×

ยากแค่ไหนก็จะไปให้ถึง

15.05.2019
  • LOADING...
Mount Everest

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ความพยายามในการสำรวจอวกาศเคยเป็นเรื่องการเมืองและการแข่งขันกันของสองขั้วอำนาจในยุคสงครามเย็น แต่หนังสือ เก็บกระเป๋าไปดาวอังคาร หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Packing For Mars เขียนโดย แมรี โรช แสดงให้เห็นว่าเพื่อจะหลุดออกไปยังห้วงอวกาศนั้น มนุษย์มีความเพียรพยายามมากมายมหาศาลขนาดไหน
  • วินาทีที่นักเดินเขากอบรวมทุกพลังของชีวิตและจิตวิญญาณจนขึ้นไปยืนบนจุดสูงสุดของพื้นโลกได้สำเร็จคงมีอารมณ์เต็มตื้นไม่ต่างจากมนุษย์อวกาศก้าวเท้าลงบนดาวดวงอื่น มันคงเหน็บหนาว แต่สุดแสนมหัศจรรย์ มันบ้ามาก แต่พวกเขาก็ไปถึงจนได้ หลายคนคงอยากหัวเราะ แต่อาจเป็นน้ำตาที่เอ่อล้นจนรินไหล และไม่มีใครเป็นเจ้าของความรู้สึกนี้ได้นอกจากผู้ที่ทุ่มเทเวลาหลายร้อยหลายพันชั่วโมง

ช่วงเดือนนี้เป็นฤดูกาลขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์ วิหารศักดิ์สิทธิ์ที่นักเดินเขาปรารถนาจะขึ้นไปคารวะสักครั้งหนึ่งในชีวิต

 

แต่อย่างที่รู้กัน วิหารบนยอดเมฆแห่งนี้มิใช่สถานที่ที่ทุกคนขึ้นได้และขึ้นไหว

 

ผู้ที่ปวารณาตนจะขึ้นไปยืนบนยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกให้ได้ นอกจากต้องสุดยอดแข็งแกร่งทรหดอดทนแล้ว น่าจะต้องเป็นคนที่มีเงินเก็บเย็นๆ ประมาณหนึ่ง ประมาณไหนดี ก็ประมาณว่าสามารถจ่ายค่าขึ้นซัมมิตราวล้านต้นๆ แล้วไม่กระทบกระเทือนชีวิตความเป็นอยู่หลังเสร็จสิ้นภารกิจราว 45 วันนั่นแหละ

 

ซึ่งเงินล้านนี้จ่ายแล้วไม่ได้กินหรูอยู่สบาย แต่เป็นการจ่ายเพื่อไปเดินล้วนๆ แถมนานถึงหนึ่งเดือนครึ่ง หนำซ้ำยังต้องนอนกลางหิน กินกลางลมหนาว

 

พูดง่ายๆ คือหาความสบายไม่มี

 

Mount Everest Mount Everest

 

ทำไมคนเราถึงยอมจ่ายเงินหลักล้านเพื่อไปลำบากลำบน แล้วไม่ใช่ลำบากธรรมดา แต่เป็นสุดยอดความลำบากสมบุกสมบันเข้าขั้นเสี่ยงตายเลยก็ว่าได้

 

ลองนึกเล่นๆ ว่าถ้ามีงบให้ไปเที่ยวหนึ่งล้านบาท เงินก้อนนี้สามารถบันดาลทริปสุดหรูหราแสนสบาย แค่ดีดนิ้ว ทุกอย่างก็มาเสิร์ฟตรงหน้าราวกับเสกได้ จะบินเฟิร์สคลาส นอนโรงแรมหกเจ็ดดาว หรือเช่ารถสามตอนพร้อมคนขับก็ได้หมด

 

ถามว่าแล้วบนภูเขาโน่นล่ะ    

 

ไม่มีแน่นอนโรงแรมสี่ซ้าห้าดาว ที่พักบนเส้นทางคือห้องนอนแคบๆ เตียงนอนขนาดพอดีตัว ห้องน้ำและห้องอาบน้ำรวม สะอาดบ้าง (ราวกับถูกหวย) ไม่สะอาดบ้าง (เรื่องปกติ) และเมื่อไปถึงเบสแคมป์ (Everest Base Camp – EBC) ที่นอนของเทรกเกอร์ผู้จ่ายเงินจำนวนเจ็ดหลักเพื่อขึ้นซัมมิตอีกเดือนกว่านับจากนี้คือเต็นท์ ที่มีลมพัดตึงและป้องกันความหนาวได้เพียงน้อยนิด

 

ทุกความสูงที่เพิ่มขึ้นยังหมายถึงเปอร์เซ็นต์การเสี่ยงชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งโรคแพ้ความสูง (Altitude sickness) พายุหิมะ หิมะถล่ม ลมพัดแรงในขณะที่ร่างกายเหนื่อยอ่อนจนพลัดตกเขา หรือการรวมตัวของสามขั้วความโหด อันได้แก่ ความหนาว ออกซิเจนน้อย และความเหนื่อยล้าขั้นสุด จนทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้ แม้จะเหนื่อยยากราวบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่ทุกปีเส้นทางขึ้นซัมมิตจะมีเทรกเกอร์หรือนักปีนเขาราว 300 ชีวิตจากทั่วโลก (ไม่รวมเทรกเกอร์อีกนับพันที่มีจุดหมายที่เบสแคมป์ หนึ่งในนั้นเคยมีเรารวมอยู่) เก็บหอมรอมริบเงินก้อนใหญ่เพื่อจะมากิน มานอน และย่ำเท้าไปบนเส้นทางเก่าแก่แห่งนี้

 

การไปให้สุดเพดานที่ร่างกายทานทนไหว เพื่อจะกลับลงมาอย่างผู้บรรลุฝัน อาจเป็นเพียงกิจกรรมของคนมีเงิน หรือคนบ้า ก็สุดแท้แต่ใครจะมอง

 

แต่หากนับว่านี่คือความฝันแล้วล่ะก็ ในหนึ่งชีวิต หากมีเรี่ยวแรงและความพร้อม เป็นใครก็ย่อมอยากไปให้สุด

 

Mount Everest

 

ขณะที่การเดินขึ้นเขาใช้แรงกายและใจค่อยๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไป การท่องอวกาศท้าทายแรงโน้มถ่วงด้วยการคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าความพยายามในการสำรวจอวกาศเคยเป็นเรื่องการเมืองและการแข่งขันกันของสองขั้วอำนาจในยุคสงครามเย็น แต่หนังสือ เก็บกระเป๋าไปดาวอังคาร หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Packing For Mars เขียนโดย แมรี โรช แสดงให้เห็นว่าเพื่อจะหลุดออกไปยังห้วงอวกาศนั้น มนุษย์มีความเพียรพยายามมากมายมหาศาลขนาดไหน

 

หลายเคสฟังดูสติเฟื่องมากๆ บางเรื่องเข้าขั้นเพี้ยนเลยก็ว่าได้ และหลายเรื่องก็อยู่เหนือความคาดหมาย เช่น การอ้วกในหมวกอวกาศอาจถึงตายได้, มนุษย์อวกาศต้องอึและฉี่ในถุงพลาสติก บางทีก็ลอยออกมา, ความถี่ของการเปลี่ยนชุดกับกลิ่นตัวและสุขภาพผิวหนัง, อาหารบนอวกาศต้องไม่แตกเป็นชิ้นร่วนและต้องเบา เพราะยานอวกาศแคบ และน้ำหนักทุกกิโลกรัมคือค่าเชื้อเพลิงมหาศาล, จะรีไซเคิลของเสีย ทั้งเสื้อผ้าสกปรก เหงื่อ อึ และฉี่อย่างไรดี ถ้ากินได้ก็ไม่ต้องแบกน้ำหนักกลับมายังโลก (?!!?)

 

ทั้งหมดนี้หลายเรื่องชวนอี๋แหวะ (และความซวยคือส่วนใหญ่อ่านตอนกินข้าว) แต่ เก็บกระเป๋าไปดาวอังคาร เป็นหนังสือวิทยาศาสตร์ที่อ่านสนุกมากจนเผลอหัวเราะเสียงดังเป็นระยะ แม้อ่านๆ ไปจะอดคิดไม่ได้ว่า “ลำบากขนาดนี้จะไปทำไมกัน นอกโลกเนี่ย”

 

Mount Everest Mount Everest

 

ตลอดทุกยุคสมัย มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่อยากรู้อยากเห็น ช่างสงสัย และบ่อยครั้งก็ดันทุรังเอามากๆ

 

เราอยากรู้ว่าโลกกลมหรือแบน เราอยากเห็นบ้านเมืองที่ต่างไปจากที่ที่เราอยู่ เราอยากรู้ว่าสูงขึ้นไปข้างบนทั้งยอดเขาและในห้วงอวกาศหน้าตาเป็นอย่างไร เราอยากไปเห็นด้วยตาและรับรู้ด้วยความรู้สึกของตัวเอง

 

และถ้าหากว่ามันเข้าขั้นยากลำบาก เราก็อยากรู้ว่าเพดานสูงสุดของตัวเองอยู่ที่ไหน เราอยากรู้ว่า ณ จุดที่คิดว่าไหว เราจะไหวจริงไหม

 

ถ้าไม่ไหว เราจะกลับลงมาในแบบใด

 

Mount Everest Mount Everest

 

การเดินขึ้นยอดเขาหรือไปดาวอังคารอาจเป็นความฝันเพี้ยนๆ ของคนบางกลุ่ม ทั้งเสี่ยงและสิ้นเปลือง แต่ความฝันที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับภารกิจที่ท้าทาย จริงอยู่ที่ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา นาซาส่งยานไร้คนขับลงจอดบนดาวอังคารหลายครั้งแล้ว คำถามคือเหตุใดต้องส่งคนจริงๆ ขึ้นไปให้ได้ภายในทศวรรษที่ 2030 แทนที่จะเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งประหยัดกว่ากันมหาศาล

 

ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตผ่านการจำลองมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่แมรีเขียนในบทสรุปว่า “เราสังสรรค์กันผ่านคอมพิวเตอร์ คุณสามารถไปเยือนทะเลแห่งความสงบบนดวงจันทร์ผ่านโปรแกรมกูเกิลมูน และเยี่ยมชมทัชมาฮาลผ่านกูเกิลสตรีทวิว ไม่มีใครออกไปเล่นนอกบ้านอีกแล้ว โลกเสมือนกำลังกลายเป็นโลกจริง แต่มันไม่เหมือนโลกจริงแม้แต่น้อย ลองถามมนุษย์อวกาศว่าการมีส่วนร่วมในโลกอวกาศจำลองเหมือนไปอยู่ในอวกาศจริงๆ หรือไม่เพียงใด ความแตกต่างคืออะไร หยาดเหงื่อ ความเสี่ยง ความไม่แน่นอน ความไม่สะดวกสบาย แต่ก็มีเรื่องความพิศวง ความภูมิใจ ความรู้สึกปีติตื้นตันและปลุกเร้าที่อธิบายด้วยคำพูดไม่ได้” (หน้า 313)

 

Mount Everest

 

โลกเสมือนอาจพาเราไปเยือนทุกที่ได้ทั้งในและนอกโลก แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในห้องสี่เหลี่ยมไม่มีกลิ่นชื้นของดินหลังฝนตก ไม่มีสายลมพัดผ่านเส้นผม ไม่มีเสียงกระดิ่งของฝูงลาและแย็กที่กำลังเดินอ้อมโค้งเขามา

 

ไม่มีรอยยิ้มของผู้ผ่านทางที่เดินสวนกัน คนที่กล่าวกับเราว่า “นมัสเต” และจะจากกันไปชั่วชีวิต

 

เดาเอาว่าวินาทีที่นักเดินเขากอบรวมทุกพลังของชีวิตและจิตวิญญาณจนขึ้นไปยืนบนจุดสูงสุดของพื้นโลกได้สำเร็จ คงมีอารมณ์เต็มตื้นไม่ต่างจากมนุษย์อวกาศก้าวเท้าลงบนดาวดวงอื่น มันคงเหน็บหนาว แต่สุดแสนมหัศจรรย์ มันบ้ามาก แต่พวกเขาก็ไปถึงจนได้ หลายคนคงอยากหัวเราะ แต่อาจเป็นน้ำตาที่เอ่อล้นจนรินไหล

 

ไม่มีใครเป็นเจ้าของความรู้สึกนี้ได้ นอกจากผู้ที่ทุ่มเทเวลาหลายร้อยหลายพันชั่วโมงเคี่ยวกรำร่างกายและจิตใจ ทั้งเฆี่ยนตีและปลุกปลอบกว่าจะไปถึงจุดหมายที่ตั้งใจไว้ มีทั้งสิ่งที่ต้องละทิ้ง และสิ่งที่ต้องก่อร่างสร้างขึ้น

 

จุดหมายมีบทเรียนมากมายให้ย้อนกลับไปทบทวน อาจมิใช่อะไรอื่น นอกจากเพื่อจะมองเห็นข้อจำกัดของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น   

 

Mount Everest

 

บางทีคนเราอาจเดินทางไปไกลหลายแสนกิโลเมตรเพียงเพื่อจะทำความรู้จักตัวเอง และวิหารศักดิ์สิทธิ์อาจไม่ได้อยู่ ณ จุดสูงสุดของโลกหรือไกลสุดขอบจักรวาล

 

อารามแห่งนั้นอาจอยู่ในที่ที่เราหายใจได้สะดวก เพื่อที่เราจะนั่งลงพักเหนื่อยและซึมซับบรรยากาศรอบตัว

 

อารามแห่งนั้นอาจเป็นที่ที่เราได้หันไปยิ้มกับเพื่อนด้วยสายตาขอบคุณที่ยินยอมให้เราร่วมเดินทางด้วย

 

หรืออาจเป็นที่ที่เราได้นั่งทบทวนถึงเส้นทางที่เดินผ่านมา โดยเฉพาะเสียงเบาๆ ข้างในที่คอยบอกว่า “อีกก้าวหนึ่งสิ” จนผลักดันให้เราได้มานั่งฟังเสียงหัวใจเต้นรัวอยู่บนความสูงห้าพันกว่าเมตรเหนือระดับน้ำทะเล

 

อารามแห่งนั้นอาจต้องเสาะแสวงหาผ่านการรอนแรมทางไกล เพื่อจะค้นพบว่าแท้จริงแล้วสถิตอยู่ในสถานที่ลี้ลับและแสนใกล้

 

ที่ซึ่งลั่นกุญแจเปิดๆ ปิดๆ จนกว่าชีวิตจะหาไม่

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising