วานนี้ (24 พฤศจิกายน) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางเยือนจังหวัดอุดรธานี ร่วมเวทีบรรยาย ‘ก้าวต่อไป อุดรท้องถิ่น’ จัดขึ้น ณ โรงแรมสยามแกรนด์ โดยมี ณัฐพงษ์ พิพัฒน์ไชยศิริ สส. อุดรธานี เขต 1 พร้อมด้วยสมาชิกพรรคก้าวไกล จังหวัดอุดรธานี และประชาชนที่ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังการบรรยายกว่า 400 คน
ช่วงต้นของการบรรยาย พิธากล่าวว่า พรรคก้าวไกลไม่เสียกำลังใจ และมีสมาธิพร้อมทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน คะแนนเลือกตั้งที่พี่น้องชาวอุดรธานีมอบให้ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ เริ่มต้นที่ 140,000 คะแนน จนมาถึงพรรคก้าวไกล ช่วงเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อปี 2563 เพิ่มเป็น 180,000 คะแนน และ 220,000 คะแนนจากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เชื่อว่าเลือกตั้งนายก อบจ.รอบนี้ จะเก็บคะแนนเพิ่มและคว้าชัยชนะแน่นอน
พิธายังกล่าวถึง 3 ข. ได้แก่ ขยับ เนื่องจากพรรคก้าวไกลมี สส. เขต และ สส. บัญชีรายชื่อ ประธานคณะกรรมาธิการที่ดินฯ ก็เป็นของก้าวไกล จึงพร้อมเดินหน้าผลักดันและขยับเพื่อชาวอุดรธานี ต่อมาคือขยาย พรรคต้องขยายฐานสมาชิกให้มากขึ้น ขยายอาสาสมัครและแนวร่วมให้มากขึ้น เมื่อขยายแล้วจึงพร้อมแข่ง โดยไม่ต้องรอถึง 4 ปีในการเลือกตั้งใหญ่ เพราะยังมีการเลือกตั้ง อบจ. ที่ต้องแข่งขันในระดับท้องถิ่น
พิธากล่าวถึงการเลือกตั้ง อบจ. ที่จะมาถึงว่า พรรคก้าวไกลต้องการชนะในหลายจังหวัด เพื่อขยายผลจากการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา จากข้อมูลจะพบว่ามีประมาณ 40 จังหวัดทั่วประเทศ ที่คะแนนของพรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับ 1 แต่ยังเหลืออีก 20-30 จังหวัด ที่คะแนนพรรคมาเป็นอันดับ 2 ดังนั้นต้องเดินหน้ารณรงค์เต็มที่ โดยในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พรรคก้าวไกลไม่ได้ส่งตัวแทนผู้สมัครลงเลือกตั้งครบทุกจังหวัด แต่อุดรธานีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่เราส่ง และตนจะเดินทางมาหาเสียงที่อุดรธานีด้วยตัวเองอย่างแน่นอน มั่นใจว่าจะปักธงที่อุดรธานีได้ เนื่องจากมีคนทำงานท้องถิ่นอยู่แล้ว มี สส. พรรคก้าวไกลที่ทำงานอย่างแข็งขัน และคะแนนของพรรคก็โตขึ้นโดยตลอด ภายในระยะเวลา 1 ปี ตนมั่นใจว่าจะสามารถชนะได้
พิธายังได้ยกตัวอย่างการเมืองแนวกว้างที่พรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วประเทศครั้งที่ผ่านมา ที่ชนะทั้งในกลุ่มวัยรุ่นและผู้สูงอายุ ชนะในทุกจังหวัด สิ่งเหล่านี้คือชัยชนะในแนวกว้าง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องชนะในแนวลึกต่อไป นั่นคือสนามท้องถิ่น เพราะปัญหาของคนอุดรฯ ต้องแก้ไขด้วยคนอุดรฯ ปัญหาของคนท้องถิ่นต้องแก้ไขด้วยท้องถิ่นเอง ขณะที่หน้าที่ของผู้แทนฯ คือพูดแทนประชาชนในสภา และผ่านกฎหมาย แต่หน้าที่ของนักการเมืองท้องถิ่น คือแก้ไขปัญหาให้ท้องถิ่น
ประเทศไทยต้องมีการกระจายอำนาจ และให้ท้องถิ่นแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ยกตัวอย่างปัญหาของคนอุดรธานี เช่น ปัญหาขยะ 1,400 ตันต่อวัน แต่กลับมีงบประมาณในการจัดการ 10 ล้านบาทต่อปี เพราะวิธีคิดคือเก็บภาษีและส่งไปยังส่วนกลางแล้วคิดตัวเลขกลับมา หรือปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย แต่กลับมีงบประมาณในการแก้ไขเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น สะท้อนว่าปัญหาของพี่น้องประชาชนในท้องถิ่นได้รับงบประมาณน้อย เราไม่สามารถปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปได้
ใน 4 ปีข้างหน้า หากก้าวไกลเป็นรัฐบาล และทำเรื่องการกระจายอำนาจแบบค่อยเป็นค่อยไป เพิ่มงบปีละ 2 แสนล้านบาททั่วประเทศ และได้นายก อบจ. เป็นของก้าวไกล รวมถึงมี สส. ของก้าวไกลในสภา เป็นแบบนี้ประเทศต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอน
ดังนั้น หากพี่น้องประชาชนไม่อยากให้เก็บภาษีแล้วส่งเข้ากรุงเทพฯ หากอยากให้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง และทำงานเพื่อพี่น้องชาวอุดรธานี ขอให้ยึดแนวทางแบบพรรคก้าวไกล ประเทศไทยต้องมีการกระจาย 4 ด้าน ได้แก่ กระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ กระจายบุคลากร และกระจายภารกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาของคนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน