×

จุดเปลี่ยนรถยนต์ไฟฟ้าในไทย? เมื่อค่ายรถยนต์แห่อวดโฉมรถยนต์ไฟฟ้าใน Motor Expo 2017

30.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • รถยนต์ไฟฟ้า Nissan Leaf อวดโฉมในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
  • Mercedes-Benz ยังไม่นำรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบเข้ามาจำหน่าย เพราะโครงสร้างพื้นฐานไทยยังไม่เอื้ออำนวย
  • ตู้เติมเงินและตู้จำหน่ายสินค้า ‘บุญเติม’ กระโดดเข้ามาเล่นในตลาดโครงสร้างพื้นฐานรถยนต์ไฟฟ้าด้วยการผลิตสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า (EV-Station) ขาย

 

ความสนใจใน EV (Electric Vehicle) หรือยานยนต์พลังงานไฟฟ้ากำลังมาแรงสุดๆ ในขณะนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนในงาน Motor Expo ครั้งที่ 34 ที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 11 ธันวาคม ส่งท้ายปลายปี 2560

 

 

THE STANDARD สำรวจบรรยากาศภายในงานพบว่า ค่ายรถยนต์หลายแห่งต่างนำเทคโนโลยีรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของตัวเองออกมาอวดโฉมกันยกใหญ่ ไม่ว่าจะตัวรถสำเร็จรูปที่มีวางจำหน่ายแล้วในบางประเทศ หรือรถยนต์โมเดลต้นแบบ (Concept Car) ที่ยังไม่ได้เริ่มเดินสายพานการผลิตอย่างเป็นทางการ

 

 

Nissan เปิดตัว ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ Nissan Leaf

ไฮไลต์เด่นที่สุดของงานครั้งนี้หนีไม่พ้นการเปิดตัว Nissan Leaf โฉมใหม่ โดย ‘นิสสัน (Nissan)’ ค่ายผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกในประเทศไทย

 

Nissan Leaf ถือเป็นรถแฮตช์แบ็ก (Hatchback) 5 ประตูพลังงานไฟฟ้า หรือ EV เต็มรูปแบบที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั่วทุกมุมโลก ซึ่งเคลมว่ายอดขายทั่วโลกตั้งแต่ปี 2553 มีสูงถึง 291,000 คัน และนับว่าสูงที่สุดในหมวดหมู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า

 

โดย Nissan Leaf เจเนอเรชัน 2 ที่นำมาเปิดตัวในงาน Motor Expo ถูกพัฒนาสมรรถนะด้านการใช้งานให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคขึ้นไปอีกระดับ ด้วยขุมกำลัง 110 กิโลวัตต์ มากกว่า Nissan Leaf รุ่นแรกถึง 38%

 

และจากประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ลิเทียม-ไอออนขนาด 40 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง จึงทำให้ Nissan Leaf สามารถวิ่งได้ไกลกว่า 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง (จากข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่า Nissan Leaf รุ่นแรกวิ่งได้ไม่เกิน 200 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง ซึ่งอัตราการสิ้นเปลืองอาจไม่สามารถบ่งชี้แน่นอน ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก)

 

อันตวน บาร์เตส ประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในช่วงเปิดตัว Nissan Leaf ต่อหน้าสื่อมวลชนว่า “ทุกคนสามารถแน่ใจว่าเราจะเดินหน้าพัฒนากลยุทธ์ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่างไม่หยุดยั้งด้วยจุดมุ่งหมายให้ทุกคนเป็นเจ้าของได้และสะดวกกับทุกรูปแบบความต้องการขับขี่ในทุกประเทศทั่วโลก

 

“นิสสันกำลังอยู่ระหว่างพูดคุยและทำงานร่วมกับรัฐบาล หน่วยงานรัฐต่างๆ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยานยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นจริง”

 

อันตวนยังให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอีกว่า ณ ปัจจุบัน นิสสันยังไม่สามารถให้ข้อมูลกำหนดการ ราคาวางจำหน่ายของ Nissan Leaf ได้ เพราะกำลังอยู่ในช่วงหารือทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรัฐบาลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาเพื่อเตรียมความพร้อมให้เต็มที่ที่สุดกับแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าด้วยศักยภาพฐานการผลิตในไทยจำนวน 2 แห่ง

 

ขณะที่เมื่อเราถามถึงความกังวลเรื่องราคายานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอาจห่างไกลเกินจับต้องได้นั้น อันตวนก็เน้นย้ำอีกครั้งว่า เป้าหมายของการนำ Nissan Leaf ที่เพียบพร้อมด้วยเทคโนโลยีรักษ์สิ่งแวดล้อมเข้ามาตีตลาดในไทยก็เพื่อทำให้มั่นใจว่าราคาของมันจะทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าถึงและเป็นเจ้าของได้ไม่ยาก

 

อย่างไรก็ดี ประธานบริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังให้แง่มุมความเห็นที่น่าสนใจอีกด้วยว่า สถานการณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในปัจจุบันของประเทศไทยอาจยังไม่เอื้อประโยชน์ต่อการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ามากนัก ประกอบกับรถยนต์ไฟฟ้าอาจไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทุกกลุ่ม แต่อาจจะเหมาะกับคนที่เน้นใช้งานในเมืองใหญ่ หรือเดินทางในระยะสั้นๆ มากกว่า

 

 

นอกจาก Leaf นิสสันยังได้เปิดตัว Nissan Note รถยนต์ซิตี้คาร์อีพาวเวอร์ (e-Power) ที่ใช้น้ำมันในการชาร์จไฟไปสู่แบตเตอรี่เพื่อขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้าของตัวรถแบบเต็มรูปแบบ ต่างจากรถยนต์ไฮบริดทั่วๆ ไป โดยเจ้าหน้าที่จากนิสสันให้ข้อมูลว่า Note โฉมใหม่นี้จะมีอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงแค่เพียง 40 กิโลเมตรต่อลิตรเท่านั้น!

 

ด้านข้อมูลรายละเอียดเรื่องวันในการวางจำหน่ายและราคายังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการ เนื่องจากกำลังอยู่ในกระบวนการหารือร่วมกับรัฐบาลถึงการกำหนดกลไกด้านราคาและปัจจัยแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกับ Nissan Leaf

 

 

เบนซ์ยังไม่มั่นใจโครงสร้างพื้นฐาน จึงลุยไฮบริดก่อน  

ถ้าพูดถึงรายชื่อแบรนด์รถยนต์หรูที่รุกหนักเจาะตลาดยานยนต์ไฟฟ้า เชื่อว่าหลายคนคงเห็นพ้องต้องกันว่า ‘Mercedes-Benz’ ต้องมีรายชื่ออยู่ในลิสต์นี้แน่นอน

 

สำหรับงาน Motor Expo ครั้งนี้ของ Mercedes-Benz แม้จะไม่ได้พารถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบโมเดลใหม่ๆ มาอวดโฉมให้เราได้เห็นกัน แต่ Mercedes-Benz ก็มีรถในหมวดปลั๊ก-อิน ไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle: PHEV) หรือที่รู้จักในโค้ดชื่อ ‘EQ’ ซึ่งใช้เชื้อเพลิงน้ำมันทำงานร่วมกับแบตเตอรี่ไฟฟ้าวางจำหน่ายในตลาดปัจจุบันไม่ต่ำกว่า 10 รุ่น

 

ส่วนสถานีชาร์จประจุพลังงานไฟฟ้า (EV Station) ในตอนนี้มีให้บริการตามสถานที่สาธารณะอย่างห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ​ แล้วกว่า 13 แห่ง ทั้งลานจอดรถสยามเซ็นเตอร์จำนวน 3 ตัว, เซ็นทรัลเวิลด์ 4 ตัว และพาราไดซ์ พาร์ค 6 ตัว

 

อัชฌ์ บุณยประสิทธิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ว่า บริษัทให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฮบริดกึ่งพลังงานไฟฟ้าแทนที่จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ เพราะยังไม่มั่นใจกับโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยผลักดันการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในไทย รวมถึงปัจจัยเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีที่ยังไม่หยุดนิ่ง ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคที่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงแรกๆ เสียเปรียบ

 

“ถามว่าทำไมเรายังไม่เอารถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบที่มีอยู่แล้วเข้ามาขายสักที? มองในแง่นักลงทุน หรือผู้ประกอบการมันก็น่าขนลุกเหมือนกันนะ เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีมันพลิกเปลี่ยนได้เร็วมากๆ ส่วนหนึ่งเราเองก็กังวลเรื่องเทคโนโลยีที่ยังไม่หยุดนิ่งในแง่การพัฒนาประสิทธิภาพแบตเตอรี่พลังงานไฟฟ้ากับระยะทางที่สามารถวิ่งได้ แต่ก็เชื่อว่ารัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็กำลังศึกษาเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนผ่านอยู่เช่นกัน

 

“ตอนนี้เราเริ่มทำสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าสำหรับลูกค้าของเราในจุดจำหน่ายรถของดีลเลอร์เมอร์เซเดส-เบนซ์ที่เกือบๆ จะครอบคลุม 100 จุด และก็เริ่มพูดคุยข้อตกลงกับผู้ประกอบการโรงแรมในสองกลุ่มอย่างโรงแรมเครืออนันตราและแมริออท เพื่อติดตั้งจุดชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าโดยไม่เสียค่าเช่าสถานที่ ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้เราน่าจะมี EV Station มากกว่า 33 แห่ง”

 

ปัจจุบันเมอร์เซเดสมีรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดวางจำหน่ายในท้องตลาดมากถึง 9 รุ่น และมีการเปิดเผยว่ายอดขายรวมคิดเป็นสัดส่วน 50% ของรถยนต์ทั้งหมดที่ขายอยู่เลยทีเดียว

 

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย อัชฌ์ออกตัวว่าเขาอาจจะตอบไม่ได้ เพราะต้องดูบริบทหลายๆ อย่างในด้านความพร้อมของประเทศที่จะทำตลาดนี้ แต่ได้มีการศึกษาผลกระทบและการพัฒนามาโดยตลอด

 

“ถ้าอะไรๆ มันยังไม่ชัวร์ เช่น สภาพการจราจรในกรุงเทพฯ ที่ยังคาดเดาไม่ได้ เราก็คงไม่เสี่ยงที่จะปล่อยให้ลูกค้าของเราไปแบตฯ หมดกลางถนนแน่นอน”

 

 

ค่ายรถยนต์คึกคัก แห่อวดโฉมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า

นอกจาก Nissan และ Mercedes-Benz แบรนด์รถยนต์ค่ายอื่นๆ ที่นำยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและยานพาหนะปลั๊กอินไฮบริดมาประชันโฉม ภายในงานยังมี บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จํากัด ที่นำ ‘Mitsubishi Ground Tourer GT’ รถยนต์ต้นแบบที่ใช้เทคโนโลยีปลั๊ก-อิน ไฮบริดในการขับเคลื่อน โดยสามารถทำระยะทางได้มากถึง 120 กิโลเมตร หากใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว แต่เมื่อวิ่งแบบไฮบริดร่วมกับเชื้อเพลิงน้ำมันก็จะทำระยะทางได้ไกลถึง 1,200 กิโลเมตร

 

 

ด้านค่ายรถยอดนิยมจากเกาหลีใต้อย่างฮุนไดก็ไม่น้อยหน้า พารถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบ 100% รุ่นแรกของบริษัท ‘Hyundai Ioniq’ มาเปิดตัวภายในลานชาเลนเจอร์ฮอลล์

 

Hyundai Ioniq มาพร้อมกับแบตเตอรี่ลิเทียม ไอออน โพลิเมอร์ ขนาด 28 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารถวิ่งได้ไกลถึง 250 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟ 1 ครั้ง พร้อมขุมกำลังขับเคลื่อน 120 แรงม้า และระบบเกียร์แบบสปีดที่พร้อมส่งตัวรถพุ่งทะยานไปด้วยความเร็วสูงสุดที่ 165 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และยังมีเทคโนโลยี Quick Charge ที่ส่งกระแสไฟขนาด 100 กิโลวัตต์เข้าสู่ประจุแบตเตอรี่ได้ถึง 80% ในระยะเวลาแค่ 24 นาที

 

ผู้สื่อข่าว THE STANDARD สอบถามไปยัง สรณะ สิริสิงห ผู้จัดการอาวุโสด้านการตลาดและการวางแผนผลิตภัณฑ์ พบว่า ฮุนไดมีแพลนจะนำ Ioniq มาจำหน่ายที่ประเทศไทยแน่นอน แต่ยังบอกไม่ได้ว่าเมื่อไรและจะเปิดราคาขายเริ่มต้นที่เท่าไร เนื่องจากยังมีกลไกและปัจจัยกำหนดราคาอีกหลายประการที่ต้องหารือกับทางภาครัฐก่อน แต่ส่วนตัวเชื่อว่าปีหน้า EV มาแน่ๆ เพราะถือเป็นอนาคต

 

“ปี 2017 ถือเป็นปีที่เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าถูกพูดถึงในประเทศไทยค่อนข้างเยอะ ซึ่งรัฐบาลก็เตรียมออกนโยบายสนับสนุนให้คนไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าใช้ พร้อมๆ กับสนับสนุนให้ฝั่งผู้ผลิตและผู้นำเข้าสามารถทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดในประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นผมมองว่ายังไงรถยนต์ไฟฟ้าก็มาแน่ แต่ก็ต้องดูมุมมองของคนทั่วๆ ไปที่มีต่อมันเช่นกัน เพราะรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นกรณีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีรูปแบบหนึ่ง บางคนอาจจะยอมรับหรือไม่ยอมรับก็ได้

 

“ต้องบอกว่าโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยในเรื่องสถานีชาร์จประจุพลังงานไฟฟ้าที่ยังคงมีไม่มาก จะเห็นมีตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ ก็เป็นช่องจอดรถซึ่งส่วนใหญ่ยังมีแค่ค่ายรถหรู การใช้รถในเมืองไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่สำหรับคนที่เขาอยากขับรถไปต่างจังหวัดมันก็จะกลายเป็นข้อจำกัด ผมว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านรถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากๆ ในการเปิดตลาดยานยนต์ประเภทนี้ในบ้านเรา

 

“ณ ตอนนี้เรายังไม่มีแผนจะเริ่มติดตั้งหรือสร้างสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าในไทย แต่หากฮุนไดได้ข้อสรุปที่แน่ชัดเรื่องการนำ Ioniq เข้ามาทำตลาด ก็คงต้องเริ่มศึกษาอย่างถ่องแท้ถึงโครงสร้างพื้นฐานของมันเช่นกัน เพื่อให้ผู้บริโภคในต่างจังหวัดสามารถใช้ได้อย่างไร้ข้อจำกัด”

 

 

ด้านบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่แม้จะไม่มีเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้ามานำเสนอ แต่ก็เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่แพ้ใครเมื่อเลือกหยิบเอารถยนต์ไทป์ครอสโอเวอร์ (Crossover) ‘Toyota C-HR’ มาเป็นหมัดเด็ดอวดโฉมภายในงาน

 

 

ส่วนบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ก็พารถยนต์ Civic แฮตช์แบ็ก 5 ประตูสีแดงแรลลีสุดโฉบเฉี่ยวมาเปิดตัวเรียกความร้อนแรงและเย้ายวนเงินในกระเป๋าแฟนๆ

 

 

‘บุญเติม’ ก็เอาด้วย! เปิดตลาดผู้ให้บริการและผู้ผลิตสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า

เดินย้อนขึ้นไปจากบริเวณลานจัดแสดงรถยนต์ก็จะพบกับโซนจำหน่ายอุปกรณ์ประดับยนต์ละลานตาจำพวก ฟิล์มกระจกรถ ยาง และล้อแม็กซ์ จนไปถึงน้ำยาเคลือบทำความสะอาดต่างๆ

 

แต่ที่สะดุดตาและชวนให้หยุดแวะเข้าไปเยี่ยมเยือนมากที่สุดคือบูธของ ‘Smarger’ ผู้ผลิตสถานีชาร์จประจุแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าแบบติดตั้งและแบบเคลื่อนที่ ที่นำไปใช้ได้ทั้งในครัวเรือนและเชิงพาณิชย์

 

ต่อมาเราพบว่าบริษัทที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เทคโนโลยีดังกล่าวไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นบริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของตู้เติมเงินและตู้จำหน่ายสินค้า ‘บุญเติม’ โดยสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าของฟอร์ทผ่านการพัฒนามาได้กว่า 3 ปีแล้วก่อนที่เพิ่งจะเปิดตัวในช่วงต้นปี 2017 ที่ผ่านมา สนนราคาขายเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 45,000-50,000 บาท

 

สิทธิโชค อมตานนท์ เจ้าหน้าที่แผนกแผนพัฒนาธุรกิจ บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เล่าถึงที่มาที่ไปและจุดเริ่มต้นที่บริษัทของการก้าวมาเป็นผู้เล่นในตลาดโครงสร้างพื้นฐานรถยนต์ไฟฟ้าว่า เกิดจากการที่ฟอร์ทมองเห็นถึงเทรนด์ความนิยมในเทคโนโลยีดังกล่าวจากทั่วโลก

 

“เรามองว่าตลาดนี้เป็นตลาดที่น่าสนใจเพราะเริ่มมีรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทำตลาดในไทยมากขึ้น ก่อนหน้านี้ผู้บริหารของฟอร์ทก็เคยใช้รถยนต์ไฟฟ้าเหมือนกัน และพบปัญหาเรื่องอุปกรณ์การใช้งานที่มีราคาสูง จึงมองหาลู่ทางในการพัฒนาเทคโนโลยีพวกนี้ให้มีราคาถูกลงแต่ยังคงคุณภาพไว้ได้อยู่

 

“ประกอบกับบุญเติมเองก็มีระบบเติมเงินซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับสินค้าสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าของเราได้ ไม่ว่าจะนำไปใช้เองที่บ้านหรือนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ประกอบธุรกิจ ซึ่งต่อไปในอนาคตสถานีชาร์จประจุของเราจะแพร่หลายไปเรื่อยๆ ครอบคลุมถึงโรงแรม สถานีบริการน้ำมันที่ตอนนี้ก็เริ่มมีการหารือรายละเอียดเบื้องต้นกันแล้ว แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นผู้ให้บริการรายใด

 

ถามถึงผลตอบรับของ Smarger ตั้งแต่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ สิทธิโชคบอกว่า เริ่มมีลูกค้าให้ความสนใจสินค้าของเขามากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคที่ประสงค์จะซื้อสินค้าเพื่อนำไปใช้ที่บ้านไปจนถึงลูกค้าฝั่งองค์กรที่ตั้งนำสถานีชาร์จไฟฟ้าไปติดตั้งที่บริษัทของตน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X