ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 เป็นต้นมา กระแสลมของตุลาการภิวัตน์พัดแรงโดยไม่มีแนวโน้มจะแผ่วลง และคงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่าพรรคประชาชนตลอดจนพลพรรคการเมืองในค่ายสีส้มจะเริ่มต้นนับถอยหลังในชะตากรรมของตนเอง
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2567 เป็นดาบแรกที่ขีดเส้นถางทางให้องค์กรอิสระดำเนินการตาม และในช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ดาบสองก็บรรจงฟันลงมาแล้ว
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พร้อมด้วย สส. พรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา สอบถามเรื่องสิทธิประกันตัวของนักโทษการเมือง เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563
ภาพ: ฐานิส สุดโต
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งหนังสือตีตราลับถึงกลุ่ม 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล ที่ถูกร้องว่ากระทำผิดหรือฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีเมื่อครั้งพรรคก้าวไกลยังดำรงอยู่ ผู้แทนราษฎรทั้ง 44 คนนี้ร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้ตำแหน่ง สส. ยื่นศาลขอประกันตัวบรรดาผู้ชุมนุมที่เคลื่อนไหวผลักดันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
ใจความของคำวินิจฉัยระบุชัดว่า พรรคก้าวไกล “มีส่วนร่วมในการกระทำหลายพฤติการณ์ประกอบกันในลักษณะต่อเนื่องเป็นขบวนการ” และเป็นการ “ลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์” ซึ่งหากยังปล่อยให้กระทำต่อไป “ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง”
ดาบสองซึ่งถูกวางไว้ในมือ ป.ป.ช. เป็นชนักจ่อหลังพรรคประชาชนซึ่งถ่ายเทอุดมการณ์และบุคลากรมาจากพรรคก้าวไกลนับแต่นั้น จนวันนี้หลังผ่านไปหลายเดือน สัญญาณแรกปรากฏเมื่อ ป.ป.ช. เรียกกลุ่ม 44 สส. เข้ารับทราบข้อกล่าวหาตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป
เข็มนาฬิกาเริ่มเดินถอยหลัง
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน แสดงจุดยืนต่อคดีนี้ โดยคาดหวังว่า ป.ป.ช. จะไม่มัดรวมคดีของทั้ง 44 สส. ไว้ด้วยกัน แล้วเร่งรัดดำเนินการอย่างรวดเร็วกว่าคดีอื่นๆ สอดคล้องกับ สาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการ ป.ป.ช. ที่เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า แม้จะเป็นคดีในสำนวนเดียวกัน แต่จะพิจารณาพฤติการณ์เป็นรายบุคคล
หลังจากมีหนังสือเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว จะเป็นโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาทุกคนเข้าชี้แจง แสดงหลักฐาน และต่อสู้คดี ซึ่งหัวหน้าพรรคประชาชนระบุว่า ให้เป็นเอกสิทธิ์ของ สส. แต่ละคน แต่โดยเบื้องต้นพรรคประชาชนมีคณะทำงานฝ่ายกฎหมายหาแนวทางสู้คดี และจัดเตรียมทนายของพรรคประกบตาม สส. แต่ละคนเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ภายใต้ นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง รองหัวหน้าพรรคฝ่ายกฎหมาย
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ พร้อมด้วยตัวแทน 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล ที่ปัจจุบันสังกัดพรรคประชาชน ร่วมกันแถลงข่าวแสดงจุดยืน
ในหนังสือของ ป.ป.ช. ระบุวันรับทราบข้อกล่าวหาไว้คือวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.00 น. ถึงกระนั้นสำนักงาน ป.ป.ช. ยังเงียบสงบ ไม่มีผู้ใดปรากฏตัว เพราะพรรคประชาชนยื่นขอขยายเวลารับทราบข้อกล่าวหาออกไป เนื่องด้วยติดภารกิจต้องเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจภายในกลางเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ อย่างไรก็ตาม พรรคแบ่ง สส. ที่จะเดินทางเข้าชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ไว้ร่วม 10 คน
คิวแรกเป็นของ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคฝ่ายกิจการพิเศษ ที่จะเดินทางไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. ในวันพรุ่งนี้ (21 กุมภาพันธ์) พร้อมทีมกฎหมายของพรรค
หลังจากนี้พัฒนาการของคดีจะดำเนินไปตามลำดับ จนถึงจุดที่คณะกรรมการไต่สวน ซึ่งมี อาคม วิทยาพิทักษ์ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธาน จะพิจารณาลงความเห็นว่าข้อต่อสู้และพยานหลักฐานต่างๆ มีน้ำหนักหรือไม่ อย่างไร และจะส่งความเห็นไปยังที่ประชุมใหญ่ของกรรมการ ป.ป.ช.
ในขั้นนี้ที่ประชุมใหญ่อาจมีความเห็นแย้งก็ได้ แต่หากกรรมการ ป.ป.ช. ลงมติว่าผู้ถูกร้องฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมจริง ก็จะส่งเรื่องไปยังศาลฎีกาได้ทันที แล้วระเบิดเวลาลูกต่อไปก็จะเริ่มนับขึ้นอีกในตอนนั้น ซึ่งโทษร้ายแรงที่สุดอาจถึงขั้นตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต และเป็นไปได้เช่นกันที่โทษอาจลดหลั่นกันตามฐานความผิด หากมีการชี้มูลแยกเป็นรายบุคคลแตกต่างกัน
จังหวะทางการเมืองมักเรียงร้อยลำดับเหตุการณ์ให้ลงตัวอย่างไม่น่าเชื่อ จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตามที หากจะสมมติเหตุการณ์ ในขั้นที่ศาลฎีการับคำร้อง มีโอกาสบ้างที่จะไม่รับ แต่น้อยเต็มที
ศาลจะใช้เวลาพิจารณาอย่างเร็วสุดประมาณ 1 ปี ซึ่งจะตรงกับปี 2569 ทว่าอาจยืดเยื้อไปจนถึง 2570 หรือหลังจากนั้นที่เป็นช่วงครบวาระของรัฐบาล และเข้าสู่การหาเสียงเลือกตั้งใหม่ จังหวะนี้เองคือโซนอันตรายที่กระแสทางการเมืองกำลังเชี่ยวกรากที่สุด ซึ่งยังต้องจับตามองไปข้างหน้าจนกว่าจะถึงวันนั้น
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล และ ศิริกัญญา ตันสกุล สส. พรรคประชาชน ต่างก็อยู่ใน 44 รายชื่อ
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
สถานะ 44 บุคคล วัดใจเฮือกสุดท้าย
ว่ากันตามจริง แม้ ป.ป.ช. จะมีหนังสือเรียก แต่ก็ไม่ใช่ว่าทั้ง 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล จะต้องไปรับทราบข้อกล่าวหากันครบทุกคน เนื่องจากสามารถส่งเป็นหนังสือชี้แจงไปแทนได้ หรือกระทั่งว่าบางคนเข้าชี้แจงข้อกล่าวหาไปก่อนหน้านี้แล้ว
ในจำนวน 44 คน สามารถแบ่งตามสถานะปัจจุบันได้เป็น
▪️ 25 คน เป็น สส. พรรคประชาชน ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในสภาขณะนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงและล้วนมีชื่อชั้นในระดับแกนนำของพรรค ในจำนวนนี้แบ่งเป็น สส. แบบบัญชีรายชื่อ 17 คน และ สส. แบบแบ่งเขต 8 คน ซึ่งหากผลของคดีไม่เป็นคุณ หลุดจากตำแหน่ง สส. พรรคจะต้องฝ่าฟันต่อในการเลือกตั้งซ่อมทั้ง 8 พื้นที่ดังกล่าว ด้วยความหวังจะชิงเก้าอี้ สส. คืน โดยจะขาดปัจจัยบวกคือไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือนอกเขต
▪️8 คน กลุ่มที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว 10 ปี ด้วยผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคก้าวไกล และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค เช่น พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล และ ปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
▪️ 11 คน เป็นอดีต สส. ที่ไม่ได้เข้าสภาในสมัยนี้ บางคนก็ไม่ได้เป็น สส. แล้ว ในจำนวนนี้คอการเมืองหลายฝ่ายจับตาไปที่อดีต สส. ซึ่งถูกแปะป้ายว่าเป็นงูเห่า หรือมีพฤติกรรมตีตัวออกหากจากพรรคก้าวไกลเพื่อเตรียมเข้าสังกัดพรรคอื่น ถึงขั้นมีกระแสข่าวว่าบางคนได้รับการกันตัวไว้เป็นพยานของ ป.ป.ช. เพื่อให้ไม่ต้องถูกไต่สวน และให้การในลักษณะลอยแพเพื่อนสมาชิก ซึ่งบัดนี้มีจุดยืนและอุดมการณ์ไม่ตรงกันแล้ว
ภาพแสดงสถานะปัจจุบันของ 44 สส. อดีตพรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขมาตรา 112
อย่างไรก็ตาม วันนี้ (20 กุมภาพันธ์) สมเกียรติ ถนอมสินธุ์ อดีต สส. กทม. พรรคก้าวไกล หนึ่งในบุคคลที่ถูกเพ่งเล็ง เปิดเผยว่า ในวันนี้ควรเรียก 44 สส. ว่า 43+1 เพราะตนเองได้แยกทางกับพรรคก้าวไกล หลังจากพรรค “ส่งผู้ต้องหาคดี ม.112 เป็นตัวแทนลงสมัครเลือกตั้ง สส. กทม. ซึ่งเขาคงคิดว่าเหมาะสมกว่าผม” ซึ่งคาดว่าจะสื่อถึง ปิยรัฐ จงเทพ อดีตผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งปัจจุบันเป็น สส. กทม. เขตพระโขนง-บางนา ของพรรคประชาชน
อดีต สส. คนดังกล่าวปฏิเสธว่า ไม่ได้ไปเป็นพยานให้กับ ป.ป.ช. ตามที่บางสำนักข่าวรายงาน แต่ไปชี้แจงข้อกล่าวหาตามข้อเท็จจริง และส่วนตัวแม้จะร่วมลงชื่อเสนอแก้ไขกฎหมาย แต่ก็ไม่เคยเคลื่อนไหวใดๆ เกี่ยวกับมาตรา 112 เลย
เขายังตอบโต้บุคคลในพรรคที่เรียกเขาว่างูเห่า โดยมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งกัน และ “ทำไมไม่หาหลักฐานมาพิสูจน์”
อีกข้อสังเกตที่สำคัญคือ ในรายชื่อทั้ง 44 คนดังกล่าวไม่ปรากฏชื่อ ชัยธวัช ตุลาธน อดีตเลขาธิการ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล รวมอยู่ด้วย นั่นหมายความว่าแม้ชัยธวัชจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว 10 ปี สืบเนื่องจากกรณียุบพรรคก้าวไกล แต่ก็จะไม่ได้รับผลกระทบตัดสิทธิตลอดชีพซ้ำสอง เป็นกรณีเดียวกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตแกนนำพรรคอนาคตใหม่ ที่รอวันหวนกลับมาสู่ถนนการเมืองในปี 2573
ชัยธวัช ตุลาธน เป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิ 10 ปี แต่ไม่ได้อยู่ใน 44 สส. ที่เสนอแก้ไขมาตรา 112
ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร
คดีที่ไม่ควรเกิด แต่ต้องลุ้นปาฏิหาริย์
ความคิดเห็นของทั้ง สส. และอดีต สส. พรรคก้าวไกล ที่ยังยึดมั่นในอุดมการณ์เดียวกัน เช่น รังสิมันต์ โรม รองหัวหน้าพรรคประชาชน, มานพ คีรีภูวดล และ คำพอง เทพาคำ สส. แบบบัญชีรายชื่อ ล้วนมองว่าคดีดังกล่าวไม่ควรเกิดตั้งแต่ต้น เนื่องจากการทำหน้าที่ของ สส. คือการเสนอแก้ไขกฎหมาย โดยที่ผ่านมาไม่เคยมีข้อห้ามว่าการเสนอกฎหมายใดๆ เป็นสิ่งผิด จึงเสมือนเป็นการตัดสินว่าผิดโดยที่ไม่ได้มีข้อห้ามมาก่อน
ส่วนกรณีใช้ตำแหน่ง สส. ยื่นศาลขอประกันตัวให้กับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น ธีรัจชัย พันธุมาศ สส. กทม. พรรคประชาชน ซึ่งเป็นอดีตทนายความ ชี้ว่า หลักการปล่อยตัวชั่วคราวและสิทธิการประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐานในระบบยุติธรรมที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ อีกทั้งการยื่นศาลขอประกันตัวก็ยังจำเป็นต้องให้ศาลอนุมัติก่อน แล้วผู้ที่ยื่นขอประกันตัวจะมีความผิดได้อย่างไร
ถึงกระนั้นเอง แม้ ป.ป.ช. จะเดินหน้าไต่สวนและแจ้งข้อกล่าวหาตามแนวทางคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเรื่องเข้าสู่ศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจะมีแนวทางพิจารณาที่แตกต่างจากศาลรัฐธรรมนูญ เพราะต้องมี ‘เจตนา’ เป็นปัจจัยสำคัญร่วมพิเคราะห์ด้วย ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนของคดีก็เป็นได้
หากองค์คณะผู้พิพากษาของศาลฎีกาเห็นว่าการเสนอแก้ไขกฎหมายเป็นการทำหน้าที่ สส. ตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ และการใช้ตำแหน่ง สส. ประกันตัวนั้นถือเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานตามกระบวนการยุติธรรม เนื่องจากคดียังไม่ถึงที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ฝ่าฝืนจริยธรรม นี่อาจเป็นทางรอดของทั้ง 44 สส. จากข้อกล่าวหาดังกล่าว และที่ผ่านมาก็มีคดีการเมืองที่ศาลฎีกาตัดสินในแนวทางที่ต่างจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคุณต่อจำเลย
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และ 1 ใน 44 สส. ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาโดย ป.ป.ช.
ภาพ: ฐานิส สุดโต
ในห้วงที่สถานการณ์ยังคลุมเครือและมีเรื่องให้ลุ้นระทึก ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักพักหรืออย่างน้อยก็ไม่ต่ำกว่า 1-2 ปี กว่าจะเห็นว่าสถานการณ์จะเผยโฉมออกมาอย่างไร ระหว่างนี้การต่อสู้ทางการเมืองยังต้องดำเนินต่อไป ซึ่งสถานการณ์ในแต่ละวันล้วนเป็นตัวแปรสร้างความพลิกผันได้เสมอ
เอาเฉพาะสถานการณ์เฉพาะหน้าที่เป็นจังหวะการเมืองอันประจวบเหมาะอีกเช่นกัน เมื่อพรรคประชาชนจับเอาประเด็นคลิปหลุดหรือคลิปปล่อยระหว่างประธาน ป.ป.ช. และประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นที่โจษจันในช่วงนี้มาเป็นเหตุร่วมลงชื่อถอดถอนประธาน ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเจ้าภาพของคดี ก็ดูเสมือนการเดินเกมแลกกันหมัดต่อหมัด แม้ พริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน จะยืนยันว่าไม่ใช่การเอาคืน แต่เป็นการทำหน้าที่ สส. เพื่อตรวจสอบการทำงานขององค์กรอิสระ และพฤติกรรมส่อทุจริต
“ถึงแม้ไม่มีคดี 44 สส. ก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เพราะมีหลักฐาน และไม่ใช่แค่พรรคประชาชนทำได้เท่านั้น แต่เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาทุกคน ทุกฝ่าย ดังนั้นถ้ามี สส. พรรคอื่น และ สว. เห็นตรงกันว่าปัญหาทุจริตเป็นเรื่องสำคัญ ก็ใช้กลไกนี้ในการตรวจสอบและสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนได้ ย้ำว่าเราไม่ได้คิดถึงผลกระทบต่อคดี หรือหากพรุ่งนี้คดี 44 สส. ถูกยกไปหมด เราก็ยังยืนยันในการทำหน้าที่ตรวจสอบ” โฆษกพรรคประชาชนย้ำ