×

ประโยชน์ vs. ความท้าทาย ของ ‘งบประมาณฐานศูนย์’ ผู้เชี่ยวชาญแนะ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป และควรทำทุก 3-5 ปี แทนทุกปี

30.05.2023
  • LOADING...
ศิริกัญญา ตันสกุล

HIGHLIGHTS

3 MIN READ
  • ใน MOU การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลและอีก 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ระบุว่า จะผลักดันการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) หรือการปรับกระบวนการจัดทำงบประมาณโดยไม่อ้างอิงจากการจัดงบในอดีต แต่อ้างอิงจากความเร่งด่วนและปัญหาในแต่ละปีเป็นหลัก
  • ผู้เชี่ยวชาญแนะ รัฐบาลใหม่ควรทำงบประมาณฐานศูนย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการหาทางออกให้หน่วยงานผู้เสียประโยชน์ไม่ใช่เรื่องง่าย และควรทบทวนทุก 3-5 ปี น่าจะเหมาะสมกว่า
  • อย่างไรก็ตาม เมื่อถอดบทเรียนจากสหรัฐฯ ที่ใช้หลักการทำงบประมาณดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 1977 พบว่า การขาดดุลงบประมาณกลับไม่ได้ปรับปรุงขึ้นสักเท่าไร และขาดดุลหนักกว่าประเทศพัฒนาอื่นๆ
  • สะท้อนว่าแม้การใช้งบประมาณฐานศูนย์จะมีประโยชน์หลายด้าน แต่หากรัฐบาลยังมีรายจ่ายมาก กู้เงินมาก และขาดวินัยทางการเงิน การกลับมาเกินดุลงบประมาณก็ยากจะบรรลุ

ในบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลและอีก 7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ระบุว่า หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดขึ้นคือ การจัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) ซึ่งอยู่ใน MOU ข้อที่ 13

 

โดยในเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกลอธิบายว่า การจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) คือ การปรับกระบวนการจัดทำงบประมาณในแต่ละปี โดยไม่อ้างอิงจากการจัดงบในอดีต แต่จะอ้างอิงจากความเร่งด่วนและขนาดของปัญหาที่ประเทศเผชิญในแต่ละปีเป็นหลัก

 

ผู้เชี่ยวชาญแนะ รัฐบาลใหม่ทำงบประมาณฐานศูนย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองว่า นโยบายงบประมาณฐานศูนย์เป็นแนวคิดที่ดีและเหมาะสม เนื่องจากจะทำให้ทุกกระทรวงต้องกลับมาพิจารณางานหรือโครงการต่างๆ ของตัวเองอีกครั้งว่าจำเป็นต้องทำอีกหรือไม่ เพื่อปรับตัวรองรับพลวัตของโลกที่กําลังเปลี่ยนไปในอนาคต

 

นอกจากนี้งบประมาณฐานศูนย์จะทำให้เกิดการถกเถียง, การอธิบาย, การหาที่มาที่ไป และการหาเหตุผลสนับสนุน ซึ่งจะทําให้การบริหารราชการแผ่นดินรัดกุมและประหยัดมากขึ้นในระยะยาว

 

อย่างไรก็ตาม ธีระชัยแนะว่า การทำงบประมาณฐานศูนย์ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นจังหวะ เป็นเฟส และทีละขั้น เนื่องจากการหาทางออกให้หน่วยงานผู้เสียประโยชน์ไม่ใช่เรื่องง่าย อาทิ กองทัพ

 

ด้าน รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็เห็นด้วยเช่นกัน เนื่องจากการทำงบประมาณฐานศูนย์เป็นการทบทวนความสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ของแต่ละนโยบายว่า ‘เป็นสิ่งที่จําเป็น’ พร้อมทั้งมองว่า งบประมาณฐานศูนย์น่าจะช่วยให้รัฐบาลลีนขึ้น

 

โดย รศ.ดร.อธิภัทร ยังเตือนว่า การทำงบประมาณฐานศูนย์อาจไม่สามารถทําได้ทุกปี พร้อมเสนอว่า อาจมีการทบทวนทุก 3 หรือ 5 ปี น่าจะเหมาะสมกว่า

 

ทั้งนี้ การจัดทำ Zero-Based Budgeting มีทั้งประโยชน์และความท้าทาย โดย THE STANDARD WEALTH ได้รวบรวมทั้งข้อดีและข้อเสียที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้

 

ประโยชน์ของงบประมาณฐานศูนย์

 

  • งบประมาณมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น: งบประมาณฐานศูนย์สามารถส่งเสริมความมีประสิทธิภาพของงบประมาณได้ โดยกำหนดให้มีการตรวจสอบรายการงบประมาณทั้งหมดอย่างละเอียดถี่ถ้วน จะช่วยให้เห็นถึงค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนหรือไม่จำเป็น ซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดต้นทุนและการจัดสรรทรัพยากรที่ดีขึ้น
  • การจัดลำดับความสำคัญของทรัพยากรดีขึ้น: การจัดทำงบประมาณฐานศูนย์จะทำให้ทรัพยากรของรัฐบาลได้รับการจัดสรรตามประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น แทนที่จะอาศัยรูปแบบการจัดทำงบประมาณในอดีต ช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆ ได้ดีขึ้น
  • เพิ่มความยืดหยุ่นและการปรับตัวของหน่วยงานรัฐ: เนื่องจากงบประมาณฐานศูนย์จะสนับสนุนแนวทางที่ยืดหยุ่นในการจัดทำงบประมาณ โดยการวิเคราะห์แต่ละรายการงบประมาณจะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนไปตามความต้องการที่เปลี่ยนแปลง ลำดับความสำคัญที่เกิดขึ้นใหม่ และสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน ช่วยให้กระบวนการจัดทำงบประมาณคล่องตัวและตอบสนองได้ดีขึ้น

 

ข้อเสียและความท้าทายของการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์

 

  • ใช้เวลา ความเชี่ยวชาญ และทรัพยากรมาก: เนื่องจากต้องวิเคราะห์และปรับงบประมาณแต่ละรายการให้สมเหตุสมผล กระบวนการดังกล่าวจึงซับซ้อนและใช้เวลานาน โดยเฉพาะในช่วงการเปลี่ยนแปลงระยะเริ่มต้น รัฐบาลอาจจะต้องลงทุนในการเพิ่มขีดความสามารถ และจัดฝึกอบรมแก่นักวิเคราะห์งบประมาณและผู้มีอำนาจตัดสินใจ เพื่อให้การจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ประสบความสำเร็จ
  • โครงการเดิมอาจหยุดชะงัก: งบประมาณฐานศูนย์สามารถล้มโครงการเดิมต่างๆ ได้ เนื่องจากแต่ละรายการจำเป็นต้องได้รับการประเมินใหม่ ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่แน่นอน หรือเกิดการต่อต้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่คุ้นเคยกับกระบวนการจัดทำงบประมาณแบบเดิม
  • การมุ่งเน้นผลลัพธ์ระยะสั้นที่อาจเกิดขึ้น: เนื่องจากการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ต้องตรวจสอบและประเมินอย่างต่อเนื่อง จึงอาจส่งผลให้เกิดการมุ่งเน้นผลลัพธ์ระยะสั้น ซึ่งการลงทุนหรือข้อริเริ่มระยะยาวอาจได้รับความสนใจน้อยลง จึงต้องมีการกำกับดูแลอย่างรอบคอบ เพื่อให้ความต้องการในระยะสั้นสมดุลกับลำดับความสำคัญเชิงกลยุทธ์ในระยะยาว

 

ถอดบทเรียนสหรัฐฯ: งบประมาณฐานศูนย์ไม่ใช่เครื่องมือแก้ปัญหาการขาดดุล

 

ทั้งนี้ งบประมาณฐานศูนย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ในหลายประเทศ รวมถึงรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาที่เริ่มใช้หลักการทำงบประมาณดังกล่าวครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 1977 โดยหลักการพื้นฐานของการจัดทำงบประมาณฐานศูนย์ของรัฐบาลสหรัฐฯ คือ การตรวจสอบการจัดสรรทรัพยากรและประสิทธิภาพของโครงการในระดับต่างๆ

 

โดยเมื่อดูข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) พบว่า แม้สหรัฐฯ จะใช้หลักการดังกล่าวมาหลายทศวรรษ แต่การขาดดุลงบประมาณกลับไม่ได้ปรับปรุงสักเท่าไร และขาดดุลหนักกว่าประเทศพัฒนาอื่นๆ สะท้อนให้เห็นว่า แม้การใช้งบประมาณฐานศูนย์จะมีประโยชน์ด้านประสิทธิภาพของงบประมาณ การจัดสรรทรัพยากร และความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยน แต่หากรัฐบาลยังมีรายจ่ายมาก กู้เงินมาก และขาดวินัยทางการเงิน การกลับมาเกินดุลงบประมาณก็ยากจะบรรลุ

 

 

ภาพประกอบ: ฉัตรชัย เฉยชิต

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising