วันนี้ (4 กรกฎาคม) ที่พรรคก้าวไกล วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข้อสั่งการต่อรัฐบาล กรณีการแพร่ระบาดของโควิด โดยกล่าวว่า เหตุการณ์วันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ละทิ้งหน้าที่ไม่มาประชุมสภา วันต่อมา วันที่ 1 มิถุนายน รัฐมนตรีหนีสภาโดยไม่มาตอบกระทู้สด ส่วนในช่วงเย็น รองประธานสภาที่เป็น ส.ส. ในฝ่ายรัฐบาล กลับปิดประชุมสภาเอาดื้อๆ ไม่รับฟังข้อเสนอแนะต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดของสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องสรุปสาระสำคัญของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่อยู่ในภาวะวิกฤต พร้อมกับข้อสั่งการเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบและดำเนินการอย่างเร่งด่วน
วิโรจน์กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยที่รักษาอยู่เพิ่มขึ้นสะสมรวดเร็วมาก วันที่ 3 กรกฎาคมมีผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลมากถึง 57,470 คน โดยในวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 3 กรกฎาคม มีผู้ติดเชื้อใหม่มากกว่าผู้ที่หายป่วยกลับบ้านถึงวันละ 2,371 คน, 2,310 คน, 2,449 คน และ 3,071 คน ตามลำดับ ดังนั้นรัฐบาลจะปล่อยให้อยู่สภาพเต่าคลานที่ไม่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ สถานการณ์เช่นนี้ทำให้จำนวนผู้ป่วยที่รอเตียงตกค้างสะสมเป็นจำนวนมาก และกว่าประชาชนจะได้เตียงอาการก็หนักขึ้น ซึ่งสังเกตได้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลสนามไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก แต่จำนวนผู้ป่วยที่มีอาการหนักและผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจปรับเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชันมาก
“แพทย์และพยาบาลเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยจำนวนที่มากขึ้น ก็อยู่ในสภาวะ Overload ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจะปล่อยให้สภาพที่จำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าจำนวนผู้ที่หายกลับบ้านวันละ 2-3 พันคนดำรงอยู่ภายใต้นโยบายในการจัดการแบบเดิมไม่ได้” วิโรจน์ระบุ
โฆษกพรรคก้าวไกลยังตั้งคำถามถึง การส่งมอบวัคซีน AstraZeneca ที่มีกำหนดต้องส่งมอบในเดือนมิถุนายนที่ 6,333,000 โดส จากข้อมูลที่ปรากฏในระบบติดตามตรวจสอบย้อนกลับโซ่ความเย็น ที่จัดทำขึ้นโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบว่ามีการส่งมอบเพียง 5,371,100 โดส เท่านั้น ยังขาดการส่งมอบอีก 961,900 โดส ยอดที่ขาดส่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องไปเร่งติดตามมาให้ได้ เพราะหมายถึงเกือบ 1 ล้านชีวิตของประชาชนคนไทย
ที่น่ากังวลก็คือข่าวที่เพิ่มเติมออกมาว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป AstraZeneca Thailand จะเริ่มส่งออกวัคซีนไปยังประเทศต่างๆ โดย 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตจะสำรองไว้ให้กับประเทศไทย นั่นหมายความว่าจากกำลังการผลิต 180-200 ล้านโดสต่อปี หรือ 15-17 ล้านโดสต่อเดือน AstraZeneca Thailand จะส่งมอบให้กับประเทศไทยเพียงแค่ 5-6 ล้านโดสต่อเดือนเท่านั้น แล้วแผนการจัดหาวัคซีนที่รัฐบาลประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบโดยทั่วกันผ่านหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 20 เมษายน 2564 ที่เว็บไซต์ของรัฐบาลไทย เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19 เพจไทยคู่ฟ้า หรือ เว็บไซต์ของสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ระบุตรงกันว่า ในเดือนมิถุนายนจะได้รับวัคซีน AstraZeneca 6.3 ล้านโดส กรกฎาคม-พฤศจิกายน เดือนละ 10 ล้านโดส และธันวาคมอีก 5 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส แผนนี้เท่ากับว่า AstraZeneca ไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ตามแผนการส่งมอบที่รัฐบาลกำหนดได้แน่ๆ ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ออกมายอมรับแล้วว่า AstraZeneca Thailand คงไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้เดือนละ 10 ล้านโดสได้ โดยระบุว่าสัญญาจัดซื้อไม่ได้ระบุจำนวน เพียงกำหนดกรอบคร่าวๆ ไว้ที่ 61 ล้านโดสต่อปีเท่านั้น กรมควบคุมโรคได้ส่งเพียงแค่แผนการจัดฉีดวัคซีนให้ AstraZeneca Thailand รับทราบที่เดือนละ 10 ล้านโดส ซึ่ง AstraZeneca Thailand ไม่ได้ปฏิเสธ
“ต้องตั้งคำถามว่าถ้ารัฐบาลไปทำสัญญาเช่นว่านี้จริง ก็ถือว่าเป็นความหละหลวมใหญ่หลวงมาก สัญญาอะไรเพียงแต่กำหนดกรอบตัวเลขคร่าวๆ แล้วอย่างนี้จะวางแผนการฉีดวัคซีนให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างไร ที่ประชาชนจดจำได้ก็คือ รัฐบาลไทยอุดหนุนเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตวัคซีนชนิด Viral Vector ให้กับประเทศไทย โดยหนึ่งในเงื่อนไขที่ปรากฏในหนังสือที่ นร 1106/(คกง.) 207 เรื่อง ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ในคราวประชุมครั้งที่ 17/2563 ลงวันที่ 24 สิงหาคม 2563 ระบุไว้ชัดว่า “…เพื่อให้ประเทศไทยได้รับสิทธิในการซื้อวัคซีนที่ผลิตโดยผู้ผลิตในไทยเป็นอันดับแรกตามจำนวนความต้องการ …และวัคซีนที่เหลือบริษัท AstraZeneca วางเป้าหมายในการกระจายให้กับประเทศอื่นในภูมิภาคนี้” ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 ก็มีมติ ครม. อนุมัติงบกลางของงบประมาณประจำปี 2563 อุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด” วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ยืนยันด้วยว่า ประเทศไทยมีความชอบธรรมที่จะได้รับวัคซีนจาก AstraZeneca Thailand เดือนละ 10 ล้านโดส ส่วนที่เหลืออีก 5-6 ล้านโดส AstraZeneca Thailand จึงสามารถนำไปส่งออก การที่ AstraZeneca Thailand จะส่งมอบให้กับประเทศไทยเพียงแค่ 5 ล้านโดสต่อเดือนเป็นการไม่ยุติธรรมต่อประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงิน 600 ล้านบาท ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องเปิดเผยสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยกับ AstraZeneca Thailand ว่ามีเงื่อนไขนี้บรรจุอยู่หรือไม่ ถ้าไม่มีเท่ากับว่ารัฐบาลเอาเงินภาษีของประชาชน 600 ล้านบาทไปอุดหนุนเอกชนโดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขตามที่ได้แจ้งให้ประชาชนทราบ ซึ่งหากไม่สามารถชี้แจงได้ อาจเข้าข่ายการทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง
วิโรจน์กล่าวต่อไปว่า จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญหลายท่าน รัฐบาลรู้อยู่แก่ใจว่า สถานการณ์การระบาดขณะนี้ ประเทศกำลังเผชิญหน้ากับเชื้อสายพันธุ์เดลตา ปัจจุบันพบผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) แล้วถึง 70% และคาดการณ์ว่าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในพื้นที่ กทม. ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ ที่น่ากังวลคือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียที่ระบุว่า เชื้อสายพันธุ์เดลตาสามารถแพร่จากคนสู่คนโดยใช้เวลาเพียงแค่ 10 วินาทีเท่านั้น แต่แทนที่รัฐบาลจะเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะเชื้อสายพันธุ์เดลตา รัฐบาลกลับยังคงยืนกรานที่จะจัดซื้อวัคซีน Sinovac ทั้งที่มีกรณีตัวอย่างให้เห็นที่ประเทศชิลี ตุรกี ที่ฉีดวัคซีน Sinovac ให้กับประชากรเป็นสัดส่วนที่มากพอสมควรแล้ว แต่ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ ซึ่งสมาคมวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศชิลี ยังได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับวัคซีนที่สามารถลดการแพร่เชื้อได้ ไม่ใช่วัคซีน Sinovac พร้อมกันนั้นยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการสาธารณสุขออกมายอมรับอีกด้วยว่า การฉีดวัคซีนของประเทศชิลีเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีที่ประเทศอื่นไม่ควรเจริญรอยตาม ดังนั้นการที่รัฐบาลจะดึงดันที่จะซื้อวัคซีน Sinovac ต่อไปจะต้องไตร่ตรองให้ดี นอกจากนี้จากข่าวล่าสุดที่กรณีบุคลากรทางการแพทย์ที่อินโดนีเซียมากกว่า 350 รายติดโควิดมาก และมีการเสียชีวิตไปแล้ว 26 ราย ทั้งๆ ที่ฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มไปแล้ว ทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac เป็นประเด็นที่ต้องไตร่ตรองอย่างหนักอีกครั้ง
“ไม่ใช่ว่าเหตุการณ์ที่บุคลากรทางการแพทย์ติดโควิดทั้งๆ ที่ฉีด Sinovac ครบ 2 เข็ม จะไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว โรงพยาบาลวชิรพยาบาล, โรงพยาบาลราชวิถี ล่าสุดต้องปิดห้องตรวจฉุกเฉินมาแล้ว และทราบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลอื่นๆ อีกหลายแห่งทยอยติดโควิดทั้งที่ฉีด Sinovac ครบ 2 เข็มอยู่เป็นระยะๆ เพียงแต่รัฐบาลไม่เคยรายงานข้อมูลสถิติผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac 2 เข็มแล้วยังติดเชื้อให้ประชาชนได้รับทราบเท่านั้นเอง ตัวอย่างก็มีให้เห็น เจอกับตัวก็โดนมาแล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลจึงดึงดันที่จะจัดซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มเติมอีก 28 ล้านโดส ซึ่งหากพิจารณาราคาก็ไม่ใช่ว่าจะถูก จากราคาที่เคยเปิดเผยผ่านสื่อคือ 549.01 บาท จากมติคณะรัฐมนตรี ( ครม.) เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ที่ระบุว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดหาวัคซีน Sinovac 500,000 โดส วงเงินรวม 290.24 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าวัคซีน 271.25 ล้านบาท และเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 18.99 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการในการฉีดวัคซีน 31.36 ล้านบาท นั่นหมายความว่าวัคซีน 1 โดสจะต้องใช้งบประมาณเท่ากับ 643.2 บาท” วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ชี้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยจัดหาวัคซีน Sinovac มาแล้ว 19.5 ล้านโดส โดยรับบริจาคจากประเทศจีนมา 1 ล้านโดส มีมติ ครม. เพียง 2.5 ล้านโดส ที่เหลือ 16 ล้านโดสคาดว่าใช้งบประมาณ 10,291 ล้านบาท แต่ไม่ปรากฏมติ ครม. ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นมติลับ และไม่เข้าใจว่าทำไมต้องลับหรือเปิดเผยให้ประชาชนทราบไม่ได้ หรืออาจจะเกี่ยวข้องกับประเด็นในเรื่องราคาวัคซีน ที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าราคาวัคซีน Sinovac ที่รัฐบาลไทยซื้ออาจแพงกว่าประเทศอื่น โดยมีการให้ข้อมูลว่า อินเดียซื้อในราคา 443 บาทต่อโดส (1,027 รูปีต่อโดส) และอินโดนีเซียซื้อในราคา 444 บาทต่อโดส (200,000 รูเปียห์ต่อโดส) ซึ่งราคาวัคซีน Sinovac ที่ประเทศไทยซื้อ หากไม่เอาเฉพาะค่าวัคซีน ไม่รวม VAT ตกอยู่ที่ 542.5 บาท หรือแพงกว่าประเทศอื่นถึงเกือบโดสละ 100 บาท ในประเด็นนี้รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงว่า ราคาที่แท้จริงของ Sinovac คือโดสละเท่าไร แพงกว่าที่ประเทศอื่นซื้อหรือไม่ เพราะเหตุใด
ต่อกรณีการจัดหาวัคซีนชนิดอื่น เช่น mRNA ที่มีประสิทธิภาพกว่า วิโรจน์กล่าวว่า จากการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ระบุว่า “การพิจารณาเรื่องวัคซีนในประเทศไทยจะต้องผ่านความเห็นจากคณะกรรมการวิชาการวัคซีน ที่มี ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ รวมถึง ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ เป็นคณะทำงานประชุมร่วมกันทุกวัน เพื่อวางแนวทางเรื่องการใช้วัคซีนใด วิธีใด ห่างกันอย่างไร แล้วแจ้งมติมายัง สธ. เพื่อให้แพทย์ปฏิบัติตาม แม้แต่อธิบดีกรมการแพทย์จะฉีดวัคซีนตามใจตัวเอง หรือแพทย์จะฉีดตามความเชื่อส่วนตัวก็ไม่ได้ ตนและ สธ. มีหน้าที่ปฏิบัติตามแนวทาง หากคณะกรรมการบอกว่าต้องซื้อวัคซีนชนิดใดเพิ่มก็จะต้องไปเร่งนำเข้า ครม. หางบประมาณมาเพิ่มเติม และพยายามจัดหามาให้มากที่สุด” ซึ่งหาก ศ.พญ.กุลกัญญา นพ.ทวี และ ศ.นพ.ยง เป็นคณะกรรมการวิชาการวัคซีนที่มาหน้าที่พิจารณาเรื่องวัคซีนในประเทศไทยจริง ควรออกมาชี้แจงต่อกรณีที่รัฐบาลยังคงยืนยันที่จะซื้อวัคซีน Sinovac เพิ่มเติม รวมทั้งตอบข้อเสนอแนะของทั้งราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เพราะการจัดซื้อวัคซีน Sinovac อีก 28 ล้านโดสต้องใช้งบประมาณสูงถึง 18,009.6 ล้านบาท และที่สำคัญที่สุดคือเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับความเป็นความตายของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าทั้งประเทศ และประชาชน 67 ล้านคน
การที่จะรับมือกับเชื้อสายพันธุ์เดลตาด้วยวัคซีน AstraZeneca ต้องฉีดครบ 2 เข็ม ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องฉีดให้ได้จำนวนที่มาก และต้องฉีดครบ 2 เข็มด้วย แต่หาก AstraZeneca Thailand ไม่สามารถส่งมอบตามเป้าการส่งมอบได้ ก็ถือว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่ง สำหรับวัคซีน Sinovac นั้น คงคาดหวังผลลัพธ์ยากมากๆ เพราะไม่มีผลงานวิจัยกับเชื้อสายพันธ์เดลตาที่ตีพิมพ์อย่างเป็นทางการ ตามที่สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยได้แสดงเป็นห่วงเอาไว้แล้ว
“ด้วยข้อมูลประสิทธิผลในการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีนชนิด mRNA ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่เป็นทางการที่มีอยู่เต็มไปหมดจากทั่วโลก เป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะไม่รับรู้ ด้วยเหตุนี้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนที่ติดตามข้อมูลข่าวสาร จึงมีข้อสงสัยอย่างมากว่าเหตุใดรัฐบาลจึงไม่เคยกระตือรือร้นที่จะจัดหาวัคซีนชนิด mRNA เลย ไม่เคยที่จะเร่งรัดกดดันให้ AstraZeneca Thailand ส่งมอบวัคซีนให้ครบตามแผนการส่งมอบ แต่กลับกระเหี้ยนกระหือรือที่จะซื้อวัคซีน Sinovac ซึ่งถ้ารัฐบาลซื้ออีก 28 ล้านโดส เท่ากับว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายเงินซื้อวัคซีน Sinovac รวมทั้งสิ้น 46.5 ล้านโดส เป็นเงิน 25,226.25 ล้านบาท ซึ่งถ้าซื้อในราคาที่อินโดนีเซียซื้อ จะมีส่วนต่างถึง 4,580.25 ล้านบาท” วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ยังกล่าวอีกว่า เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ซึ่ง นพ.บุญ วนาสิน ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลยังไม่ได้เซ็นสัญญาใดๆ กับทั้ง Pfizer และ Moderna จนกระทั่งมีข่าวว่าอัยการสูงสุดได้ตรวจร่างสัญญาของ Pfizer เสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะส่งให้กรมควบคุมโรคในวันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคมนี้ จึงทำให้ทราบข้อเท็จจริงว่า กว่าที่กรมควบคุมโรคจะส่งสัญญาให้อัยการสูงสุดได้ ต้องรอจนถึงวันที่ 28 มิถุนายน ระหว่างนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 559 คน ซึ่งคาดว่าจะเข้า ครม. ในวันที่ 6 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ สรุปแล้วนับตั้งแต่วันที่ประชุม ศบค. มีมติให้จัดหาวัคซีน Pfizer กว่าจะเข้า ครม. เพื่อขอความเห็นชอบก่อนลงนามได้ ต้องใช้เวลานานถึง 2 เดือนกับอีก 20 วัน และยังต้องรอการส่งมอบวัคซีนในไตรมาสที่ 4 อีก
วิโรจน์กล่าวด้วยว่า คำถามที่ก้องอยู่ในหัวใจของประชาชนในตอนนี้คือ ทำไมการสั่งซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่นจึงไม่เร็วเหมือนกับวัคซีน Sinovac ที่เหมือนไม่มีการติดขัดใดๆ เลย ทุกอย่างผ่านฉลุย รัฐบาลไม่สามารถอ้างได้ว่าความล่าช้านั้นเกิดจากการที่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน เพราะกรณีของวัคซีน Sinopharm สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วได้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่ประชาชนได้รับความทุกข์ยากแสนสาหัส มีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากอยู่ทุกวัน เด็กหลายคนต้องเป็นกำพร้า เด็กหลายคนต้องออกจากโรงเรียน สูญเสียอนาคต หลายคนต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว ทั้งหมดล้วนมาจากความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลภายใต้ความไร้สติปัญญาของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น จึงจำเป็นต้องสั่งการพร้อมกับเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งดำเนินการตามที่ได้สั่งการไว้
หนึ่ง การบริหารจัดการวัคซีน ให้ใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงด้านวัคซีน พ.ศ. 2561 ในการบังคับให้ AstraZeneca Thailand ส่งมอบวัคซีนให้เป็นไปตามแผนการส่งมอบเดือนละ 10 ล้านโดส ตามเงื่อนไขที่รัฐบาลอุดหนุนให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด 600 ล้านบาท, ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ และสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลต่อเชื้อสายพันธุ์เดลตาและเชื้อกลายพันธุ์ต่างๆ เช่น วัคซีนชนิด mRNA และวัคซีนชนิด Viral Vector มาแทนวัคซีน Sinovac และต้องยุติการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac รวมถึงต้องเปิดเผยสัญญาและเงื่อนไขข้อตกลงการสั่งซื้อวัคซีนที่รัฐบาลได้ทำไว้กับ AstraZeneca Thailand และ Sinovac ตลอดจนมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัคซีนทั้งหมด เร่งจัดฉีดวัคซีนเสริมภูมิให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า และเร่งปรับปรุงระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนให้เชื่อมต่อกับระบบฐานข้อมูล MOPH IC ของกระทรวงสาธารณสุข
สอง การบริหารจัดการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ของระบบสาธารณสุข และการดูแลชีวิตของประชาชน ต้องเร่งดำเนินการมาตรการการกักตัวรักษาตนเอง หรือ Home Isolation โดยมีระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ติดตามอาการ สั่งจ่ายยาโดยแพทย์ และมีระบบในการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยถึงบ้าน มีระบบติดต่อฉุกเฉิน (Emergency Call) และมีระบบจัดส่งอาหาร (Food Delivery) ให้กับผู้ป่วยตลอดระยะเวลาที่กักตัวรักษาตนเองที่บ้าน และพิจารณาอนุญาตให้ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวในโรงพยาบาลที่ยังไม่ครบระยะเวลา 14 วันแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเบาบาง ในกรณีที่เข้าเงื่อนไขที่สามารถกักตัวรักษาตนเองได้ ให้กักตัวรักษาตนเอง เพื่อจัดสรรเตียงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางและอาการหนัก
สาม รัฐบาลควรเร่งตรวจเชิงรุกด้วย Rapid Antigen Test พร้อมกับอนุญาตให้ประชาชนได้เข้าถึงชุดตรวจที่ผ่านมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง เพื่อแยกผู้ติดเชื้อมารักษา สกัดกั้นการระบาด
“รัฐบาลควรมีบทเรียนได้แล้ว จากทั้งกรณีวันสงกรานต์ และล่าสุดการประกาศปิดแคมป์คนงานล่วงหน้า จนวันนี้มีการแพร่เชื้อไปยังวงกว้างถึง 32 จังหวัด ถ้ารัฐบาลใช้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ แต่ไม่มีการตรวจเชิงรุก ไม่มีการดำเนินมาตรการในการจำกัดการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างจริงจัง จะทำให้มาตรการกึ่งล็อกดาวน์สูญเปล่า ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ กิจการร้านค้าที่ถูกปิดก่อนหน้า ก็จะถูกปิดลืมแบบลากยาวไปเรื่อย ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัส”
สี่ รัฐบาลทราบอยู่แล้วว่าการจัดฉีดวัคซีนที่ล่าช้ามีมูลค่าความเสียหายสูงถึงเดือนละ 200,000 ล้านบาท จากการที่ อนุทิน ก็ได้ทำหนังสือแจ้งให้ พล.อ. ประยุทธ์ ทราบด้วยตัวเอง
“ดังนั้นการที่รัฐบาลปล่อยปละละเลยจนเกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงแก่ประชาชน รัฐบาลต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ประกอบกับที่ผ่านมาตั้งแต่กรณี สนามมวย คณะ VIP บ่อนการพนัน การลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย การลักลอบการค้าแรงงานต่างชาติ ล้วนเป็นการละเลยของรัฐบาลทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจะต้องเยียวยาให้กับประชาชนทั้งที่เป็นแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบอย่างเป็นธรรม ด้วยเงินสดแบบถ้วนหน้า หากเทียบกับโครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ซึ่งสถานการณ์วันนี้หนักกว่ามาก ประชาชนจึงควรได้รับเงินชดเชยไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท รวมทั้งชดเชยความเสียหายให้กับผู้ประกอบกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ทั้งการยกเว้นค่าน้ำ ค่าไฟ และชดเชยค่าเช่าสถานที่ โดยให้จ่ายชดเชยตามจริง โดยไม่เกินสัดส่วนหนึ่ง เช่น ร้อยละ 20 ของรายได้ ณ เดือนก่อนที่จะมีการระบาดระลอกที่ 3 เป็นต้น สำหรับร้านค้าหรือกิจการที่ถูกปิดไปก่อนหน้านี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลชดเชยย้อนหลังด้วย” วิโรจน์ กล่าว
วิโรยังกล่าวต่อไปว่า สุดท้ายขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดหลักเกณฑ์ในการล็อกดาวน์และผ่อนคลาย โดยคำนึงถึงสถานการณ์การติดเชื้อและขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่แบบเป็นขั้นบันได เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงสถานการณ์และวางแผนรับมือด้วยตนเองส่วนหนึ่งได้ และมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการคลี่คลาย และบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดด้วย
“จึงขอสั่งการให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งไปดำเนินการ” วิโรจน์ระบุในท้ายสุด