×

วรภพ ส.ส. พรรคก้าวไกล ชี้ไทยเสียมากกว่าได้หากร่วม CPTPP อัดรัฐบาลเปิดช่องให้นายทุนไล่ฟ้องเกษตรกร

โดย THE STANDARD TEAM
10.06.2020
  • LOADING...

วันนี้ (10 มิถุนายน) ที่รัฐสภา วรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในญัตติด่วน เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบหากรัฐบาลจะอนุมัติลงนามในข้อตกลง CPTPP 

 

วรภพ กล่าวว่า CPTPP เป็นการดำเนินการต่อจาก TPP ซึ่งหลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปก็เหลือเพียง 11 ประเทศเท่านั้น และการได้โอกาสทางการค้ากับประเทศสมาชิกดังกล่าว คงจะเป็นประโยชน์ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลพยายามยกขึ้นมาสนับสนุนการเข้าร่วม CPTPP แต่อย่างไรก็ตาม ในรายชื่อทั้งหมด 11 ประเทศ มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ แคนาดาและเม็กซิโก ที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีอยู่ด้วย และทั้ง 2 ประเทศมีมูลค่าการส่งออกจากไทยเพียง 2% จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นเพียง 0.12% เท่านั้น ส่วนประโยชน์อื่น เช่น เพิ่มสิทธิ์แรงงาน, เพิ่มการแข่งขันลดการผูกขาด, เปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ฯลฯ ทั้งหมดเราสามารถทำได้เองโดยไม่จำเป็นต้องอาศัย CPTPP

 

วรภพกล่าวต่อมาว่า สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องแลกมี 3 ประเด็นคือ 

 

  1. ปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการค้าเสรี เมื่อเข้า CPTPP ช้ากว่าประเทศอื่น อาจทำให้อำนาจในการเจรจาต่อรองลดลง และกลับกลายเป็นฝ่ายที่จะต้องเปิดรับการนำเข้าสินค้าเกษตรที่เคยคุ้มครองไว้ เช่นเดียวกับการเปิดเสรีธุรกิจบริการ การท่องเที่ยวก็มีแนวโน้มจะเสียหาย 

 

  1. บทที่ว่าประเทศสมาชิกห้ามบังคับทำการถ่ายทอดเทคโนโลยีสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเราที่ยังอยู่ในช่วงการพัฒนาเทคโนโลยีตัวเอง เรายังจำเป็นต้องพึ่งกลไกการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐเพื่อสร้างอุตสาหกรรมใหม่ บริษัทนวัตกรรมของคนไทยจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมใหม่ตัวเล็กๆ เพิ่งจะเริ่มคลาน ต้องมาวิ่งแข่งกับบริษัททุนใหญ่ต่างชาติ ยากที่เราจะมีอุตสาหกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นในประเทศ 

 

  1. ‘ความเสี่ยงค่าโง่ของประเทศไทย’ เป็นทั้งค่าโง่และค่าแกล้งโง่ พบในบทที่ 9 และ 28 ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น นั่นคือการเสี่ยงถูกนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นหรือบริษัทยาข้ามชาติฟ้องอนุญาโตตุลาการได้ ทั้งนี้จากการใช้สิทธิ CL ยาได้ง่ายขึ้น

 

วรภพกล่าวถึงบทที่กำหนดให้ประเทศที่เข้าร่วมต้องยอมรับ UPOV 1991 ซึ่งจะเกิดปัญหาหลายประการตามมา ข้อตกลงดังกล่าวเหมือนกับดักล่อลวงประเทศกำลังพัฒนาแบบประเทศไทย ให้กลายเป็นเครื่องมือของบริษัททุนเมล็ดพันธุ์พืช คือ ให้เกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ของนายทุนปลูกปีนี้ แล้วเก็บเมล็ดไปปลูกต่อปีหน้าเพื่อกินเอง ซึ่งตรงนี้ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือเก็บเมล็ดไปปลูกต่อปีหน้าเพื่อขายผลผลิต ทำไม่ได้ ถูกนายทุนฟ้องได้ ยกเว้นรัฐบาลจะอนุญาต ทั้งนี้เมื่อพิจารณาควบคู่กับร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช 2560 พบว่า แม้จะกำหนดว่าเกษตรกรมีสิทธิ์ใช้เมล็ดพันธุ์พืชใหม่ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มีการให้อำนาจรัฐมนตรีมาห้ามเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์พืชใหม่ใดไปปลูกก็ได้ และหากจะนำผลิตผลไปขายต่อจะต้องเสียส่วนแบ่งให้นายทุนด้วย มิฉะนั้นจะถูกฟ้องร้องได้ 

 

นอกจากนี้มีการขยายอำนาจฟ้องร้องนี้ไปยังการผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลิตผลด้วย ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดไว้ใน UPOV 1991ด้วยซ้ำ ทั้งนี้ความน่ากลัวของ UPOV 1991 ยังรวมถึงการขยายสิทธิ์คุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ของนายทุน ให้ครอบคลุมไปถึงพันธุ์พืชที่ได้รับพันธุกรรมจากพันธุ์พืชของนายทุนด้วย ซึ่งในโลกความเป็นจริง พันธุ์พืชจะมีการผสมพันธุ์ข้ามสายพันธุ์ไปมาได้ตลอดเวลา

 

วรภพยกตัวอย่างนาข้าว 2 แปลงอยู่ติดกัน แปลงหนึ่งใช้พันธุ์พืชนายทุน อีกแปลงไม่ได้ใช้ แล้วลมหรือแมลงพาพันธุ์พืชของนายทุนข้ามมา กลายเป็นพันธุ์พืชผสมใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีสารพันธุกรรมของพันธุ์พืชนายทุนอยู่ ต่อไปถ้าเกษตรกรจะขายข้าวพันธุ์พืชผสม จะกลายเป็นว่าเกษตรกรจะสามารถถูกนายทุนฟ้องร้องได้ เรื่องนี้เหมือนรัฐบาลไทยแกล้งไม่เข้าใจว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มันคือการเปิดช่องให้บริษัททุนใหญ่เมล็ดพันธุ์ใช้เป็นเครื่องมือฟ้องร้อง ข่มขู่เกษตรกร ไล่ฟ้องทั้งเกษตรกรและผู้ประกอบการแปรรูปเกษตร จนกว่าเกษตรกรจะกลัว จนกว่าผู้ประกอบการแปรรูปกังวล หรืออธิบายง่ายๆ ว่าจนกว่าเกษตรกรไทยจะหันมาซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทนายทุนทุกครั้ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising