับแผนการตรวจสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่องแต่อย่างใด

 

เช่นเดียวกับคำถามสุดท้ายที่ถามถึงแผนปรับปรุงอุปกรณ์เซฟตี้และเครื่องมือในการบรรเทาสาธารณภัยของรัฐบาล และการเยียวยานักผจญเพลิงที่ได้รับบาดเจ็บอย่างต่อเนื่องในระยะยาวอย่างสมเกียรติ นิพนธ์ตอบว่า เหตุการณ์ที่เกิดเป็นความสูญเสียที่ไม่อยากให้เกิด ผู้เสียชีวิตเป็นผู้มีหัวใจเสียสละ โดยเข้าไปช่วยอพยพและขอออกจากพื้นที่คนสุดท้าย ภายใต้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะถอดบทเรียนต่อไป ส่วนข้อสังเกตเรื่องอุปกรณ์ จะพยายามทำความเข้าใจกับท้องถิ่นและมูลนิธิที่มีจิตอาสาซึ่งอาจไม่มีความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ จะนำเรียนข้อสังเกตนี้ไปบอกเพื่อให้อุปกรณ์มีความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล และจะพยายามดูแลเรื่องความสูญเสียให้ดีที่สุด

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X