×

ก้าวไกลแย้งวิธียื่นคำร้องยุบพรรค กกต. ติงอย่าตีความกฎหมายแบบศรีธนญชัย มาตรา 92 และ 93 ไม่แยกเป็นเอกเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
13.06.2024
  • LOADING...
ก้าวไกล

วันนี้ (13 มิถุนายน) ที่อาคารรัฐสภา ชัยธวัช ตุลาธน สส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค ก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข่าวชี้แจงการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีการสั่งยุบพรรคก้าวไกล 

 

โดยชัยธวัชมองว่า กกต. กำลังชี้ให้เห็นว่าการยุบพรรคการเมืองมี 2 ช่องทาง คือ 

 

  1. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ซึ่งหาก กกต. มี ‘หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า’ ก็สามารถยื่นได้เลย โดยที่ไม่ต้องมีกระบวนการสอบสวน สามารถใช้ดุลพินิจได้ตามอำเภอใจที่จะยื่นคำร้อง

 

  1. มาตรา 93 เป็นเรื่องของนายทะเบียน ไม่ได้เกี่ยวกับ กกต. หากมีความปรากฏว่า พรรคการเมืองกระทำผิดถึงขั้นยุบพรรค ก็ให้ไปสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงตามระเบียบที่ออกไว้ 

 

“ผมมองว่าแนวทางดังกล่าวเป็นปัญหา เพราะกระบวนการที่จะยื่นยุบพรรคการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงสืบสวนสอบสวนเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว การอ่านกฎหมาย อย่าไปตีความแบบศรีธนญชัย กฎหมายเขียนลำดับไว้อย่างชัดเจน”

 

ชัยธวัชยืนยันว่า กกต. เองเป็นคนบอกพรรคการเมืองมาโดยตลอดว่าการยุบพรรคเป็นไปตามมาตรา 92 โดยไม่ได้บอกว่าต้องดำเนินการตามมาตรา 93 ด้วย ซึ่ง กกต. ไม่เคยอธิบายตรงไหนเลยว่า นอกจากช่องทางนี้แล้ว วันดีคืนดี กกต. เห็นว่าตัวเองมีหลักฐาน ก็สามารถยื่นคำร้องได้เลยโดยไม่มีกระบวนการสืบสวนสอบสวน

 

“อย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจเจอคนขโมยของทำผิดซึ่งหน้า ยังต้องจับกุมไปดำเนินคดี เข้าสู่กระบวนการสอบสวน ส่งอัยการ นี่ยุบพรรคการเมือง ไม่ใช่เล่นขายของ”

 

ส่วนที่ กกต. ยืนยันว่าทำได้ เพราะในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติได้ทำแบบนี้มาแล้ว คือไม่ได้ผ่านกระบวนการรวบรวมข้อเท็จจริงตามมาตรา 93 และไม่ได้มีการวินิจฉัยว่ากระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ชอบหรือไม่ เพราะขณะนั้น กกต. ยังไม่เคยออกระเบียบสำหรับการยุบพรรคการเมืองโดยเฉพาะมาก่อน เลยอาจพอถูไถกันไปได้ อีกทั้งคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเรื่องกระบวนการคำร้องชอบหรือไม่ เกิดขึ้นหลังจากนั้นแล้ว คือคดียุบพรรคอนาคตใหม่ 

 

โดยในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญได้วางหลักการยุบพรรคตามมาตรา 92 ต้องทำประกอบกับมาตรา 93 และระเบียบของ กกต. เพียงแต่ ณ ขณะนั้น ระเบียบเก่าไม่ได้บังคับให้ กกต. รวบรวมข้อเท็จจริง และแจ้งให้กับพรรคผู้ถูกร้องทราบก่อน แต่ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่าให้ไปใช้อีกระเบียบหนึ่งในการไต่สวนสอบสวนคดีอาญา โดยอนุโลมให้ กกต. ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามระเบียบทุกข้อ 

 

ส่วนกรณีที่ กกต. อ้างว่าตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับลงวันที่ 31 มกราคม 2567 ได้ระบุชัดเจนว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำให้ กกต. ไม่อาจทำอย่างอื่นได้นั้น ชัยธวัชกล่าวว่า คนละเรื่อง นั่นคือเรื่องของพยานหลักฐาน 

 

“การมีพยานหลักฐานที่ กกต. เชื่อแล้วว่าเพียงพอ ไม่ได้หมายความว่า กกต. ไม่จำเป็นต้องทำกระบวนการรวบรวมหลักฐานตามที่กฎหมายกำหนด อย่าสับสนระหว่าง กกต. เห็นว่าพยานหลักฐานมีน้ำหนักหรือไม่” ชัยธวัชกล่าว

 

▪️ พิธาย้ำ อำนาจองค์กรอิสระไม่ควรล้นเกิน

 

ด้าน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้โพสต์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ชี้แจงในประเด็นเดียวกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ข้อ ประกอบด้วย

 

“(1) กกต. จะนำคดีไทยรักษาชาติมาอ้างไม่ได้ เพราะคดีนั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยประเด็นกระบวนการการยื่นคำร้องเป็นประเด็นแห่งคดีแต่อย่างใด ดังนั้น ในคดีดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นบรรทัดฐานได้ แตกต่างจากคดียุบพรรคอนาคตใหม่ (กู้เงิน) ที่ศาลได้วินิจฉัยความเกี่ยวเนื่องของมาตรา 92 และมาตรา 93 เป็นประเด็นแห่งคดีไว้ 

 

“(2) ในขณะเดียวกัน คำวินิจฉัยคดียุบพรรคอนาคตใหม่ วางหลักว่ากระบวนการตามมาตรา 93 เกี่ยวเนื่องกับการเสนอคำร้องตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง เพียงแต่ขณะนั้นใช้ระเบียบ กกต. ว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2560 ซึ่งกำหนดเรื่องกระบวนการเสนอคำร้องตามมาตรา 92 ให้นำระเบียบสืบสวนไต่สวนมาใช้บังคับโดยอนุโลม 

 

“โดยระเบียบสืบสวนไต่สวนดังกล่าว เป็นระเบียบที่ใช้ในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งกำหนดให้ กกต. แจ้งข้อกล่าวหาก่อน แต่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า การนำมาใช้โดยอนุโลมคือไม่ต้องนำทุกข้อมาใช้บังคับแก่กรณี ดังนั้น กกต. จึงไม่แจ้งข้อหาก่อน ย่อมถูกต้องแล้ว 

 

“แต่ปัจจุบันระเบียบ กกต. ว่าด้วยพรรคการเมืองปี 2560 ถูกยกเลิกไปแล้ว และมีการออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมืองปี 2566 ออกมาใช้บังคับกับกรณีการยื่นคำร้องตามมาตรา 92 และมาตรา 93 ดังนั้น การเสนอคำร้องตามมาตรา 92 จึงต้องดำเนินการตามระเบียบปี 2566 อย่างเคร่งครัด 

 

“(3) ตามมาตรา 93 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 92 คณะกรรมการจะยื่นคำร้องเอง หรือจะมอบหมายให้นายทะเบียนเป็นผู้ยื่นคำร้องและดำเนินคดีแทน” ก็เป็นการเท้าความถึงมาตรา 92 อยู่นั่นเอง ถ้าบอกว่ามาตรา 93 ไม่เกี่ยวกับมาตรา 92 แล้วตามวรรคสองของมาตรา 93 จะอ้างอิงมาตรา 92 ทำไม ดังนั้น มาตรา 92 กับมาตรา 93 ต้องใช้ประกอบกัน แยกเป็นเอกเทศไม่ได้ 

 

“ผมและพรรคก้าวไกลเห็นว่าหลักการใช้อำนาจขององค์กรอิสระคือไม่ควรล้นเกิน แต่ต้องยึดหลักการมีส่วนร่วมและการถ่วงดุลกัน ดังที่เห็นในรัฐธรรมนูญไทยไม่ว่าฉบับ 2540, 2550 หรือ 2560 

 

“การยื่นคำร้องยุบพรรค ระบบกฎหมายกำหนดให้เป็นการแสดงเจตนาของ ‘องค์กรร่วม’ เสมอมา เพื่อให้กระบวนการมีการกลั่นกรองและถ่วงดุลตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไป ก่อนการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X