×

เลือกตั้ง 2566: ก้าวไกลประกาศเป็นรัฐบาลดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทุกมิติ เปลี่ยนกระทรวงวัฒนธรรมเป็นกระทรวงเศรษฐกิจสร้างสรรค์

โดย THE STANDARD TEAM
24.04.2023
  • LOADING...
พรรคก้าวไกล เศรษฐกิจสร้างสรรค์

วานนี้ (23 เมษายน) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดเวที ‘Future of Creative Economy เปิดอนาคตเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ที่ชั้น 5 Creative Space สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บางรัก

 

พิธากล่าวว่า ตนเคยมีประสบการณ์สั้นๆ ในวงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ลองทำมาแล้วหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรี งานโฆษณา งานภาพยนตร์ หรืองานเขียนหนังสือ พบว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตได้กว่านี้อีกมาก คนไทยมีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก แต่มีบางสิ่งที่เป็นข้อจำกัดทำให้ศักยภาพเหล่านั้นไม่ถูกปลดปล่อยอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องสวัสดิการของคนทำงานในกองถ่าย การสนับสนุนจากรัฐ และสิทธิเสรีภาพของผู้ผลิตผลงาน

 

“งบประมาณของประเทศว่า 3.3 ล้านล้านบาท มีคำว่าซอฟต์พาวเวอร์อยู่ในงบประมาณเพียง 80 ล้านบาทเท่านั้น จากงบกระทรวงวัฒนธรรม 7 พันล้านบาท มีเพียง 150 ล้านบาทเท่านั้นที่มีไว้สำหรับศิลปะร่วมสมัย สรุปว่าประเทศไทยเต็มไปด้วยคนที่ทำงานสร้างสรรค์ แต่ขาด 3 ส. ได้แก่ เสรีภาพ สวัสดิการ และสนับสนุน การสร้างพลังเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้จริงๆ เราจึงต้องการพรรคการเมืองที่กล้าคิดนอกกรอบและเข้ามาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง” พิธากล่าว

 

จากนั้น อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป็นหนึ่งในทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล ได้ร่วมอภิปราย พร้อมยกแนวทาง 6 เปลี่ยนเพื่อเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย

 

  1. เปลี่ยนกระทรวง ‘วัฒนธรรม’ เป็นกระทรวง ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นนโยบายระดับชาติ การปรับกลไกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อทำงานตอบโจทย์ของประเทศ

 

  1. สร้างสวัสดิการแรงงานสร้างสรรค์ก้าวหน้า รัฐบาลสมทบเงินประกันสังคม และให้สิทธิเสรีภาพในการจัดตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์

 

  1. ตั้งกองทุนสร้างสรรค์เพื่อเปิดโอกาสในการทำงานใหม่ๆ ส่งเสริมและอุดหนุนการส่งผลงานเข้าประกวด และมีทุนกู้ยืมเพื่อทดลองทำผลงาน รวมถึงมีแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อประกอบธุรกิจตั้งต้น

 

  1. คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก แก้ไข พ.ร.บ.เซ็นเซอร์, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอื่นๆ รวมถึงทลายทุนผูกขาดในอุตสาหกรรมและผลักดันให้ขอใบอนุญาตได้รวดเร็วและเป็นธรรม

 

  1. ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ในระดับจังหวัด เปิดโอกาสให้ทำสิ่งที่รัก สิ่งที่ชอบในทุกพื้นที่ การสร้างห้องทดลองในการทดสอบรับรองมาตรฐานคุณภาพและเพิ่มศักยภาพของการผลิตสินค้าท้องถิ่น

 

  1. เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด ให้ได้คนที่เข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่ละที่จริงๆ ได้พัฒนาศักยภาพของบ้านเกิดตัวเอง

 

หลังจากนั้นได้เปิดโอกาสให้ศิลปินและผู้ประกอบการในวงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มาร่วมงานได้แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น โดยผู้เข้าร่วมมาจากหลายสาขา อาทิ ผู้กำกับ นักดนตรี นักแสดง นักออกแบบ ศิลปิน NFT นักเขียน ผู้จัดนิทรรศการ ไปจนถึงผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน

 

ระหว่างการพูดคุย ณัฏฐ์ กิจจริต นักแสดงชื่อดัง ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นพื้นที่ของคนทำงานอาชีพนักแสดงว่า ทุกวันนี้มีคนจำนวนมากที่พยายามจะดำรงชีพด้วยอาชีพนักแสดง แต่ในอุตสาหกรรมก็เน้นส่งเสริมแค่คนที่ขายได้ ทำให้คนทำงานด้านการแสดงจำนวนมากตกหล่น ไม่มีหน่วยงานใดที่ทำหน้าที่เฉพาะในการแก้ไขเรื่องนี้ 

 

ขณะที่เจ้าของ The Rock Pub รุ่นที่สอง ที่เป็นเจ้าของธุรกิจกลางคืนได้สะท้อนปัญหาอีกด้านว่า ธุรกิจกลางคืนเป็นธุรกิจที่ทำให้งานศิลปะมีที่แสดง ทั้งการแต่งร้าน การขายคราฟต์เบียร์ การเปิดเพลง แต่พื้นที่เหล่านี้กลับถูกทำให้กลายเป็นพื้นที่สีเทาผ่านกฎหมายหลายฉบับ ทั้งๆ ที่ตนไม่ได้ขายของผิดกฎหมาย 

 

พิธาและอภิสิทธิ์ตอบคำถามเหล่านี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่วนสำคัญเป็นเพราะที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจัดการที่ต้นตอ เพราะอาจมีผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงสร้างอำนาจแบบเดิม ซึ่งไม่จำเป็นต้องฟังเสียงคนตัวเล็ก พรรคก้าวไกลเข้าใจและเห็นปัญหานี้ ตั้งใจจะเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงหากเราได้เป็นรัฐบาล

 

ทั้งนี้ ในงานดังกล่าวมีศิลปินจากวงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้าร่วมอย่างคับคั่งหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็น หลิน-มชณต สุวรรณมาศ หรือ อีกี้ จาก MV ธาตุทองซาวด์, อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี หรือ ‘จ๋าย ไททศมิตร’, ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล หรือ มะเดี่ยว ผู้กำกับภาพยนตร์, อนุชา บุญยวรรธนะ หรือ นุชี่ ผู้กำกับฯ, ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟ รวมถึงประชาชนที่ให้ความสนใจในวงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้าร่วมอีกจำนวนมาก

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising